|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ณ ริมฝั่งลั่นซ้างเจียงหรือแม่น้ำโขง บริเวณใจกลางที่ดินผืนงาม เนื้อที่ 1,200 หมู่ หรือประมาณ 600 ไร่ ด้านตะวันออกของเมืองจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เมืองเอกแห่งเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา กำลังกลายเป็นที่ตั้งเจดีย์ใหม่เอี่ยมที่ถูกสร้างขึ้นเป็น 1 ใน 9 เจดีย์ของโครงการ 9 จอม 12 เจียง โครงการพัฒนาที่ดินมูลค่า 200,000 ล้านหยวน หรือราว 940,000 ล้านบาทของ Haicheng Group
แปลนก่อสร้างเจดีย์แห่งนี้เป็นการจำลองแบบเจดีย์เก่าแก่ของสิบสองปันนา ที่เคยถูกทำลายไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในอดีต
พร้อมๆ กับการออกแบบรูปทรงหลังคาอาคารทันสมัยในโครงการให้คล้ายคลึงกับปีกหงส์ หรือทรงหงส์เฮือน หรือเรือนหงส์ รวมถึงตึกสูงรูปเจดีย์ 9 หลัง ที่จะสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งก่อสร้างสิบสองปันนา
สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนชาวพุทธของแผ่นดินแห่งต้นรากชนเผ่าไตแห่งสิบสองปันนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงไทลื้อสิบสองปันนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงไทยล้านนา ไทพวน ไทดำ ฯลฯ จากแผ่นดินลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน ที่จะนำมาใช้เป็นจุดขายสำคัญของโครงการและตัวเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา
รวมถึงไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในทุกวันนี้
เอกสารส่งเสริมการขายของ Haicheng Group ที่จัดพิมพ์ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย บอกรายละเอียดโครงการ 9 จอม 12 เจียง ไว้ว่า “เป็นอัญมณีแห่งสามเหลี่ยมทองคำใหญ่ แหล่งรวม 1 แม่น้ำ 2 ประตู 9 เจดีย์ (จอม) และ 12 หมู่บ้าน (เจียง) ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทลื้อและประเทศไทยกับวิถีสมัยใหม่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เมืองแห่งธุรกิจนานาชาติ เมืองแห่งชีวิตไทยและไทลื้อ”
ภายในโครงการจะเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมเจดีย์ พิพิธภัณฑ์สามเหลี่ยมทองคำ พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน ตลอดจนอาคารบ้านเรือนแบบไทลื้อ 300 กว่าหลัง ที่จะแสดงออกถึงลักษณะพิเศษของสิ่งก่อสร้างจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง เช่น แบบบ้านไทย บ้านลาว วัฒนธรรมไทลื้อ วัฒนธรรมสามเหลี่ยมทองคำใหญ่ รวมถึงคุ้มขันโตก บรรยากาศล้านนาไทย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังจะเป็นศูนย์ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและเครื่องเรือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ศูนย์การค้าขาย สินค้าหัตถกรรมในลุ่มแม่น้ำโขงแห่งแรก ที่จะเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องเงินจากประเทศไทย เครื่องเรือนไม้แกะสลัก เครื่องเงิน สิ่งทอ จาก สปป.ลาว งานฝีมือเครื่องเงิน สิ่งทอ หินแกะสลักจากกัมพูชา เป็นต้น
โครงการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกของโครงการเก้าจอมสิบสองเจียงประกอบด้วย วัดเจดีย์ใหญ่ เขตนานาชาติ หกหมู่บ้าน และถนนหลักสองเส้น
วัดเจดีย์ใหญ่ จะเป็น Landmark ของโครงการ สูง 66.6 เมตร เนื้อที่ของวัดเจดีย์ใหญ่มีประมาณห้าหมู่ วัดเจดีย์ใหญ่ชั้นหนึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชั้นสองเป็นพิพิธภัณฑ์ beiyejing ของชาวไต ด้านหน้าเป็นลานกว้างและลานจอดรถที่จะใช้จัดกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ ด้วย
เขตนานาชาติ จะเป็นศูนย์รวมของระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เป็นประตูกระจายสินค้าเข้าออกระหว่างจีน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก มีสถานีผู้โดยสารรับส่งระหว่างประเทศ ศูนย์รถเช่า ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ บริษัทสายการบิน บริษัทขนส่ง ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และออฟฟิศ
ขณะที่ 6 หมู่บ้านประกอบด้วย 1. หมู่บ้านจิ่งเป่าและจิ่งเตื๋อ เป็นโซนเกสต์เฮาส์ ร้านขายใบชา บูติก ศูนย์รวมการแสดง ออกทางวัฒนธรรมลุ่มแม่นํ้าโขง 2. หมู่บ้านจิ่งหาร เป็นโซนศิลปหัตถกรรมและสินค้าชายแดน 3. หมู่บ้านจิ่งเม้ง โซนร้านอาหารจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4. หมู่บ้านจิ่งหลาน หมู่บ้านจิ่งเรี่ยง เป็นย่านธุรกิจสันทนาการ ร้าน Wine ร้านอาหารฝรั่ง ร้านชา-กาแฟ, สปา, สถานบริการ และร้านขายของอื่นๆ
ส่วนถนนหลักมี 2 เส้นทาง เป็นถนนล้านช้าง ความยาว 340 เมตรจากฝั่งใต้ไปถึงฝั่งเหนือของโครงการ สองข้างถนนจะตั้งรูปปั้นช้าง 66 เชือก เพื่อเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือนจะเกิดความรู้สึกเข้ามาในโลกแห่งวัฒธรรมสิบสองปันนาได้ทันที อีกเส้นหนึ่งคือถนนนกยูง จากฝั่งตะวันออกไปถึงฝั่งตะวันตกของโครงการ เป็นถนนที่เตรียมไว้รองรับการจัดเทศกาลต่างๆ เพราะกิจกรรมที่จะจัดในเทศกาลทุกปีจะจัดที่ถนนนกยูง เทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินรถบุปผชาติและการสาดนํ้ากันที่นี่ได้ฉลองเทศกาลพร้อมกับชาวไทลื้อ
โดยเฟสแรกมีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ค.ศ.2011 นี้
เฟส 2 เป็นกลุ่มร้านเหล้า บ้านพักริมแม่นํ้า (โรงละคร ค่ายมวยไทย โรงแรมห้าดาวซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่
โดยกรณีความร่วมมือจัดตั้งค่ายมวยไทยในเฟสที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสัญญากับนักธุรกิจไทยจาก จ.แพร่ ซึ่งกำหนดก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ.2013
ว่ากันว่า ก่อนที่จะเริ่มวางแผนโครงการนี้ ทาง Haicheng Group ได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับชมรมมวยไทย จ.ลำปาง เพื่อให้จัดส่งนักมวยมาชกโชว์ และจัดส่งครูมวยเพื่อมาสอนและสร้างนักมวยไทยสัญชาติจีน แต่ถูกปฏิเสธ จึงได้เปลี่ยนไปเจรจากับชมรมมวยไทยและค่ายมวยไทยใน จ.แพร่ และได้รับความร่วมมือในการจัดส่งครูมวยมาสอนนักมวยชาวจีน
ส่วนเฟสที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการวางแผนรายละเอียดอยู่
น้ำหวาน หรือ Shi Wanchun จากมณฑลกว่างสี อดีตนักศึกษาภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ที่เข้ามาเป็นฝ่ายขายต่างประเทศของโครงการนี้ บอกว่าโครงการในเฟสที่ 1 ซึ่งวางไว้ให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม ขายไปได้แล้ว 90% แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการชาวจีน ที่ผลิตสินค้าพื้นเมืองออกจำหน่ายที่ร้านจำหน่ายของที่ระลึกในกาหลั่นป้า เมืองฮำ หมู่บ้านไทลื้ออนุรักษ์ ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของสิบสองปันนา และบางส่วนเป็นพ่อค้าจีนที่เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าหัตถกรรมจากประเทศไทยไปจำหน่าย
น้ำหวานพยายามย้ำว่า ผู้ประกอบการชาวไทยจะมีโอกาสมากกว่าในการเข้ามาร่วมเปิดร้านในโครงการนี้ เพราะมีสินค้าหัตถกรรมที่งดงาม หลากหลายและศูนย์แสดงสินค้าขนาด 3 หมื่นกว่าตารางเมตร มีการจัดแบ่งพื้นที่ร่วม 1,300 ตาราง เมตร ไว้รองรับกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมชาวไทยโดยเฉพาะด้วย
ทั้งนี้ Haicheng Group ได้เข้ามาส่งเสริมการขายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมแหล่งใหญ่ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เช่นปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ผู้บริหาร Haicheng ได้เดินทางมาเจรจากับวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกลุ่มวีกรุ๊ป คอนสตรัคชั่น นักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ของเชียงใหม่และภาคเหนือ เจ้าของคุ้มขันโตกอันเลื่องชื่อ ก่อนที่จะมีการลงนามใน MOU ร่วมกัน เพื่อนำคุ้มขันโตกเข้าไปให้บริการในโครงการ 9 จอม 12 เจียง
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “วัชระ ตันตรานนท์ ยกระดับทุนภูธรสู่สากล” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมกราคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
นอกจากนั้นยังเดินสายเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ เพื่อขอให้เปิดช่องทางยกแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม ตลอดจนการแสดงต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นไทยล้านนาจากภาคเหนือไปตั้งไว้ สร้างเป็นจุดขายของ 9 จอม 12 เจียง
เพียงแต่ไม่ได้รับการตอบสนองตามที่ต้องการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระยะที่ผ่านมากล่าวได้ว่า Haicheng ได้ส่งคนเข้ามาตระเวนสำรวจแหล่งวัฒนธรรมหลายท้องที่ในภาคเหนือตอนบน วางเครือข่ายเพื่อดึง “สล่า” จากแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมดังๆ ของภาคเหนือ ทั้งบ้านถวาย ดอยสะเก็ด บ่อสร้าง สันกำแพง ถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปปักหลักผลิตสินค้าหัตถกรรมขายในโครงการด้วย
ว่ากันว่า ถึงกับมีข้อเสนอจ่ายค่าจ้างให้ “สล่า” รายละ 4,500 บาทต่อเดือน ให้ไปนั่งผลิตไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องเงิน ฯลฯ แล้ววางขายกันใน 9 จอม 12 เจียง และเมื่อสินค้าที่ผลิตสามารถขายได้ ก็จะแบ่งรายได้กับเจ้าโครงการอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สินค้าหัตถกรรมของไทยที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งล้านนาจะถูกยกไปไว้ที่เชียงรุ่ง รอวันที่ช่างฝีมือชาวจีนจะเติมเต็มความเป็น “วิญญาณไทย” ให้กับชิ้นงานของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคตได้เช่นกัน
และความสุ่มเสี่ยงนี้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว กรณีการดึงคนดังจากเมืองแพร่เข้าไปร่วมปั้นแต่งเวทีมวยที่โครงการ 9 จอม 12 เจียงได้สำเร็จ
น้ำหวานยังทิ้งท้ายด้วยสุภาษิตจีนว่า ทำธุรกิจใหญ่ เป็นห้างเป็นเมืองได้ ต้องเป็นที่นิยม ทำกำไรได้เท่านั้น
“เรายินดีต้อนรับนักธุรกิจไทยมาลงทุนที่โครงการของเรา”
|
|
|
|
|