Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2554
ผิดไหมที่นักการเมืองมีธุรกิจ เปิดบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองในนิวซีแลนด์             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Political and Government




ทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งในเมืองไทย เราจะต้องให้ ส.ส. รัฐมนตรี แสดงบัญชีทรัพย์สินแบบในต่างประเทศ เริ่มสืบหาว่าใครอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรบ้าง ถ้านักการเมืองคนไหนไม่ว่าหนุ่มสาว มีอายุ จะหน้าหล่อ สวย กลมหรือเหลี่ยม มีธุรกิจทับซ้อนหรือไม่ ซึ่งถ้าเอามาคิดจริงๆ ผมก็ว่าไม่น่าแปลกแต่อย่างใด เพราะถ้าไม่มีเงินแล้วจะเอาค่าเลือกตั้ง ค่าทำแคมเปญมาจากไหน เพราะเงินก็ไม่ได้ออกมาตามต้นไม้ยกเว้นแต่ต้นกฐิน แต่เมื่อเราเจอว่านักการเมืองคนใดมีธุรกิจทับซ้อน สื่อมวลชน และบรรดาองค์กรอิสระจะออกมาสับให้เป็นหมูบะช่อ เพราะประเทศเราจะมองว่าใครก็ตามที่มีธุรกิจทับซ้อนแล้วมาเล่นการเมืองไม่ได้ เมื่อมองในต่างประเทศ โดยเฉพาะแชมป์โปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น 5 สมัยติดต่อกันอย่างนิวซีแลนด์เขาทำอย่างไรกับนักการเมืองที่มีธุรกิจ เขาต้องไปแจ้ง กกต.ให้แบนนักการเมืองหรือไม่

เมื่อผมได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทำให้ผมทราบว่าแท้จริงแล้วในประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นที่ต่ำมากๆ ในโลกนั้น เขามักจะไม่เกี่ยงให้นักการเมืองมีธุรกิจแม้ว่าเขาจะจ่ายเงินเดือนนักการเมืองเหล่านั้นปีๆ หนึ่งมากกว่าบ้านเราถึงสิบเท่าก็ตาม

การที่นักการเมืองฝรั่งมีธุรกิจและจำนวนไม่น้อยที่ลงมาเล่นการเมือง บางคนรับงานข้างนอกก็สามารถที่จะกระทำได้โดยไม่มีศาลรัฐธรรมนูญมาเล่นงานว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือโดนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบในบางประเทศ โดย เฉพาะในประเทศสารขันตอนที่นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งโดนปลดเพราะไปทำอาหาร ตอนนั้นได้สร้างความพิศวงให้กับสื่อมวลชนและนักวิชาการจากประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก เพราะในต่างประเทศเขาทำกันได้

ในประเทศนิวซีแลนด์ เขาให้นักการเมืองทุกคนแสดงบัญชี แต่ไม่ใช่แบบบ้านเราที่แสดงแค่ตอนเข้ามาเป็น ส.ส. หลังออกจากตำแหน่ง แต่ต้องแสดงทุกๆ ปีโดยมีหัวข้อที่ต้องแสดง 13 หัวข้อคือ 1. ธุรกิจที่นักการเมืองเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร ซึ่งต้องแสดงทั้งมูลค่าหุ้น กำไรขาดทุน และการเสียภาษี 2. หุ้นอื่นๆ ที่นักการเมืองถืออยู่ เงินปันผลที่ได้ 3. งานอื่นๆ เช่น รับจ็อบเป็นพิธีกรที่ไหน ได้เงินเดือนเท่าไร เสียภาษีมากหรือน้อยอย่างไร 4. ธุรกิจและมรดกของตระกูลที่มี และเงินปันผลที่ได้จากธุรกิจของครอบครัว 5. ตำแหน่งบริหารในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล รวมทั้งบัญชีขององค์กร เบี้ยประชุมของรัฐวิสาหกิจ ผลประกอบการขององค์กรนั้นๆ 6. ที่ดินและอาคารต่างๆ ที่เป็นเจ้าของรายได้จากการให้เช่าและการจ่ายภาษีอากร 7. กองทุนบำนาญหรือเงินสะสมและกรมธรรม์ประกัน 8. ลูกหนี้ อันนี้รวมถึงบัญชีเงินฝากทุกธนาคาร 9. เจ้าหนี้ 10. ค่าเดินทางไปต่างประเทศและค่าใช้จ่าย 11. ของขวัญที่ได้ และมูลค่าของขวัญ 12. หนี้สินที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนหมดแล้ว 13. เงินที่ได้รับจากการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งสิบสามข้อนี้ยังไม่รวมถึงยอดเงินบริจาคเข้าพรรคการเมือง เงินเคลมภาษีย้อนหลัง หรือรายจ่ายส่วนบุคคลที่ต้องแสดงอย่างถี่ถ้วน

ดังนั้น การที่นักการเมืองอยากทำธุรกิจหรือถือหุ้นก็ทำไปแต่ต้องแสดงบัญชีให้ละเอียดทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทรัพย์สินในต่างประเทศก็ต้องสำแดงให้ครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีเกษตรของนิวซีแลนด์คือ เดวิด คาร์เตอร์ ซึ่งในนิวซีแลนด์รู้กันดีว่าเป็นเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และฟาร์มโคเนื้อจำนวนมาก

ถ้าเป็นประเทศไทยเราต้องยัดข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อนไปในทันที แต่นิวซีแลนด์เขามองว่า การได้เจ้าของธุรกิจระดับซีอีโอมาบริหารกระทรวงที่พวกเขาถนัด ประเทศของเขาจะไปได้ไกลมากๆ แต่บรรดาซีอีโอเหล่านี้ต้องแสดงบัญชีมาว่าบริษัทของเขาได้ผลประกอบการเท่าไร จ่ายภาษีไปเท่าไร รมต.ได้อะไรบ้าง

คาร์เตอร์ต้องสำแดงชื่อบริษัท 12 แห่งที่ตนเป็นเจ้าของและถือหุ้น มรดก และเงินของตระกูล ผมย้ำว่าตระกูลนะครับ คือพ่อแม่ลุงป้าน้าอา พี่น้อง เหล่าเจก หรือใครก็ตามที่มีผลประโยชน์ในบริษัทต้องสำแดงทั้งหมด ไม่ต้องซุกหุ้นให้เสียเวลาเพราะเขาต้องแสดงให้หมด ฟาร์มกี่แห่ง บ้านกี่หลัง โรงแรม ที่มีต้องนำมาแสดงให้หมด ประกันกี่กรมธรรม์เงินฝากกี่บัญชี ต้องแสดงให้หมด

นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่โดนจับตามอง เพราะเขาเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้ามาก่อน ซึ่งท่านนายกฯ ก็ไม่ทำให้แฟนๆ และ กกต.ผิดหวัง เพราะท่านนายกฯ แสดงบัญชีทั้งในและนอกประเทศ ตั้งแต่บริษัทพัฒนาที่ดินในอเมริกา หุ้นในแบงก์ออฟอเมริกา หุ้นในบริษัทเหมืองแร่ กองทุนมรดกของครอบครัวตนเองและญาติ บัญชีของสมาคมฟุตบอลของนิวซีแลนด์ที่เป็นนายกสมาคม สมาคมไลฟ์การ์ดของเขตที่ได้เงินช่วยเหลือจากเทศบาล บ้านสี่หลังในอเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ คอนโดสองแห่ง และอาคารพาณิชย์ที่ปล่อยเช่า กรมธรรม์ประกันชีวิต เงินฝากในนิวซีแลนด์ อเมริกา

นอกจากนี้ยังต้องสำแดงบัญชีการเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ คือ อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน แคนาดา เอมิเรตส์ เกาหลี อัฟกานิสถาน แอฟริกาใต้ เวียดนาม และวานูอาตู โดยต้องระบุจุดมุ่งหมายของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัว การไปเยือนอย่างเป็นทางการ การไปร่วมสัมมนานานาชาติ แม้แต่ของขวัญที่ได้รับก็ต้องบอกว่าใครให้และให้อะไรมา เช่น ได้รับตั๋วเข้าชมกรังด์ปรีซ์จากนายกรัฐมนตรี สิงคโปร์ ได้พรมและชุดประจำชาติจากประธานาธิบดี อัฟกานิสถาน เสื้อฟุตบอล ตั๋วบอลโลกนัดที่นิวซีแลนด์แข่งกับอิตาลราและน้ำดื่มจากสมาคมฟุตบอล ตั๋วรักบี้ทีมชาติจากสมาคมรักบี้ ดาบซามูไรจากโรงเรียนในญี่ปุ่นที่ท่านนายกฯ ไปดูงานมา กล้องจากการไปสัมมนาเอเปก หรือแม้แต่นิตยสารกอล์ฟให้สมาชิกนิตยสารฟรีหนึ่งปีก็ต้องนำมาแสดงไม่ให้ตกหล่น

นอกจากเรื่องบัญชีส่วนตัวแล้ว พรรคการเมืองต้องนำขั้วใบเสร็จมาแสดงการรับบริจาค และผู้บริจาคอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังต้องให้นักการเมืองทุกคนและข้าราชการการเมืองต้องแสดงบัญชีรายจ่ายพร้อมใบเสร็จ ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทยต้องทำรูปให้กับท่าน รมต.หรือปลัดกระทรวง เพื่อเอาไปทำพาสปอร์ต ได้ว่าจ้างให้ร้านถ่ายภาพมาทำให้ในมูลค่า 20 ดอลลาร์ ทาง กกต. ต้องให้กระทรวงนำใบเสร็จจากร้านกล้องมาแสดงรวมถึงหลักฐานการจ่ายเงินที่ไม่ใช่เงินสด ที่ต้องเอาสลิปเครดิตการ์ดมาแสดงก็เพื่อป้องกันใบเสร็จผี

แม้แต่ของขวัญที่ให้แขกบ้านแขกเมือง เช่นของขวัญที่นายกฯ นิวซีแลนด์มอบให้นายกฯ ออสเตรเลีย ทางสำนักนายกรัฐมนตรีต้องนำใบเสร็จค่าจัดทำพร้อมสลิปจากร้านมาแสดงว่ามีมูลค่าเท่าไร หรือตอนที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์มาเยือนประเทศไทย ตอนสัมมนาอาเซียนฟอรั่ม และพักที่โรงแรมอนันธารากับคอนราดที่กรุงเทพฯ ก็ต้องเอาสลิปมาแสดง

ตรงนี้รวมถึงอีเมลที่แสดงการคอนเฟิร์มราคา ต่างถูกจัดเก็บเป็นไฟล์ให้ประชาชนได้ตรวจสอบทั้งหมด และดาวน์โหลดดูได้

แม้แต่บิลค่าอาหารก็ต้องนำมาแสดง เช่น ดื่มเบียร์สองขวด สั่งอาหารอะไรและกี่จาน เป็นเงินเท่าไร หากมีแขกร่วมโต๊ะอาหารด้วย ต้องบอกว่าเลี้ยงใคร และเลี้ยงอะไร เช่น ค่าอาหารและไวน์ดื่มกับกงสุลกิตติมศักดิ์ที่ฮาวาย เป็นต้น

ถ้าประเทศเขาสามารถทำได้ถึงขนาดนี้ แม้ว่าจะได้นักธุรกิจมาเป็นนักการเมืองก็ไม่มีปัญหา เพราะว่ากฎหมายของเขาศักดิ์สิทธิ์และเข้มงวด คนของเขาทำหน้าที่กันอย่างจริงจังไม่มีกินนอกกินใน แต่ถ้าใครอยากทำอะไรนอกเหนือเวลางานก็ทำได้แต่ต้องแสดงบัญชีให้ประชาชนเห็นกัน ผมมองว่าถ้าสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้กับเมืองไทยได้ แม้เราจะกลัวว่านักการเมืองจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เราจึงห้ามพวกเขาทำงานหรือประกอบธุรกิจที่จะนำมาสู่การหาผลประโยชน์ให้ตนเอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการที่นักการเมืองหลายคนกลับทำธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยไปซุกหุ้นในชื่อญาติพี่น้อง ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมได้

ในขณะที่นิวซีแลนด์เขาให้ทำธุรกิจได้เสรีแต่ต้องเปิดเผยบัญชีทั้งตระกูล การรับจ็อบข้างนอกก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่ต้องมีการแจ้งรายได้ ในขณะที่รายจ่ายทุกดอลลาร์ต้องแสดงอย่างละเอียดของขวัญ แม้แต่น้ำเปล่าขวดเดียวก็ต้องแสดง

ผมเชื่อว่าเรื่องบางอย่างนั้นการห้ามจะมีผลเสียมากกว่าการเปิดให้ทำอย่างเสรี แต่ต้องแสดง เพราะหลายๆ อย่างถ้าเราเปิดเสรีแล้วอาจจะง่ายต่อการควบคุมและง่ายต่อการลงโทษบุคคลที่กระทำผิด ผมเชื่อว่าบางครั้งถ้าเราเลือกที่จะเดินสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปในหลายๆ เรื่องจะเปิดโอกาส ให้คนที่อยู่ในวงการเมืองมีโอกาสหายใจ และเมื่อเขาเริ่มที่จะยืนได้ ย่อมง่ายต่อการที่จะควบคุมในอนาคต   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us