
กลางปี 2554 เกิดความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลจีนใต้ขึ้น จากปัญหาการอ้างสิทธิในความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะและแนวปะการังต่างๆ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเวียดนามออกมาโวยวายว่า เรือตรวจการณ์กับเรือประมงของจีนได้เข้าตัดสายเคเบิลใต้ทะเลของเรือสำรวจน้ำมันเวียดนามจำนวน 2 ลำ ทำให้เกิดปัญหาสายเคเบิลพันกันในน่านน้ำของประเทศเวียดนาม ขณะที่รัฐบาลจีนก็ตอบโต้ว่าเรือสำรวจน้ำมันของเวียดนามต่างหากที่ละเมิดน่านน้ำของประเทศจีน
ปัญหาเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรทลีย์ในทะเลจีนใต้ที่ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ประมาณ 750 เกาะ และครอบคลุมเนื้อที่กว่า 400,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างจีน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไต้หวัน เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนามล่าสุด นำไปสู่การเดินขบวนประท้วงของประชาชนใน 2 ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และพัฒนาไปสู่การซ้อมรบในทะเลจีนใต้ของกองทัพเรือเวียดนาม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ “พี่เบิ้ม” ของภูมิภาคคือจีนเป็นอย่างมาก
ความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ยิ่งลุกลามไปอีก เมื่อมหาอำนาจจากโลกตะวันตก คือ กองทัพเรือของสหรัฐฯ จัดให้มีการซ้อมรบกับฟิลิปปินส์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 กับญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย นอกชายฝั่งของประเทศบรูไน ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2554
ความพยายามกลับเข้ามาแทรกแซง และมีบทบาทในการกำหนดทิศทางความมั่นคงในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยเมื่อ พล.ร.อ.ไมเคิล มูลเลน ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วัน วันที่ 11 กรกฎาคม 2554 พล.อ.เฉิน ปิ่งเต๋อ ประธานเสนาธิการทหารร่วมของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนกล่าวตำหนิผู้แทนของสหรัฐฯ ต่อหน้าผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ กรุณาอย่าจุ้นในเรื่องที่ไม่มีสิทธิ์ยุ่ง
“สหรัฐฯ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ได้มีเจตนาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แต่กลับทำในสิ่งตรงข้ามกับคำพูด” พล.อ.เฉินกล่าวในงานแถลงข่าวหลังจากพบปะกับ พล.ร.อ.มูลเลน โดยนอกจากจะได้พบปะ พล.อ.เฉินแล้วในการเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกายังได้พบปะกับสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน และว่าที่ผู้นำคนถัดไปของจีนด้วย
อาร์เธอร์ เฮอร์แมน ผู้เขียนหนังสือ To Rule the Waves: How the British Navy Shaped the Modern World หนังสือประวัติราชนาวีอังกฤษ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือว่า “ระบบโลกที่ก่อตัวขึ้นหลัง ค.ศ.1815 ในทางหนึ่งเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการพึ่งพาต่อราชนาวีอังกฤษ (Royal Navy) ในบทบาทของตำรวจโลก โดยประเทศต่างๆ สามารถใช้เส้นทางเดินเรือที่อาณาจักรอังกฤษบุกเบิกเอาไว้ ซึ่งเส้นทางเดินเรือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการค้าเสรีที่อังกฤษยึดถือ”[1]
เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาก็เข้ามารับบทบาทแทนอังกฤษ ในฐานะเจ้าลัทธิแห่งการค้าเสรี พร้อมไปกับการสร้างกองเรือที่มีขนาดใหญ่มโหฬารเพื่อสืบทอดสถานะ “ตำรวจโลก”
ทั้งนี้ คงไม่เป็นการเกินเลยแต่อย่างใด หากจะกล่าวว่า ทุกวันนี้กองเรือสหรัฐฯ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกถือเป็นผู้ค้ำจุนสถานะความเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว” ของสหรัฐฯ และเปลี่ยนโลกหลังยุคสงครามเย็นให้กลายเป็น “โลกขั้วเดียว” (Unipolar World) เรียบร้อยโรงเรียนมะกัน
ต่อมา เมื่อประเทศจีนตื่นขึ้นมาจากฝันร้ายอันยาวนานของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เติ้ง เสี่ยวผิง รวมถึงผู้นำรุ่นถัดๆ มาได้นำจีนฝ่าฟันอุปสรรคจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่างๆ นานา จนพร้อมที่จะนำพาประเทศหวนคืนสู่การเป็นมหาอำนาจแห่งโลกตะวันออก โดยมุ่งเป้าที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งที่สามารถถ่วงดุล และคัดคานมหาอำนาจเดี่ยวอย่างสหรัฐฯ ให้ได้ ทว่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านแล้วก็ต้องยอมรับว่าจีนด้อยศักยภาพในหลายๆ ส่วน
ในห้วงกว่า 150 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สงครามฝิ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ชาวจีนได้เรียนรู้และมีการทบทวนความผิดพลาดของตนเองมาตลอดว่า เหตุใดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึง ศตวรรษที่ 20 หรือนับเป็นเวลากว่า 100 ปีเต็ม จีนจึงถูกลัทธิจักรวรรดินิยมและต่างชาติเข้ามารุมทึ้งแผ่นดินและทรัพยากร โดยถึงขั้นแบ่งแยกประเทศออกเป็นส่วนๆ
ความผิดพลาดหลักประการหนึ่งที่ชาวจีนเล็งเห็นก็คือ นับจากราชวงศ์ชิงต่อเนื่องมาจนถึงยุคสาธารณรัฐ ศักยภาพของกองทัพเรือจีนนั้นตกต่ำจนถึงขีดสุด
ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยของพระนางซูสีไทเฮา ขุนนางในราชสำนักชิงเล็งเห็นความสำคัญและมีความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพเรือให้ทันสมัย โดยมีการจัดตั้งกองทัพเรือเป่ยหยาง, กองทัพเรือหนานหยาง, กองทัพเรือกวางตุ้ง, กองทัพเรือฮกเกี้ยนขึ้นมา โดยในช่วงแรกมีการจัดสรรงบประมาณอย่างดี จนกระทั่งพระนางซูสีไทเฮาได้เบียดบังนำงบประมาณในการพัฒนากองทัพเรือดังกล่าวไปซ่อมสร้างพระราชวังฤดูร้อนแห่งใหม่ อี๋เหอหยวน แทนพระราชวังฤดูร้อนแห่งเก่า หยวนหมิงหยวน ที่ถูกต่างชาติเผาทำลาย นำเงินอีกบางส่วนไปปรนเปรอส่วนตัว ทำให้ในเวลาต่อมากองทัพเรือจีนอันอ่อนแอ จึงพ่ายแพ้ให้กับกองทัพเรือญี่ปุ่นอย่างย่อยยับในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ช่วงปี ค.ศ.1894-1895
จากบทเรียนในหน้าประวัติศาสตร์และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ครั้งล่าสุด รองศาสตราจารย์หวัง เป่าคุน นักวิชาการจากสถาบันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์เพื่อการป้องกันประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ได้เขียนบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 โดยเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Navy หรือ PLAN) จะต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นของตัวเอง
“กองทัพเรือหนึ่งๆ มิอาจถือว่าเป็นกองทัพเรือที่ดีได้เลย หากกองทัพดังกล่าวขาดเรือบรรทุกเครื่องบิน ไม่น่าแปลกใจเลยที่สหรัฐอเมริกาเตรียมสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเจอราร์ด อาร์. ฟอร์ด (เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ หรือ Supercarrier ซึ่งใช้เรียกเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่ 70,000 ตันขึ้นไป-ผู้เขียน) ถึง 10 ลำ เพื่อมาทดแทนเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นเก่า โดยเรือแต่ละลำจะสามารถประจำการได้นานถึง 50 ปี โดยเรือชั้นฟอร์ดลำแรกจะต่อสำเร็จในปี 2557 (ค.ศ.2014) และลำสุดท้ายจะลงน้ำในปี 2591 (ค.ศ.2048) ซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาความเป็นหนึ่งในมหาสมุทรเอาไว้ได้”[2]
นักวิชาการหญิงจากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน สถาบันอุดมศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยตรงกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกองทัพปลดแอกประชาชนจีนขาดแคลนยุทโธปกรณ์สำคัญ 3 ประเภทด้วยกัน คือ เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล, เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ และเรือบรรทุกเครื่องบิน
“จีนเป็นชาติเดียวใน 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ แม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีฯ ก็ยังมีเรือบรรทุกเครื่องบิน นี่ทำให้จีนเสียเปรียบในเชิงยุทธศาสตร์” รศ.หวังระบุ
พร้อมกันนั้น เธอยังกล่าวดักคอบรรดาชาติตะวันตก และเพื่อนบ้านที่หวาดระแวงจีนด้วยว่า ทฤษฎีภัยคุกคามจากจีน (China Threat Theory) นั้นไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย เพราะจีนไม่เคยใช้และจะไม่ใช้กำลังทางทหารเพื่อการขยายดินแดน โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินอ้างว่าในศตวรรษที่ 15 สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ในยุคที่ทัพเรือจีนเกรียงไกรที่สุด หรือในสมัยที่ราชสำนักหมิงส่ง เจิ้ง เหอ (ซำปอกง) พร้อมกับกองทัพเรือนับร้อยๆ ลำ ออกไปเป็นทูตสันถวไมตรีถึง 7 ครั้งระหว่าง ค.ศ.1405-1433 ไปถึงแถบอาหรับ, บรูไน, แอฟริกาตะวันออก, อินเดีย, มาเลย์ รวมถึงไทย (สยามในอดีต) ก็เป็นเพียงเพื่อเหตุผลทางการค้าและการสานสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เท่านั้น โดยไม่มีการคุกคาม รุกรานหรือยึดครองดินแดนแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากจุดประสงค์และพฤติกรรมในการล่องเรือยึดอาณานิคมของชาวยุโรปในไม่กี่ศตวรรษถัดมาอย่างสิ้นเชิง
สำหรับโรดแมปของการพัฒนาศักยภาพในการรบและตอบสนองภารกิจทางด้านมนุษยธรรมเมื่อเกิดภัยพิบัติของกองทัพเรือจีนในอนาคตนั้น รศ.หวังระบุว่า จะต้องมีการแบ่งเป็น 3 ระยะคือ หนึ่ง ปรับปรุงและสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดกลางของตัวเองขึ้นมา สอง สร้างเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ และสาม สร้างเรือรบขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์
จากรายงานของเว็บไซต์ Globalfirepower.com ล่าสุดในปี 2554 (ค.ศ.2011) ระบุว่า หากวัดกำลังของกองทัพกันตามจำนวนแล้ว จีนถือเป็นกองทัพที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย โดยจีนเป็นประเทศที่มีกำลังทหารประจำการมากที่สุดในโลกถึง 2.285 ล้านนาย หรือมากกว่าสหรัฐฯ ถึงกว่า 800,000 นาย อย่างไรก็ตามเมื่อวัดกำลังรบทางทะเล ด้วยจำนวนเรือรบทุกชนิด (Navy Vassels) แล้วจีนยังตามหลังสหรัฐฯ อยู่ไกลสุดกู่คือ กองทัพเรือจีนมีเรือประจำการเพียง 562 ลำ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีมากถึง 2,384 ลำ ที่สำคัญที่สุด จีนไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการเลยแม้แต่ลำเดียว ขณะที่สหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการมากถึง 11 ลำ
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2554 ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของฮ่องกง พลเอกเฉิน ปิ่งเต๋อออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกอยู่จริง อย่างไรก็ตาม พล.อ.เฉินไม่ได้ให้รายละเอียดของเรือดังกล่าวแต่อย่างใด [3]
กระนั้น สื่อมวลชนจีนและทั่วโลกต่างคาดหมายกันว่า เรือบรรทุกเครื่องบินดังกล่าวน่าจะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน “วาร์ยัก (Varyag)” ของสหภาพโซเวียตเดิมที่มีระวางขับน้ำ 67,500 ตัน ซึ่งต่อมาหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนที่รับมรดกมาก็นำมาขายต่อให้กับรัฐบาลจีน มีข่าวลือต่อไปว่าจีนได้เปลี่ยนชื่อว่าที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของกองทัพลำดังกล่าวเป็น “ซือ หลาง” เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนพลซือ หลาง นายทหารเรือในสมัยราชวงศ์ชิงผู้พิชิตเกาะไต้หวัน!
ในความเป็นจริงเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนจะชื่อ “ซือ หลาง” หรือไม่คงไม่สำคัญ เพราะนัยของการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของจีนจะไม่เพียงทำให้ไต้หวันต้องกระวนกระวาย แต่ยังทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงในทะเลจีนใต้-มหาสมุทรแปซิฟิก-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องรู้สึกกระสับกระส่าย และที่สำคัญทำให้ดุลอำนาจของกองเรือสหรัฐฯ ถูกท้าทายอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น
หมายเหตุ:
[1] Arthur Herman, To Rule the Waves: How the British Navy Shaped the Modern World, HarperCollins (1St Edition), 2004.
[2] Wang Baokun, China needs aircraft carriers, China Daily, 15 July 2011.
[3] Liu Chang, PLA chief confirms vessel is ‘under construction’, Global Times, 8 Jun 2011.
|