|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2554 ยังสะท้อนทิศทางการขยายตัวในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณการฟื้นตัวของเครื่องชี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทยอยปรากฏขึ้นหลังปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภาพบวกของการฟื้นกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยและภาพการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้ง น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้อให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.0-5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก (วิกฤติด้านการคลังสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน) และจากแรงกดดันของความเสี่ยงเงินเฟ้อและการปรับสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตสำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศ
การทยอยฟื้นกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ช่วยทำให้ภาพรวม ของเครื่องชี้ด้านการผลิตและปริมาณการจำหน่ายยานยนต์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554 ขณะที่บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) ก็ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากเม็ดเงินสะพัดในช่วงก่อนการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 และจากทิศทางของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ (ยกเว้นดีเซล) ที่ปรับตัวลงในกรอบร้อยละ 1.2-1.6 ในระหว่างเดือน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน เร่งตัวขึ้นถึงร้อยละ 7.5 จากเดือนก่อน (MoM) ตามการฟื้นตัวของกำลังการ ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และเบียร์ เพื่อรองรับอุปสงค์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน การผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.3 (YoY) หลังจากที่หดตัวในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อการส่งออก พลิกกลับมาขยายตัวได้อย่างโดดเด่นในเดือนมิถุนายน (+6.2% YoY) หลังจากที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม นำโดยการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเพื่อชดเชยระดับสินค้าคงคลังที่ลดลง ตลอดจนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน นำโดยการผลิตยานยนต์ที่หดตัวในอัตราที่น้อยลงค่อนข้างมาก (-2.8% YoY ในเดือนมิถุนายน จาก -32.5% YoY ในเดือนพฤษภาคม) หลังจากที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทยอยคลี่คลายลงตั้งแต่ในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
การบริโภคภาคเอกชนเดือนมิถุนายนทรงตัวเท่ากับระดับในเดือนก่อนหน้า (MoM) แต่ฐานการคำนวณเปรียบเทียบในเดือน มิถุนายน 2553 ที่ค่อนข้างสูง ทำให้การบริโภคขยายตัวในอัตราที่ ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากร้อยละ 5.1 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าเครื่องชี้ การบริโภคภาคเอกชนหลายรายการยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง (+5.6% YoY) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (+12.0% YoY) และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (+4.2% YoY) ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ก็สามารถพลิกจากที่ต้องเผชิญภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีในเดือนพฤษภาคมมาขยายตัวอีกครั้ง (+4.6% YoY) ในเดือนมิถุนายน ตามทิศทางที่ดีขึ้นของการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์
การลงทุนภาคเอกชนเดือนมิถุนายนหดตัวลงร้อยละ 2.6 จากเดือนก่อน (MoM) และขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เทียบกับร้อยละ 11.4 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ แม้เครื่องชี้การลงทุนในภาพรวมจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งตัวไปค่อนข้างมาก แล้วในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า แต่เครื่องชี้การลงทุนในรายการอื่นในเดือนมิถุนายน อาทิ พื้นที่รับอนุญาตในเขตเทศบาล (+4.6% YoY) และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (+3.7% YoY) ยังคงขยายตัวได้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ก็หดตัวในอัตราที่ชะลอลง (-0.3% YoY)
แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นแกนหลักของโลกจะเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2/2554 (ทั้งจากวิกฤติด้านการคลัง/หนี้สาธารณะในสหรัฐฯ และยูโรโซน และจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีภาพที่ชัดเจนขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินเชิงคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง) อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการส่งออกของไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวในระดับที่ดีกว่าที่คาดไว้ได้
มูลค่าการส่งออกพลิกจากที่หดตัวในเดือนพฤษภาคมมาขยายตัวร้อยละ 3.8 (MoM) ในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมิถุนายนชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 16.4 (YoY) จากร้อยละ 17.3 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ การส่งออกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในเกือบทุกหมวด (โดยเฉพาะสินค้าเกษตร) ยกเว้นสินค้าส่งออกที่เน้นใช้แรงงานที่ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
ส่วนด้านมูลค่าการนำเข้านั้นให้ภาพที่ตรงกันข้ามกับการส่งออก การนำเข้าหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 8.2 (MoM) และชะลอการขยายตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 23.5 จากช่วงเดียวกับปีก่อน (YoY) เทียบกับที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 34.4 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม โดยผลส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงค่อนข้างมาก ตามการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในระหว่างเดือน
ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลพร้อมกันอีกครั้งในเดือนมิถุนายน มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก สวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่ปรับลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 1,885.5 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน จากที่เกินดุลเพียง 274.3 ล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤษภาคม เมื่อรวมกับการที่ดุลบริการฯ พลิกมาบันทึกยอดเกินดุล 613.2 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนในระดับที่สูงถึง 2,498.7 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่บันทึกยอดขาดดุลในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าตามการส่งกลับรายจ่ายผลประโยชน์จากการลงทุนที่ค่อนข้างมากในช่วงเวลาดังกล่าว
แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วนจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่กดดันมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 ทั้งจากการพุ่งสูงขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิต ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การฟื้นกำลังการผลิตจากฝั่งญี่ปุ่นในระดับที่เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเม็ดเงินสะพัดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง น่าจะทำให้ระดับการชะลอตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2/2554 ของไทยอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 อาจอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 0.5-0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ,s.a.) หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-3.9 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกับปีก่อน (YoY) ซึ่งดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมร้อยละ 3.0-3.5 (YoY) ที่ประเมินไว้ในช่วงหลังเหตุพิบัติภัยในญี่ปุ่นเดือนมีนาคม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากแรงเสียดทานทางการเมืองลดระดับลง หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศและสามารถผลักดันบางมาตรการ อาทิ นโยบายการปรับเพิ่มรายได้ผ่านการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีและโครงการจำนำข้าว (ตลอดจนมาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซเอ็นจีวีที่ใกล้ครบกำหนดสิ้นสุดระยะของมาตรการ) ได้ทัน ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ก็อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยกระตุ้นให้การบริโภคของภาคเอกชนสามารถขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ 4.0 (YoY) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งเป็นภาพด้านบวกที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่การบริโภคอาจขยายตัวได้ราวร้อยละ 3.0 (YoY)
นอกจากนี้การเร่งฟื้นกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยจากภาวะที่หยุดชะงักไปในช่วงไตรมาส 2/2554 ก็น่าจะช่วยหักล้างผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกของไทยไปได้บ้างบางส่วน ซึ่งภาพด้านบวกทั้งหมดดังกล่าว เมื่อรวมกับปัจจัยฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่มีระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0-5.6 (YoY) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบการขยายตัวร้อยละ 3.2-3.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 (ซึ่งทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.0)
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนควรติดตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ได้แก่ สถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก (ทั้งในส่วนของแกนหลัก สหรัฐฯ และยุโรปที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการคลัง และภูมิภาคเอเชียที่ต้องคงขั้วนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มเพื่อสกัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก) ตลอดจนรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน
|
|
|
|
|