Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2529
สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล-โกดัก (ประเทศไทย) การต่อสู้ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ บทเรียนที่ต้องจดจำกันไปอีกนาน             
 


   
search resources

Kodak
สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล




ลูกจ้างฟ้องร้องนายจ้างเป็นคดีความต่อศาลแรงงานนั้นมีพบเห็นกันอยู่ไม่ได้ขาด เพียงแต่ก็จะนานๆ ทีที่ฝ่ายลูกจ้างไม่ใช่ระดับลูกจ้างธรรมดาสามัญ หากแต่เป็นลูกจ้างระดับ "ไวท์คอล่าร์" ดังเช่นกรณีที่สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล อดีตผู้จัดการฝ่ายขายคนหนึ่งของโกดักฟ้องร้องบริษัทโกดักผู้เป็นนายจ้างก็คงจะเป็นเรื่องที่นานๆ จะเกิดสักครั้งและอาจจะเป็นกรณีแรกที่ลูกจ้างอย่างสุวัฒน์ดำเนินคดีขณะยังนั่งทำงานอยู่ในโกดักไปตามปกติ (โดยไม่ปกติสุขนัก) กรณีพิพาทแรงงานกรณีนี้เป็นกรณีที่บานปลายอย่างที่ใครก็คงคาดหมายไม่ถึง และคงไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะจบลงในรูปใด

หนุ่มใหญ่วัย 44 ปี อย่างสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล นั้นไม่ใช่คนเด่นคนดัง ชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างเรียบๆ ไม่ต่างจากคนชั้นกลางทั่วๆ ไป

สุวัฒน์จบการศึกษาสูงสุดปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต-เทคนิคการแพทย์สาขารังสีเทคนิค จากมหาวิทยาลัยมหิดล (เมื่อครั้งที่ยังใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) ที่ศิริราชเมื่อปี 2511 เขามีผลการเรียนดีคนหนึ่ง เคยได้รับทุนโคลัมโบไปอบรมและฝึกงานด้านเอกซเรย์ ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 เดือนกว่าๆ แล้วมาทำงานที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2 ปี

จากนั้นก็เข้าทำงานกับบริษัท โกดัก (ประเทศไทย) ในตำแหน่งพนักงานขายฝ่ายเทคนิคผลิตภัณฑ์เอกซเรย์เมื่อปี 2513 วันที่ 1 เดือนเมษายน หรือ 16 ปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็น 16 ปีที่สุวัฒน์ผ่าน "นาย" มาหลายคนโดย "นาย" ที่เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงนานที่สุดก็คือ ณรงค์ จิวังกูร ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดของโกดัก (ประเทศไทย) คนปัจจุบัน

ณรงค์ จิวังกูร นั้นอายุ 44 ปี เท่ากับสุวัฒน์ แต่เริ่มงานก่อนสุวัฒน์ 5 ปี ณรงค์แรกทีเดียวเข้าทำงานกับโกดักในตำแหน่งแอดเวอร์ไทซิ่งซุปเปอร์ไวเซอร์ แล้วย้ายเข้ามาอยู่ในฝ่ายขายเมื่อปี 2514 หลังจากที่สุวัฒน์เริ่มงานในฝ่ายนี้แล้ว 1 ปี

ณรงค์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายเมื่อปี 2516 เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดเมื่อปี 2521 และขยับฐานะขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ก็พูดกันระดับวงในว่าสำหรับณรงค์นั้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่คนไทยคนแรกของโกดักสาขาประเทศไทยไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม แต่ละก้าวของณรงค์จึงเป็นแต่ละก้าวที่สูงขึ้นและสูงขึ้นมาโดยตลอด

ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับสุวัฒน์ เพราะสุวัฒน์ก็ได้รับการ "โปรโมต" มาเป็นลำดับ

สุวัฒน์จากจุดเริ่มต้นที่ตำแหน่งพนักงานขายฝ่ายเทคนิคด้านผลิตภัณฑ์เอกซเรย์เงินเดือน 4,515 บาท ในปี 2516 ได้เดินทางไปทำงานและเรียนต่อที่สหรัฐฯ และกลับมาเริ่มงานในตำแหน่งเดิมปีเดียวกัน ปี 2518 ปรับตำแหน่งขึ้นมาเป็นโปรดักท์กรุ๊ป เซลส์ ซูเปอร์ไวเซอร์เงินเดือน 9,450 บาท และเป็นผู้จัดการขายแผนกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เมื่อปี 2522 อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้จนถึงปี 2527 เงินเดือนล่าสุด 33,480 บาท

สำหรับโกดัก (ประเทศไทย) แล้วก็คงต้องยอมรับ ว่าความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ประกอบด้วยฟิล์มเอกซเรย์เครื่องล้างฟิล์มและน้ำยาล้างฟิล์มเป็นอาทินั้น สุวัฒน์เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่ต้น

และสำหรับโกดักทั่วไปทุกภูมิภาคของโลก สุวัฒน์คือผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่อยู่ในระดับหัวแถวคนหนึ่งทีเดียวเชียว

"สุวัฒน์ขายผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มาตั้งแต่ยังไม่ตั้งเป็นแผนก จนกลายเป็นแผนก แผนกหนึ่งในฝ่ายการตลาดของโกดักประเทศไทย ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ต้องเรียกเขาว่ามือแน่ที่สุด" คนที่รู้จักสุวัฒน์และงานของสุวัฒน์เล่าให้ฟัง

เพราะฉะนั้นเมื่อณรงค์ จิวังกูร มีลู่ทางที่อาจจะก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในโกดัก (ประเทศไทย) ซึ่งณรงค์ก็ไม่ปิดบังความทะเยอทะยานประการนี้ของเขาด้วยความที่เชื่อมือของตนมากๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสุวัฒน์ที่ก็อยู่มาเก่าแก่เหมือนกัน จะคิดฝันถึงเก้าอี้ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดบ้าง

น่าจะต้องชมเชยเสียอีกที่โกดักมีคนรักความก้าวหน้าเช่นสุวัฒน์

"ก็ไม่ได้หวังอย่างเอาเป็นเอาตายว่าจะต้องได้ตำแหน่งนี้หรอก ผมว่าคนระดับผู้จัดการแผนกหลายๆ คนก็ต้องคิด เพียงแต่ผมบางทีก็ชอบพูดอะไรตรงๆ ผมเคยพูดกับณรงค์อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งว่า ถ้าคุณณรงค์คิดว่าตัวเองสามารถขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ได้ คือเขาเคยพูดกับพวกเราหลายครั้ง สำหรับผมนั้นก็คงอยากนั่งเก้าอี้ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเหมือนกัน เขาประกาศเลยว่ารับรองพวกคุณๆ นี่ไม่มีทางได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้แน่ ถ้าผมต้องขึ้นไปเขาก็ต้องเอาคนจากที่อื่นมานั่งแทนผม..." สุวัฒน์เปิดใจเล่ากับ "ผู้จัดการ"

อาจจะเป็นไปได้ที่เมื่อ ณรงค์ จิวังกูร กลับจากการเข้าฝึกงานในคอร์สระดับสูงของบริษัทแม่ที่โรเชสเตอร์นิวยอร์กในปลายปีนี้ (ณรงค์ไปเข้าคอร์สที่รู้กันว่าเป็นคอร์ส "เตรียม" ผู้จัดการใหญ่ เมื่อต้นปี 2528 นี้เอง) ณรงค์จะต้องเตรียมตัวเพื่อขึ้นรับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่แทนเจ ซี สมิธ ผู้จัดการใหญ่โกดัก (ประเทศไทย) คนปัจจุบันซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2527 หลังการเปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่ถนนวิภาวดีรังสิตแทนสำนักงานแห่งเก่าที่ถนนทรัพย์บางรักไม่นานนัก

ก่อนหน้าการออกเดินทางไปต่างประเทศที่จะต้องใช้เวลาอยู่ที่นั่นปีเต็มๆ ณรงค์ก็เลยถือโอกาสสั่งลาด้วยคำสั่งฉบับหนึ่งตั้งแท่นให้เจ ซี สมิธ ผู้จัดการใหญ่ลงนาม

เป็นคำสั่งที่ตั้งชื่อไว้สวยหรูมากว่า "การปรับโครงสร้างใหม่ในฝ่ายการตลาด" ประกาศออกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528 เป็นต้นไป ซึ่งสำหรับสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล แล้วเมื่อเขาได้รับคำสั่งเขาทราบในทันทีว่ามันเป็นคำสั่งที่ออกมาเพื่อ "ฆ่า" เขาชัดๆ

"ฝ่ายการตลาดได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ ให้แผนกการตลาดทางการแพทย์ (MEDICAL MARKET) ไปรวมอยู่ในแผนกการผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพอาชีพ (PROFESSIONAL), ผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพทางอากาศ (AERIAL), ผลิตภัณฑ์การพิมพ์ (GRAPHICS) และส่วนขายราชการ" ข้อความตอนหนึ่งของคำสั่งนี้ระบุ

กานต์ โกสินทรกุล ผู้จัดการขายแผนกผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพอาชีพ, ผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพทางอากศ ผลิตภัณฑ์การพิมพ์และส่วนขายราชการซึ่งเป็นแผนก แผนกหนึ่งที่รวมงานเอาไว้ 4 ด้านถูกสั่งให้เพิ่มความรับผิดชอบการขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แทนสุวัฒน์ กลายเป็นแผนกที่กานต์จะต้องรับงานไปทั้งหมด 5 ด้าน

ส่วนสุวัฒน์ จากตำแหน่งผู้จัดการขายแผนกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ก็ถูกสั่งให้ไปอยู่ในตำแหน่ง "ผู้พัฒนาการตลาดพิเศษ" หรือที่โกดักเรียกว่า MARKETING DEVELOPMENT SPECIALIST ทำหน้าที่เป็นผู้ให้การประสานงานและให้การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพอาชีพ ผลิตภัณฑ์การพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

โดยให้ขึ้นตรงตามสายบังคับบัญชากับกานต์ โกสินทรกุล

"พูดกันง่ายๆ ก็คือลดตำแหน่งผมจากตำแหน่งบริหารมาอยู่ในตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่ง ลดขั้นผมที่เคยอยู่ในเกรด 43 มาอยู่เกรด 41 (เกรดของพนักงานโกดักโดยคร่าวๆ นั้นแบ่งเป็นตารางที่ 1 กับตารางที่ 2 คล้ายๆ กับการแยกเป็นชั้นประทวนกับชั้นสัญญาบัตร ซึ่งขั้นเงินเดือนมีเหลื่อมกันบ้างแต่เพื่อให้เห็นข้อแตกต่างก็แยกเป็น 2 ตาราง อย่างเช่นพนักงานพิมพ์ดีด พนักงานส่งของจะอยู่ในตารางที่ 1 เริ่มจากเกรด 21 ถึง 29 ส่วนระดับหัวหน้างานก็จะเป็นตารางที่ 2 เกรดของพนักงานนี้จะกำหนดควบคู่ไปกับอัตราเงินเดือน ขั้นเงินเดือนโดยตรง อย่างไรก็ตาม บริษัทโกดักกล่าวว่า เรื่องเกรดไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งและเงินเดือนของพนักงานแต่ประการใดซึ่งก็คงต้องให้ศาลแรงงานช่วยหาข้อยุติให้) อีกทั้งยังให้ผมไปขึ้นตรงกับผู้ที่อ่อนประสบการณ์และอาวุโสกว่าด้วย..." สุวัฒน์ สรุป

กานต์ โกสินทรกุล นั้นอายุ 38 จบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์สาขาเคมีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานกับโกดัก (ประเทศไทย) เมื่อปี 2519 หลังสุวัฒน์ 6 ปี เริ่มต้นที่ตำแหน่งพนักงานฝึกหัดเงินเดือน 4,300 บาท ก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานขายเงินเดือน 6,310 บาท เมื่อปี 2521 และเป็นผู้จัดการขายปี 2524 หลังสุวัฒน์ 2 ปี ปัจจุบันกานต์อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการขายเกรด 41 เงินเดือน 30,700 บาท

ถ้าว่ากันด้านศักดิ์ศรีแล้ว สุวัฒน์ก็รู้สึกว่าตนถูกลดศักดิ์ศรีอย่างไม่น่าจะทำกัน

อีกทั้งจะพูดจากันก่อนสักนิดเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมก็ไม่เคย

"คือช่วงหลังๆ มานี้แผนกผลิตภัณฑ์การแพทย์ก็มีสุวัฒน์ทำงานเพียงคนเดียว ลูกน้องโดยตรงไม่มี สินค้าก็มีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าคู่แข่งโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น การปรับปรุงแผนกนี้และตลาดนี้ก็มีเหตุผลอยู่หรอก แต่ก็น่าจะต้องคิดว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาสุวัฒน์เขาก็ใช้ความพยายามมาก เขาสามารถรักษาตลาดไว้ได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว เมื่อมาแก้ปัญหากันโดยยุบแผนกเอาไปรวมกับแผนกอื่นและให้ผู้จัดการแผนกลดตำแหน่งอย่างนั้น ก็ออกจะขาดความละเอียดอ่อนเกินไป..." อดีตพนักงานของโกดักให้ข้อคิดเห็น

และสุวัฒน์ก็ต้องอดคิดไม่ได้ว่า การกระทำเช่นนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากการวางแผนจากบางกลุ่มบางคนที่ต้องการบีบให้เขาลาออกไปให้พ้นๆ ทาง

ก็คงคิดว่าเป็นวิธีที่ไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยากติดตามมา เพราะก็เคยใช้กันมาหลายครั้งกับหลายคน และได้ผลมาแล้ว

เพียงแต่คราวนี้เผอิญเป็นสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล พนักงานระดับบริหารที่มีอายุงานอยู่ในโกดัก (ประเทศไทย) สูงกว่าพนักงานอีกกว่า 90 ใน 100 คนของบริษัทฯ เป็นสุวัฒน์ที่อยู่อย่างคนมีศักดิ์ศรีมาโดยตลอด และบ่อยครั้งที่ยอมหักไม่ยอมงอถ้าต้องสู้กับสิ่งที่ไม่ยุติธรรม

สิ่งที่คิดกันว่าง่ายก็เลยไม่ง่ายเอามากๆ

เมื่อทราบคำสั่งสุวัฒน์ได้โทรศัพท์ไปขอทราบเหตุผลจากณรงค์ จิวังกูร และจัดการบันทึกเสียงการสนทนาไว้เพื่อความไม่ประมาท ณรงค์ก็อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับสุวัฒน์ไม่เต็มปากเต็มคำนัก เพียงแต่ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นเพราะสุวัฒน์บกพร่องในหน้าที่ หากเป็นเรื่อง "การเปลี่ยนฟังก์ชันซึ่งฝ่ายการตลาดรีออแกไนซ์ใหม่เท่านั้น"

สุวัฒน์ไม่ลดละความพยายาม เขาดำเนินเรื่องถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกระเทือนต่อตัวเขาทั้งด้านความก้าวหน้าของการทำงานและจิตใจอีกพักใหญ่ ก็ไม่มีผลใดๆ

เพื่อนพนักงานหลายๆ คนที่รับทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เริ่มจับกลุ่มซุบซิบกัน สงสัยว่า สุวัฒน์จะมีความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจึงต้องถูกลงโทษด้วยการลดขั้นและลดตำแหน่ง บางคนที่ปากเสียก็พูดดังๆ ให้พอได้ยินเสียอีกว่า บริษัทฯ ไม่ต้องการแล้วยังหน้าด้านทำงานอยู่ได้อย่างไรกัน สำหรับสุวัฒน์นั้นสิ่งที่ติดตามมาเป็นภาวะที่เขาต้องขมขื่นใจอย่างยิ่ง

นั่งคิดนอนคิดอยู่หลายตลบวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528 เมื่อปีกว่าๆ มานี้เอง สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล ก็ตัดสินใจหันหน้าเข้าพึ่งศาลแรงงานกลาง ยื่นฟ้องบริษัท โกดัก (ประเทศไทย) เป็นจำเลยที่ 1 ผู้จัดการใหญ่-เจ-ซี สมิธ เป็นจำเลยที่ 2 ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด-ณรงค์ จิวังกูร เป็นจำเลยที่ 3 และผู้จัดการแผนกการพนักงานสัมพันธ์-รชนี วนกุล เป็นจำเลยที่ 4 ข้อหาผิดสัญญาจ้าง เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ละเมิด พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหาย 10,004,576 บาท

เป็นการฟ้องโกดักพร้อมๆ กับที่สุวัฒน์ยังนั่งทำงานในโกดักไปตามปกติ

สุวัฒน์บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า...เมื่อเดือนธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2528 จำเลยทั้ง 4 ได้ทำการละเมิดต่อโจทก์ด้วยจงใจที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ไม่ให้ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนรวมทั้งพิจารณาลดตำแหน่งและระดับขั้นพนักงานของโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ถึง 4 ได้ร่วมกันกรอกรายการในเอกสารประเมินผลงานการกำหนดขั้นเงินเดือนอันเป็นเท็จว่า "ผลงานของโจทก์ในปี 2527 ต่ำกว่าที่ควร การปฏิบัติงานทั้งหมดแสดงถึงความประสงค์ในการทำงานแต่ได้ผลต่ำกว่าที่ต้องการเนื่องจากขาดประสบการณ์" ทั้งๆ ที่ความจริงโจทก์ก็ปฏิบัติงานได้ผลดี การขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เอกซเรย์เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทกำหนด ถึงแม้แผนกของโจทก์ไม่มีพนักงานขายเหมือนแผนกอื่นๆ มาเป็นเวลา 3 ปีแล้วก็ตาม

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528 จำเลยที่ 3 (ณรงค์) ด้วยการอนุมัติของจำเลยที่ 2 (เจ ซี สมิธ) ได้ให้จำเลยที่ 4 (รชนี) ออกประกาศของจำเลยที่ 1 (โกดักประเทศไทย) ให้พนักงานลูกจ้างทุกคนทราบว่า ฝ่ายการตลาดได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ให้แผนกการตลาดทางการแพทย์ไปรวมอยู่ในแผนกผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพอาชีพฯ ให้นายกานต์ โกสินทรกุล ผู้จัดการแผนกถ่ายภาพอาชีพฯ เพิ่มความรับผิดชอบการขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เอกซเรย์ทั้งหมดเข้าไปด้วยอีกแผนกหนึ่ง และมีคำสั่งให้โจทก์ไปอยู่ในตำแหน่งผู้พัฒนาการการตลาดพิเศษขึ้นตรงกับนายกานต์ โกสินทรกุล การเปลี่ยนแปลงให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528

แต่เมื่อยังไม่ถึงกำหนดเวลาดังกล่าวตามคำสั่ง วันที่ 18 มกราคม 2528 จำเลยที่ 2 ได้มีบันทึกถึงนายแพททริค โอ, กอร์ แมน กรรมการคนหนึ่งของบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการและถึงจำเลยที่ 3 (ณรงค์) ให้ทราบว่านับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2528 เป็นต้นไป (ล่วงหน้าเป็นเวลา 13 วันก่อนที่คำสั่งเปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายการตลาดจะมีผลใช้บังคับ) อำนาจอนุมัติทั้งหมด ใบเสนอราคา อำนาจในการรับสินค้าคืนและอำนาจอื่นๆ ที่มีอยู่ของแผนกผลิตภัณฑ์เอกซเรย์ให้ขึ้นตรงต่อนายกานต์

พูดอีกทีคือสุวัฒน์นั้นไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ อีกต่อไป

สุวัฒน์จึงได้ระบุว่า "เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการจงใจกลั่นแกล้งโจทก์"

อีกตอนหนึ่งของบรรยายฟ้องกล่าวว่า "นอกจากนี้จำเลยทั้ง 4 ยังได้ร่วมกันมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการขายไปอยู่ในตำแหน่งผู้พัฒนาการการตลาดพิเศษ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ลักษณะทำงานไปโดยสิ้นเชิงและเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยเหตุผลดังนี้คือ หนึ่ง-งานของโจทก์ในตำแหน่งใหม่ เป็นตำแหน่งที่เปลี่ยนฐานะของลูกจ้างผู้บังคับบัญชาเป็นลูกจ้างธรรมดา สอง-เป็นตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะโจทก์เป็นพนักงานที่มีเงินเดือนประสบการณ์อายุการทำงานและระดับขั้น (เกรด) ของพนักงาน 43 สูงกว่านายกานต์ โกสินทรกุล เป็นการผิดหลักของการปกครองลูกจ้างและการจ้างงานเป็นอย่างยิ่ง สาม-งานของโจทก์ตำแหน่งใหม่นี้เป็นตำแหน่งระดับขั้น (เกรด) ของพนักงาน 41 เท่านั้น โจทก์มีระดับเงินเดือนและระดับขั้นของพนักงานที่เกินกว่าตำแหน่งนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการขึ้นเงินเดือนอีกต่อไปและสี่-ลักษณะงานในตำแหน่งใหม่นี้โจทก์ยังต้องเกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์เอกซเรย์ทั้งหมดต่อไป แต่โจทก์ไม่มีอำนาจในการอนุมัติใดๆ ผลจึงเท่ากับโจทก์ถูกลดตำแหน่งโดยทำหน้าที่เป็นพนักงานขายซึ่งเป็นตำแหน่งที่โจทก์เริ่มปฏิบัติงานกับบริษัทเมื่อ 15 ปีก่อน"

สุดท้ายในคำขอท้ายคำฟ้องสุวัฒน์จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา

1. ยกเลิกคำสั่งเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่จำเลยทั้ง 4 ให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้พัฒนาการการตลาดพิเศษนี้เสีย และให้จำเลยที่ 1 แต่งตั้งโจทก์อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอันไม่เป็นการลดตำแหน่งต่อไป และให้จำเลยที่ 1 ปรับระดับขั้นของโจทก์ให้สูงเท่าเดิมหรือสูงกว่าเดิม

2. ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ขึ้นเงินเดือนในปี 2528 แก่โจทก์เดือนละ 3,348 บาทนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะปรับเงินเดือนให้โจทก์

3. ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และขาดความเชื่อถือจำนวน 10,000,000 บาทแก่โจทก์

4. ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการลดตำแหน่ง และไม่ได้ขึ้นเงินเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไปในอัตราเดือนละ 3,682 บาทจนกว่าจำเลยที่ 1 จะปรับตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมแก่โจทก์

ก็แน่นอนที่สิ่งที่สุวัฒน์ได้ทำไปนี้เป็นทางออกสุดท้ายที่เขาจำเป็นต้องพึ่งแล้ว

เพียงแต่ในสายตาของผู้บริหารของโกดัก (ประเทศไทย) นั้นก็มองว่าสุวัฒน์ทำเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป และถ้าไม่สู้กันให้เห็นดำเห็นแดงก็คงไม่หลาบจำอีกทั้งชื่อเสียงของบริษัทข้ามชาติที่ยิ่งใหญ่บริษัทหนึ่งก็คงไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ตรงไหน การประนีประนอมเป็นเรื่องที่ตัดทิ้งไปได้เลย จะมีก็แต่การพิสูจน์ความถูกผิดกันในศาลแรงงานกลางเท่านั้น

เพราะฉะนั้นโกดัก (ประเทศไทย) ก็เลยแถลงให้การต่อสู้คดีและก็ฟ้องกลับสุวัฒน์เรียกค่าเสียหายที่ให้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกบุคคลภายนอกเข้าใจผิด ถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นเงินเบาะๆ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งให้สุวัฒน์ที่บังอาจยื่นฟ้องกล่าวโทษนายจ้างและผู้บังคับบัญชาลงโฆษณาขอขมาในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างละ 1 ฉบับ ฉบับละ 2 ครั้ง

และให้ศาลมีคำพิพากษาให้สุวัฒน์ออกจากงาน เพราะเหตุที่ทำผิดอย่างร้ายแรงโดยกล่าวหาว่าผู้บังคับบัญชาทำรายงานเท็จทั้งๆ ที่ได้อ่านรายงานนั้นแล้ว เป็นการผิดต่อข้อบังคับการทำงานด้วย

ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าไม่ต้องอยู่เผาผีกันแล้วนั่นแหละ

ในคำแถลงต่อสู้คดีและฟ้องกลับของฝ่ายโกดักนั้น โกดักยืนยันว่าได้กระทำไปโดยไม่มีเจตนากลั่นแกล้งสุวัฒน์ "การปรับปรุงการบริหารและการสับเปลี่ยนตำแหน่งก็เป็นไปตามความจำเป็นของธุรกิจ และเพื่อความมั่นคงและความก้าวหน้าของพนักงาน ซึ่งโดยเฉพาะบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) นั้นมีนโยบายจะให้พนักงานทำงานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากประวัติและความสามารถในการทำงานของพนักงานแต่ละคน...."

ในเรื่องที่สุวัฒน์ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนก็แย้งข้อกล่าวหาว่า "โจทก์ (สุวัฒน์) ไม่ได้เป็นพนักงานคนเดียวที่ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในปี 2528 เพราะจำเลยที่ 1 (บริษัทโกดักประเทศไทย) ได้แจ้งไว้ในคู่มือของพนักงานหน้า 2 แล้วว่า เสถียรภาพของการจ้างงานนั้นขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์หลายชนิดของบริษัท และสินค้าบางประเภทมีความต้องการผันแปรไปตามฤดูกาลถึงแม้บริษัทจะพยายามที่จะไม่ให้มีการปลดงานหรือสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่ง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่สินค้าบางอย่างมีการแข่งขันในตลาดมาก โดยเฉพาะสินค้า ในแผนกทางการแพทย์และเอกซเรย์ซึ่งโจทก์ (สุวัฒน์) เคยรับผิดชอบอยู่ในปีที่แล้วมีสถิติจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ขายได้คล่อง (โกดักไม่ได้บอกว่ายอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง).."

และเจ ซี สมิธ เคยได้หารือกับสุวัฒน์ ถึงเรื่องปัญหาการตลาดของสินค้าทางการแพทย์และเอกซเรย์เมื่อกลางปี 2527 หลังจากสมิธเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ได้ไม่นาน ซึ่งสุวัฒน์ก็ยอมรับว่า สินค้าชนิดนี้มีปัญหาในด้านการจำหน่ายมาก เพราะราคาสู้สินค้าของคู่แข่งจากประเทศ ญี่ปุ่นไม่ได้ อยู่แล้ว ตลาดสินค้าทางการแพทย์และเอกซเรย์นับแต่ปี 2526 จนถึงปี 2527 ได้ลดลงมาก..." ฝ่ายโกดักระบุ สำหรับเจ ซี สมิธ นั้นเขาได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในด้านการตลาดสินค้าทางการแพทย์และเอกซเรย์ที่ให้ไปจะได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายซึ่งมีอยู่แล้วไปช่วยงานขายสินค้าทางการแพทย์และเอกซเรย์อีกทางหนึ่งด้วย "โจทก์ไม่ได้ไปทำหน้าที่เหมือนดังเช่นเป็นผู้แทนฝ่ายขายที่กล่าวอ้างและตามที่เป็นจริงแผนกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเอกซเรย์ซึ่งโจทก์เคยทำงานอยู่นั้น โจทก์ก็ไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่แล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์คนสุดท้ายคือนางสาวชมเดือน ศัตวุฒิ ได้ลาออกไปจากบริษัท ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2525 และนับตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยมีพนักงานภายใต้บังคับบัญชาเลย คงเป็นแผนกหนึ่งลอยๆ อยู่ในบริษัทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว..."

โจทก์จึงไม่ได้ถูกเปลี่ยนฐานะลูกจ้างผู้บังคับบัญชาไปเป็นลูกจ้างธรรมดาแต่อย่างใด เพราะในแผนกเดิมของโจทก์นั้นก็ไม่มีใครเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์มาถึง 2 ปีแล้ว ในขณะเดียวกันการที่โจทก์มาทำงานในตำแหน่งใหม่นั้น โจทก์กลับมีพนักงานร่วมงานในแผนกที่ทำงานมากกว่า ในขณะที่ตำแหน่งเดิมไม่มีเลย..."

ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับการลดเกรด โกดักก็กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจผิดพลาดไปเอง เพราะการที่อยู่ในขั้นหรือเกรด 41 อาจจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนที่อยู่ในขั้นหรือเกรด 43 ก็ได้ ขั้นหรือเกรดเป็นเรื่องของการจัดขั้นตอนในเรื่องการจัดลำดับเงินเดือนเท่านั้น... เกรดหรือขั้นเงินเดือนไม่ใช่ส่วนสำคัญในการกำหนดความรับผิดชอบและหน้าที่ของพนักงานเรื่องนี้ เป็นทำนองเดียวกับขั้นเงินเดือนข้าราชการชั้นซี 11 ซึ่งข้าราชการทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นอธิบดีกันทุกคน บางคนอาจะเป็นที่ปรึกษาประจำกระทรวง ซึ่งไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเลยก็ได้....

โกดักยืนยันว่า "จำเลยทั้ง 4 ไม่เคยคิดกลั่นแกล้งโจทก์ ในทางตรงกันข้ามโจทก์เองกลับเคยปรารภว่าจะลาออกจากบริษัทแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างใด จำเลยที่ 4 (รชนี วนกุล) ไม่เคยพูดจาหว่านล้อมโจทก์ให้โจทก์ลาออก (ในคำฟ้องของสุวัฒน์ได้บอกว่ารชนี วนกุล มาพูดจาขอให้สุวัฒน์ลาออกไป ทุกอย่างจะได้ยุติลงอย่างสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย)

ก็ต้องเรียกว่าโกดักแก้ข้อกล่าวหาทุกข้อ และโต้กลับเอาหนักๆ เสียอีกด้วย

"จำเลยทั้ง 4 เข้าใจว่า สาเหตุแท้จริงที่โจทก์นำเรื่องมาฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีในเรื่องนี้ ก็เพื่อจะแก้และเบนความสนใจของเพื่อนพนักงานกลบเกลื่อนความจริงให้โจทก์เองได้ไปร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในการก่อตั้งบริษัทไทยเอ็นดีที จำกัด โดยโจทก์ถือหุ้นอยู่ในตอนเริ่มตั้งบริษัท 3,000 หุ้น และเข้าเป็นกรรมการของบริษัทจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2525 โจทก์ได้ขอลาออก บริษัทดังกล่าวนี้มีผู้ถือหุ้นอื่นคือนางสาวชมเดือน ศัตวุฒิ และบรรดาผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็เป็นญาติพี่น้องในครอบครัวของนางสาวชมเดือน ศัตวุฒิ ซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ตามหลักฐานที่จำเลยทั้ง 4 จะได้นำเสนอต่อศาลต่อไป การที่โจทก์เข้าเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวและบริษัทดังกล่าวมีหนี้สินค้างชำระอยู่กับบริษัทเป็นจำนวนมาก เป็นการขัดต่อนโนบายเรื่องการทำงานให้บริษัทซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 (บริษัทโกดักประเทศไทย) เป็นกรณีที่พนักงานไม่อาจกระทำได้เพราะขัดต่อนโยบายจรรยาบรรณทางด้านธุรกิจ..จำเลยทั้ง 4 เข้าใจว่าเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 (เจ ซี สมิธ) ได้ทราบถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้ โจทก์จึงได้รีบกล่าวหาเป็นคดีฟ้องร้องจำเลยทั้ง 4 เพราะเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของจำเลยที่ 1 (บริษัทโกดักประเทศไทย) ก่อน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อต่อรอง..." ข้อความส่วนหนึ่งที่โกดักรุกตอบโต้สุวัฒน์

คดีที่เป็นข้อพิพาทแรงงานระหว่างสุวัฒน์กับบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) นี้ดำเนินมาได้ปีกว่าแล้วโดยที่การเจรจาประนีประนอมไม่เคยมีขึ้น

"ฝ่ายโกดักเขามีท่าทีแข็งกร้าวมาก ไม่ว่าใครจะพยายามโน้มน้าวอย่างไรเขาไม่ยอมเจรจาประนีประนอมด้วยท่าเดียว..." ผู้ที่เข้าไปสังเกตการณ์เล่ากับ "ผู้จัดการ"

ในที่สุดจากคดีที่ต้องต่อสู้กัน ศาลแรงงานกลางก็กลายเป็นคดีอาญาอีกหนึ่งคดีที่สุวัฒน์ฟ้องจำเลยทั้ง 4 ชุดเดิมด้วยข้อหาปลอมแปลงเอกสาร (อ่านรายละเอียดจากล้อมกรอบ) โดยสุวัฒน์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2529 ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องไปเมื่อวันที่ 15 เมษายนและนัดชี้ว่าคดีมีมูลหรือไม่มีมูลในวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา

วันที่ 28 มีนาคม 2529 ภายหลังการยื่นฟ้องอาญาได้ 1 เดือนพอดี โดยไม่ชี้แจงแสดงสาเหตุ บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ก็จัดการออกคำสั่งเลิกจ้างสุวัฒน์

ในวันที่ 8 เมษายน 2529 ซึ่งศาลแรงงานนัดสืบพยานโจทก์ สุวัฒน์ได้นำเรื่องการถูกเลิกจ้างของเข้าแจ้งให้ศาลทราบ

ศาลแรงงานกลางก็นัดพร้อมให้โจทก์และจำเลยทุกคนมาชี้แจงแสดงสาเหตุการเลิกจ้างต่อศาลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2529 และหาทางประนีประนอมกัน

"ก็ต้องพูดว่าเหตุการณ์มันได้ผันแปรไปแล้ว ที่ไม่น่าจะเกิดมันก็เกิด ซึ่งสุวัฒน์นั้นก็คงไม่ได้กลับไปทำงานที่โกดักแน่แล้ว เจ้าตัวก็คงไม่อยากจะกลับไปด้วย เพราะตอนที่ได้รับคำสั่งเลิกจ้างยังต้องมีคนคุมออกมาส่งหน้าประตู และยามเฝ้าประตูก็ถูกสั่งว่าห้ามสุวัฒน์หรือรถหมายเลข กท. ของสุวัฒน์เข้ามายุ่มย่ามในโกดักอีกเด็ดขาด ผมว่าใครที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดก็คงงงเป็นไก่ตาแตกทุกคน เพราะที่โกดักควรทำกลับไม่ทำ แต่ไม่น่าทำกลับทำเสียนี่..." แหล่งข่าวที่รับทราบเรื่องของสุวัฒน์กับโกดักมาตั้งแต่ต้นออกความเห็น

เรื่องของสุวัฒน์กับโกดักนั้น ผลสุดท้ายจะลงเอยกันอย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้ เพราะเป็นเรื่องที่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่ศาลสถิตยุติธรรมจะต้องเป็นผู้ตัดสินความถูกผิด

เป็นเรื่องที่ไม่ชนะก็แพ้ ไม่มีเสมอ

และไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ หรือแพ้เรื่องนี้จะต้องกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งที่บริษัทข้ามชาติอีกหลายแห่ง หรือไม่ต้องถึงกับเป็นบริษัทข้ามชาติก็เถอะจะต้องศึกษากันอย่างมากๆ มันเป็นบทเรียนที่ให้ข้อคิดทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านผู้เป็นนายจ้างและด้านลูกจ้าง

สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล นั้นคงไม่อยากจะเป็นคนเด่นคนดัง ชีวิตของเขาเดิมทีเรียบ ๆ ไม่ต่างจากคนชั้นกลางๆ ทั่วๆ ไปในสังคม

เขาคงไม่เคยคิดมาก่อนว่า จู่ๆ วันหนึ่งบริษัทที่โด่งดังมีชื่อเสียงคับโลกที่เขาร่วมงานอยู่ด้วย 16 ปี เกิดต้องการจะสร้างให้เขาเป็นตำนานเพื่อคนรุ่นหลังเช่นนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us