Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2529
หวั่งหลี FAMILY SAGA เหนือความสำเร็จทางธุรกิจ คือความภูมิใจ             
 


   
search resources

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน
สุวิทย์ หวั่งหลี




มีนักธุรกิจไทยที่มาจาก OVERSEA - CHINESE จำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมธุรกิจหวั่งหลีจึงเป็นปึกแผ่นตลอดระยะเวลากว่า 120 ปี? อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีปัญหา ไม่มีวิกฤติการณ์ รักษาชื่อเสียงยั่งยืนจนทุกวันนี้ "ผู้จัดการ" ได้ตั้งคำถามนี้กับ สุวิทย์ หวั่งหลี ผู้นำตระกูลหวั่งหลีปัจจุบัน "พี่น้องตระกูลหวั่งรักใคร่สามัคคีกัน มีความสำนึกในความรับผิดชอบของตนดี" เขาตอบอย่างเคร่งขรึม

ตระกูลหวั่งหลีดำเนินธุรกิจมีเอกลักษณ์ของตัวเอง!

ผู้คนในระดับกว้างมองว่า ธนาคารนครธนซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาจากธนาคารหวั่งหลีเมื่อต้นปีที่แล้ว คือ "สัญลักษณ์" ธุรกิจตระกูลหวั่งหลี ธนาคารนี้มีอายุยาวนานถึง 53 ปี เป็นธนาคารเก่าแก่อันดับสองของประเทศไทยที่ยังดำรงอยู่ถัดจากธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารนครธนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อันมีผลประกอบการในระดับที่สูงกว่าธนาคารทั้งระบบในห้วงเวลานี้ แต่ สุวิทย์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครธนและผู้นำตระกูลหวั่งหลีรุ่นปัจจุบัน กลับยอมรับกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมาเมื่อไม่นานมานี้ "ความจริงธนาคารนครธนเพิ่งจะดำเนินงานธนาคารอย่างจริงจังเมื่อ 7 - 8 ปีมานี้เอง"

คนในวงการธุรกิจระดับลึก ๆ มองว่าแท้ที่จริงตระกูลหวั่งหลีปักหลักหนักแน่นกับธุรกิจค้าข้าว - โรงสี อันเป็นฐานธุรกิจสืบเนื่องมาหลายชั่วคน และแท้ที่จริงการเกิดธนาคารนครธนก็เพื่อรองรับธุรกิจนี้ แต่ทว่าในระยะ 3 - 4 ปีมานี้ ธุรกิจค้าข้าวของเขาได้หดตัวลงอย่างมาก ๆ และเพิ่งจะยุบบริษัทเกี่ยวข้องกับกิจการนี้ (บริษัท ธัญญเวฒน์) ไปเมื่อปี 2528 "หวั่งหลีมีนโยบายจะเลิกกิจการค้า - ส่งออกข้าวแล้ว" สุวิทย์ หวั่งหลี ประกาศอย่างเฉียบขาด

หวั่งหลีเข้ามาฝังรากในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 120 ปีแล้ว ต้นตระกูลของพวกเขามิใช่ OVERSEA - CHINESE อันมีอดีต "เสื่อผืนหมอนใบ" ดุจคนจีนที่ร่ำรวยอู้ฟู้ในเมืองไทยปัจจุบัน โดยทั่วไปหวั่งหลีเป็นคนจีนที่เป็น "ฟันเฟือง" สำคัญในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศในเอเชียอาคเนย์ คนตระกูลหวั่งหลีทุกคนมีความภาคภูมิใจกับภูมิหลังของพวกเขาตลอดมา แต่ลึก ๆ ในความภาคภูมิใจนี้ก็มี "ปมด้อย" แฝงอยู่ เนื่องมาจากนามสกุลหวั่งหลีเช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าคำว่า "หวั่งหลี" เป็นสัญลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีน ที่ยังไม่เป็นคนไทยเมื่อเทียบกับ OVERSEA - CHINESE เข้ามาเมืองไทยในยุคเดียวกัน เป็นสัญลักษณ์ของการบริหารระบบครอบครัว อันดูเหมือนขัดแย้งกับมืออาชีพ (PROFESSIONAL) ในธุรกิจสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าไปมากเช่นนี้ ว่ากันว่าการเปลี่ยนชื่อธนาคารหวั่งหลี บริษัทหล่วงหลีประกันภัย เป็นชื่อไทย ๆ มีเหตุผลอยู่ในตัวเองเช่นนี้ด้วย

แล้วภาพอันคมชัดของธุรกิจหวั่งหลีในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ตันฉื่อฮ้วง (2393 - 2468) เดินทางมากับเรือสำเภาถึงเมืองไทยครั้งแรกประมาณปี 2414 หนุ่มน้อยแซ่ตันคนนี้คือเสมียนคุมสินค้าของบิดาขึ้นล่องระหว่างฮ่องกงกับไทย โดยนำผ้าไหมจากเมืองจีนมาขายในไทย และนำข้าวจากไทยกลับไปขายยังฮ่องกง เขากับบิดาจอดเรือสำเภาเทียบท่าใกล้วัดทองธรรมชาติ ในเขตคลองสานในปัจจุบัน

ณ ตรงนี้ก็คือจุดยึดหัวหาดธุรกิจหวั่งหลี เป็นจุดเริ่มต้นที่คนรุ่นหลังไม่ลืม แม้แต่การเปลี่ยนชื่อธนาคารหวั่งหลีมาเป็นธนาคารนครธนพร้อมกับย้ายสำนักงานใหญ่จากฝั่งธนมาที่อาคารสาธรธานี ก็เพราะต้องการคงประวัติศาสตร์ของพวกเขา ซึ่งบรรพบุรุษสร้างความรุ่งโรจน์ขึ้นโดยมีที่ยืนที่ฝั่งธนบุรีนั่นเอง

ตันฉื่อฮ้วง เป็นคนจีนแมนดาริน บ้านเกิดอยู่ซัวเถา บิดาของเขาเป็นชาวจีนที่มีความภูมิใจในชาติตระกูลของตนเอง บ้านเกิดของเขาคือที่พำนัก แต่ท้องทะเลย่านเอเชียอาคเนย์คือทางผ่านและที่ทำมาหากิน บ้านหวั่งหลีอยู่นอกเมืองซัวเถาใหญ่โตนัก บางคนที่พูดเกินจริงไปบ้างเล่าว่า หากคน ๆ เดียวเปิดและปิดหน้าต่าง (ปกติบ้านคนจีนประตู - หน้าต่างมากอยู่แล้ว) บ้านหวั่งหลีก็จะเป็นงานชิ้นเดียวที่ต้องทำทั้งวัน บ้านหลังนี้ถูกยึดภายหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่ปี 2492 พวกหวั่งหลีต้องระเห็จออกจากที่นั่นมาทุกคน เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนนโยบายต้องการคืนบ้านหลังนี้ แต่คนหวั่งหลีก็ไม่ไปรับคืน จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ

เพียง 5 - 6 ปีตันฉื่อฮ้วงก็เกิดความประทับใจเมืองไทยเอามาก ๆ (คำว่า "หวั่งหลี" นำมาจากท้ายชื่อของ ตัน ฉื่อฮ้วง "ฮ้วง" อ่านออกเสียงเป็น "หวั่ง" แปลว่าความรู้เชิงบัณฑิต มาต่อกับคำว่าหลี แปลว่าดี หรือรับเงิน) ขึ้น โดยบิดาของเขาไม่ได้ช่วยเหลือทางการเงินแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นภรรยาของเขาก็เป็นคนไทย (ชื่อหนู) ร้านหวั่งหลีดำเนินธุรกิจเหมือนเดิมเช่นบิดาของเขาทำ เพิ่มกิจการโรงสีเข้าไปด้วย

พรรณี บัวเล็ก กล่าวถึงต้นตระกูลหวั่งหลีไว้ในวิทยานิพนธ์ของเธออันเกี่ยวกับ OVERSEA - CHINESE บางตระกูล (การเติบโตและการพัฒนาของนายทุนธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย 2475 - 2516) บางตอนเธออ้างงานเขียนชื่อ TWENTIETH CENTURY IMPRESSIONS OF SIAM ของ ARNOLD WRIGHT ถือเป็นผลงานแห่งการรวบรวมด้วยความพยายามที่พอจะทำให้เห็นภาพ "หวั่งหลี" ยุคแรก ๆ ได้ดีพอสมควร ซึ่ง "ผู้จัดการ" นำมาประกอบการเขียนเรื่องนี้ในบางตอน (โดยเฉพาะต้น ๆ) นอกจากนี้มีบุคคลอีก 2 คนกล่าวถึงบรรพบุรุษของเขา หนึ่ง - ตันซิ่วติ่ง หวั่งหลีในGENERATION ที่ 3 ซึ่งเดินทางมาจากฮ่องกงบริหารกิจการหวั่งหลี ภายหลังตันซิ่งเม้ง (พี่ชาย) สิ้นชีวิตอย่างกะทันหัน เคยให้สัมภาษณ์ถึงประวัติตระกูลหวั่งหลีใน BANGKOK POST เมื่อปี 2510 และสุวิทย์ หวั่งหลี ผู้นำตระกูลหวั่งหลีปัจจุบัน ผู้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนายธนาคารที่ LOW PROFILE ที่สุด ได้เสียสละและเต็มใจพูดถึงธุรกิจตระกูลของเขาที่ค่อนข้างพิสดารเป็นครั้งแรกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ไม่อาจจะกล่าวถึงบุคคลอีกจำนวนหนึ่งตั้งแต่คนในตระกูลหวั่งหลีบางคน ญาติ คนใกล้ชิด พนักงาน และนักธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจแนวเดียวกัน ได้อธิบายถึง "หวั่งหลี และธุรกิจของเขา" ทำให้ภาพกว้าง ๆ เติมแต่งรายละเอียดอีกมาก

ในยุคล่าอาณานิคมอันเป็นผลกระทบต่อเมืองไทยตรง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ตันฉื่อฮ้วงตัดสินใจเข้าอยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศส อันถือได้ว่าเป็นจุดสำคัญของการเกิดตระกูลหวั่งหลีในประเทศไทยนำพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับ "ผู้มีอำนาจ" ในแผ่นดินขณะนั้น เป้าหมายแจ่มชัดอยู่แล้วคือเสริมรากฐานธุรกิจของเขา และสืบเนื่องต่อมาเกี่ยวข้องกับ "อำนาจรัฐไทย" มากขึ้นเป็นลำดับ เมื่ออิทธิพลของอาณานิคมฝรั่งเศสได้ลดทอนไป

เงื่อนไขนี้ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะ OVERSEA - CHINESE ในยุคนั้น ๆ นักค้นคว้าธุรกิจประวัติศาสตร์คนหนึ่งให้เหตุผลว่า สังคมธุรกิจขณะนั้นเล็กเหลือเกินซึ่งล้วนต้องแวดล้อมศูนย์อำนาจ

ตันฉื่อฮ้วง นอกจากจะมีกิจการค้าส่งออก - นำเข้าสินค้าแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการโรงสีที่ใหญ่ที่สุด ในช่วงเขาอยู่เมืองไทยมีกิจการโรงสี 2 แห่งที่ฝั่งธนและสามเสน - - โรงสีเคี้ยงหลีจั่น เป็นโรงสีโรงแรกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามเสนปัจจุบันเพิ่งจะสร้างเป็นคลังสินค้าให้บริษัทเสริมสุขเช่า

ตันฉื่อฮ้วงเป็นผู้นำคนจีนที่เข้มแข็ง และได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ในฐานะผู้นำวงการอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมาก เขาได้รวบรวมกลุ่มโรงสีกว่า 40 โรงอันเป็นกิจการของ OVERSEA - CHINESE เป็นส่วนใหญ่ ก่อตั้งสมาคมโรงสีไฟไทยเพื่อกำหนดราคาซื้อขายกับหน่วยข้าวที่แน่นอนเป็นครั้งแรก

เขามีลูกชาย 4 คน หญิง 5 คน คนโตเป็นคนประหยัด แต่ไม่มีหัวการค้าจึงถูกจัดสรรหน้าที่ดูแลครอบครัวในซัวเถา คนที่สอง - - ตันลิบบ๊วย มีหัวการค้า ถูกส่งออกมาเมืองไทยดูแลกิจการค้าและโรงสีอันถือได้ว่าเป็นกิจการค้าหลักของตระกูลหวั่งหลีตลอดมา (สุวิทย์ หวั่งหลี ยืนยัน) โดยที่ตันฉื่อฮ้วงได้เกษียณตัวเองเมื่ออายุ 50 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่ซัวเถา หลังจากเร่ร่อนสร้างฐานะจนค่อนชีวิต และจบชีวิตลงที่นั่นตามความตั้งใจเมื่ออายุ 75 ปี

ตันลิบบ๊วย เข้าสืบทอดบิดาเพียงอายุ 19 ปี โดยดำเนินรอยเท้าบิดาอย่างดี สร้างกิจการค้าใหญ่โตเป็นลำดับ แวดล้อมการค้าส่งออกข้าว - โรงสี รวมทั้งเป็นตัวแทนบริษัทเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ - ฮ่องกง - ซัวเถา ธนาคารหวั่งหลีจั่น เพื่อสนับสนุนการค้าของตระกูล "ธนาคารสนับสนุนการเงินเฉพาะธุรกิจตระกูลหวั่งหลีเท่านั้น และผู้ฝากเงินก็คือคนในครอบครัวหวั่งหลีไม่มีคนนอกเลย" ตันซิวติ่ง เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี 2510

ตันลิบบ๊วยประสบความสำเร็จสามารถสร้างธุรกิจและสินทรัพย์ของตระกูลงอกเงยจากโรงสี 2 โรง เพิ่มเป็น 6 แห่ง นอกจากธนาคารซึ่งหมายความเพียง "กำปั่น" เก็บเงินของตระกูลหรือร้านแลกเปลี่ยนเงินตราไม่มีสำนักงานหรือคนทำงานแยกออกจากกันเลยแล้ว และตั้งบริษัทหล่วงหลีประกันภัยด้วยด้วย

ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าไปมีส่วนร่วมสังคมชาวจีนมากขึ้นลึกซึ้งมากขึ้นยิ่งกว่ายุคบิดาของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเกี่ยวกับการสนับสนุนช่วยเหลือ "ภัยพิบัติ" บนแผ่นดินใหญ่

ตันลิบบ๊วยลาโลกไปหลังจากได้ใบอนุญาตมีธนาคารเพียง 2 ปี เขามีความตั้งใจเช่นเดียวกับบิดา เมื่อมอบภาระหน้าที่ให้ทายาทสืบต่อแล้วบั้นปลายชีวิตของเขาจะอยู่ที่ซัวเถา แต่แล้วเขาโชคร้ายต้องตายเสียก่อน ตันซิวติ่งเล่าว่าลูกได้ดำเนินให้เป็นตามเจตจำนงของบิดา นำศพล่องทะเลกลับบ้านฝ่าดงโจรสลัดในช่วงนั้น พวกเขาต้องลงแรงป้องกันอย่างเต็มที่หวั่นกันว่าจะมีการลักศพผู้พ่อกลางทะเล ซึ่งในที่สุด ก็ไปได้ตลอดรอดฝั่ง!

หากหวั่งหลี FAMILY SAGA เป็นนิยาย ตอนนี้จะตื่นเต้นสนุกครบทุกรสกว่าทุกตอนในเรื่องนี้ โดยมีตันซิวเม้งเป็นพระเอก

จากพฤติกรรมของตันซิวเม้ง ผู้นำใน GENERATION ที่ 3 ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติโครงสร้างและแนวคิดของคนตระกูลหวั่งหลี ทั้งตอกย้ำยึดมั่นจารีตอย่างเหนียวแน่นตลอดตั้งแต่ต้น หรือเกิดจุดหักมุมตั้งแต่เมื่อสิ้นยุคตันซิวเม้ง และก็ยึดมั่นสืบทอดจนทุกวันนี้

เขามีชีวิตเพียง 41 ปี แต่ผลงานของเขามากมายนัก ตันซิวเม้งเข้ามารับงานจากบิดาอย่างเต็มที่เมื่ออายุ 26 ปี เขามีเวลาอีกเพียง 14 ปีเท่านั้นในการสร้างอาณาจักรธุรกิจหวั่งหลี ให้ธุรกิจหวั่งหลีกว้างขวางออกไปหลายประเทศในย่านเอเชีย มีกิจการธนาคารและบริษัทการค้าในต่างประเทศ 6 ประเทศ จำนวน 8 แห่ง เป็นตัวแทนเรือ (แทบจะผูกขาด) ในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิ Brusgard Kiosterud & Co., Dramen, Thoresen & Co., ที่ฮ่องกง Menam River Towage & Lighter และ Chaina Siam Wharf and Godoun Company เชื่อมการค้าในภูมิภาคนี้ ระหว่างซัวเถา ฮ่องกง ไฮเฮา สิงคโปร์ มะละกา กัวลาลัมเปอร์ อิโป ปีนัง และร่างกุ้ง

ในประเทศไทย กิจการโรงสีของหวั่งหลีนับว่าใหญ่ที่สุดในประเทศมีถึง 8 โรง ปริมาณการสีข้าวประมาณ 1,200 เกวียน/วัน ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ OVERSEA - CHINESE หลายรายที่ประกอบกิจการโรงสีต้องล้มคว่ำ แต่ตันซิวเม้งพยุงตัวมาได้

ตันซิวเม้งเป็นผู้นำคนจีนโพ้นทะเลในไทยที่เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ในยุคนโยบายคณะราษฎรพุ่งเป้าต่อต้านธุรกิจชาวจีน เขาเป็นตัวแทนคนจีนที่มีอำนาจต่อรองในระดับแน่นอน ในขณะเดียวกันก็ต้องพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างล้ำลึก พรรณี บัวเล็ก กล่าวถึงบทบาทตันซิวเม้งในเรื่องนี้ว่า "ไม่ได้เข้าสัมพันธ์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มอื่น การร่วมมือกับคณะราษฎร เช่นบริษัทพืชกสิกรรมเป็นไปด้วยความจำเป็นมากกว่า…" ซึ่งค่อนข้างจะขัดแย้งของทายาทหวั่งหลีบางคนที่มีทรรศนะว่าหวั่งหลีไม่มียุคใดที่เข้าไปพัวพันการเมืองเท่ายุคตันซิวเม้ง อันสอดคล้องกับหลักฐานบางประการในหนังสืองานศพฉบับภาษาจีน (สิงหาคม 2488) ที่ปรากฏภาพและคำไว้อาลัยจากผู้ใหญ่ในแผ่นดินยุคนั้นหลายคน อาทิ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม พลตำรวจตรีพระพินิจชนคดี!

เมื่อเขาต้องถูกปองร้ายถึงชีวิตในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่คนตระกูลหวั่งหลีตัดสินใจไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง พร้อม ๆ กับการลดบทบาทธุรกิจอย่างมาก ๆ สุวิทย์ หวั่งหลี จะยืนยันเสมอว่าธุรกิจตระกูลหวั่งหลีไม่เคยอิงการเมืองเลย และนี่ก็คือสิ่งหนึ่งที่คนตระกูลหวั่งหลีภูมิใจ

วัฒนธรรมชาวจีนอย่างหนึ่งคือการมีครอบครัวใหญ่ ซึ่งหนีปัญหาต้องมีภรรยาหลายคนไม่พ้น บิดาของตันซิวเม้ง - - ตันลิบบ๊วยก็มีภรรยา 2 คน (คนจีนและคนไทย) เขาต้องสร้างบ้านขึ้นสองหลังเพื่อภรรยาสองคน เพราะพฤติกรรมเช่นนี้จึงขัดกับจารีตของตระกูลหวั่งหลีที่ทายาททุกคนได้รับความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน มีเรื่องบางเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนตระกูลนี้จนถึงวันนี้ ตันซิวเม้งก็เกือบจะถลำไปตามครรลองนั้น ว่ากันว่าเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในครอบครัว อันเป็นที่มาของความสำนึกว่าผู้นำของตระกูลควรมีภรรยาเดียวจนทุกวันนี้

นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนบางคนตั้งข้อสังเกว่านี่คือ ปมเงื่อนประการหนึ่งแห่งความกลมเกลียวของตระกูลหวั่งหลีในปัจจุบันอันแทบจะหาไม่ได้ในธุรกิจใหญ่ที่มาจาก OVERSEA - CHINESE ในไทยเลย เพราะมันเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยากเหลือเกิน

การตายของตันซิวเม้งนำความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงมาสู่ครอบครัวหวั่งหลี ซ้ำยังคงปริศนาตราบเท่าทุกวันนี้

"…ผมเสียดายคุณงามความดีของคุณตันซิวเม้งที่ประกอบมา โดยเฉพาะในการร่วมมือประคับประคองชาวจีนโพ้นทะเลให้พ้นจากการกดขี่ของญี่ปุ่นในประเทศไทย ทั้งยังได้รวบรวมพวกพ้องและสละกำลังใจกำลังความคิดตลอดจนทรัพย์ส่วนตัวดำเนินกิจการต่อต้านญี่ปุ่นในเมื่อถึงคราว เฉพาะกิจการส่วนใหญ่ที่กล่าวนี้ในเวลาย่อมจะเผยแพร่ไม่ได้ ต้องช่วยกันปกปิดเป็นความลับ…การกระทำของพวกเราที่จำต้องปกปิดนั่นเอง จะเป็นด้วยเหตุผลประการใดในขณะนี้ไม่ทราบชัด แต่คุณตันซิวเม้งถูกทำร้ายตาย…ชั้นนี้ผมจะบรรยายการกระทำของคุณตันซิวเม้งโดยละเอียดไม่ได้ แต่ในวันหนึ่งข้างหน้าผมจะเปิดเผยกิจการนั้นได้…" ข้อความปริศนานี้คือคำไว้อาลัยของ พลตำรวจตรีพระพินิจชนคดี เพื่อนสนิทของตันซิวเม้ง ขณะนั้นเป็นนายตำรวจใหญ่ ซึ่งรู้เส้นสายกลในคนจีนในไทยดีมาก แต่ก็ไม่สามารถนำตัวคนร้ายมาลงโทษได้

ในทางตรงข้ามไม่มียุคใดสมัยใดใน 100 กว่าปีของตระกูลหวั่งหลีที่เงียบเหงาซบเซาเท่ายุคตันซิวติ่ง น้องชายตันซิวเม้ง ซึ่งปกติพำนักและรับผิดชอบธุรกิจในฮ่องกง ต้องเดินทางมารับช่วงต่อ เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่เข้าใจเมืองไทยดีพอ ประกอบกับอุปนิสัยของเขาเป็นคนเงียบ ๆ เก็บตัวชอบอยู่กับลูกหลาน ธุรกิจของตระกูลหวั่งหลีแทบจะไม่มีกิจกรรมเด่นชัดเลยในช่วงนี้ยาวนานกว่า 10 ปี

"ตันซิวติ่งนี่ติ่งจริง ๆ" นักธุรกิจเชื้อสายจีนคนหนึ่งสรุปบทบาทของตันซิวติ่งอย่างเห็นภาพพจน์ เพราะคำว่า "ติ่ง" ในภาษาจีนแปลว่า "เฝ้า"

นอกจากปัญหาข้างต้น ตระกูลหวั่งหลีไม่มีทายาท ลูก ๆ ของตันซิวเม้งกับทองพูนส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ลูกสาวคนโตสุดอายุเพียง 18 ปี ยังไม่สำเร็จการศึกษา ส่วนลูกชายคนเล็กนั้นอายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น

ทองพูนนั้นเล่าถึงแม้เธอจะเป็นลูกสาวตระกูลล่ำซำนักธุรกิจใหญ่อีกกลุ่มซึ่งใกล้ชิดกับหวั่งหลีมาก ๆ ก็ไม่สามารถเข้ามารับช่วงดำเนินกิจการได้ "คุณนายทองพูนไม่เคยทำธุรกิจ ทรัพย์สินก็อยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนี ไม่มีการแบ่งสมบัติ โดยเฉพาะสมบัติต้องตกอยู่ฝ่ายชาย ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เกี่ยวข้อง" ผู้รู้บอก

จะหาว่าเธอไม่พยายามก็ใช่ที่ ทองพูนตั้งบริษัทของตนเองขึ้น - - บริษัทพูนผลในระยะแรก ๆ ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซำ และมีกิจการอีกบางบริษัทร่วมทุนกับล่ำซำ ปรากฏต่อมาว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ส่วนตันซิวติ่งสิ่งที่เขาทำได้คือค้าข้าวและโรงสี ส่วนกิจการธนาคารกับบริษัทประกันภัยนั้นมีเพียงใบอนุญาตเก็บไว้รอจนกว่าลูก ๆ ผู้ชายของตันซิวเม้งจะเดินทางกลับ "การก่อร่างและพัฒนาธุรกิจต้องค่อยเป็นค่อยไปประหนึ่งหยดน้ำที่หยดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ" ตันซิวติ่งพูดถึงปรัชญาการดำเนินธุรกิจของเขากับ BANGKOK POST เมื่อปี 2510 ประหนึ่งว่า จังหวะการเต้นหัวใจของเขาช่างอ่อนล้าเสียนี่กระไร!

สุวิทย์ หวั่งหลี ลูกชายคนโตของตันซิวเม้ง - ทองพูน เดินทางกลับจากต่างประเทศพร้อมด้วยปริญญาด้านการเงินจากวอร์ตันฯ เมื่อปี 2500 อายุถึง 38 ปีแล้ว เขาถูกจัดวางผู้นำใน GENERATION ที่ 4 จะเข้ามาดำเนินธุรกิจของตระกูลหวั่งหลีในประเทศไทย แต่ทว่าตันซิวติ่งยังอยู่ ทั้งยังนำลูกชาย - - ทิม หวั่งหลี จากฮ่องกงเข้ามาช่วยงานด้วย ทิมมีปัญหาเช่นเดียวกับพ่อของเขาคือเรื่องภาษาและความเข้าใจธุรกิจเมืองไทย อย่างไรก็ตาม เขาคือบุคคลตัดสินใจสร้างอาคารหวั่งหลีสูง 10 ชั้นย่านสุรวงศ์อันเป็นที่ฮือฮามากยุคนั้น

กว่าสุวิทย์จะเข้ามารับผิดชอบธุรกิจหวั่งหลีอย่างเต็มตัวก็ใช้เวลากว่า 10 ปี ในระหว่างนั้นเองเข้าได้ช่วยมารดาฟื้นฟูกิจการบริษัทพูนผลจนก้าวหน้าไปมาก ทองพูนเป็นแรงจูงใจ สุวิทย์เป็นผู้ปฏิบัติงานที่สามารถ ธุรกิจด้านพูนผลจึงดำเนินไปดี

"คุณนายทองพูนเป็นคนต่อสู้มาก มักสอนให้ลูกทำงาน ทั้งนี้เพราะมีลูกมากที่สุดในบรรดาคนตระกูลหวั่งหลีในยุคนั้น"

บริษัทพูนผลค้าพืชไร่ เริ่มจากปอ นุ่น และที่สำคัญที่สุดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออกไปขายต่างประเทศ เป็นรายแรก ๆ ของประเทศ ตืดตามมาด้วยตั้งบริษัทวิสุทธิพาณิชย์ (2502) ค้าขายเครื่องเหล็ก และเครื่องอะไหล่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทสิทธินันท์ (2504) ผลิตวุ้นเส้นที่ อ. บ้านแพ้ว สมุทรสาคร บริษัทพูนพิพัฒน์ (2505) ก่อสร้างคลังสินค้าและท่าเทียบเรือเดินสมุทร บริษัทซีอีเอส. (2507) รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

ช่วงปี 2500 - 2516 ธุรกิจของพูนผลเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการทยอยกลับจากต่างประเทศของลูกชาย พิจารณาตามหลักฐานจดทะเบียนการค้าพบว่าในช่วงดังกล่าว ปีกด้านพูนผลจัดตั้งบริษัทขึ้นประมาณ 10 บริษัท หนึ่ง - ค้าพืชไร่ส่งออก และคลังสินค้าท่าเทียบเรือ ตลอดจนโรงงานผลิตจากวัตถุดิบสินค้าพืชไร่ สอง - ก่อสร้างและค้าขายเครื่องจักร สาม - พัฒนาที่ดิน

ประการที่สามนี้ทองพูนได้จัดสรรที่ดินออกหลายแปลง โดยตั้งบริษัทหลาย ๆ บริษัทรับผิดชอบพัฒนาไป แบ่งให้ลูก ๆ รับผิดชอบ แต่โดยเนื้อในแล้วการถือหุ้นก็อยู่ในครอบครัวตันซิวเม้ง - ทองพูน (ลูกชาย 9 หญิง 3)

"ในช่วงนี้คุณทองพูนกว้านซื้อที่ดินไว้มากย่านรังสิต ทุ่งมหาเมฆ ตรอกจันทน์ และย่านปู่เจ้าสมิงพราย จำเป็นต้องตั้งบริษัทขึ้นรับผิดชอบ ความจริงไม่ได้สร้างผลผลิตอะไร" แหล่งข่าวอีกด้านเพิ่มเติม

มองในแง่กลยุทธ์แล้ว สุวิทย์และน้อง ๆ ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศได้พัฒนาแนวคิดสมัยใหม่ประสานกับวัฒนธรรมของหวั่งหลีที่สะสมมา 100 กว่าปี กล่าวคือแบ่งงานกันรับผิดชอบ กระจายอำนาจ ประสานกับโครงสร้างทรัพย์สินที่อยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนีอย่างเหนียวแน่น

"โฮลดิ้งคัมปะนีของฝ่ายพูนผลมี 2 ลักษณะ โฮลดิ้งคัมปะนีจริง ๆ ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ เจ้าของที่ดินและกึ่งโฮลดิ้งคัมปะนี ถือหุ้นเป็นเจ้าของที่ดินและพัฒนาที่ดินด้วย ประเภทแรกเป็นทรัพย์สินส่วนกลางแท้จริง ประเภทหลัง ลูก ๆ แต่ละคนรับผิดชอบตามความเหมาะสม โดยอาจจะมีหุ้นมากกว่าคนอื่น ๆ" ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์

แต่โดยภาพรวม ๆ แล้วทรัพย์สินปีกพูนผลจะกระจาย ๆ ไม่รวมศูนย์ซึ่งทำให้ดูมากและเทอะทะเกินไป!

เมื่อ สุวิทย์ หวั่งหลี กลับมาเมืองไทย ธนาคารหวั่งหลีเป็นเพียงแผนกงานหนึ่งในบริษัทหวั่งหลีก็ว่าได้ มีพนักงานเพียง 3 - 4 คน ในระหว่างเขาทุ่มเทวางรากฐานปีกพูนผล เขาก็ทำงานที่ธนาคารด้วย เขาเล็งเห็นว่าเวลา 40 ปีที่ผ่านมาของธนาคารหวั่งหลีไม่มีความหมายทางธุรกิจมากนัก ซึ่งก็มีข้อดีอยู่ประการหนึ่ง ธนาคารแห่งนี้ไม่มีปัญหาหมักหมม การเริ่มต้นในลักษณะเช่นนี้บางทีดีกว่าหลายธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วยซ้ำ

เขาลาออกจากพูนผลมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารหวั่งหลี (มาดำรงตำแหน่งก็ตัดคำว่า "จั่น" ออกทันที) อย่างเต็มตัว งานชิ้นแรกซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่ดีคือการชักชวนซิตี้แบงก์เข้าร่วมทุน

"ซิตี้แบงก์สมัยนั้นมีออฟฟิศอยู่เป็นบริษัทไฟแนนซ์ เมื่อซิตี้แบงก์มีความต้องการที่จะเข้ามาประเทศไทยนานแล้วก็ไม่สามารถขอใบอนุญาตจากทางการได้ เขาทราบว่าเราต้องการขยายงานก็เลยเจรจากัน" สุวิทย์บอก "ผู้จัดการ

เขาต้องใช้เวลาเจรจาทั้งกับซิตี้แบงก์และหว่านล้อมให้ผู้ถือหุ้นซึ่งหมายถึงคนในตระกูลหวั่งหลีอยู่ 2 ปี จึงตกลงในหลักการ โดยซิตี้แบงก์เข้ามาถือหุ้น 40%

ปี 2526 เป็นช่วงที่เหนื่อยเอาการ ธนาคารหวั่งหลีเปิดรับสมัครพนักงานครั้งแรก 40 คน ซิตี้แบงก์ส่งทีมงานเข้ามา 4 - 5 คน เป็นกรรมการรองผู้จัดการ 1 คน ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร งานของทีมซิตี้แบงก์คือการสร้างระบบทั้งหมดและฝึกอบรมพนักงาน ในขณะเดียวกันสุวิทย์ได้ชวน "หวั่งหลี" สายอื่น ๆ เข้ามาช่วยงาน วรวีร์ หวั่งหลี ลูกชายของตันซิวติ่งถูกดึงตัวมาจากตำแน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของคาลเท็กซ์ (คนไทยตำแน่งสูงสุดในบริษัทนี้) และทำนุ หวั่งหลี ลูกชายของชลิต น้องคนละแม่ของตันซิวเม้ง ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ธนาคารฮ่องกง - เซี่ยงไฮ้

เรียกได้ว่าการจัดวางกำลังเหมาะเจาะทีเดียว!

"ซิตี้แบงก์มาตั้งระบบใหม่หมด เราเป็นธนาคารแรกที่ใช้ระบบของธนาคารอเมริกา ผิดแผกไปจากธนาคารไทยอื่น ๆ ซึ่งใช้ระบบอังกฤษ" สุวิทย์กล่าวและอธิบายว่า สิ่งที่ดูง่ายที่สุดคือธนาคารระบบอเมริกันใช้ TELLER SYSTEM พนักงานรับฝากเงินมีสิทธิ์จ่ายเงิน ในขณะที่ระบบอังกฤษเสมียนผู้รับเอกสารการจ่ายเงินต้องส่งต่อสมุห์บัญชี

ข้อตกลงระหว่างธนาคารหวั่งหลีกับซิตี้แบงก์มีระยะเวลา 7 ปี ครั้นถึงเวลา 5 ปี คนของซิตี้แบงก์ก็ต้องทยอยออกไปเรื่อย ๆ สุวิทย์อ้างว่า การฝึกอบรมและการสร้างระบบเข้าที่ดีแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มทุนต่อเนื่องโดยซิตี้แบงก์ไม่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มได้เลย เพราะกฎหมายห้ามไว้ สุวิทย์ไม่ได้บอกว่าซิตี้แบงก์ผิดหวังหรือไม่ที่เคยตั้งความหวังว่าต้องการจะเข้ามาตั้งสาขาในเมืองไทยในตอนนั้น (ที่ยังไม่ได้ TAKEOVER ธนาคารเมอร์เคนไทล์) พร้อม ๆ กับการถอนตัวออกไปตามสัดส่วนการถือหุ้น หุ้นของธนาคารหวั่งหลีประมาณ 10% ได้ถูกซื้อโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สุวิทย์กล่าวว่า เนื่องจากมองว่าหน่วยงานนี้มั่นคง และกล่าวว่าซิตี้แบงก์เป็นคนชักชวนด้วย "ผู้จัดการ" ตั้งปุจฉาเน้นว่าการมาของสำนักงานทรัพย์สินฯ มีนัยสำคัญอย่างไร สุวิทย์ไม่ตอบ

เมื่อสัญญาซิตี้แบงก์สิ้นสุดลง ธนาคารหวั่งหลีก็เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2523

เชื่อกันว่าสุวิทย์ภูมิใจในงานชิ้นนี้เป็นอย่างมากรวมไปถึง "หวั่งหลี" รุ่นใหม่ ๆ ด้วย

พวกเขามองว่าธนาคารหวั่งหลีก็คือ "หน้าตา" ของธุรกิจตระกูลหวั่งหลีเดินหน้าอย่างสวยสดงดงามในระยะ 7 - 8 ปีมานี้ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าคนยุคใหม่เช่นพวกเขาเป็นมืออาชีพเต็มตัว

แม้จะมีข่าวว่าการปรับเปลี่ยนธนาคารหวั่งหลีจะมีแรงผลักดันจากธนาคารชาติด้วยก็ตาม ซึ่งสุวิทย์ หวั่งหลี ปฏิเสธผ่าน "ผู้จัดการ" อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงท่วงท่าและความสามารถของหวั่งหลียุคใหม่นี้ก็ต้องยอมรับกันพอประมาณ

"คุณสุวิทย์ต้องการสร้างโครงสร้างแบบตะวันตก ธนาคารหวั่งหลีให้ธนาคารเป็นบริษัทมหาชน มีกำไรค่อนข้างสูง คนมีฝีมือเข้าไปบริหาร หวั่งหลีเพียงหวังได้ประโยชน์จากเงินปันผล จะเห็นได้ว่ามีการดึงมืออาชีพคนนอก เช่น ดร. อัศวิน จินตกานนท์ เข้ามาเสริมทีมล่าสุด" หวั่งหลีใน GENERATION ที่ 5 กล่าวอย่างภาคภูมิใจ (ดร. อัศวิน เป็นน้องภรรยาสุจินต์ หวั่งหลี)

ธนาคารหวั่งหลีได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครธนเมื่อต้นปี 2528

ผลประกอบการในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เงินฝากเพิ่มขึ้นเกือบ ๆ 30% ในขณะที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 25% สุวิทย์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งเป้าใน 5 ปีข้างหน้าว่า จะคงรักษาอัตราการเจริญเติบโตในระดับเดิม โดยจะลดความสำคัญด้านระดมเงินฝากลง เพราะเงินฝากเกินเงินทุนมาก ในขณะเดียวกันจะเน้นงานด้านการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นเพื่อความสมดุล

ส่วนในเนื้อแท้ของตระกูลหวั่งหลีก็ยังคงเจริญรอยตามอดีตอย่างมั่นคง บริษัทหวั่งหลีโฮลดิ้ง ถือเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีของหวั่งหลี (ผู้ชายเท่านั้น) คงสัดส่วนหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เมื่อ 20 - 30 ปีก่อนเท่าใด หากพิจารณาตามสาย ซึ่งดูเหมือนหวั่งหลีสายพูนผล (ตันซิวเม้ง - ทองพูน) หุ้นจะเหลือน้อยลงมาก เท่าที่ "ผู้จัดการ" ตรวจสอบพบว่าผู้ถือหุ้นหวั่งหลีในฮ่องกงซึ่งมีจำนวนคนไม่ถึง 10 คนมีมากกว่า 40%

อีกบริษัท - บริษัทหวั่งหลีอันเก่าแก่ ซึ่งกำลังลดการค้าลงและจะเลิกในที่สุด โดยหันมาทำธุรกิจการพัฒนาที่ดินแทน อันเนื่องมาจากที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงสีเก่ารกร้างว่างเปล่ามาก ทั้งกิจการค้าข้าวก็อยู่ในภาวะเสี่ยงภัยอย่างมาก บริษัทนี้ วุฒิชัย หวั่งหลี ลูกชายคนหนึ่งของตันซิวติ่งรับผิดชอบ "ผู้จัดการ" ตรวจพบว่าในบริษัทนี้หวั่งหลีในฮ่องกงถือหุ้นมากกว่า 70%

ปีกหวั่งหลีที่ไม่รวมพูนผลมีอีกเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือ บริษัทนวกิจประกันภัย (เปลี่ยนจาก "หล่วงหลี") ซึ่งสุวิทย์กล่าวว่าเป็นบริษัทประกันภัยกลาง ๆ ดำเนินนโยบายค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟต่อไป

หวั่งหลีทุกวันนี้ตั้งรกรากเมืองไทยอย่างถาวร กิจการในต่างประเทศในยุคตันซิวเม้งที่เฟื่องฟูสุดขีดนั้นไม่มีแล้ว ยกเว้นที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นแหล่งพำนักของหวั่งหลีจำนวนหนึ่ง ประกอบกิจการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ชื่อบริษัทคิ้นไท้ล้ง เป็นบริษัทขนาดกลาง ๆ ปกติจะเป็นคู่ค้ากับบริษัทหวั่งหลีในประเทศไทย ครั้นเมื่อหวั่งหลีในประเทศไทยจะเลิกค้าขาย คิ้นไท้ล้งก็คบค้ากับรายอื่น ๆ ต่อไป บริษัทคิ้นไท้ล้งตั้งอยู่บนเนื้อที่ (นับเป็นตารางฟุต) ซึ่งเพิ่งจะสร้างอาคารเป็นตึกสูงนับสิบชั้นใหม่ อันถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่เหลืออยู่ที่นั่น

"เราไม่แยกกันเด็ดขาด กรรมการพวกบริษัทคิ้นไท้ล้งในเมืองไทยก็เป็นกรรมการบริษัทในฮ่องกง และที่อยู่ฮ่องกงก็เป็นกรรมการบริษัทในไทย" สุวิทย์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหวั่งไทย - ฮ่องกง

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างหวั่งหลีกับพูนผลคือดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินตามจังหวะและโอกาสอำนวย หวั่งหลีหลงเหลือที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีราคาอย่างมาก อันอยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ทรัพย์สินจะถูกแบ่งสมบัติไปแล้ว คนที่รวยที่สุดของหวั่งหลีคือ กิตติ หวั่งหลี น้องชายตันซิวเม้งซึ่งยังมีชีวิตอยู่ (โปรดอ่านล้อมกรอบ "กิตติ หวั่งหลี")

พูนผลมีที่ดินมากกว่าและส่วนใหญ่อยู่ในโฮลดิ้งคัมปะนี นับกันแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ ซึ่งรอเก็บผลประโยชน์ในระยะยาวต่อไป

พูนผลยังค้าพืชไร่ต่อไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไม่หยุด นอกจากวุ้นเส้น น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ล่าสุดคือโมดิฟายด์สตาร์ช (แป้งมันที่ใช้ในอุตสาหกรรม) ในสายตาสุวิทย์เชื่อว่าความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ยังมีอยู่และเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง

คนหวั่งหลีชอบคำว่า "คอนเซอร์เวทีฟ" เขามีเหตุผลในการตัดสินใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไรด้วยเหตุผลง่าย ๆ เช่นนี้ "ผู้จัดการ" ถามว่า ทำไมธุรกิจกลุ่มหวั่งหลีโตช้า? ทำไมในธุรกิจค้าพืชไร่หวั่งหลีไม่รวมกลุ่มกับรายอื่น ๆ? ทำไมหวั่งหลีไม่มีความทะเยอทะยานธุรกิจเหมือน OVERSEA - CHINESE ที่อาศัยจังหวะพัฒนาธุรกิจอย่างรวดเร็ว สุวิทย์ หวั่งหลี ตัวแทนความคิดของตระกูลหวั่งหลีตอบว่า "เพราะเราค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ"

"เท่าที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ไม่มีกำไรมากไม่ร่ำรวยเหมือนบางกลุ่ม ขณะเดียวกันรากฐานก็มั่นคง"

"เราเน้นด้านคุณภาพและความมั่นคง มี SUB - CONSCIOUSE เรื่องชื่อเสียงมาก ตระกูลหวั่งหลีความจริงไม่ใช่ตระกูลที่ใหญ่ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นในขณะนี้ แต่ว่าเนื่องจากติดต่อกันมา 5 ชั่วคนแล้ว ชื่อเสียงค่อนข้างดีในด้านความมั่นคงเป็นที่รู้จักกันดี และผมไม่ต้องการให้มีปัญหาในยุคของผม..."

"ไม่ใช่คำสั่งเสียของบรรพบุรุษ แต่เป็นความรับผิดชอบ เป็นความสำนึกของแต่ละคนมากกว่า" สุวิทย์ หวั่งหลี กล่าวอย่างภาคภูมิใจ!!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us