Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กรกฎาคม 2554
วังหน้า-วังหลัง เรื่องใกล้ตัวที่บางคนลืมเลือน             
โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
 


   
search resources

Entertainment and Leisure




คุณความดี หรือสิ่งดีๆ แม้ว่าจะผ่านพ้นไปนานแสนนานก็ยังมีคนกล่าวถึง ยังสามารถยกเป็นตัวอย่าง น่ายกย่อง สรรเสริญ และเจริญรอยตาม ซึ่งเมื่อทำแล้วจะพบกับความสุขให้กับตัวเองโดยเฉพาะสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่

มนต์เสน่ห์ในการล่องเรือ ได้สัมผัสด้วยสายตากับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ บ้านช่องริมคลอง โบราณสถาน วัดวาอารามมากมาย

เมื่อเรือแล่นออกสู่เจ้าพระยาตรงปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนชีวิตคนไทยมาช้านานและยังคงดำเนินต่อไป เมื่ออดีตที่ผ่านพ้น การคมนาคมทางน้ำยังมีความสำคัญ แม้ปัจจุบันจะลดน้อยถอยลงไปบ้างก็ตาม

เมื่อกวาดสายตาไปโดยรอบ สองฟากฝั่งเจ้าพระยาจะเต็มไปด้วยสถานที่ที่มีความสำคัญ มีความหมาย ให้ความสำคัญในความเป็นอดีตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวังหลัง สวนสันติชัยปราการ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง วังหน้า พระบรมมหาราชวัง ท่าเตียน วัดแจ้ง วัดโพธิ์ แม้กระทั่งปากคลองตลาด

ยิ่งได้มีโอกาสล่องเรือยามค่ำคืนด้วยแล้วจะมองเห็นแสงระยิบระยับงามจับตา สมกับที่ได้ชื่อว่า กรุงเทพเมืองฟ้าอมร

พระบรมมหาราชวัง เป็นทั้งศูนย์กลางการปกครองบ้านเมือง ทั้งทางพุทธศาสนา เป็นการสร้างตามแบบแผนราชประเพณีไทย กล่าวคือ ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังดังเช่นพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2325

ปราสาทราชมณเทียร อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีก พร้อม ทั้งขยายอาณาเขตทุกรัชกาล โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากประเทศแถบตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีพระที่นั่งและหมู่อาคารในลักษณะผสมผสานศิลปะ ไทยกับต่างชาติมากขึ้น

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความวิจิตรตระการตา งดงามยิ่งนัก

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สถาปัตยกรรมไทยที่ผสมผสาน ตะวันตก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้ในการรับรองพระราชอาคันตุกะ

วัดที่มีความสำคัญและเชิดหน้าชูตาของบ้านเมืองและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้ว” เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงสมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ใช้ในการประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา มีภาพจิตรกรรมโดยรอบระเบียงเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นความเชื่อตามคติโบราณ ถือว่าพระมหากษัตริย์คือพระนารายณ์อวตารลงมาเช่นเดียวกับพระรามนั่นเอง วัดพระแก้วได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด

การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอารามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราช พิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี

เมื่อครั้งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานในการบูรณะ

วังหน้า เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้น ซึ่งมีความสำคัญรองมาจากพระมหากษัตริย์ และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระองค์ต่อไป

โดยในสมัยอยุธยาตอนต้นมีเพียงการแต่งตั้งเจ้านายเพื่อไปครองเมืองต่างๆ เท่านั้น

ตำแหน่งมหาอุปราชกรมพระราชวังนั้น ปรากฏครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงสถาปนาพระราเมศวร พระราชโอรสไปปกครองเมืองพิษณุโลกในฐานะพระมหาอุปราช

ในสมัยพระมหาธรรมราชา ตำแหน่งพระมหาอุปราชยิ่งมีความเด่นชัดขึ้น เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษม ขึ้นในพระนคร ตั้งอยู่หน้าพระราชวังหลวง เพื่อเป็นที่ประทับของพระนเรศวร เมื่อเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นที่มาของคำว่า “วังหน้า” เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอนุชา คือสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นที่พระมหาอุปราชรับบรมราชโองการมีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน

หลังจากนั้น สมัยหลังๆ พระมหาอุปราชจะประทับที่พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้าเป็นส่วนใหญ่

วังหน้า (รับบวรราชโองการ) เป็นพระมหาอุปราชที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เสมอ กับพระองค์ในยุครัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัว พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้บัญญัติศัพท์วังหน้าว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และวังหลังว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

ในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งอีกเลย

กระทั่งปี พ.ศ.2429 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระองค์แรก ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกไป

วังหน้า หรือพระบวรราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่าวังหลวง โดยหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก ด้านใต้ติดกับวังหลวง ตั้งแต่แนวถนนกลางสนามหลวงที่ตรงกับถนนท่าพระจันทร์ในปัจจุบัน โดยยาวไปจรดวัดเทพธิดาราม โดยไปตามริมคลองบางลำพูจนถึงป้อมพระสุเมรุ และมีคูตลอดกำแพงทั้งด้านใต้และด้านตะวันออก มีน้ำล้อมรอบ กำแพงวังชั้นนอกทั้ง 4 ด้าน

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในรัชกาล ที่ 1 ดำรงพระยศวังหน้าเป็นพระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสร้างพระบวรวัง อันเป็นที่รวบรวมศิลปะชั้นครูแห่งยุครัตน-โกสินทร์ตอนต้น ด้วยฝีมือสกุลช่างวังหน้าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างฝีมือเยี่ยมที่สุดในยุคนั้น

นอกจากนี้ยังได้ทะนุบำรุงวัดวาอารามในบริเวณใกล้เคียงให้มีความงดงามอีกด้วย

เมื่อตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกไป พื้นที่วังจึงถูกยุบลงและมีการปรับเปลี่ยนนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น เป็นโรงทหารรักษาพระองค์ กรมพิพิธภัณฑสถาน

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 พื้นที่วังหน้าได้ถูกจัดสรรให้เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่างๆ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงเรียนช่างศิลป์ ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อนุสาวรีย์ทหารอาสาและสนามหลวงตอนเหนือ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือพระราชฐานชั้นกลางของวังหน้า ซึ่งประกอบด้วยหมู่พระวิมานและพระที่นั่งหลายองค์ อันทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

พระบวรราชวังนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 3 ปี มีการฉลอง พระราชวังพร้อมกับการสมโภชพระนคร และฉลองพระบรมมหาราชวัง

พระราชมณเทียรที่ประทับภายในพระราชวังบวรสถานมงคล นั้น สร้างเป็นหมู่พระวิมาน 3 หลังเรียงต่อกัน ด้วยการคั่นที่ว่าง ด้วยสวนภายในซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และพระที่นั่งพรหมเมศธาดา

ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่างๆ นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน จัดเป็นห้องแสดงประวัติ-ศาสตร์ชาติไทย

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ จัดแสดงเครื่องเรือนแบบยุโรป และจีน

สำหรับโรงราชรถ ใช้สำหรับเก็บราชรถและเครื่องใช้ในงาน พระเมรุ

เมื่อครั้งสร้างกรุงนั้น สนามหลวง หรือ “ทุ่งพระเมรุ” มีพื้นที่ อยู่เพียงครึ่งเดียวคือด้านทิศใต้ สนามหลวงนี้ใช้เป็นสถานที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ พระ ราชินี ตลอดจนพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และในรัชกาลที่ 3 เคยใช้เป็นที่ทำนาของหลวง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นท้องสนามหลวง ใช้ในการประกอบพิธีพืชมงคลและพิธีพิรุณศาสตร์ ส่วนราษฎรทั่วไปนั้นใช้สนามหลวงในการพักผ่อนหย่อนใจ เล่นว่าว

เมื่อทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้าได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายท้องสนามหลวงต่อไปทางทิศเหนือ คืออาณาเขตของพระบวรราชวังแล้วทรงให้ตกแต่งให้เป็นลักษณะรูปไข่ พร้อมทั้งปลูกต้น มะขามไว้โดยรอบ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราช ดำเนินกลับจากยุโรป เมื่อปี พ.ศ.2440 นอกจากนี้ยังเคยใช้เป็นสนามกอล์ฟ และการแข่งม้าในสมัยรัชกาลที่ 6

สถานที่ไฮปาร์คและการชุมนุมทางการเมืองในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตลอดจนการจัดงานนักขัตฤกษ์สำหรับประชาชน ทั้งยังเคยจัดเป็นตลาดนัดในวันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนที่จะมีการย้ายไปอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรในปัจจุบัน

กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สนามหลวง คือทางด้านใต้เป็นสนามหญ้าและใช้ในการประกอบพิธีจรด พระนังคัลแรกนาขวัญในวันพืชมงคลที่ผ่านมา

ฝั่งทิศเหนือเป็นลานกิจกรรมให้สวยและมีความสง่างามสมกับเป็นสถานที่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาแต่อดีต

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ เป็นวัดที่พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงปฏิสังขรณ์ ครั้งเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดนิพพานาราม ต่อมามีการสังคายนา พระไตรปิฎกที่วัดนี้ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ และชื่อวัดมหาธาตุ และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จสวรรคต

รัชกาลที่ 5 ทรงบริจาคราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม เสร็จแล้วจึงทรงให้ต่อสร้อยชื่อวัด ดังที่เรียกขานกันในปัจจุบัน

สำหรับพระเจดีย์ปิดทองเป็นที่บรรจุพระบรมสาริกธาตุบนส่วนยอดพระเจดีย์ ส่วนฐานเจดีย์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระปฐม บรมมหาชนก พระราชบิดารัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เจดีย์องค์นี้ถือเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง

สุดถนนท่าพระจันทร์ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของป้อมพระจันทร์ ซึ่งเป็นป้อมที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแนวกำแพงพระนครด้านตะวันตก จึงเรียกว่า ท่าพระจันทร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นจากการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเมื่อ 26 มกราคม 2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่นๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เสด็จทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ณ โรงเรียนกฎหมาย บนถนนราชดำเนินเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา โดยมีผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์

9 เมษายน 2478 มหาวิทยาลัยซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ และปรับปรุงอาคารเดิมพร้อมทั้งสร้างตึกโดมและตั้งธนาคารเอเชีย ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาวิชาการบัญชี

พ.ศ.2481 ตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญา หลักสูตร 2 ปี รับผู้ที่จะเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรง ในเวลาต่อมาถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2490

ในปี 2490 คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบคือ ผู้ประศาสน์การต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ และเปลี่ยนชื่อเหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัดคำว่า “การเมือง” ออกไป และจากคำว่า “ผู้ประศาสน์การ” เป็นตำแหน่ง “อธิการบดี” หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต เปลี่ยนเป็นนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาจึงหมดไป

“ธรรมจักร” สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มี 12 แฉก อันหมายถึงอริยสัจ 4 ซึ่งวนอยู่ในญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ โดยมีพานรัฐธรรมนูญอยู่ตรงกลาง อันหมายถึงการยึดมั่นและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย

เพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 36 เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย

สัญลักษณ์ที่สำคัญคือตึกโดม จึงเรียกกันว่าลูกแม่โดมสำหรับผู้ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตึกโดมได้รับการออกแบบโดยจิตรเสน อภัยวงศ์ โดยการเชื่อมต่ออาคารทั้ง 4 หลังที่เป็นของกองพันทหารราบที่ 4 เดิมใช้เป็นตึกเดียวกัน โดยจุดเชื่อมตรงกลางระหว่างอาคารที่ 2 และ 3 ได้ออกแบบโดย ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การได้ให้แนวความคิดเพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะโดดเด่น ปัจจุบันตึกโดมเหลือเพียงอาคาร 3 และ 3 เดิม

ตึกโดมได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลป-สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทสถาบันและอาคารสาธารณะในงานสถาปนิก 48 ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอีกด้วย

นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยังมีพื้นที่ใช้สอยที่มีความหมายควรจดจำระลึกถึง เช่น ลานโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลานปรีดีและอนุสรณ์สถานแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำขบวนการเสรีไทย “ปรีดี พนมยงค์”

กำแพงวังหน้า เมื่อมหาวิทยาลัยสร้างอาคารอเนกประสงค์ 2 ชั้น จึงมีการขุดพื้นดินต่างๆ และจัดแสดงรูปร่างของกำแพงวังหน้า ซึ่งผู้คนต่างเชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้มีจิตวิญญาณของการช่วยเหลือสถาบันทางอำนาจและการถ่วงดุล ตลอดจนการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้นำสูงสุดตลอดมา

กำแพงเก่าปืนใหญ่และประตูสนามหลวง กำแพงด้านถนน พระจันทร์ ซึ่งมีกำแพงก่ออิฐถือปูน “กำแพงชรา” มีทั้งด้านถนนหน้าพระธาตุ และถนนพระจันทร์ โดยมีป้อมอยู่มุมถนนเชื่อมกำแพง 2 ด้าน เป็นประตูเข้า-ออก สมัยต่อมารื้อกำแพงถนนด้าน พระธาตุ เพื่อการก่อสร้างหอประชุมใหญ่

หวนถึงความทรงจำในวัยมัธยมปลาย ทุกคนใฝ่ฝันอยากที่จะเข้าศึกษาต่อให้ได้ เพราะเห็นการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ กิจกรรมที่สร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ส่งเสริมการกีฬา ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ เช่น งานลอยกระทง ที่มีการจัดประกวดกระทง นางนพมาศ ริมท่าน้ำในมหาวิทยาลัย การเชียร์ฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ทั้งดรัมเมเยอร์ ลีด การเชียร์อย่างมีวัฒนธรรม และสร้างสรรค์

ขบวนอัญเชิญธรรมจักร ตลอดจนการเชื่อมความสัมพันธ์กับสถาบันในต่างประเทศ เช่น ด้านการกีฬา “จำได้ว่าน้าชายเรียน อยู่คณะนิติศาสตร์ และเป็นนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัย เวลาไปแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ จะซื้อของติดไม้ติดมือมาฝากญาติพี่น้องจากประเทศที่ไปแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสามัคคี เมื่อช่วง พ.ศ.2500 ต้นๆ”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งหลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติ บัณฑิตศึกษา กลุ่มวิทยาลัยดำเนินการสอน ณ ศูนย์รังสิต บัณฑิตศึกษา สังคมศาสตร์ โครงการนานาชาติ โครงการพิเศษ ณ ศูนย์ท่าพระจันทร์

ส่วนฝั่งตรงข้ามท่าพระจันทร์ คือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันในอดีตว่า “วังหลัง” ซึ่งเรียกกันตามตำแหน่งของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิมคือทองอิน ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถาน พิมุข หรือกรมพระราชวังหลังนั่นเอง

บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ศึกษาสตรีแห่งแรกของไทยชื่อโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หรือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในทุกวันนี้

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2424 เกิดโรคระบาดอหิวาห์ชุกชุม จึงทรงให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล เมื่อโรคร้ายดังกล่าวเริ่มลดลง โรงพยาบาลจึงปิดทำการ แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้นยังประโยชน์บำบัดทุกข์บำรุงสุข แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

พระองค์ทรงตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนเริ่มแรกในการดำเนินการ

ในระหว่างที่มีการเตรียมการอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธกัณฑ์ฯ พระราชโอรส ได้ประชวรโรคบิดและสิ้นพระชนม์ลงในเวลาต่อมา ยังความอาลัยเศร้าโศกถึงกับมีพระปณิธานอันแรงกล้าให้มีโรงพยาบาล ครั้นเสร็จงานพระเมรุ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ในงานพระเมรุไปสร้างโรงพยาบาลบริเวณวังหลัง ยังพระราชทานราชทรัพย์ส่วนของสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธกัณฑ์ฯ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย

ในระยะแรก คณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลได้จัดสร้าง เรือนพักผู้ป่วยขึ้นจำนวน 6 หลัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดและพระราชทานนามว่าโรงศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 โดยบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย แต่สมัยนั้น ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า โรงพยาบาลวังหลัง

เมื่อภาระรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราชมีมากขึ้น จนแพทย์ไม่พอเพียง จึงมีการตั้งโรงเรียนแพทย์และเปิดสอนตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2433 เป็นต้นมา “โรงเรียนแพทยากร” หลักสูตร 3 ปี สอนทั้งวิชาแพทย์ปัจจุบันและแผนโบราณ โดยนักศึกษาแพทย์สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ เมื่อ 1 พฤษภาคม 2436 เป็นรุ่นแรก

โรงเรียนแพทย์อย่างเป็นทางการ โดยพระราชทานนามว่า “ราชแพทยาลัย” ซึ่งเป็นนามดั้งเดิมของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาลในปัจจุบัน โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อ 3 มกราคม 2443

ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัยได้ทรงโน้มน้าวพระทัย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้สนพระทัยวิชาการแพทย์ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ทรงเป็นผู้แทนฝ่ายรัฐบาลไทย เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในการยกระดับการศึกษาแพทย์ถึงขั้นปริญญา พร้อมทั้งปรับปรุงกิจการในด้านต่างๆ ของโรงพยาบาลศิริราช

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิต ส่งเสริมการวิจัย ให้การบริการทางวิชาการแก่สังคม พัฒนา การบริการทางการแพทย์ โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์และเผยแพร่กิจกรรม เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

เมื่อเอ่ยถึงวังหลัง นอกจากจะนึกถึงโรงพยาบาลศิริราชแล้ว บรรดาเหล่านักชอปมือโปรต่างชื่นชอบ มีทั้งของใช้ใหม่ถอดด้ามหรือมือสอง ก็มีให้ได้เลือกสรรมากมาย โดยเฉพาะสาวๆ มีของใช้ เสื้อผ้าให้เลือกซื้อหาตลอดแนวถนนรอบๆ บริเวณนั้น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินที่ขึ้นชื่ออีกมากมาย

เมื่อชอปและอิ่มหนำสำราญก็อดที่จะนึกถึงไม่ได้ จำต้องข้ามฝั่งกลับมาแถวสวนสันติชัยปราการ ที่เรียกกันว่า “ท่าพระอาทิตย์” ตรงถนนพระอาทิตย์กับถนนพระสุเมรุ หัวถนนขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ชุมชนนี้คือพื้นที่ที่เติบโตมาพร้อมกับการสร้างพระนครในอดีตคือศูนย์กลางการปกครองและศิลปวัฒนธรรม มีทั้งวังของเจ้านาย บ้านเรือนของข้าราชบริพาร และบ้านเรือนราษฎรทั้งสองฟากฝั่งถนน พระตำหนักต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนี้ สร้างขึ้นจากอิทธิพลสถาปัตยกรรมที่ได้รับจากคนจีนและยุโรป

แม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้จะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม แต่ยังคงหลงเหลือให้เห็นสิ่งก่อสร้างที่ยังได้รับการอนุรักษ์อยู่ในสภาพดี เช่น วังมะลิวัลย์

ทุกวันนี้ชาวชุมชนบริเวณนี้ยังรวมตัวกันอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีให้คงไว้สำหรับลูกหลานต่อไปอีกนานแสนนาน โดยมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมในโอกาสต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมแห่งหนึ่งของคนพระนครทีเดียว

ถนนพระอาทิพย์จะคลาคล่ำไปด้วยอาคารร้านค้ามากมาย มีทั้งเปิดให้บริการทั้งกลางวันและกลางคืน จึงเป็นถนนยอดนิยมถนนหนึ่งของทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ

คนสมัยนี้อาจจะเกิดคำถามหรือข้อสงสัยว่าถนนด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ทำไมถึงชื่อว่า หน้า พระลาน

ปลายถนนราชดำเนินไปต่อถนนสนามไชย ที่มุมป้อมเผด็จ ดัสกรไปตามกำแพงพระบรมมหาราชวังตัดกับถนนมหาราชไปสุดที่ท่าช้าง วังหลวง เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยขยายจากถนนเดิมที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 เพียงแต่เป็นถนนพูนดินสูง เป็นถนนที่อยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง จึงได้ชื่อว่าถนนหน้าพระลาน

บนถนนมหาราช จะมีอาคารที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรม ตะวันตก สไตล์อิตาเลียนวิลล่า โดยสถาปนิกชาวอังกฤษ ท่านเดียวกันกับผู้ออกแบบสถานทูตอังกฤษ บนถนนวิทยุ คือโปรเฟสเซอร์ เอ็ดเวิร์ด ฮิลี

ลักษณะของอาคาร ด้านหน้ามี 2 ชั้น ปีกซ้ายด้านในก่อสูงขึ้นเป็น 3 ชั้น มีหอสูงหลังคาทรงโดม มีมุขอยู่ตอนกลางอาคาร บริเวณผนังมุขก่อเป็นเสาสูงนูนประดับลวดลายปูนปั้น บริเวณหัวเสาชั้น 2 และใกล้ฐานชั้นล่าง

ด้านล่างตรงข้ามห้องนั่งเล่นทำเป็นกระจกทรงโค้งเพื่อให้สามารถมองเห็นบรรยากาศริมฝั่งเจ้าพระยา

โดยเมื่อ พ.ศ.2452 จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โปรดฯ ให้สร้างขึ้น “วังท่าเตียน”

เพื่อประทานให้เป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ใช้เป็นที่พักผ่อน รับรองพระราชอาคันตุกะ และเป็นท่าเรือส่วนพระองค์ นอกจากวังที่ประทับ “วังปารุสกวัน”

เมื่อ พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เมื่อครั้งกลับจากการศึกษาจากประเทศอังกฤษ รวมถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้มีการแปรพระราชฐานในการประทับ ณ วังนี้

เนื่องจากคณะราษฎรได้ยึดวังปารุสกวันเป็นกองบัญชาการ พ.ศ.2488 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ใช้เป็นที่ประทับหลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พร้อมหม่อมอลิซาเบธ ผู้เป็นชายา โดยเปลี่ยนชื่อว่า “วังจักรพงษ์” ณ หอสูงของวังนี้ยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อีกด้วย

ปัจจุบัน วังจักรพงษ์อยู่ในความดูแลของ ม.ร.ว.หญิงนริศรา จักรพงษ์ ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของสกุลจักรพงษ์ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค มูลนิธิโลกสีเขียว ส่วนหน้าวังที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ยังจัดเป็นโรงแรมขนาด 3 ห้อง ชื่อ “จักรพงษ์วิลล่า” อีกด้วย

เมื่อสมัยเด็กๆ เรามักจะได้ยินพวกผู้ใหญ่เล่าให้ฟังในเรื่องราวท่าเตียนว่าทำไมถึงชื่อว่า “ท่าเตียน” จนทำให้เด็กๆ สมัยนั้นเชื่อสนิทว่าเป็นเรื่องจริง

กล่าวคือ วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามกับวัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประจวบเหมาะที่อยู่ตรงข้ามฟากฝั่งกันพอดี โดยเล่าว่า

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าท่าเตียน เกิดจากยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์สู้กันจนทำให้พื้นที่บริเวณนี้โล่งเรียบ ราบเตียนเป็นหน้ากลอง เล่าสืบกันมาจนบางคนเชื่อเป็นตุเป็นตะ แต่ในเรื่องของความเป็นจริงแล้ว มีข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อไว้ 2 ประการ คือ

อาจมาจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยต้นเพลิงเกิดจากวังของพระองค์เจ้ามหาวงศ์ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์และเพลิงไหม้ลุกลามใหญ่โตไปทั่วไปจนถึงบริเวณวัดโพธิ์ กว่าจะดับไฟลงได้ บรรดาท่าเรือ เรือนแพริมน้ำ ตลาดท้ายวัง วังของเจ้านายหลายพระองค์ และบ้านเรือนของชาวบ้านร้านถิ่นบริเวณใกล้เคียง ก็ถูกเผาผลาญจนราบพนาสูร จนกลายคำเรียกขานชื่อบริเวณนี้

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง มาจากการเรียกชื่อของชุมชนชาวจีนที่อพยพมาจากเมือง “ฮาเตียน” ในเวียดนาม ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้มาแต่เดิม ก่อนจะมีการย้ายออกไป

ท่าเตียนนี้เป็นชุมชนคนจีนมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่ใหม่แถวคลองสำเพ็ง เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างพระราชวังหลวง

ต่อมาได้สร้างวังของบรรดาพระเจ้าลูกเธอและพระบรมวงศานุวงศ์โดยรอบบริเวณด้วย ทำให้เกิดตลาดท้ายวัง หรือตลาด ท้ายสนม เพื่อรองรับการค้าขายสินค้าให้กับเจ้านายและข้าราชบริพารของวังต่างๆ

ในเวลาต่อมา ตลาดแห่งนี้ได้ขยายตัวมากขึ้น เกิดตลาดท้องน้ำ การขายพืช ผัก ผลไม้ เป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นท่าจอดเรือ แม้ว่าปัจจุบันจะเลิกราไปแล้วก็ตาม

ถ้านั่งเรือผ่านตลาดท่าเตียนจะเห็นป้ายท่าเรือเมล์แดงปรากฏให้เห็นอยู่ ซึ่งถ้าผู้คนที่อายุเลขหลัก 5 ขึ้น น่าจะรับรู้เรื่องราวหวนถึงเหตุการณ์ การใช้เรือเมล์แดงนี้ที่สมัยนั้นการคมนาคมทางน้ำยังเป็นหลักในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จากหัวเมืองแถบภาคเหนือ หรือเมืองที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา คือหัวเมืองตามลุ่มน้ำภาคกลาง นั่นเอง

ตลาดท่าเตียน จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ ค้าขายทั้งของอุปโภคบริโภค ของสด ของแห้ง พร้อมทั้งเป็นตลาด “โชห่วย” ขายส่งสินค้าต่างๆ ไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย

ปัจจุบันสีสันความเป็นตลาดท่าเตียนยังเหลืออยู่ให้ผู้คนยังมาเยือนตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงที่มีสิ่งที่น่าชื่นชม องค์ความรู้ให้ได้เสาะแสวงหา เช่น วัดโพธิ์ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ทางปัญญาของบรรพชนในอดีต ได้มอบเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเรายุคปัจจุบัน นอกจากพระนอนองค์โตที่มีความยาวถึง 45 เมตร พระเจดีย์ 4 รัชกาล อันเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 รัชกาล อันเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยอีก เมื่อองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ที่มีเรื่องราววิชาความรู้ที่มีความเป็นสากล จำนวนถึง 1,440 ชิ้น เช่น เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา วรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จารึกเรื่องฤาษีดัดตนที่ยังส่งผลให้วงการแพทย์ในหลายประเทศ ต้องย้อนดูความรู้ที่คนยุคก่อนได้สั่งสมไว้

อนึ่ง วัดโพธิ์นี้ยังเคยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลกระดับเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ.2551 มาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีตลาดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่เหล่าพ่อค้าแม่ขายรู้จักกันเป็นอย่างดี

ตลาดริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ปากคลองตลาด” ย่านการค้าที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเดิมเป็นตลาดขายปลา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตลาดขายปลาไปอยู่ที่หัวลำโพง (ตำบลวัดลำพอง)

ตลาดปากคลองเริ่มมาคักคักอีกครั้งในช่วงปี 2490 เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งให้มีการย้ายตลาดสดข้างวัดโพธิ์ และตลาดซื้อขายผักที่เยาวราชมาตั้ง ณ ที่นี้

ต่อมาบริเวณใกล้เคียงเกิดตลาดยอดพิมานและตลาดส่งเสริมเกษตรไทยเพิ่มขึ้น ปากคลองตลาดจึงเป็นศูนย์กลาง การซื้อขายผักผลไม้ และตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตลาดดอกไม้เป็นที่นิยมของผู้มาจับจ่ายใช้สอย

ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลอะไร เทศกาลต่างๆ ดอกไม้นานาพันธุ์ ทั้งไทยและเทศมีให้เลือกซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงกับปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ไปถึงถนนสายใกล้เคียง เช่น ถนนจักรเพชร ทั้งนี้ไม่เพียงแค่ดอกไม้เท่านั้น สำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้ดอกไม้ที่จัดไว้สำเร็จรูปในการประกอบพิธีทางศาสนาก็มีไว้บริการ เช่น การร้อยมาลัย บายศรี พานพุ่ม แม้แต่การสั่งทำหรีดก็มีไว้บริการ

คุยมาหลากเรื่องราวในอดีต จะรู้สึกได้ว่า ทำไมจึงมีการบัญญัติคำซึ่งเมื่อพูดถึงคำคำนั้น จะได้รับทราบถึงความรู้สึกนึกคิดว่าเป็นอย่างไรเช่น ความดี และยังมีความรู้สึกตรงข้ามกันกับความเลว เกิดกับตาย ความเจริญกับความเสื่อม ยิ่งมาใช้เปรียบ เทียบกับชีวิตความเป็นจริงของคนเราแล้ว จึงมีคำว่าสัจธรรม คำว่า ปลง

ฉะนั้น เมื่อได้รับรู้ จะเห็นว่าเมื่อมีการเกิดก็ต้องมีดับ มีความเจริญรุ่งเรืองก็ย่อมมีจุดเสื่อมถอย

คุณงามความดี หรือสิ่งดีๆ แม้จะผ่านพ้นไปนานแสนนาน ก็ยังมีคนกล่าวถึง ยังสามารถยกเป็นตัวอย่าง น่ายกย่อง สรรเสริญ และเจริญรอยตาม เมื่อทำแล้วจะสามารถพบกับความสุขให้กับตัวเองโดยเฉพาะกับสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us