เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แอปเปิลเพิ่งเปิดตัว iCloud ในฐานะบริการใหม่บน Cloud ที่จะทำให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ต่างๆ ของแอปเปิล ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, iPod Touch, Mac หรือพีซีสามารถทำงานร่วมกันโดยจะเก็บข้อมูลไว้บน iCloud และส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ต่างๆ นั้นทำให้สามารถเห็นข้อมูลเดียวกันผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้แนบเนียนแบบไร้ร่องรอย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ บนอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง อุปกรณ์อื่นๆ ก็จะได้รับข้อมูลที่อัพเดตทันทีเช่นกัน
เมื่อย้อนไปมองอดีตที่ผ่านมา แอปเปิลพยายามให้บริการบนอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่สิบปีก่อนคือ ตั้งแต่ปี 2000 โดยแอปเปิลได้ออกบริการ iTools ซึ่งจะคล้าย iCloud ตรงที่ว่าเป็นบริการฟรีเสริมกับการใช้อุปกรณ์ของแอปเปิล แต่ที่ไม่เหมือนก็คือ บริการที่มีบน iTools จะรวมเอาเกือบทุกๆ อย่างตั้งแต่บริการสร้างเว็บไซต์ ไปจนถึงการสร้างบัตรอวยพร เรียกได้ว่าบนอินเทอร์เน็ตมีอะไร แอปเปิลทำให้ฟรีหมด ต่อมาในปี 2008 แอปเปิลออก MobileMe ที่ถือเป็นการแผ้วทางเข้าสู่การใช้งาน Contact และ Calendar ที่สามารถใช้ร่วมกันระหว่างหลายอุปกรณ์ของแอปเปิล และกลายเป็นบริการฟรีส่วนหนึ่งของ iCloud ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น iCloud จึงเปรียบเสมือนความพยายามครั้งที่สามของแอปเปิลในการเข้าสู่บริการบนอินเทอร์เน็ต แต่ถ้ามองย้อนหลัง ไปอีก แอปเปิลชื่นชอบความเนียนของการแชร์ข้อมูลผ่านอุปกรณ์หลายๆ เครื่องหรือหลายๆ ชนิดมานานแล้ว ตั้งแต่การออก iMac เมื่อปี 1998 ซึ่งแอปเปิลให้ความสำคัญกับการแชร์ข้อมูลผ่านเน็ตเวิร์ก โดยแอปเปิลนำเสนอเทคโนโลยีเครือข่ายแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น AppleTalk และ LocalTalk มาจนถึงบริการบนอินเทอร์เน็ตอย่าง eWorld หรือ AppleLink ดังนั้น iCloud ในฐานะเป็นบริการบนอินเทอร์เน็ตจึงเป็นส่วนเติมเต็มที่บ่งบอกถึงปรัชญาของ แอปเปิลที่มีมาอย่างยาวนาน อีกนัยหนึ่งเป็นการกลับมาแก้มืออีกครั้งของแอปเปิล
ด้วยแนวโน้มของการมุ่งสู่ Cloud service มากขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าของการใช้ Cloud หรือ Economics of Cloud กลายเป็นประเด็นที่หลายๆ หน่วยงานให้ความสำคัญมากขึ้น สิ่งที่เราต้องมองคือ ตัวบริการของ Cloud และผลทางด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ต่อการใช้ Cloud
โดยเมื่อมองตัวบริการ Cloud แล้ว ตัว Cloud ถูกทำตลาด โดยมีลักษณะสามอย่าง คือ
1. เป็นพื้นที่แชร์แอพพลิเคชั่นที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ
2. มีบริการเฉพาะจัดเตรียมไว้ให้
3. คิดค่าบริการเหมือนสินค้าประเภทสาธารณูปโภคทั่วไป
ด้วยลักษณะดังนี้ ทำให้ Cloud มีศักยภาพในแง่ทางการเงินหรือการลงทุนทางด้านไอทีโดยมีเหตุผล 4 ประการ คือ
หนึ่ง Cloud ทำให้เราจ่ายเงินเฉพาะส่วนที่ใช้งาน การจ่ายเฉพาะส่วนที่ใช้งานทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีโดยรวมลงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่าในหลายๆ กรณี โดยการจ่ายเฉพาะส่วนที่ใช้งานนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาสองอย่างคือ การจ่ายเฉพาะส่วนที่จำเป็น และการเลือกใช้เฉพาะส่วนที่จำเป็นในแต่ละเวลา ซึ่งทำให้สามารถควบคุมเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สอง ความเป็นอัตโนมัติ ซึ่งจะลดความผิดพลาดอันเกิดจากการใช้คนทำงาน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายของแรงงานด้านไอทีก็เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่สุดของส่วนงานด้านไอทีแต่กลับไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์แบบเท่าที่ซอฟต์แวร์สามารถทำได้ แต่ใน Cloud ความเป็นอัตโนมัติอันเกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน ดาต้าเซ็นเตอร์ทุกวันนี้ควบคุมด้วยระบบแบบอัตโนมัติ โดยลดการใช้แรงงาน, ความซับซ้อน และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
สาม การแบ่งปันแพลทฟอร์ม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ SalesForce.com ซึ่งดูแลระบบ CRM ให้กับลูกค้า 97,700 รายโดยใช้เซิร์ฟเวอร์ 3,000 เครื่อง หรือคิดเป็นจำนวนเซิร์ฟเวอร์ 0.031 เครื่องต่อหนึ่งลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโลกไอที แบบเก่าที่จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์อย่างน้อย 2 เครื่องสำหรับสำรอง กรณีเกิดปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตลอดเวลาโดยไม่ติดขัด หรือแนวทาง Disaster recovery/ Business Continuity นั่นคือ Cloud ยังสามารถตอบโจทย์เดิมได้คือ ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปโดยไม่หยุดชะงักแต่สามารถลดการใช้เซิร์ฟเวอร์และต้นทุนทางด้านบุคลากรได้อีกมหาศาล
สี่ ฮาร์ดแวร์แบบสินค้าสาธารณูปโภค ผู้ให้บริการ Cloud สามารถสร้างระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าราคาถูก สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ ใช้ blade server มีระบบควบคุมความเย็นและอุณหภูมิ ที่มีศักยภาพ และใช้ไลเซนส์ของซอฟต์แวร์ Virtuali-zation เป็นต้น
แล้วทำไมหลายๆ คนถึงมองว่า iCloud ของแอปเปิลจะต้องเผชิญกับแรงต้านมหาศาลและอาจจะทำให้บริการ Cloud ของแอปเปิลจะไม่สามารถทะยานไปได้ไกลล่ะ มีเหตุผลสามข้อดังนี้
หนึ่ง จนถึงปัจจุบันที่มีบริษัทใหม่ๆ ที่ให้บริการเกี่ยวกับ Cloud service หลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Dropbox, SugarSync, MiMedia และอื่นๆ โดยเป็นบริการให้กับทั้งลูกค้าโดยตรงและลูกค้ากลุ่มธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบริษัทไหนสามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรได้ในขนาดและระดับเดียวกับที่แอปเปิลทำอยู่ แต่เมื่อพิจารณาถึง ecosystem ของคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ลและไมโครซอฟท์ต่างก็สร้างโมเดลบริการเว็บมีเดีย ที่อยู่บนพื้นฐานของบริการเสิร์จ ซึ่งเป็นสิ่งที่แอปเปิลไม่มี หรือยังห่างไกลมาก ซึ่งทำให้แอปเปิลยังไม่สามารถให้พื้นที่บนเครือข่ายได้มากนักเมื่อเทียบกับไมโครซอฟท์ หรือกูเกิ้ล โดยไมโครซอฟท์ให้พื้นที่ 25 กิกะไบต์ผ่านบริการ SkyDrive โดยไมโครซอฟท์มีโครงการจะผูกเข้ากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ในอนาคตอันใกล้ ส่วนกูเกิ้ลก็ให้พื้นที่ผ่านบริการ Gmail มานานแล้ว โดยให้พื้นที่เพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมี Google Music ที่ให้พื้นที่ในการเก็บเพลงรวมถึงพื้นที่เก็บรูปผ่าน Picasa Web
สอง ยังเป็นเรื่องยากสำหรับ แอปเปิลที่จะลงหลักปักฐานในเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะการจะไปกำหนดจังหวะหรือกำหนดราคาในตลาดนี้เหมือนที่พวกเขาสามารถทำได้กับเทคโนโลยีอื่นที่พวกเขาเป็นเจ้าตลาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจอทัชสกรีนบน iPhone, แฟลชเมมโมรีใน iPod nano หรือฮาร์ดดิสก์ขนาด 1.8 นิ้วของ iPod รุ่นแรกๆ
สาม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ Cloud ไม่ใช่พื้นที่ถนัดของแอปเปิล โดยเฉพาะความสามารถที่โดเด่นของแอปเปิลไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบอุตสาหกรรม การตลาด และธุรกิจค้าปลีก ดูเหมือนจะเอามาใช้ไม่ได้บน Cloud นี้
Cloud เสมือนเป็นเรื่องนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและเป็นเรื่องท้าทายมากๆ สำหรับการทำตลาดของ Cloud เมื่อเทียบ กับสินค้าอื่นๆ ของแอปเปิลที่มองเห็นหน้าค่าตาของอุปกรณ์ เห็นซอฟต์แวร์ที่สามารถสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ แต่ Cloud ที่ดีล้วนมีโครงสร้างพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ข้างหลังทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการเปิดตัว iCloud ของแอปเปิลที่ต้องใช้แอนิเมชั่นมาอธิบายถึงคอนเซ็ปต์เบื้องหลังการส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ Cloud ยังไม่สามารถเอามาขายปลีกในร้าน Apple store ได้แม้พนักงานในร้านพร้อมจะอธิบายการทำงานของมันอย่างเต็มใจก็ตาม
ในระยะยาวแล้ว แอปเปิลคงต้องสร้างความแตกต่างของ Cloud ให้ลูกค้าเห็นและเข้าใจให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะมูลค่าในแง่การใช้งานและด้านบันเทิงเหมือนสินค้าอื่นๆ ของพวกเขา โดย ตอนนี้พวกเขายังนำเสนอได้เพียงมูลค่าของความเป็น Cloud เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ Cloud ของผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ในตลาด ก่อนหน้านี้ แอปเปิลมีรายได้เพียงเล็กน้อยจากยอดขายของ iTunes, อีกเล็กน้อยจาก iPhone app และไม่มีรายได้โดยตรงจากซอฟต์แวร์ iLife ที่ติดมากับ Mac แต่สิ่งที่แอปเปิลทำคือการพยายามสร้างประสบการณ์ให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของพวกเขาซึ่งนำมาสู่การสร้างรายได้มหาศาลจากการขายอุปกรณ์ต่างๆ นั่นเอง ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นแบบเดียวกับที่ iCloud กำลังมุ่งหน้าไปสู่
iCloud อาจจะมาช้าไปหน่อย แต่ผมคิดว่า iCloud ของแอปเปิลไม่น่าจะเหมือนกับ Cloud ทั่วๆ ไปที่พบเห็นในท้องตลาด ก็เหมือนอย่างที่แอปเปิลทำมาตลอดคือ การพยายามสร้างระบบ ปิดให้อุปกรณ์ของแอปเปิลโดยเปิดช่องไปสู่โลกภายนอกได้นิดหน่อย สร้างปรัชญาใหม่ๆ ในการใช้งานอุปกรณ์หรือการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
ในที่สุด โลกของแอปเปิลจะกลายเป็นโลกภายนอกเสียเอง เหมือนที่ตอนนี้ iCloud กำลังสร้างโลกใหม่ที่ทำให้อุปกรณ์ของแอปเปิลจำนวนหลายล้านเครื่องได้เชื่อมต่อถึงกันผ่าน iCloud แล้วทุกคนก็จะต้องย้ายไปอยู่ในโลกของแอปเปิลกันในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม
1. Chen, B. X. (2011), ‘4th Time a Charm for Apple? From iDisk to .Mac to MobileMe to iCloud,’
http://www.wired.com/epicenter/2011/05/icloud-apple/
2. ‘Apple Introduced iCloud,’
http://www.apple.com/pr/library/2011/06/06icloud.html
3. ‘The Economics of Cloud Computing Examined,’
http://cloud-computing-economics.com/business-benefits-applications/economics-cloud-computing-examined/
4. Keagy, J. (2011), ‘The Actual Truth about the Economics of Cloud Computing,’
http://blog.gogrid.com/2011/05/26/the-actual-truth-about-the-economics-of-cloud-computing/
5. Lee, T. B. (2011), ‘Fourth time’s a charm? Why Apple has trouble with cloud computing,’
http://arstechnica.com/apple/news/2011/06/fourth-times-a-charm-why-icloud-faces-long-odds.ars
6. Sempf, B. (2010), ‘The Economics of Cloud Computing,’
http://nplus1.org/articles/the-economics-of-cloud-computing/
7. Krishnaraj, S. (2011), ‘The Economics of Cloud Computing. Is there a Chance for ROI?,’
http://whiteboard.solarwinds.com/2011/06/10/the-economics-of-cloud-computing-is-there-a-chance-for-roi.aspx
8. Rubin, R. (2011), ‘Switched On: Apple’s cloud conundrum,’
http://www.engadget.com/2011/06/12/switched-on-apples-cloud-conundrum/
9. Microsoft, ‘The Economics of The Cloud,’ November 2010.
10. Armbrust, M., Fox, A., Griffith, R., Josept, A., Katz, R., Konwinski, A., Lee, G., Patterson, D., Rabkin, A., Stoica, I., and Zaharia, M. (2009), ‘Above the Clouds: A Berkeley View of Cloud Computing,’
http://www.eecs.berkeley.edu/Pubs/TechRpts/2009/EECS-2009-28.html
|