Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2529
ศึกอีรุงตุงนังในพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เจ้าของเก่า-ใหม่ทะเลาะกัน เจ้าหนี้ทนดูไม่ไหวตัดสินใจฟ้องรวด             
 


   
search resources

พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
ดุลยเดช บุนนาค
Shopping Centers and Department store
ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์
โอภาส รางชัยกุล




เรื่องนี้เริ่มจากคน 3 คน ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ ผู้ริเริ่มโครงการศูนย์การค้า ดุลยเดช บุนนาค ผู้ก้าวเข้ามาสนับสนุนทางด้านการเงินให้ศรายุทธเพราะเชื่อมือศรายุทธ และมองว่าโครงการจะต้องทำกำไรแน่ ๆ ส่วนคนที่ 3 ชื่อ โอภาส รางชัยกุล เข้ามาพัวพันในฐานะเจ้าของดีพาร์ทเมนท์สโตร์ที่ถือเป็นหัวใจของศูนย์การค้า และเป็นคนที่ศรายุทธเชื่อมือว่าจะช่วยทำให้ศูนย์การค้าเด่นดัง แต่แล้วสถานการณ์มีอันต้องพลิกผันจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ศูนย์การค้าไม่เดินหน้าตามเป้า ผู้สนับสนุนด้านการเงินอย่างดุลยเดชจำเป็นต้องดึงญาติมิตรตระกูล "บุนนาค" เข้ามาช่วย ซ้ำร้ายดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็อยู่ในขั้นต้องเยียวยา การเข้ามาอย่างเต็มตัวทั้งในส่วนของศูนย์การค้าและดีพาร์ทเมนท์สโตร์กลายเป็นเรื่องที่ "บุนนาค" หลีกไม่พ้น แต่ละขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เกิดศึกอีรุงตุงนังขึ้นในที่สุด

กำเนิดของพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ค่อนข้างที่จะแปลกกว่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์โดยทั่ว ๆ ไปอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือเป็นการกำเนิดขึ้นจากความจำใจต้องเข้าไปเทคโอเวอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ที่กำลังมีปัญหาโดยกลุ่มเจ้าของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เพื่อให้กิจการของศูนย์การค้ายังเดินหน้าได้ต่อไป

กลุ่มพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เข้าเทคโอเวอร์บริษัทเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์เมื่อเดือนเมษายน 2528 ที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินและการประกอบการของดีพาร์ทเมนท์สโตร์แห่งนี้ให้ลุล่วง

แต่ในที่สุดเมื่อมาถึงวันนี้ พันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ซึ่งหวังจะโชว์ฝีมือก็กลับถูกกระหน่ำด้วยภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่มีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ หนี้สินเดิมที่เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ทำเอาไว้กลายเป็นปัญหาที่สางกันไม่เสร็จสิ้น

เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรวม 4 ราย รุมทวงหนี้เดิมที่เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ทำเอาไว้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท

และเจ้าของผู้ถือหุ้นเดิมก็รุมทวงค่าหุ้นซึ่งอ้างว่ายังจ่ายกันไม่หมด เป็นเงินรวมทั้งสิ้นอีกประมาณ 18 ล้านบาท อีรุงตุงนังกันไปหมด

หนี้สินจำนวนนี้ที่จริงแล้วไม่น่าจะมีปัญหา สำหรับกลุ่มผู้เป็นเจ้าของพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มตระกูลผู้ดีเก่าเจ้าของที่ดินใหญ่แถบเยาวราชและย่านอื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่านับร้อย ๆ ล้านบาท

แต่ก็เป็นปัญหาจนต้องพึ่งศาล และต้องพึ่งคณะอนุญาโตตุลาการตีความสัญญาซื้อขายหุ้นกัน

"หนี้สินส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ทำเอาไว้ เขาก็สมควรที่จะเป็นคนจ่ายไม่ใช่เรา และมูลค่าหุ้นที่เขาทวงเรานั้น ก็เป็นเรื่องตลก มูลค่าหุ้นมันควรจะติดลบ และเขาควรจ่ายเราด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เราต้องจ่ายเขา"

"พวกเขาทำกันเละเทะมาก เรารับไม่ได้"

ผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่งของพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงปัญหายุ่ง ๆ ข้างต้น

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าของเก่ากับเจ้าของใหม่นี้ เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน 4 รายยืนมองกันตาปริบ ๆ

เจ้าหนี้ 4 รายที่ว่านี้ก็คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยทนุ ธนาคารศรีนคร และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด

จนในที่สุดเมื่อร้อนรนทนไม่ได้ เพราะทวงถามไปก็ไม่มีใครยอมจ่ายหนี้ ธนาคารกรุงเทพก็ตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัทพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ต่อศาลแพ่ง ในข้อหาผิดสัญญาเงินกู้และเบิกเงินเกินบัญชีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 23,403,390.44 บาทเป็นรายแรกไปแล้ว

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เป็นภาพรวมโดยกว้าง ๆ ในปัจจุบัน

และถ้าจะให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและทางออกในอนาคตของพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์แล้วก็คงต้องว่ากันตั้งแต่จุดเริ่มต้น

ทุกสิ่งทุกอย่างได้เริ่มขึ้นเมื่อบริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2524 โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของตัวเองเอาไว้ว่า จะดำเนินการสร้างศูนย์การค้าเพื่อให้เช่าพื้นที่

บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต ภายใต้การนำของศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จมาจากการทำธุรกิจบ้านจัดสรรมาก่อนหน้านี้ ริเริ่มโครงการใหม่ชิ้นนี้ของเขาด้วยการขอเช่าที่ดินแถบย่านประตูน้ำ บนถนนเพชรบุรีติดกับสถานทูตอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่ดินของหม่อมราชวงศ์พันธ์ทิพย์ บริพัตร

ก่อนที่ศูนย์การค้าบนที่ดินผืนนี้จะเริ่มก่อสร้างขึ้น ที่ดินผืนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวสลัมกว่า 300 ครัวเรือน อยู่กันอย่างแออัด สร้างปัญหาให้กับเจ้าของเก่ามานานแล้ว

ครั้นเมื่อพันธุ์ทิพย์พัฒนอาเขตกำเนิดขึ้น และตั้งความหวังที่จะใช้ที่ดินผืนนี้ให้เป็นประโยชน์ การดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออพยพชาวสลัมออกไปก็ทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่ากันว่าในช่วงนั้น ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ ได้ใช้นโยบายเอาเงินอัดชาวสลัมอย่างไม่อั้น

"บางรายเราจ่ายเขาถึง 7 - 8 แสนบาท เราตั้งงบเพื่อการนี้ไว้ประมาณ 10 ล้านบาท แต่เมื่อทำจริง ๆ เราจ่ายไปถึง 11 ล้านบาท เฉพาะค่ารื้อถอนอย่างเดียวเฉลี่ยแล้วประมาณห้องละ 40,000 บาท" ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ เล่าให้กับนักข่าวฟังเมื่อเดือนมีนาคม 2526

การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการเผาไฟไล่ที่ ไม่มีแม้เสียงโวยวายหรือคำร้องขอต่อศาล ปลายปี 2527 ตึกพันธุ์ทิพย์พลาซ่าก็ผงาดขึ้นอย่างอาจหาญบนถนนเพชรบุรีพร้อม ๆ กับการกำเนิดของศูนย์การค้าใหม่ ๆ อีกสิบกว่าแห่งในกรุงเทพมหานคร ภาวะการแข่งขันของห้างสรรพสินค้าในช่วงนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง ส่อเค้าให้เห็นถึงสิ่งที่น่ากลัวในวันข้างหน้าจะต้องมีหลายรายที่ต้องล้มลงไป

บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต จำกัด ก็มองเห็นถึงสถานการณ์และภาวะที่กำลังเกิดขึ้น การเลือกบริษัทที่จะมาเช่าทำพื้นที่ของตึกพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เพื่อทำดีพาร์ทเมนท์สโตร์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของงานทีเดียว

และในที่สุด บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต ก็ตัดสินใจเลือกให้บริษัท เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เป็นผู้เช่าอาคารทำดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ภายใต้การบริหารของ โอภาส รางชัยกุล

"การที่เราเลือกให้เอกซ์เซลทำดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็หาใช่ว่าสักแต่เอาเข้ามา แต่เราดูแล้วว่าเอกซ์เซลฯ มีทีมบริหารที่ดี เราได้ศึกษาทีมเวิร์คของเขา และเรามั่นใจว่าเขาจะทำได้ดีทีเดียว" ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ เคยให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ

บริษัท เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2526 ด้วยการรวมตัวของนายทุนหนุ่มผู้มั่งคั่งด้วยกองมรดกมากมาย อาทิเช่น วิชัย ชินธรรมมิตร ลูกชายของ ชวน ชินธรรมมิตร ผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่แห่งกลุ่มกว้างซุ่นหลี ดร. ประทีป เจียรวนนท์ ทายาทกลุ่ม ซี.พี. ซึ่งเป็นทายาทของ ซี.พี. คนเดียวที่ไม่ยอมเดินตามรอยของตระกูล แต่กลับมาเอาดีทางด้านศูนย์การค้าแทน เหล่านี้เป็นต้น

บริษัท เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ มีโอภาส รางชัยกุล และวิเชฏฐ์ รางชัยกุล สองพี่น้อง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ประมาณ 60%) วิเชฏฐ์ รางชัยกุล เป็นกรรมการผู้จัดการในตอนแรก ส่วน โอภาส รางชัยกุล นั้นเดิมเป็นซัพพลายเออร์ให้กับศูนย์การค้าต่าง ๆ มาก่อน

ว่ากันว่า โอภาส รางชัยกุล นั้นพื้นเพมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจเครื่องใช้อลูมิเนียมขนาดกว้าง ที่ก้าวเข้ามาเอาดีทางด้านการทำธุรกิจเป็นซัพพลายเออร์สินค้านานาชนิดให้กับห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง โอภาสคุยกับศรายุทธถูกคอมาก ศรายุทธจึงมอบงานดีพาร์ทเมนท์สโตร์ให้โอภาสทำ และโอภาสก็ไปดึงกลุ่มทุนอย่างเช่น วิชัย และ ดร. ประทีป เข้ามาร่วม

กลุ่มคนหนุ่มผู้ก่อตั้ง บริษัทเอกซ์เซลเหล่านี้ นอกจากคิดการก่อตั้งบริษัท เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์แล้ว ยังได้จัดตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นอีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า บริษัท โนเบิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการภัตตาคาร ลานสเก็ต และดิสโก้เธค

บริษัทเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์และบริษัทโนเบิลอินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินการภายหลังการจัดตั้งบริษัท ด้วยการเสนอตัวขอเข้าเช่าพื้นที่ในอาคารพันธุ์ทิพย์ฯ ดำเนินกิจการตามเป้าที่วางไว้ด้วยราคาค่าเซ้ง 67 ล้านบาทสำหรับเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และ 18 ล้านบาทสำหรับภัตตาคาร ลานสเก็ต และดิสโก้เธค

แล้วการหาเงินเพื่อดำเนินการก็เริ่มขึ้น

เดือนเมษายน 2527 เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ได้ทำสัญญากู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ สาขาประตูน้ำ เป็นเงินกู้ระยะยาวจำนวน 15,000,000 บาท และเป็นเงินกู้ที่ใช้เป็นเงิมทุนหมุนเวียนอีก 3,750,000 บาท

ทำสัญญากู้เงินธนาคารไทยทนุเป็นประเภทเงินกู้ระยะยาว 10,000,000 บาท เป็นเงินกู้ที่ใช้เป็นเงิมทุนหมุนเวียนอีก 1,250,000 บาท

ทำสัญญากู้เงินจากธนาคารศรีนครเป็นประเภทเงินกู้ระยะยาว 10,000,000 บาท

และกู้เงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวเช่นกันอีกจำนวน 15,000,000 บาท

รวมเงินกู้ระยะยาวที่เอกซ์เซลได้ทำสัญญากู้เอาไว้ในเดือนเมษายน 2527 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 50 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีก 5 ล้านบาท

เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ภายใต้การนำของโอภาส รางชัยกุล และวิเชฏฐ์ รางชัยกุล ได้ทำสัญญากู้เงินเหล่านี้ โดยสัญยาไว้กับเจ้าหนี้ทั้งสี่รายไว้ว่า จะชำระคืนเงินต้นประเภทเงินกู้ระยะยาวทั้งหมดแก่เจ้าหนี้ทุกราย โดยผ่านธนาคารกรุงเทพ และเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์จะชำระคืนเงินต้นเป็นงวด ๆ ละเดือน ทุกวันสุดท้ายของเดือนติดต่อกันรวม 46 งวด โดยเริ่มงวดแรกวันที่ 31 มีนาคม 2528 และงวดสุดท้ายวันที่ 31 ธันวาคม 2531 การผ่อนชำระเงินต้นเหล่านี้ ตกลงผ่อนชำระกันงวดละ 1,100,000 บาท

การกู้เงินจำนวนเหล่านี้ ยังได้มีการตกลงกันอีกว่า หากเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ผิดนัดการชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย เจ้าหนี้ทั้งสี่รายมีสิทธิที่เข้าทำการเช่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์ในอาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เนื้อที่ 10,000 ตารางวาแทน โดยมีกำหนดการเช่า 30 ปีทันที

เดือนพฤษภาคม 2527 บริษัทเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ได้เข้าพบผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาประตูน้ำอีกครั้ง ขอเบิกเงินเกินบัญชีกระแสรายวัน เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 3,750,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 6 เดือน

การกู้เงินเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ว่าเอกซ์เซลฯ จะไม่มีที่ดินหรือหลักทรัพย์ใด ๆ นอกจากใช้พื้นที่ ๆ เช่าในพันธุ์ทิพย์ค้ำประกันต่อสถาบันการเงินทั้งสี่รายแล้ว ก็มีเพียงใช้ตัวบุคคลเท่านั้นค้ำประกัน

ตัวบุคคลที่ว่าก็คือ วิชัย ชินธรรมมิตร ประทีป เจียรวนนท์ วิเชฏฐ์ รางชัยกุล โอภาส รางชัยกุล และสาวิต พินธุโสภณ แค่นี้ธนาคารและสถาบันการเงินบ้านเราก็ต้องให้ความเกรงใจแล้ว

เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์เริ่มเปิดทำการจริง ๆ ในปลายปี 2527 ท่ามกลางการแข่งขันที่มีความรุนแรงและดุเดือดขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งถ้านับจำนวนดีพาร์ทเมนท์สโตร์ที่มีอยู่ในช่วงนั้นแล้ว จะมีถึง 21 แห่ง

ทุก ๆ ห้างที่เป็นเจ้าเก่าต่างปรับตัวสู้กันอย่างขนานใหญ่ กลยุทธ์ทางการตลาดมีอะไรบ้างต่างงัดออกมาสู้กันอย่างไม่ยั้ง

เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ดำเนินการไปไม่กี่เดือน หลาย ๆ ปัญหาก็เริ่มเผยโฉมให้เห็น พร้อมกับรอยร้าวในกลุ่มกรรมการบริหารที่แจ่มชัดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ ดร. ประทีป เจียรวนนท์ ออกมาให้ข่าวกับนักข่าวในลักษณะที่ว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของเอกซ์เซลอย่างขนานใหญ่ มิเช่นนั้นจะไปไม่รอด

เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ระส่ำขนาดหนักในช่วงนั้น ด้วยปัญหานานาประการ ตั้งแต่ปัญหายอดขายไปจนถึงการบริหารงานของฝ่ายบริหารระดับสูง

โอภาส รางชัยกุล ตัดสินใจให้มีการเพิ่มทุนอีก 10 ล้านบาท จากเดิมที่ให้หุ้นส่วนต่าง ๆ ควักกระเป๋าลงกันไปแล้วรวม 50 ล้านบาท แต่ผู้บริหารคนอื่น ๆ อันประกอบไปด้วย ดร. ประทีป เจียรวนนท์ วิชัย ชินธรรมมิตร สาวิต พินธุโสภณ ไม่เห็นด้วย โดยต่างก็มองกันว่าการบริหารที่ผ่านมาของโอภาส รางชัยกุล นั้นผิดพลาดมาตลอด ถึงแม้จะมีการเพิ่มทุนก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น พร้อมทั้งเสนอว่าถ้าหากโอภาส รางชัยกุลอยากจะดำเนินงานต่อก็ให้โอภาส รางชัยกุล หาเงินมาซื้อหุ้นที่พวกตนมีอยู่ 40 เปอร์เซนต์ไป เพื่อยกเลิกภาระผูกพันที่มีอยู่ต่อกันเสีย

ในขณะที่ปัญหาสารพัดกำลังกระหน่ำเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์นั้น ผู้ที่มีความไม่สบายใจมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ เจ้าของอาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เนื่องจากหากปล่อยให้ปัญหายังดำเนินไปเช่นนี้แล้ว ไม่เพียงดีพาร์ทเมนท์สโตร์เท่านั้นที่จะพัง หากแต่พังกันไปหมดทั้งศูนย์การค้า

และผู้มีอันให้ต้องใจเต้นไม่เป็นจังหวะไปด้วยก็คือ ดุลยเดช บุนนาค ที่ช่วยค้ำประกันหนี้สินให้ศรายุทธเอาไว้เป็นจำนวนมาก

ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ เริ่มเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยปัญหา

ทางด้าน ดร. ประทีป เจียรวนนท์ และผู้ถือหุ้นอื่น ๆ เรียกร้องให้บริษัททิพย์พัฒนอาเขตเข้าซื้อหุ้นที่มีอยู่ หรือไม่ก็ต้องซื้อหุ้นของทางโอภาส รางชัยกุล ไปให้หมด ด้วยความที่หมดความไว้วางใจการบริหารงานของโอภาส รางชัยกุล เสียแล้ว

การต่อรองเป็นไปอย่างยากลำบาก

ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528 อันเป็นวันเวลาของการชำระเงินต้นระยะยาวงวดแรกตาอทางธนาคารตามที่กำหนดกันเอาไว้ในสัญญา แต่ธนาคารกรุงเทพสาขาประตูน้ำก็ต้องผิดหวัง

เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เริ่มผิดนัดการชำระหนี้คืนงวดแรก!

แล้วก็ไม่ยอมชำระอีกเลย จนกระทั่งวันนี้!!

ในที่สุด ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ ก็ตัดสินใจเข้ากู้สถานการณ์ ด้วยการลงเงินตัวเองพร้อมทั้งดึงนายทุนกลุ่มใหม่เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นเดิมของเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2528

"ตอนหลัง ๆ ทางพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเขาเองก็ไม่พอใจกับการดำเนินงานของเอกซ์เซลมาก คือตอนแรกพันธุ์ทิพย์เขาก็หวังที่จะให้อาคารของเขาเป็นศูนย์การค้าระดับสูงหรือระดับชั้นกลางขึ้นไป แต่ทีนี้ทำไปทำมา มันเหมือนโบ๊เบ๊ติดแอร์มากกว่า สินค้าวางกันอย่างระเกะระกะ" พนักงานของพันธุ์ทิพย์คนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความหลัง

ทั้ง โอภาส รางชัยกุล และวิชัย ชินธรรมมิตร ดร. ประทีป เจียรวนนท์ ดร. สาวิต พินธุโสภณ วิวัฒน์ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นกรรมการชุดเก่าไม่มีหุ้นเหลือติดอยู่ที่เอกซ์เซลเลยสักหุ้นเดียว คงเหลือแต่เพียงหุ้นของบริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด (ของวิชัย ชินธรรมมิตร) ที่คงเหลืออยู่เพียง 50,000 หุ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตามราคาพาร์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,000,000 บาทเท่านั้น

ผู้เข้าถือหุ้นใหม่เป็นกลุ่มตระกูลบุนนาค และบริษัททิพย์พัฒนอาเขต จำกัด เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ก็เป็นไปตามการร้องขอของ ดุลยเดช บุนนาค

และนอกจากจะเข้าไปเทคโอเวอร์เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์แล้ว ผู้เป็นเจ้าของใหม่ยังได้ตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทโนเบิล อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งของกลุ่มเอกซ์เซลที่เปิดเป็นลานสเก๊ตและดิสโก้เธคภายในตึกอีกด้วย

กรรมการบริหารชุดเก่าถูกโละทิ้งหมดไม่มีเหลือแม้แต่คนเดียว พร้อมกับกรรมการบริหารชุดใหม่ที่เดินเข้ามา ซึ่งประกอบด้วย ดุลยเดช บุนนาค ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ โมทนา นวลแข ภัฏฏการก์ บุนนาค และมงคล ทัฬหะกุลธร

สำหรับกรรมการบริษัทคนใหม่ที่ชื่อ มงคล ทัฬหะกุลธร นั้น ทางด้านกลุ่มตระกูลบุนนาค ได้ทาบทามตัวมาจากเดอะมอลล์ ซึ่งว่ากันว่าคนผู้นี้เป็นนักการตลาดมืออาชีพทีเดียว ตำแหน่งใหม่ที่มงคล ทัฬหะกุลธร เข้ารับก็คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต จำกัด และบริษัท พันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์

แล้วการเปลี่ยนชื่อจากบริษัทเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เป็นบริษัทพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ก็เกิดขึ้น ณ จุดนี้

การโอนหุ้นที่เป็นปัญหามาจนทุกวันนี้ ก็เริ่มจากจุดนี้เช่นกัน

ผู้เป็นเจ้าของใหม่กับเจ้าของเดิมนั้นได้ทำสัญญาตกลงกันในขั้นแรกว่า กรรมการเดิมของบริษัททุกคนจะต้องลาออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งส่งมอบสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น สมุดบัญชี ตราบริษัท เงินสดในมือ และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัท เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของใหม่ดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ขาดตอน และในขั้นแรกนี้ เจ้าของใหม่จะชำระเงินมัดจำค่าหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมหุ้นละ 5 บาทก่อน ส่วนราคาค่าหุ้นที่เป็นจริงทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า จะให้สำนักงาน เอส จีวี ณ ถลาง ทำการตรวจสอบบัญชีและทรัพย์สินของบริษัท เพื่อกำหนดราคาค่าหุ้นกัน และเจ้าของใหม่จะต้องชำระค่าหุ้นภายใน 7 วันหลังจากนั้น

ในสัญญายังระบุอีกว่า หากไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด โดยทั้งสองฝ่ายจะยินยอมเอามูลค่าหุ้นที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดเป็นราคาที่ซื้อขายกัน

การดำเนินการต่าง ๆ ยังคงเป็นไปอย่างราบรื่นพอสมควร

ผู้ถือหุ้นรายใหม่ได้ชำระค่าหุ้นมัดจำให้ผู้ถือหุ้นเก่าก่อนหุ้นละ 5 บาทตามที่ตกลงกันไว้ เป็นจำนวน 540,000 หุ้น รวมเป็นเงิน 2,700,000 บาท

หลังจากนั้นสำนักงานเอส จีวี ณ ถลาง ก็เข้าทำการตรวจสอบบัญชีและทรัพย์สินของบริษัท พร้อม ๆ กับที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่เริ่มเข้าดำเนินงาน การผ่าตัดโครงสร้างการบริหารงานก็เริ่มขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งนั่นก็คือ บริษัททิพย์พัฒนอาเขตนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เลยก็ว่าได้

ทั้งสองบริษัทมีกรรมการบริษัทเหมือนกันเกือบทั้งชุด และทั้งสองบริษัทก็มีมงคล ทัฬหะกุลธรเป็นกรรมการผู้จัดการ ก็เรียกว่าคุมทั้งศูนย์การค้าและดีพาร์ทเมนท์สโตร์พร้อมเสร็จ

ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ นั้นไม่เพียงแต่ดึงบริษัทไพบูลย์สมบัติอันเป็น Holding Company ของกลุ่มตระกูลบุนนาค เข้าร่วมในการเทคโอเวอร์เอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์เท่านั้น หากแต่ยังได้ดึงเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัททิพย์พัฒนอาเขตด้วย

"คือไพบูลย์สมบัติเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ดั้งเดิมในเรื่องส่วนตัวกับผมมานานแล้ว และทางพันธุ์ทิพย์พลาซ่าของเราต้องการทีมงานบริหารที่ดีกว่านี้ เข้มแข็งกว่านี้ ทางไพบูลย์สมบัติก็เป็นกลุ่มที่ผมนับถือ ก็เลยชวนเข้ามา เพราะหลายคนย่อมดีกว่าคนเดียว" ศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ เคยให้สัมภาษณ์

แต่แหล่งข่าววงในกลับบอกว่า การเข้ามาของกลุ่มตระกูลบุนนาคในทิพย์พัฒนอาเขตเป็นเรื่องตกกระไดพลอยโจน เนื่องจาก "บุนนาค" ที่ชื่อดุลยเดชนั้นช่วยหาเงินและค้ำประกันโครงการพันธุ์ทิพย์พลาซ่าของศรายุทธไว้มาก เมื่อศูนย์การค้าประสบปัญหาขายพื้นที่ไม่ได้ตามเป้า ผู้ค้ำประกันอย่าง "บุนนาค" จึงต้องเข้ามาเต็มตัว และก็ต้องกระโดดเข้าอุ้มเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ด้วย เพื่อให้ศูนย์การค้ายังสามารถเดินหน้าได้ต่อไป "เป็นเรื่องที่เขาไม่เข้ามาไม่ได้…" แหล่งข่าวกล่าว

การเข้ามาครั้งนี้ของกลุ่มตระกูลบุนนาค นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทั้งสองบริษัททีเดียว โดยแกนการบริหารได้เอนมาทางกลุ่มตระกูลบุนนาค ในเวลาต่อมา

หลังจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารครั้งใหญ่แล้ว ปัญหาที่กรรมการชุดใหม่ต้องเตรียมรับมือนั่นก็คือ ปัญหาการฟื้นฟูธุรกิจกับปัญหาภาระหนี้สินที่สร้างกันไว้เดิม

พันธุ์ทิพย์ค่อนข้างจะโชคร้าย นอกจากจะเจอกับปัญหาการแข่งขันที่มีความรุนแรงแล้ว ยังต้องพบกับโศกนาฏกรรมที่ตนเองไม่ได้คิดว่าจะต้องพบนั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถบนถนนเพชรบุรีและบนถนนรอบข้างด้านต่าง ๆ ให้เป็นการเดินรถแบบทางเดียว (ONE WAY)

พันธุ์ทิพย์ฯ แทบจะกระอักเลือดเมื่อเจอปัญหานี้ จนถึงกับต้องทำการชักชวนกลุ่มธุรกิจที่อยู่รอบข้าง อันได้แก่ ซิตี้พลาซ่า ห้างสรรพสินค้าเมโทร โรงแรมเฟิสท์ และโรงแรมเอเชีย ให้ช่วยสนับสนุนโครงการศึกษาถึงผลกระทบต่อธุรกิจจากการจัดการจราจรแบบวันเวย์ เพื่อเสนอต่อทางกรมตำรวจ ด้วยความหวังที่จะให้กรมตำรวจเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถใหม่ ซึ่งว่ากันว่า การเดินรถแบบวันเวย์บนถนนหลัก 4 สาย คือ ราชปรารภ เพชรบุรี สุขุมวิท และพญาไท ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินของธุรกิจ ในย่านนี้มาก ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินแล้วจะไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

มงคล ทัฬหะกุลธร กรรมการผู้จัดการของพันธุ์ทิพย์ฯ ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และได้นำสรุปเรื่องนี้ส่งต่อกรมตำรวจ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 ที่ผ่านมานี้เอง

ทางด้านปัญหาการฟื้นฟูธุรกิจและภาระหนี้สิน มงคล ทัฬหะกุลธร ได้ใช้วิธีการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายอย่างหนัก และดำเนินการด้วยปรัชญาที่ว่า "ขายเท่าที่มีตลาด" และ "ยอมเป็นคนผอมแต่แข็งแรง" ดีกว่า "การเป็นคนอ้วนแต่อมโรค"

การดำเนินการของพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็เดินไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ภายในกรุงเทพมหานครเริ่มที่จะล้มลงไปทีละแห่งสองแห่ง

ในขณะเดียวกัน สำนักงาน เอส จีวี ณ ถลาง ก็ได้ส่งรายงานการตรวจสอบบัญชีและทรัพย์สินของเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์มาให้ เพื่อให้ตีราคาหุ้นที่ยังคงค้างชำระ

เมื่อได้เห็นบัญชีและรายงานที่ทางสำนักงานเอสจีวี ณ ถลาง ส่งมาแล้ว คณะกรรมการบริษัททุกคนต่างก็ส่ายหน้า ด้วยเหตุผลที่ว่า บัญชีที่กลุ่มเอกซ์เซลทำไว้เดิมนั้น มันเละเทะเอามาก ๆ

"โธ่คุณ ขนาดเอสจีวี ณ ถลาง ยังโนคอมเมนท์เลย จะให้พวกเรารับได้อย่างไร เขาให้เราซื้อและคิดค่าทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างไม่เป็นความจริง คุณดูสิ แม้แต่ดิสโก้เธคและลานสเก็ตที่เขาขายให้เรานั้นเอาเข้าจริงพอเข้าไปทำถึงได้รู้ว่า แม้แต่ใบอนุญาตการเปิดลานสเก็ตและดิสโก้เธคก็ยังไม่มีเลย เราต้องจ่ายเงินเพื่อการนี้เพิ่มอีกในทีหลัง" แหล่งข่าวระดับสูงในพันธุ์ทิพย์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ผลที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็เลยตกลงกันไม่ได้เรื่องราคาหุ้น และสิ่งที่ตามมาก็คือ ต้องตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาเพื่อชี้ขาดตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้

คณะอนุญาโตตุลาการเหล่านี้ก็มาจากสถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ อันได้แก่ ดร. อำนวย วีรวรรณ แห่งธนาคารกรุงเทพ ปกรณ์ ทวีสิน จากธนาคารไทยทนุ วิเชียร เตชะไพบูลย์ จากธนาคารศรีนคร และมิสเตอร์ ซามานิเอโก (MR SAMANIEGO) จากสำนักงานตรวจสอบบัญชี เอสจีวี ณถลาง

คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดออกมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ว่า มูลค่าหุ้นที่ซื้อขายกันนั้น มีราคา 20,389,895 บาท หรือเมื่อเฉลี่ยแล้วจะมีมูลค่าหุ้นละ 37.76 บาท

อย่างไรก็ดี ผู้เป็นเจ้าของใหม่ก็ไม่ยอมรับคำชี้ขาดอันนี้ และยืนยันที่จะไม่ชำระค่าหุ้นเพิ่มอีกจากที่เคยชำระมาแล้ว "เพราะจากการได้เข้าไปสัมผัสจริง ๆ เราคลางแคลงใจมาก และเรายืนยันได้ว่ามูลค่าหุ้นจะต้องติดลบด้วยซ้ำ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว!

ฝ่ายเจ้าหนี้เก่าก็คือสถาบันการเงินทั้งสี่ราย ก็หาทางออกไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเข้าเจรจากันและตกลงหาทางออกด้วยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เพื่อให้ลูกหนี้คือพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์มีระยะเวลาในการฟื้นฟูธุรกิจของตนเอง

"การเจรจาต่างก็ให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน แม้ว่าทางธนาคารกรุงเทพจะยื่นฟ้องต่อศาล แต่นั่นเป็นเพียงการกระทำที่เขาต้องทำตามระเบียบเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เราเองกลับแนะนำให้เขาฟ้องด้วยซ้ำ เพราะถ้าเขาฟ้องแล้ว นั่นก็เท่ากับว่าเขาได้ยืดอายุการชำระหนี้ให้กับเราแล้ว เนื่องจากกว่าศาลจะนัดสืบพยานอะไรทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้น และตัดสินออกมาก็ต้องใช้เวลากันเป็นปี และเมื่อเรายื่นอุทธรณ์ ยื่นฎีกาอะไรอีก มันก็กินเวลา 6 - 7 ปีแล้ว ผมว่าเมื่อถึงตอนนั้น สถานการณ์มันคงเปลี่ยนไปแล้ว และตอนนั้นเราก็คงฟื้นตัวแล้วด้วยซ้ำไป" แหล่งข่าวระดับสูงในพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ธนาคารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2529 ที่ผ่านมานี้เอง โดยฟ้องบริษัทพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เป็นจำเลยที่หนึ่ง ด้วยข้อหาผิดสัญญาเงินกู้และเบิกเงินเกินบัญชี พร้อมทั้งฟ้อง วิชัย ชินธรรมมิตร เป็นจำเลยที่ 2 ประทีป เจียรวนนท์ เป็นจำเลยที่ 3 วิเชฏฐ์ รางชัยกุล เป็นจำเลยที่ 4 สาวิต พินธุโสภณ เป็นจำเลยที่ 5 และโอภาส รางชัยกุล เป็นจำเลยที่ 6 เหล่านี้ ในฐานะผู้ค้ำประกัน

จำเลยตั้งแต่ที่ 2 ถึงที่ 6 ล้วนแต่เป็นกรรมการชุดเก่าของเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์และเป็นผู้ก่อหนี้สินเหล่านี้ขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี จำเลยเหล่านี้ต่างก็ไม่ยอมรับสภาพ เนื่องจากถือว่าพวกเขาได้ขายกิจการบริษัทเอกซ์เซลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นกรรมการชุดใหม่ก็ควรจะรับผิดชอบในการสะสางหนี้สิน

และเมื่อถูกฟ้องเช่นนี้ กรรมการชุดเก่าเหล่านี้ก็เดินหน้าเข้าหาศาลบ้าง ด้วยการฟ้องบริษัททิพย์พัฒนอาเขตต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 เรียกร้องให้ศาลบังคับให้บริษัทิพย์พัฒนอาเขตชำระค่าหุ้นที่ยังค้างกันอยู่ตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทางทิพย์พัฒนอาเขตเจ้าของพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ในปัจจุบันก็ไม่ได้สนใจกับการฟ้องครั้งนี้ของเจ้าของชุดเดิมแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังอยากจะให้ถูกฟ้อง "เพื่ออะไรต่ออะไรมันจะได้ชัดกันเสียที" แหล่งข่าวคนเดิมพูดขึ้นมา แต่ท่าทีที่ผ่านมาทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า ทิพย์พัฒนอาเขตถือว่าการเข้ามาดำเนินการในพันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์นั้น เป็นการเข้ามาเพื่อให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่าอยากจะซื้อหรืออยากจะทำ

"มีข้อสัญญาในการกู้เงินระหว่างเอกซ์เซลฯ และเหล่าสถาบันการเงินอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าหากเอกซ์เซลฯ ไม่สามารถชำระเงินคืนตามกำหนด สถาบันการเงินเหล่านี้ก็มีสิทธิที่จะเข้าทำการเช่าพื้นที่ในอาคาร แต่ก็ไม่มีธนาคารใดสนใจที่จะเข้าทำการเช่าเลย ทั้ง ๆ ที่เราเชื้อเชิญแล้ว" แหล่งข่าวในทิพย์พัฒนอาเขตกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

วันนี้ ถึงแม้หนี้สินต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงสางกันไม่หมดสิ้น แต่พันธุ์ทิพย์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็ได้วางแนวทางในการฟื้นฟูธุรกิจในอนาคตกันไว้แล้ว ด้วยความเชื่อมั่น

เริ่มจากเดินหน้าทำการศึกษาการจราจรที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันส่งให้กับกรมตำรวจ ดังได้กล่าวไปแล้ว

รายงานการศึกษาที่พันธุ์ทิพย์ฯ ทำส่งให้กับกรมตำรวจนั้น เป็นรายงานสั้น ๆ ไม่ยาวนัก ขนาดพิมพ์รีมสั้นจำนวน 16 หน้ากระดาษ โดยไม่ได้อ้างชื่อพันธุ์ทิพย์เป็นผู้ทำการศึกษา หากแต่อ้างว่าเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนคนหนึ่ง

เนื้อหาภายในรายงานชิ้นนี้ ก็ไม่ได้อ้างว่าพันธุ์ทิพย์พลาซ่าและมีธุรกิจอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการจัดการจราจรในปัจจุบัน หากแต่พูดถึงเพียงว่าการจัดการจราจรในปัจจุบัน ไม่เป็นธรรมชาติของการเดินรถ และทำให้การจราจรติดขัด พร้อมทั้งเสนอให้มีการเปลี่ยนแนวการเดินรถบนถนนบางแห่งเสียใหม่

ซึ่งความจริงแล้วการที่พันธุ์ทิพย์ฯ ทำรายงานการศึกษาชิ้นนี้ขึ้นมานั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ตัวเองถูกปิดล้อมด้วยศูนย์การค้าต่าง ๆ รอบข้างนั่นเอง

นอกจากการยื่นรายงานการศึกษาและเข้าหากรมตำรวจแล้ว พันธุ์ทิพย์ยังวางนโยบายที่จะต้องปรับปรุงกิจการของตัวเอง ด้วยการบีบดีพาร์ทเมนท์สโตร์ให้เล็กลงไปอีก พร้อมทั้งหันไปเน้นที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงแทน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ พันธุ์ทิพย์ฯ คงจะออกแถลงข่าวถึงการที่จะทำให้พันธุ์ทิพย์ฯ เป็นแหล่งศิลปหัตถกรรมของไทย อันจะเป็นกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เดินเข้ามาในพลาซ่า นอกเหนือจากการเปิดพันธุ์ทิพย์ภัตตาคารและไนท์คลับ ซึ่งว่ากันว่าเป็นไนท์คลับที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียไปแล้ว

"และร้านค้าจำนวนมากเราคงต้องเดินเรื่องฟ้องขับไล่ เนื่องจากไม่เคยชำระค่าเซ้งพื้นที่ตามสัญญา หลังจากนั้นเราก็จะวางโครงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่กันใหม่ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ตอนนี้อย่าเพิ่งให้บอกเลย…" ผู้บริหารคนหนึ่งบอก

"OK. มันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข และขบคิดวางแผนกันใหม่มาก แต่ระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่อีกเกือบ 25 ปี เราเชื่อว่าพันธุ์ทิพย์พลาซ่ายังมีเวลา และจะต้องเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างไม่มีปัญหา" เขากล่าวตบท้ายด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us