|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เอ่ยประโยคนี้อย่างหนักแน่น เพื่อยืนยันว่า แม้เขาจะอยู่ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ามาตลอดชีวิตการทำงาน แต่ก็ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะมีแนวคิดส่งเสริมให้คนใช้ไฟอย่างสิ้นเปลือง
นพพล มิลินทางกูร เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าของไทยที่เข้า ไปลงทุนใน สปป.ลาว เป็นการลงทุนจากไทยที่มีมูลค่าสูงที่สุดในด้านพลังงานเมื่อเทียบกับทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนในสปป.ลาวปัจจุบัน
โดยราชบุรีฯ เป็นบริษัทผู้ดำเนินงาน โรงไฟฟ้าใน สปป.ลาวมูลค่ามากกว่า 7 หมื่นล้าน หรือราว 2,500 เหรียญสหรัฐ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 3,000 เมกะวัตต์จาก 4 โครงการ ได้แก่ 1-โครงการน้ำงึม 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟแล้วขนาดกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ โดยบริษัทลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่น ล้าน
2-โครงการโรงไฟฟ้าหงสา ที่ผลิตจากถ่านหินลิกไนต์ซึ่งดำเนินงานไปพร้อมกับการทำเหมือง ถือเป็นโครงการที่เป็น Deal of the Year 2010 เพราะเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 แสนล้านโดยราชบุรีฯ ถือหุ้น 40% คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้าน โครงการนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 8,888 เมกะวัตต์ เน้นจำหน่ายในลาว ส่วนที่เหลือจะส่งขายให้กับประเทศไทย
3-โครงการน้ำงึม 3 มูลค่าโครงการ 3.2 หมื่นล้าน เป็นส่วนของราชบุรีฯ 8,000 ล้าน กำลังการผลิต 440 เมกะ วัตต์ ส่วนใหญ่จำหน่ายกลับเข้าไทย อยู่ระหว่างการเจรจา และ 4-โครง การเซเปียงเซน้ำน้อยที่ปากเซทางใต้ของ สปป. ลาว มูลค่าโครงการ 3 หมื่นล้านเศษ ราชบุรีฯถือหุ้น 7 พันกว่าล้าน กำลังการผลิตไฟฟ้า 395 เมกะวัตต์
ในจำนวนนี้ยังไม่รวมการลงทุนในบริษัท ราชลาว บริการ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้น 100% เพื่อทำหน้าที่เดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 27 ปี
“นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้ว เรายังลงทุนอีกประมาณ 1,500 ล้านบาท ในการซื้อหุ้นในตลาดฯ สปป.ลาวเปิดตลาด หลักทรัพย์เมื่อวันที่ 11 เดือนหนึ่งปี 2011 ฤกษ์งามยามดี สิบเอ็ดหนึ่งสิบเอ็ด มีหุ้นอยู่สองตัว คือหุ้นธนาคารและหุ้นบริษัทผลิต ไฟฟ้า คือในลาวเขาจะมีเหมือนรัฐวิสาหกิจ เขาเรียกว่า Electricity de Lao (EDL) เป็นรัฐวิสาหกิจเขาก็ Privatization เอาบริษัทลูกเข้าตลาด โดยดึงเอาโรงไฟฟ้าที่สำคัญๆ บางโรง ประมาณ 400 กว่าเมกะ วัตต์ เข้ามากระจายหุ้นในตลาด โดยกระจายหุ้นประมาณ 25% เราเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี จึงใช้บริษัทลูกของเราเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 10% จาก 25% หรือเทียบเท่า กับ 40% ของการระดมทุนในตลาด การลงทุนตรงนี้ถือเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่น ว่า นอกจากการเข้ามาลงทุนและพัฒนาแล้วยังช่วยเสริมศักยภาพให้กับตลาดหลัก ทรัพย์ของ สปป.ลาว ซึ่งจะต้องเติบโตในอนาคต” นพพลสรุปภาพการลงทุนของราชบุรีฯ ในลาว
ในฐานะวิศวกรไฟฟ้า นอกจากการสร้างความมั่นใจด้วยการร่วมลงทุนในตลาดของประเทศที่ลงทุน จากประสบการณ์การบริหารงานด้านไฟฟ้าในเมืองไทยที่ผ่านมา เขายังร่วมแบ่งปันประสบการณ์ธุรกิจไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้บริหารประเทศและผู้บริหาร EDL ด้วย โดยเปรียบเทียบการเติบโตของ EDL ว่าจะเติบโตไม่ต่างจากการเติบโตของราชบุรีฯ เมื่อ 11 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะหากต้องพัฒนาประเทศ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานย่อมมีความต้อง การมากขึ้นสอดคล้องไปกับการเติบโต
ขณะที่ในแง่ของการลงทุน หากรัฐบาลของ สปป.ลาวหรือทาง EDL นำโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ถือหุ้นอย่างราชบุรีฯ ก็จะมีรายได้จากการลงทุนในรูปของเงินปันผลที่เติบโตตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย
นพพลกล่าวว่า รูปแบบการลงทุนของราชบุรีฯ ที่เป็นอยู่นี้ บริษัทไม่ได้หวังเพียงเงินปันผลหรือกำไรจากการขายโครง การในการเข้ามาลงทุน แต่สำนึกอยู่เสมอว่าราชบุรีฯ คือตัวแทนของ EGAT ตัวแทนของประเทศไทย ที่เข้ามาเพื่อลงทุนพร้อมกับเป็นโอเปอเรเตอร์ด้านพลังงานไฟฟ้าและเป็นจุดยืนเดียวกับการดำเนินงานในเมืองไทย ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีแผนการผลิตไฟฟ้าในแผนงานของปี 2554 เกือบ 6,000 เมกะวัตต์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน
นี่คือมุมมองด้านการลงทุนของนพพลที่มองการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมๆ กับการเติบโตของประเทศ สปป.ลาว ทั้งจากแนวทางการจัดการในเรื่องการพัฒนาโครงการ และการเข้าไปร่วมมือในการทำงานในเชิงธุรกิจในด้านการผลิตไฟฟ้า
แต่หากเป็นมุมมองในฐานะผู้ใช้ไฟ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ผลิต เขายืนยันว่า “ผมไม่เคยบอกเลยว่าให้ใช้ไฟอย่างสิ้นเปลือง”
แม้ว่าการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใน สปป. ลาว จะถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอระดับโลกอยู่บ้าง ในฐานะธุรกิจที่มีผลต่อการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติจากการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากร ธรรมชาติต่างๆ ในบริเวณที่ทำการก่อสร้าง แต่ด้วยนโยบายที่ชัดเจนของ สปป.ลาวที่ประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ทำให้โครงการส่วนใหญ่สามารถพัฒนาต่อไปอย่างราบรื่น อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า ดีมานด์ที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศไทยหรือในประเทศ สปป.ลาว ก็มีความต้องการใช้ ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่อาจจะหยุดยั้งได้
ขณะที่ในเมืองไทยทั้งการไฟฟ้าฝ่าย ผลิต (กฟผ.) และบริษัทผลิตไฟฟ้าแต่ละแห่งมักจะตกเป็นจำเลย ถูกต่อต้านและประท้วงทุกครั้งเมื่อมีการประกาศก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือประเภท ใดก็ตาม จนทำให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตรงตามแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่วางไว้ และยังคงต้อง หาแนวทางแก้ปัญหากันไม่สิ้นสุด
“การประท้วงโรงไฟฟ้าเป็นแฟชั่น เหมือนที่วันนี้เด็กวัยรุ่นแต่งตัวคล้ายเกาหลี ทำผม ทำหน้าตา มันเป็นเทรนด์แต่นั่นไม่กระทบใคร เพราะเป็นเรื่องความสวยงามส่วนบุคคล แต่ผมขอไม่พูดว่าการประท้วงโรงไฟฟ้าเป็นแฟชั่นแค่ไหน เพียงแค่ขอแนะ ให้ลองไปสังเกตเองว่ามีชื่อสักกี่ชื่อในการประท้วง” มุมมองของนพพลต่อกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเมืองไทย
ดูเหมือนว่าการถูกประท้วงไม่ใช่สิ่งที่เขากังวล เพราะโดยส่วนตัวเขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกคำถามเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าในฐานะวิศวกรเขาสามารถอธิบายได้ เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องพร้อมแสดงความจริงใจต่อกันด้วย
“ผมพร้อมที่จะช่วยให้ความรู้ ในแง่ของวิศวกรรม ผมเป็นวิศวกรแก้ได้ทุกอย่าง อยู่ที่ว่ามีเงินจ่ายแค่ไหน อยากได้ไฟที่มีประสิทธิภาพก็ต้องจ่ายแพง แต่วันนี้ค่าไฟบ้านเราถูกเกือบจะที่สุดในโลก 3.50 บาท You pay what you get, you cannot get what you did not pay. ไม่ต่างจากที่บ้านเราใช้โตโยต้าโคโรลล่ารุ่น 5 ปีเป็นแท็กซี่ แต่ในเยอรมนีใช้เมอร์เซเดสเป็นแท็กซี่เพราะรายได้เขาสูงเขาจ่ายได้ นั่นคือเหตุผลว่า เมื่อเขาปฏิเสธไม่ให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เขาสามารถทำได้เพราะประชาชน เขามีรายได้สูงพอที่จะจ่ายค่าไฟ ที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูงกว่า”
หากจะเปรียบโรงไฟฟ้าเป็นรถยนต์ที่เป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 ของคนยุคนี้ ก็อาจจะทำให้ภาพชัดขึ้นอีกระดับว่า หากเป็นไปได้ผู้ซื้อรถก็มักจะเลือกรถที่มีขนาดใหญ่และมีความปลอดภัยสูงสุด มีระบบความปลอดภัยครบครัน เช่น ระบบเบรกชั้นเยี่ยม ถุงลมนิรภัยรอบทิศ ขับแล้วชนก็รับประกันว่าไม่มีทางถึงตาย ดังนั้น ด้วยเงินลงทุนที่จำกัดและค่าไฟที่ประชาชนรับได้กับความจำเป็นเรื่องปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานสูงด้านการผลิต จึงเป็นปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ของประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยากขึ้นทุกวัน
“ไม่เข้าใจเรื่องไฟฟ้าถามผมได้เลย ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำพลังความร้อนถ่านหิน หรือแบบผสม ผมอธิบายได้ แล้วท่านอยากใช้ไฟราคาถูกไหม ที่บ้านเรา ถ้าอยากจะให้สร้างไหม ถ้าไม่ให้สร้าง ทำไมไม่ให้สร้างช่วยบอกได้ไหม ถามว่าทำไมต่อต้านหนัก ถ้าตอบว่ากลัว อย่างนั้นลองเทียบกับการขับรถ อุบัติเหตุจากการขับรถวันหนึ่งมีเท่าไร ตายเท่าไร ทำไมเรายังขับรถอยู่ ทั้งที่ขับไปชนเสียชีวิต เลย แต่เราต้องขับเพราะไม่มีทางเลือก แต่เมื่อต้องขับเราก็ขับด้วยความระมัดระวัง”
ดูเหมือนว่าสิ่งที่นพพลพยายามเปรียบเทียบ เพื่อโยงให้เห็นว่าการบริหารโรงไฟฟ้านั้นต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งทางแก้ในมุมมองของเขาก็ยังคงย้ำว่าต้องเริ่มต้นจากการรับฟังซึ่งกันและกัน
“ถ้าจะหยุดปัญหา ทุกคนต้องเปิดใจกว้างและรับฟังกัน แต่ที่ผ่านมาผมเคยเป็นกรรมการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชุดแรก ต้องทำประชาพิจารณ์ มีคนต่อต้าน ผมไม่ว่า แต่ขอให้เข้ามาฟัง ผมอยากอธิบาย แต่พอ เขาตั้งคำถาม เมื่อผมเริ่มอธิบายเขากลับลุกออกจากห้อง นี่เป็นภาพที่เกิดขึ้น ถามว่าให้เกียรติผมพอไหม แฟร์ต่อผมไหม”
ดังนั้น ทุกวันนี้สิ่งที่นพพลหวังว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าโรงไฟฟ้า ไม่ใช่ผู้ร้าย ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแนวทางไม่กี่ทางที่จะแสดงให้ทุกคนเข้าใจได้ คือการดำเนินงานผ่านการลงทุนของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ที่แสดงออกถึงภาพการลงทุนของบริษัทที่มีจุดยืนมั่นคงว่า เป็นทั้งผู้ลงทุนและเป็นผู้ดำเนิน งานด้วยตัวเองภายใต้แนวทางการบริหารงานอย่างยั่งยืน เพราะนั่นเท่ากับว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินงานอย่างฉาบ ฉวย หรือเข้ามาลงทุน เพื่อหวังผลกำไรแล้วขายกิจการ หากแต่ต้องอยู่รับผิดชอบดูแลและเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติบโตไปกับทุกสังคม
ในทางตรงกันข้ามเขาอยากให้ลองคิดกันดูด้วยว่า หากไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า แต่เศรษฐกิจ ประชากร และเมือง ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองให้เพียงพอเพื่อความเป็นอยู่ของคนในเมือง เราจะทำเช่นไร
“วันนี้ที่เรายังไม่ตระหนักว่าจะมีไฟฟ้าใช้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ทุกคนมีทางเลือกโดยไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง เมื่อไรที่กดสวิตช์แชะ มีไฟ เสียบปลั๊กปุ๊บอุ่นอาหารจากตู้เย็นได้ แต่วันใดที่ฝนตกไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล ไม่มีปั๊มไฟ แอร์พัดลมก็เปิดไม่ได้ หุงข้าวกับเตาถ่านก็ไม่เป็น ลองถามใจตัวเองว่า วันไหนที่ทรานสฟอร์มเมอร์ถูกฟ้าผ่า แล้วดับหน้าปากซอย แค่สองชั่วโมงก็เดือด ร้อนแทบตาย ลองนึกภาพว่าถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วดับเป็นเดือนคุณจะทำอย่างไร”
นพพลจำลองภาพให้ฟัง พร้อมกับกล่าวเตือนด้วยประโยคที่ยืนยันมาเสมอตลอดชีวิตการทำงานที่แม้จะอยู่ในบริษัทผู้ผลิตและทำกำไรจากไฟฟ้าว่า
“ผมไม่เคยบอกเลยว่าให้ใช้ไฟอย่างสิ้นเปลือง ผมบอกให้ประหยัดไฟ เพราะเป็นห่วงว่าจะไม่มีไฟฟ้าในอนาคต ไม่เคยส่งเสริมการขายให้รีบซื้อตู้เย็น รีบติดแอร์เพราะมีไฟเหลือเฟือ เพราะผมสงสารโลกสงสารพวกเราในอนาคต รุ่นผมอย่างไรเสีย ก็คงไม่เห็นอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในอนาคต แต่คนรุ่นหลังจะเป็นปัญหาที่จะหาแม้แต่คนสร้างก็ไม่ได้แล้ว”
|
|
|
|
|