Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กรกฎาคม 2554
พลังงานแสงอาทิตย์กู้โลก             
โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด

   
search resources

วันดี กุญชรยาคง
Electricity
โซล่า เพาเวอร์, บจก.




ผลกระทบจากสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากเพิ่มความตระหนกตกใจและเพิ่มกำแพงการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้น ยังส่งผลโดยตรงต่อแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เพราะกำลังการผลิตตามแผนที่วางไว้ในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่เกือบ 10% หรือ 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเดิมมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องเจอกับการต่อต้านของประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มกระแสการไม่ยอมรับมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว วาระเร่งด่วนจากนี้ไป ประเทศไทยจึงต้องเร่งหากำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทนในส่วนนี้กันใหม่

“ตอนนี้ความหวังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัฐบาลแพลนไว้จากทั้งหมด 5 โรง หลังเกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น รัฐก็ตกใจ ชะลอที่จะไม่ทำ ไฟฟ้าส่วนนี้ก็หาย การทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่าจะทำสำเร็จได้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ทั้งสร้างคนให้มีความรู้ สร้างมวลชนให้มีความเข้าใจแล้วขณะที่การก่อสร้างชะลอแต่การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตามไปด้วย คำถามก็คือว่า เราจะมีอะไรเข้ามาชดเชยในส่วนที่หายไป”

วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด กล่าวถึงอุปสรรคของการผลิตไฟฟ้าของไทยซึ่งอาจ จะไม่เป็นไปตามแผนการที่ กฟผ.วางไว้

แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 20 ปีจากนี้ (2553-2573) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีค่าพยากรณ์ตามตัวการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 52,890 MW โดยกำหนดไว้ว่าจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้า Cogenerator 44% จากโรงไฟฟ้าพลังงาน น้ำ 0.1% จากการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 22% จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 16% โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 9.3% และโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน 8.6%

ตัวเลขนี้ประมาณการจากความต้องการใช้ไฟต่อปีของประเทศ จากปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการใช้ปริมาณไฟฟ้าเพิ่มสูงถึง 10.2% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันประมาณ 30,000 MW ซึ่งแบ่งเป็นไฟฟ้าที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 36.5% รองมาเป็นภาคการขนส่ง 36.2% ครัวเรือน 15.0% ขณะที่ภาคธุรกิจการค้าและการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของ คนไทยนั้น มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเพียง 7.1% และ 5.2% ตามลำดับ

แต่ถ้าแบ่งสัดส่วนตามกลุ่มผู้ผลิต ปริมาณไฟฟ้า 30,000 MW ที่มีอยู่นี้มาจากการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 48% รองมาจากบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 40% เป็นการผลิตที่มาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 7% จากการนำเข้าจากต่างประเทศอีก 5% และเป็นเพียงไฟฟ้าที่มาจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ต่อโครงการ มีสัดส่วนต่ำมากเพียงไม่ถึง 1%

วันดีคาดว่า ผลจากปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทำให้สัดส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าตามแผนงาน 20 ปีข้างหน้าของ กฟผ.เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากกลุ่ม VSPP ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในรูปของพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนซึ่งมีอยู่ไม่ถึง 1% จะเพิ่มสัดส่วนขึ้น เป็นเกือบ 10% โดยจะเติบโตเข้าไปแทนที่ส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่คง จะเกิดขึ้นไม่ทันตามแผนงานนี้แน่นอน

“ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70% แต่เราเหลือก๊าซธรรมชาติให้ใช้อีกแค่ 28 ปี ส่วนพลังงานน้ำและถ่านหินไปไหนคนก็ไล่เพราะต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เราไม่สามารถสร้างเขื่อนใหญ่ได้ ก็หันไปซื้อจากเพื่อนบ้าน เยอะขึ้น ส่วนของนิวเคลียร์ก็คงจะเกิดไม่ทัน ก็เท่ากับแผนงานที่วางไว้หายไปอย่างน้อย 6,000 MW จึงเป็นไปได้ที่ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนก็มีโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้นเพื่อเข้ามาแทนที่ในส่วนนี้”

กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมาย ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนภายในปี 2565 ไว้ว่า จะมาจากไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 500 (32) MW พลังงานลม MW Hydro 324 (1) MW ไบโอแมส 3,700 (1,610) MW ไบโอแก๊ส 120 (46) MW ขยะ 160 (5) MW และไฮโดรเจน 3.5 (-) MW คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 5,608 (1,750) MW (ตัวเลขในวงเล็บคือกำลังการผลิตไฟฟ้าแต่ละชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งวันดีเชื่อว่าสัดส่วนที่เห็นอยู่นี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

เธอเล่าว่า หลังจากประกาศว่าจะมีพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมารัฐหนุนไปที่ไบโอแก๊สเป็นส่วนใหญ่ โดยให้เหตุผลว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรจำนวนมาก จึงควรสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าประเภทนี้

“แต่ตอนนี้สร้างที่ไหนประชาชนก็ไล่เหมือนกัน เพราะมีมลภาวะจากการเผา แกลบ เผาต้นไม้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นกัน ขณะเดียวกันรัฐกำหนดสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไว้แค่ 500 MW ก็เพราะยังไม่มีความเชื่อมั่น”

ดูเหมือนว่าทัศนคติของรัฐจะเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเห็นว่าประเทศมีศักยภาพ ความเข้มและปริมาณของแสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพไม่แพ้ในยุโรปที่สามารถนำมาผลิต ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์ถึงขั้นมีเป้าหมายว่า จะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ในเชิงพาณิชย์ เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดี ตรงที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง เพียงแต่การลงทุนต่างจากโรงไฟฟ้าชนิดอื่นที่จะต้องลงทุนสูงในครั้งแรก แต่ก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีก อีกทั้งการก่อสร้างก็ทำได้เร็ว

“สิ่งสำคัญที่สุดในโซล่าฟาร์มที่เห็น คือลงทุนครั้งเดียว ที่เหลือในชีวิต ไม่ต้องลงทุน ไม่มีเชื้อเพลิง แค่บำรุงรักษา คอยเช็ดถูแผงเซลล์แสงอาทิตย์ นอกนั้นมีระบบ ปฏิบัติงานตามแผน ดังนั้นอุปกรณ์ที่เลือกครั้งแรกจึงเป็นหัวใจของโครงการ ตั้งแต่แผงเซลล์ Inverter (ตัวแปลงไฟ) สองอย่างนี้เป็นการนำเข้า นอกจากนั้นเราใช้ของในประเทศหมดเลย ต้องเลือกแผงที่มีการใช้งานอยู่แล้วในธุรกิจเกิน 30 ปี เพื่อเราจะได้มั่นใจว่านำมาใช้แล้วจะอยู่กับเราเกินกว่า 30 ปี” ตามอายุโรงไฟฟ้า

วันดีเล่าถึงหัวใจของโซล่า ฟาร์ม พร้อมกับชี้แจงว่า ที่เลือกเรียก “โรงไฟฟ้า” ว่า “โซล่า ฟาร์ม” ก็เพราะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เรียงเต็มทุ่งมีสภาพเหมือนเป็นฟาร์มจริงๆ

ส่วนอีกเหตุผลที่สำคัญมากกว่าคือ เป็น Insight ของผู้บริโภคที่มักจะมีอาการต่อต้านก่อนจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร หาก ขึ้นป้ายว่า “สถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า” แต่คำว่า “ฟาร์ม” ให้ความรู้สึกเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง ทำให้การก่อสร้างราบรื่น จนแม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงก็เข้ามารับงานก่อสร้างกันเป็นจำนวนมาก

“ตอนติดตั้งใช้คนทำงานประมาณ 400 คน พอสร้างเสร็จตอนนี้เหลือคนทำงานในโรงไฟฟ้าแค่ 4 คนก็พอ”

จริงๆ แล้วโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หนึ่งแห่ง ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างจนเปิดดำเนินงานเพียง 5 เดือนเท่านั้น แต่สำหรับโซล่า ฟาร์ม (โคราช 1) ที่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าชมนี้ ใช้เวลาในการเตรียมการจนถึงเปิดดำเนินกิจการถึงปีครึ่ง เหตุผลก็เพราะเรื่องของความมั่นใจ เนื่อง จากที่นี่คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์แห่งแรกของไทย เมื่อต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูงโดยเฉลี่ยใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านบาทต่อโครงการ ดังนั้น กว่าจะได้เงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ก็ต้องใช้เวลาทำการศึกษาวิจัย พากันไปตระเวนดูงาน อีกทั้งหาผู้ร่วมทุนจากภาคส่วนต่างๆ กว่าจะได้เงินทุนมาดำเนินงานจึงใช้เวลามากเป็นพิเศษ

“การสร้างโซล่า ฟาร์มจะมีบริการ 3 ส่วนเรียกว่า EPC คือ Engineering, Procurement และ Construction เราต้อง มีทีมคนไทยล้วนที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ออกแบบโรงงานเล็กๆ ก่อนมาขยายเป็นโรงงานใหญ่ ดังนั้นตอนออกแบบก็ตื่นเต้น ตอนต่อสายไฟก็นอนไม่หลับ ต่อได้แล้วก็นอนไม่หลับอีก เพราะยังไม่รู้ว่าจะผลิตได้ตามที่วางแผนไว้หรือเปล่า พอผ่านไปสักสองสามเดือนจึงเริ่มมั่นใจมากขึ้น”

การดูแลงานในโซล่า ฟาร์ม ตื่นเช้า มาเจ้าหน้าที่จะตรวจดูแสงอาทิตย์ ดูลม ดูอากาศ ดูจอคอมพิวเตอร์ เพื่อดูหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ทั้งหมดที่ว่านี้ดูจากคอนโทรลรูมเพื่อคอยเช็กว่าการผลิตไฟมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุดตลอด เวลา ดูแลตัวแปลงไฟที่ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้า จากเซลล์แสงอาทิตย์ที่เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ไปเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เพื่อส่งเข้าสายจำหน่ายของการไฟฟ้า ภายในพื้นที่ 85 ไร่ของโซล่า ฟาร์ม โคราช 1 มีกำลังการผลิตจากแผงเซลล์ทั้งหมดรวม 6 MW

“รอบๆ เราแวดล้อมด้วยนาข้าวให้ความรู้สึกอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน การทำงานทั้งหมดอยู่ในคอนโทรลรูมพื้นที่ 100 ตารางเมตรเท่านั้น โดยจะมีเครื่องวัดแสงสองตัวสำหรับแนวราบกับแนวเอียง ติดตั้งไว้คอยเก็บข้อมูลความเข้มของแสงอาทิตย์ทุกวินาทีที่กระทบมายังพื้นดิน มีเครื่องวัดลม เครื่องวัดอากาศอุณหภูมิโดยรอบหรือที่เรียกว่า Ambience อุณหภูมิที่แผง ซึ่งการมอนิเตอร์นี้จะมีระบบควบคุมตลอด 365 วัน และมีส่วนสำคัญอีกส่วนคือ ศูนย์เรียนรู้บริเวณชั้นหนึ่งของอาคารรับรอง ซึ่งจัดเป็นนิทรรศการไว้ให้ความรู้แก่ผู้มาเยี่ยมชม เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์”

นอกจากโครงการโคราช 1 ในแผนงานทั้งหมด บริษัท โซล่า เพาเวอร์ มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น รวม 34 โครงการภายในปี 2013 (เปิดดำเนินงานแล้ว 3 โครงการ โคราช 1 สกลนคร และนครพนม) จะมีกำลังการผลิตทุกโครงการรวม 204 MW มูลค่าการลงทุนรวม 21,000 ล้านบาท ทั้งหมดได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารกสิกรไทย โดยบริษัทจะมีรายได้หลักมาจากการขายไฟให้กับ กฟผ.ในราคาหน่วยละ 8 บาท (ตามราคา Adder ดูล้อมกรอบ “Adder คืออะไร”) และรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากจำนวน 16 โครงการที่จะเปิดในปี 2011 ประมาณ 80,000 หน่วย และคาดว่าจะสามารถคืนทุนทั้งหมดได้ภายใน 10 ปีนับจากนี้

โครงการของโซล่า เพาเวอร์ ทั้ง 34 แห่ง กระจายอยู่ใน 9 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตโรงละ 6 MW ได้แก่ ที่จังหวัดเลย 2 แห่ง สกลนคร 2 แห่ง นครพนม 3 แห่ง ขอนแก่น 10 แห่ง สุรินทร์ 3 แห่ง นคร ราชสีมา 9 แห่ง บุรีรัมย์ 3 แห่ง หนองคายและอุดรธานี จังหวัดละ 1 แห่ง

นอกจากเหตุผลในการเลือกภาคอีสาน เพราะเป็นที่ราบสูง ความเข้มของแสงอาทิตย์ดี น้ำไม่ท่วม ทุกโครงการของโซล่า ฟาร์ม ยังยึดถนนเป็นระดับวัดและสร้างสูงกว่าถนนอีก 50 เซนติเมตร ตำแหน่งก่อสร้างเหล่านี้ชี้จุดหรือเสนอแนะโดย กฟผ. ซึ่งมีข้อมูลและเป็นการรับรองว่าจะทำให้ได้ประสิทธิภาพในการส่งขายไฟฟ้าได้สูงสุด

“ไม่ใช่ว่าเราอยากไปอยู่ตรงไหนก็ได้ ต้องไปตามพื้นที่ที่การไฟฟ้ากำหนดให้ว่าต้องมีโหลด โหลดคือผู้ใช้ คือเราจ่ายไฟก็ต้องมีการดึงโหลด เวลาเราขายหน่วยจะเข้าสาย กฟผ.ก็ไปบริหารเอง กฟผ.เลือกทำเลให้โดยดูจากการกระจายความเจริญของเมือง จากอำเภอไปตำบล โครงการแรกๆ เขาจับให้เราอยู่ในเมืองเพราะเขาก็ไม่อยากเสียต้นทุนเยอะ ให้เราไปตั้งไกลก็จะมีต้นทุนที่เสียไปตามสายส่งเพิ่มขึ้น”

ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซล่า ฟาร์ม นอกจากไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังช่วยผู้ซื้ออย่างการไฟฟ้าประหยัดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันลงด้วย เพราะไฟฟ้าที่นี่จะส่งเข้าไลน์สำหรับให้โหลดไปใช้ในช่วง Peak หรือช่วงกลางวัน ทำให้การไฟฟ้าฯ ลดการผลิตไฟฟ้าบางส่วนในช่วงเดียวกันลงได้

ก่อนที่โซล่า เพาเวอร์จะไปถึงจุดคุ้มทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า รายได้เฉพาะหน้าของบริษัทจากโซล่า ฟาร์มที่เปิดดำเนินงานแล้ว 3 แห่ง จะทำรายได้ราว 300 ล้านบาท รวมกับรายได้จากธุรกิจเหล็กอีก 300 ล้านบาท จากบริษัท สตีล อินเตอร์ เทค จำกัด (มหาชน) ซึ่งนำมารวมกันอยู่ภายใต้บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยส่วนของบริษัทสตีลฯ ทำหน้าที่ผลิตเหล็กโครงสร้างวัตถุดิบสำหรับการเป็นฐาน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

รอจนกว่าพลังงานแสงอาทิตย์เข้มข้นเต็มที่หลังปี 2556 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ โซล่า เพาเวอร์จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าปีละ 3,400 ล้านบาท ไม่รวมกับการขายคาร์บอน เครดิตซึ่งมีราคาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 8 ยูโรต่อหน่วยอีกส่วนหนึ่งด้วย

แบบนี้เห็นทีต้องบอกว่า พลังแสงอาทิตย์ที่หมุนเวียนขึ้นมาสร้างพลังงานไฟฟ้าให้พวกเราใช้กันทุกเช้า ไม่เพียงแต่จะช่วยเยียวยาโลกใบนี้ให้มีอายุยืนยาว หากแต่ยังช่วยสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบ เทียบกับธุรกิจผลิตเหล็กภายใต้บริษัทเดียวกันนี้ด้วย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us