|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เวลาผ่านไปแค่เพียงสิบปีเศษ ป่าโกงกางที่เคยเห็นต้นเล็กๆ ก็โตเรียงแถวกันแน่นในพื้นที่ป่าชายเลนของอ่าวคุ้งกระเบน และไม่มีความจำเป็นต้องปลูกป่าเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งเพิ่มอีก เพราะลูกไม้จากต้นไม้เดิมจะร่วงและเติบโตได้เอง มีก็แต่จะเหลือเกินให้เก็บไปเผาทำถ่านไม้โกงกางได้ใช้งานกันเสียอีก มิหนำซ้ำยังทำให้พื้นที่ปากอ่าวขนาด 650 ไร่ที่ทอดยาวต่อจากแนวป่าชายเลนไปจรดทะเล จากเดิมที่เคยมีแต่เลนตมไร้สัตว์หน้าดิน ก็ปรับตัวพัฒนามามีสภาพไม่ต่างจาก Seafood Market ขนาดใหญ่ มีดินเลนเป็นตู้แช่อาหารที่ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าหรือน้ำแข็งเพื่อรักษาความสดของอาหารให้สิ้นเปลือง ครัวไหนขาดแคลนก็สามารถเข้ามาจ่ายตลาดหาของสดไปทำกินกันได้ทันที
สิ่งที่ทำให้อ่าวคุ้งกระเบนเปลี่ยนเป็นทำเลทองของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งได้เช่นทุกวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน ในคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 พระองค์มีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มีสาระสำคัญดังนี้
“ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเลจังหวัดจันทบุรี” ได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นทุนริเริ่มดำเนินการ ก่อนจะทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมในอีก 2 วันถัดมา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานโดยสรุปว่า
“ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล”
เพียงไม่นานจากนั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศก็เริ่มต้นดำเนินงานนับแต่นั้นมา โดยโครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอท่าใหม่ ตำบลคลองขุด ได้แก่ หมู่บ้านเนินประดู่ หมู่บ้านหมูดุด หมู่บ้านจ้าวหลาว (หัวแหลม) หมู่บ้านคุ้งกระเบน หมู่บ้านคลองขุด (บน) หมู่บ้านคลองขุด และหมู่บ้านหนองหงส์ และกิ่งอำเภอนายายอาม ในเขตตำบลสนามไชย ได้แก่ หมู่บ้านหนองโพรง หมู่บ้านคลองบอน หมู่บ้านปากตะโปน หมู่บ้านสนามไชย หมู่บ้านสองพี่น้อง หมู่บ้านนาซา หมู่บ้านอัมพวา และหมู่บ้านท่าแคลง
เริ่มต้นจากพื้นที่จำกัดเพียงไม่กี่หมู่บ้านในช่วงต้น ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนมีพื้นที่ดำเนินการที่ขยายผลออกไปอีก ครอบคลุมพื้นที่เป็นจำนวนถึง 33 หมู่บ้าน ในเขตตำบลต่างๆ ของอำเภอท่าใหม่ และอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี รวมพื้นที่ประมาณ 71,025 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์กลาง พื้นที่รอบนอก และพื้นที่ขยายผล
พื้นที่ศูนย์กลางของโครงการได้แก่ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งหากดูในแผนที่จะมีลักษณะคล้ายรูปมือที่กำลังกำและมีนิ้วโป้งยื่นเป็นแหลมออกมา ส่วนนี้มีพื้นที่ประมาณ 4 พันไร่ กิจกรรมในพื้นที่ผสมผสานระหว่างป่าไม้กับประมง
พื้นที่รอบนอก ได้แก่ พื้นที่ตำบลคลองขุด ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามไชย ตำบลกระแจะ อำเภอนายายอาม บริเวณนี้มีทั้งเขตเกษตรกรรม และเขตหมู่บ้านประมงตลอดแนวชายฝั่ง มีพื้นที่ประมาณ 5.7 หมื่นไร่ เป็นส่วนของโครงการที่เน้นส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรแบบบูรณาการ
ส่วนพื้นที่ขยายผล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของโครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นในทุกๆ โครงการที่มีอยู่กว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ ได้แก่ พื้นที่ตำบลรำพัน ตำบลโขมง ตำบลเสม็ดโพธิ์ศรี อำเภอท่าใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ รวมประมาณ 1 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่ต่อเนื่อง ที่นำการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่ประสบ ความสำเร็จจากศูนย์ฯ มาขยายผล
ดังนั้นจากพระราชดำริเริ่มต้นเพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขต ที่ดินชายทะเล ปัจจุบันศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบนจึงเป็นศูนย์ที่ขยายผลไปสู่สห-วิทยาการหลากหลายอาชีพ ครอบคลุมทั้งอาชีพบนบกจรดอาชีพทางทะเล ทั้งที่เป็นการเก็บเกี่ยวผลและต่อยอดจากธรรมชาติ ไปสู่การพัฒนาเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ รวมทั้งสร้างรายได้จากระดับที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปจนถึงรายได้จากการส่งออกในระดับประเทศ
ใครที่มาเที่ยวชมผลผลิตจากพื้นที่ก็ไม่ต้องแปลกใจหากจะพบว่า นอกจากผลิตภัณฑ์จากทะเลที่คุ้งกระเบนยังมีทั้งผลผลิตประเภทผลไม้จากสวนอย่างทุเรียน เงาะ มังคุด กระท้อน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ชันโรง (ผึ้งตัวเล็กชนิดไม่มีเหล็กใน) ซึ่งได้จากการทำรังเลี้ยงไว้เก็บน้ำผึ้ง ทำสีผึ้ง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและยาชนิดต่างๆ ไปจน ถึงน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่เป็นผลผลิตจากสวนเกษตรออกมาจำหน่ายด้วยจำนวนมาก รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์บกอย่างแพะและกวางรูซ่า
อาชีพที่ทำชื่อเสียงให้กับคุ้งกระเบนจนขึ้นชื่อ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งมีผลผลิตจากอ่าวคุ้งกระเบนเป็นปริมาณมาก ที่สุดของประเทศ จนดึงดูดให้ผู้ประกอบการอาหารรายใหญ่อย่างซีพีเข้ามาดำเนินกิจการเพาะเลี้ยง กุ้งเป็นฟาร์มขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ในพื้นที่นี้ด้วย
“สามารถเพาะเลี้ยงหอยหวานในพื้นที่นี้ได้เช่นกัน สัตว์น้ำหลายชนิดได้รับการดูแลและพบว่าการดูแลทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนให้ฟื้นคืนกลับมาเป็นแหล่ง อาศัยของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดที่เคยหายไปเริ่มกลับมายังพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบนอีกครั้ง โดยเฉพาะพะยูนซึ่งหายไปตั้งแต่ปี 2533 ก็กลับมาให้เห็นอีกเพราะเมื่อสภาพแวดล้อมดีขึ้น หญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนเติบโตได้ ก็มีแหล่งอาหารให้พะยูนกลับมา” เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ซึ่งนำชมพื้นที่ป่าชายเลนให้ข้อมูล
สิบกว่าปีที่แล้วพื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ ยังเป็นเพียงป่าปลูกใหม่ ต้นโกงกางถูกปลูก ไว้กับพื้นทรายเรียงเป็นระเบียบ ตลอดทางเดินศึกษาธรรมชาติในยุคนั้นสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนระหว่างป่าเสื่อมโทรม ที่มีไม้ชายเลน ทั้งโกงกาง แสม ลำพู ขึ้นกันเกะกะ แต่ก็เสื่อมสภาพหักโค่นจนแสงส่องถึงพื้นได้เกือบทั่วพื้นที่ ยิ่งเมื่อผ่านโซน โกงกางเด็กรุ่นใหม่ ดูสภาพแล้วแทบไม่ต่างจากไม้ทนแดดไปเลย แต่โชคดีที่ส่วนใหญ่รอดและเติบโตมาได้
ปัจจุบันโกงกางที่ได้รับการปลูกขึ้นใหม่ พร้อมๆ กับการปลูกเพิ่มแซมในป่ารุ่นเก่า หนาทึบ ครึ้มสวย กว่าจะเห็นแสงสว่างจ้าเต็มตาไม่มีเงาไม้บัง ก็ต้องรอให้เดินพ้นไปถึงทางเดินบริเวณแนวชายป่าเสียก่อน
“ช่วงที่ไม้โกงกางยังต้นเล็ก ป่ายังไม่ทึบ ยุคนั้นจะมีปูก้ามดาบเต็มไปหมดเพราะปูก้ามดาบชอบที่โล่ง แต่พอสภาพป่าเปลี่ยน สัตว์น้ำก็เปลี่ยนไปด้วย ตอนนี้มีปูแสมเข้ามาแทนที่ กุ้งดีดก็มีอยู่มาก เช่น เดียวกับหอยชนิดต่างๆ ในบริเวณดินเลนที่เลยแนวป่าไป เพราะความสมบูรณ์ของป่า ทำให้สัตว์น้ำสมบูรณ์ จนพื้นที่ 650 ไร่ที่พ้นแนวชายป่าไปก่อนถึงทะเล เราอนุญาต ให้ชาวบ้านเข้ามาหาสัตว์น้ำได้ แต่ต้องใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำแบบใช้มือเท่านั้น ถือเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของคนจนที่ใครไม่มีเงินก็เข้ามาหาอาหารไปกินได้ไม่อด”
ตลอดการเดินในเส้นทางเดินศึกษา ธรรมชาติ จึงมีเสียงเหมือนใครดีดไม้เป๊าะแป๊ะของกุ้งดีดดังเป็นระยะตลอด หลายครั้งที่กวาดสายตาไปตามพื้นเลนก็มักจะได้สบตากับปูแสม ปูแบบเดียวกับที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยในจานส้มตำ ซึ่งประเทศ ไทยต้องนำเข้าจากพม่าเป็นจำนวนมากในตอนนี้ แต่ถ้าอยากเห็นหอยชนิดต่างๆ ก็ต้องอาศัยทักษะลงไปออกแรงขุดคุ้ยสักนิดจึงจะได้ยลโฉมกัน
นอกจากการดูแลสัตว์น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้ยังพัฒนางานวิจัยที่หลากหลายเพื่อช่วยพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรทุกสาขาอาชีพให้มีความรู้นำไปสร้างรายได้ ได้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบน ทำหน้าที่โดยรวมถึง 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง-เป็นศูนย์ศึกษาทดลองวิจัยและพัฒนา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลผลิตของประเทศ ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สอง-พัฒนาศักยภาพ การบริหารการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการและวิธีการผลิต ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตร ให้สมดุลระหว่างการผลิตกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต และการบริหารอย่างบูรณา-การเป็นระบบครบวงจร เพื่อสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้โดยยึดแนว ทางเศรษฐกิจพอเพียง สาม-ศึกษาและพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ลดผลกระทบทางด้าน สิ่งแวดล้อม โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มีการสร้างเครือข่ายการทำงาน ด้านสิ่งแวดล้อมทุกระดับ เพื่อการใช้ประ-โยชน์อย่างยั่งยืน สี่-ศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันแม้แต่ปลาการ์ตูนซึ่งไม่มีที่ไหนเพาะพันธุ์ได้ง่ายๆ แต่ที่ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบนก็ยังสามารถเพาะพันธุ์มาใส่ ตู้โชว์ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งเป็นทั้งแหล่งศึกษาพันธุ์ปลาและพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่อีกแห่งของ ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบนแห่งนี้ โดยเพิ่งทำพิธีเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมได้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่เริ่มนับหนึ่ง มาจากการฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล แล้วขยายผลต่อเนื่องมาไม่สิ้นสุดตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ศูนย์ ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบนเปิดดำเนินงานมา
หากย้อนลึกไปมากกว่านั้นก็ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า แนวทางการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่คน ธรรมชาติ และสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ก่อเกิดมูลค่า ทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดีเช่นนี้ มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานแนวทางผ่านพระราชดำริ ซึ่งทำให้พสกนิกรของพระองค์มีโอกาสเริ่มต้น นับหนึ่งก่อนจะพัฒนามาสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เช่นนี้แล้ว การขยายผลของศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบน เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นต้นแบบของการขยายผลของศูนย์ศึกษาฯ หรือศูนย์เรียนรู้สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่คิดจะพัฒนาศูนย์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ไม่ว่าด้านใดก็ตาม เพราะที่นี่ไม่เพียงแต่การขยายผลจากพื้นที่ศูนย์กลางสู่พื้นที่รอบนอกเท่านั้น แต่ยังเริ่มต้นขยายผลองค์ความรู้จากการพัฒนาฟื้นฟูชายฝั่งทะเลเพียงเรื่องเดียวไปสู่องค์ความรู้ที่หลากหลายเป็นแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บูรณาการความรู้และการพัฒนาอาชีพทั้งบนบกและทางทะเลที่ยากจะหาโครงการใดมาเทียบเคียงได้อย่างแท้จริง
|
|
|
|
|