เบื้องแรกโปรดพิจารณางบการเงินประจำปี 2528 ของบริษัทน้ำตาลวังขนาย โดยผู้ตรวจสอบบัญชี
จงจิตต์ หลีกภัย น้องสาวประธานสภาผู้แทนราษฎร (เพิ่งจะมาเป็นผู้ตรวจสอบปีแรกสำหรับบริษัทนี้)
งบกำไรขาดทุนสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2528 ระบุรายได้ทั้งหมดของบริษัทน้ำตาลวังขนายไว้อย่างชัดเจน
340 ล้านบาท (ดูงบการเงินประกอบ)
เผอิญธุรกิจน้ำตาลมีกรอบแน่นหนาพอประมาณ รายได้ภายใต้ระบบ 70/30 จึงพอจะประเมินความถูกต้องในระดับหนึ่ง
วิธีง่ายๆ คือเปรียบเทียบ
ปีการผลิต 2527/2528 อันมีผลโดยตรงต่องบการเงินปี 2528 มีตัวเลขพึงสังเกตอยู่จำนวนหนึ่ง
โรงงานน้ำตาลวังขนายรับอ้อยเข้าหีบประมาณ 703,480,320 ตัน ผลิตน้ำตาลชนิดต่างๆ
รวม 666,411 กระสอบ โดยได้รับการจัดสรรน้ำตาล โควตา ก.185,332 กระสอบ โควตา
ข.183,000 กระสอบ และโควตา ค.298,079
หากเปรีบเทียบข้อมูลทั้ง 2 ชุดก็พอเห็นภาพ
โรงงานน้ำตาลขอนแก่นรับอ้อยเข้าหีบปริมาณ 1,072,325 ตัน ผลิตน้ำตาลชนิดต่างๆ
จำนวน 1,266,362.40 กระสอบ และโรงงานน้ำตาลประจวบฯ มีอ้อยเข้าหีบจำนวน 664,454.76
ตัน ผลิตน้ำตาลชนิดต่างๆ 652.978 กระสอบ (ใกล้เคียงกับวังขนาย)
โรงงานน้ำตาลขอนแก่นมีรายได้ 735.5 ล้านบาท และโรงงานน้ำตาลประจวบฯ มีรายได้
413.4 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2528 ตามลำดับ
ว่าตามนี้ตัวเลขรายได้ของวังขนายก็ย่อมสมเหตุสมผล
ในรายได้ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว บริษัทน้ำตาลวังขนายมีรายได้จากการขาย 325
ล้านบาท (ตัดเศษออก) เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนขายประมาณณ 424 ล้านบาท ขาดทุนตรงนี้ทันทีประมาณ
100 ล้านบาท หรือเกือบๆ 30% ยิ่งบวกค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารอีก 244
ล้านบาทด้วยแล้ว นับว่าหนักหนาเอาการ
ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารนี้มีข้อโต้แย้งกันมาก ในคดีที่มีการฟ้องร้องกันในระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทนี้ฝ่ายผู้บริหารบริษัทหรืออารีย์
ชุ้นฟุ้ง พูดถึงรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตรงส่วนนี้ว่า เกิดจากการรวมเอาค่าเสื่อของเครื่องจักรอุปกรณ์และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไว้ด้วย
จากงบดุลนี้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าค่าเสื่อมเครื่องจักรและอุปกรณ์คิดไว้แล้วงบดุลส่วนสินทรัพย์อยู่ในส่วนของที่ดินอาคารและอุปกรณ์
ซึ่งหมายเหตุประกอบงบการเงินกล่าวว่าค่าเสื่อมสะสมมีมากถึงประมาณ 165 ล้านบาทและเฉพาะปี
2528 มากถึง 92.465 ล้านบาทในที่นี้ได้หักออกจากมูลค่าสินทรัพย์แล้ว
ส่วนขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีความเป็นไปได้จากการกู้เงินตราต่างประเทศซึ่งน่าเสียดายที่งบดุลไม่ได้แจ้งไว้
ตามธรรมเนียมของงบดุลทั่วไป
ตัวเลขที่น่าปวดหัวมากสำหรับผู้ถือหุ้นและผู้บริหารโรงงานน้ำตาลวังขนายก็คือดอกเบี้ยจ่ายมีมากถึง
273.8 ล้านบาท เปรียบเทียบกับหนี้สินทั้งหมด 22,756 ล้านบาทแล้ว ก็นับว่างบดุลนี้มีเหตุผลมากทีเดียว
ซึ่งในมุมกลับยอดหนี้จำนวนดังกล่าวซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายต่างกันเพียงประมาณ
50 ล้านบาทแล้ว นับเป็นธุรกิจที่ผลตอบแทนจะมาได้ต้องใช้เวลานานมากทีเดียว
ว่าตามทฤษฎีสภาพคล่องของบริษัทน้ำตาลวังขนายแย่มากๆ มีสินทรัพย์หมุนเวียนเพียง
684.5 ล้านบาท ในขณะที่หนี้สินหมุนเวียนมากถึง 2,346.3 ล้านบาท อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนต่ำมากเพียง
0.29 เท่านั้น บ่งแสดงว่าธุรกิจกำลังประสบความลำบากในการชำระหนี้ระยะสั้นมาก
หากจะวกเข้ามาในสภาพความเป็นจริงของธุรกิจแล้วโอกาสที่วังขนายจะมีกำไรก็คือขายน้ำตาลได้มากขึ้น
ในราคาสูงขึ้น โดยที่ต้นทุนอยู่ในระดับเดิม
หนึ่ง-การขายน้ำตาลมากขึ้นก็คือการได้อ้อยเข้าหีบในปริมาณมากขขึ้น ก็หมายความโยงใยไปถึงปริมาณการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นกว่านี้
ประเด็นนี้ค่อนข้างจะลำบาก การที่โรงงานน้ำตาลมีถึง 46 โรงนั้นเป็นเรื่องยากมากจะครองส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น
สอง-ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ ผู้รู้และคลุกคลีวงการน้ำตาลมานานปีไม่เชื่อว่าโอกาสนั้นจะมาโดยง่ายและยืนนาน
จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกล่าวว่าในฤดูการผลิตปี
2527/2528 มีจำนวนโรงงาน 45 โรงงาน กำลังการหีบอ้อยต่อวันเท่ากับ 275,309
ตัน หากโรงงานนี้ทำการทุกวัน (เว้นเสาร์-อาทิตย์) หรือ 250 วัน ประเทศไทยจะสามารถหีบอ้อยได้ถึงเกือบ
70 ล้านตัน/ปี แต่ทว่าในนั้นปริมาณอ้อยเข้าหีบมีเพียง 25.053 ล้านตันเท่านั้น
และเป็นปีที่ผลผลิตอ้อยสูงขึ้นที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉลี่ยแล้วทั่วประเทศโรงงานทำการผลิตเพียง
91 วันในหนึ่งปี
ช่างเป็นอุตสาหกรรมที่สูญเปล่าเสียนี่กระไร!!
และแล้วการผลิต 2528/2529 ได้มีโรงงานเพิ่มอีก 1 โรงงาน-- บริษัทน้ำตาลรัไฟน์ชัยมงคล
ซึ่งได้รับการจัดสรรการผลิตน้ำตาลชนิดต่างๆ ถึง 123,120 ตัน รวมทั้งประเทศและน้ำตาลทุกชนิดปริมาณการผลิตก็อยู่ในระดับเดิม
หากพิจารณาในสิทธิของโรงงานน้ำตาลแล้ว บริษัทน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล อันอยู่ในเครือน้ำตาลวังขนาย
ย่อมมีสิทธิกระทำได้อย่างชอบธรรม แต่ในที่นี้มีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น
หนึ่ง-ในแง่ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลวังขนายได้พิจารณาภาวะการอุตสาหกรรมน้ำตาลเช่นนี้อย่างไร
สอง-กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังคิดและทำอะไรกับอุตสาหกรรมน้ำตาลจึงปล่อยปละเช่นนี้
การแข่งขันทางธุรกิจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การแข่งขันของธุรกิจทุกธุรกิจต้องอยู่ภายใต้การดำรงอยู่ของธุรกิจเอง
ฐานะทางการเงินของบริษัทน้ำตาลวังขนายข้างต้นเป็นดัชนีแล้วถึงภาวะหนี้สินอันมากมาย
การขยายการลงทุนที่รีไฟน์ชัยมงคลจึงเป็นปริศนาพอประมาณ ซึ่งทราบกันว่าโรงงานแห่งนี้ใช้เครื่องจากญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด
ทันสมัยที่สุดในเอเชีย และมีกำลังมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ความผิดพลาดในจุดนี้ต้องรีบทบทวน และพิจารณาโดยด่วน
อย่ามัวชักเย่อเรื่องจะให้ใบอนุญาตหรือไม่กันเลย!!