Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กรกฎาคม 2554
CSR ข้ามชาติ เมื่อธุรกิจไทยร่วมสร้างต้นแบบการศึกษาที่ สปป.ลาว             
โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง, บมจ.
Education
Laos
Electricity
นพพล มิลินทางกูร




เป็นข้อบังคับและความเต็มใจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วที่จะต้องเฟ้นหากิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่คิดว่าจะเป็นกระบวนการเพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบของบริษัทที่มีต่อสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง

การทำซีเอสอาร์มีด้วยกันหลายแบบ ทั้งแบบไม่จำกัดแบบ แบบที่ต้องสอดคล้องไปทางเดียวกันกับธุรกิจ แบบทำเอาหน้า หรือแบบ ที่ทำอะไรก็ได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือ ชุมชนที่บริษัทเข้าไปดำเนินงานอยู่อย่างแท้จริง และแบบหลังนี่แหละถือว่ายากที่สุดแล้ว

ดังนั้น จึงไม่แปลกหากเราเจอบริษัทที่เดี๋ยวทำนั่นเดี๋ยวทำนี่ โดยไม่มีการปักธงที่แน่นอนว่า ถ้าพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องนึก ถึงบริษัทนี้เท่านั้น รูปแบบนี้ก็คือแนวทางการทำซีเอสอาร์ของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเลือกทำโครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่เป้าหมายมากกว่าเลือกยึดอยู่กับรูปแบบโครงการที่บริษัทเริ่มทำไปแล้ว

4 ปีก่อนหน้านี้ ราชบุรีฯ เลือกทำโครงการคนรักป่า ป่ารักชุมชน เป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัท เมื่อได้รับผลสำเร็จจึงดำเนินงานต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 ในปีนี้

“ถ้าใครติดตามข่าว เป็นความภูมิใจ เล็กๆ ที่บริษัทเราทำให้เกิดการรวมตัวของ ชุมชน เกิดความหวงแหนรักษาป่า และทำให้จำนวนป่าชุมชน 4-5 พันแห่งได้รับการดูแลและมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และขยายผลจนมีจำนวนป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เกือบ 9 พันแห่งในวันนี้ จนเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้กับเราเจอหน้าเหมือนเป็นญาติ สนิทสนมกลมเกลียว นี่เป็นกิจกรรมที่เราทำเงียบๆ ต่อเนื่องมาตลอดช่วงที่ผ่านมา” นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าว

แน่นอนว่าสิ่งที่บริษัทจะได้รับแน่ๆ อย่างน้อยก็เป็นที่รู้จักของทุกชุมชน ซึ่งจะมีชื่อของราชบุรีฯ ปรากฏอยู่ แต่แม้ว่าโครงการคนรักป่าฯ จะได้ผลเพียงใด ก็ไม่ใช่ แนวทางที่บริษัทจะต้องยึดเป็นหลักตายตัว ที่จะนำมาใช้เป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ในทุกๆ ที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ เพราะวิธีคิดกิจกรรม ซีเอสอาร์แบบราชบุรีจะยึดตามความต้อง การของสังคมนั้นๆ เป็นที่ตั้ง

การเลือกทำโครงการคนรักป่าฯ นอกจากปัจจัยสภาพป่าในเมืองไทยเสื่อม โทรมไปมาก ยังมีมิติทางสังคมที่ราชบุรีเชื่อว่า กลไกนี้จะเข้าไปช่วยพัฒนาในมิติอื่น เพราะแม้ว่าการศึกษาและสังคมไทยดูเหมือนจะพัฒนาไปมาก แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่าในสังคมมีทั้งกลุ่มผู้มีรายได้ดี ส่วนใหญ่อาศัยในเมืองกับกลุ่มคนในต่างจังหวัดพ่อแก่แม่เฒ่า ซึ่งเป็นภาพสะท้อน ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของชนชั้นในสังคมไทย คนที่อยู่กับป่าในพื้นที่ชนบทเหล่านี้มีคุณค่าต่อสังคมในฐานะผู้ดูแลและปกป้องทรัพยากร ซึ่งคนในอีกสังคมหนึ่งไม่ควรมองข้าม การเข้าไปส่งเสริมและทำกิจกรรมกับชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และทำให้ชุมชนได้แสดงออกถึงภูมิปัญญาอีกมากมาย แล้วบริษัทก็สามารถนำความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยนกันนี้ไปต่อยอดกับ Stakeholder ในกลุ่มอื่นๆ ได้อีก

“เมื่อจะมาทำซีเอสอาร์ใน สปป.ลาว เราคงไม่พูดถึงป่า เพราะเขายังมีป่าอุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่เขาต้องการที่เราสามารถมองเห็นได้ คือเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐาน บวกกับความช่วยเหลือจากบริษัทไทยซึ่งจะเข้าไปผูกใจและไปสร้าง ต้นกล้าในใจพวกเขา ให้เกิดความรู้สึกบวก กับประเทศไทย แม้จะเป็นการเริ่มต้นเพียง เล็กน้อย แต่เราในฐานะบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ถ้าทำให้เขาตระหนักว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตคือมิตรของเขาอีกคนหนึ่ง ท้ายที่สุดเขาก็จะเข้าใจด้วยว่าราชบุรี โฮลดิ้ง หรือราชลาวก็เป็นเสมือนพี่เหมือนน้องที่อุ้มชูซึ่งกันและกันด้วย” นพพลกล่าว ถึงทัศนะในรูปแบบการทำซีเอสอาร์ที่เขานำมาใช้ใน สปป.ลาว

กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว เรียกโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “โครงการการศึกษาสำหรับเสริมสร้างความชำนาญเพื่อดำเนินอาชีพ” (Education of Career Empowerment)

แสงสมพอน วีระวุธ หัวหน้าทีมทีมแผนการและการร่วมมือ กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว (Mr.Sengsomphone VIRAVOUTH Director General Department of Planning and Cooperation) กล่าวในฐานะตัวแทนของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว รศ.ดร.พันคำ วิพาวัน (Dr.Phankham Viphavan) ว่า การร่วมมือครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งเห็นว่า สปป.ลาวต้องการพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ จึงต้อง การเร่งสร้างคนที่จบมาให้มีความรู้ความสามารถ มีวิชาชีพ และมีความชำนาญเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งในส่วนสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศให้พ้นจากความยากจนและมีชีวิตที่ดีขึ้น

ที่ผ่านมา สปป.ลาวในฐานะประเทศกำลังพัฒนาก็ได้รับความช่วยเหลือ สนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรระหว่าง ประเทศในหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านการศึกษา แต่ที่ผ่านมาทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนา นักวิชาชีพเฉพาะ มักจะส่งนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกไปเรียนหรือฝึกงานยังต่างประเทศ เนื่องจากใน สปป.ลาวยังขาดสถาบันและสถานที่ฝึกงานที่สามารถใช้เป็นห้องซ้อมปฏิบัติการจริงก่อนเข้าสู่การทำงานหลังจบการศึกษาน้อยมาก

แต่โครงนี้จะเป็นครั้งแรกที่ให้ทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาในประเทศ และส่วนหนึ่งอาจจะมีการทัศนศึกษาดูงาน ฝึกงาน ณ โรงไฟฟ้าของราชบุรีฯ ในเมืองไทยด้วย

หัวหน้าทีม ทีมแผนการและการร่วมมือฯ กล่าวเฉพาะบริษัทราชบุรีผลิต ไฟฟ้าโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการให้ การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาลาว ในครั้งนี้ว่า บริษัทราชบุรีเป็นบริษัทที่ดำเนิน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในไทยและใน สปป.ลาว ซึ่งได้แสดงบทบาทในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาด้านการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านวิชาชีพ รวมทั้งช่วยยกระดับด้านวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานด้วยการเพิ่มโอกาสทางด้านการศึกษาให้กับนักศึกษาและพนักงานจากทุนการศึกษาครั้งนี้

“ถือว่าการสนับสนุนครั้งนี้สอด คล้องแผนงานพัฒนาการศึกษาในระยะ 5 ปี (2011-2015) ของกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาวถือเป็นการพัฒนาต้นแบบที่มีความหมายและความสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาการศึกษา เมื่อจบโครงการหาก ประเมินแล้วว่าเป็นโครงการที่ได้ผลดี เราก็อาจจะนำแนวทางนี้ไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาการศึกษาลาวในภายหน้า”

แม้ว่าโครงการเพิ่งเริ่มต้น แต่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาวก็มีความมั่นใจถึงขั้นกล้าเอ่ยปากแล้วว่า

“ภายใต้การประสานสิบทิศ (ความร่วมมือจากหลายฝ่าย) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและบริษัทราชบุรีฯ ในการจัดตั้งโครงการการศึกษาสำหรับการเสริมสร้างความชำนาญเพื่อดำเนินอาชีพครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ที่สุดให้แก่การพัฒนาฝีมือแรงงานด้านวิชาชีพและยกระดับด้านวิชาการเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานใน สปป.ลาวได้จริงตามเป้าหมาย”

สำหรับรายละเอียดของการสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ บริษัทราชบุรีฯจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ บุคลากร วิชาการ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนิน โครงการผ่านกระทรวงศึกษาธิการ สปป. ลาว โดยจะมอบทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง จำนวน 5 ทุน ทุนละ 98,000 บาทต่อปีแก่นักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเป็นเวลา 5 ปี และทุนฝึกอบรมเพื่อยกระดับ ความรู้ด้านวิชาการและทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 120 ทุน เป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นงบประมาณที่จัดสรรไว้เพื่อดำเนินโครงการนี้จำนวน 20 ล้านบาท หรือประมาณ 5,000 ล้านกีบ (ตี้บ=พันล้าน)

กระบวนการคัดเลือกนักศึกษาที่จะรับทุน ทางกระทรวงศึกษาธิการ สปป. ลาวจะคัดรายชื่อมาก่อนในเบื้องต้น จากนั้นจะมีคณะกรรมร่วมระหว่างกระทรวงฯกับทางราชบุรีฯ ร่วมกันพิจารณาเพื่อคัดเลือกและกำหนดโครงสร้างการบริหารโครงการ สรุปจะมีคณะกรรมการ 2 ชุดคือ คณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งคณะกรรมการ ทั้ง 2 ชุดจะรับผิดชอบและดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

“เมื่อจบโครงการ สปป.ลาวจะมีนักศึกษาที่จบหลักสูตรจากโครงการนี้จำนวน 625 คน หรือ 125 คนต่อปี ที่มีความพร้อมด้านทักษะความชำนาญเข้าสู่ตลาดแรงงาน เขาอาจจะมาทำงานกับราชบุรีหรือไม่ทำก็ได้ เราไม่ได้บังคับ แต่ผมเชื่อในหลักการอยู่ว่า คนเราอยู่ร่วมกัน ถ้ามีความจริงใจ ไม่ต้องหวังอะไร แล้วผลจะเกิดขึ้นเองในอนาคต” นพพลกล่าว

ผู้บริหารของราชบุรีฯ รายหนึ่งเล่าว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่คิดจะทำแล้วเอาเงิน ไปให้ก็จบ เพราะแนว ทางการทำซีเอสอาร์ของราชบุรีฯ จะต้องคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของแต่ละสังคมเป็นหลัก ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลว่า แม้บริษัทจะทำซีเอสอาร์มาไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยเป็นบริษัทที่มีรายชื่อติด 1 ใน 10 ของบริษัทที่ทำซีเอสอาร์ของประเทศไทยด้วยซ้ำ

กว่าจะสรุปออกมาเป็นโครงการนี้ คุณนพพล ผม และทีมงาน อีกหลายคน ต้องเข้าพบท่านทูตลาวประจำประเทศไทย ท่านทูตไทยใน สปป.ลาว เข้าพบทางกระทรวงฯ เพื่อสอบถามความต้องการที่ แท้จริงว่า เราควรจะเลือกดำเนินกิจกรรมอะไร หรือรูปแบบไหนที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศเขาที่สุด” จตุพร โสภารักษ์ ผู้อำนวยการ บริษัทราช-ลาว บริการ จำกัด บริษัทในเครือราชบุรีที่ตั้งขึ้น เพื่อดูแลและดำเนินกิจการใน สปป.ลาวเล่าถึงเบื้องหลัง ก่อนหน้านั้นซึ่งต้องใช้เวลา เป็นปีกว่าจะสรุป เป็นโครงการความร่วมมือข้ามชาติครั้งนี้ออกมาได้

เขากล่าวด้วยว่า ตามกฎหมายสปป.ลาว ในแต่ละโครงการที่เปิดดำเนินงานจะต้องมีสัดส่วนของคนทำงานที่เป็นคนท้องถิ่นจำนวน 80% และอนุญาตให้อีก 20% ที่เหลือเป็นคนต่างชาติได้ ซึ่งโครงการของราชบุรี ตอนนี้ก็มีแรงงานต่างชาติกับแรงงานท้องถิ่นอยู่ในสัดส่วนครึ่งๆ เพราะยังอยู่ในช่วงผ่อนปรน แต่ราชลาวฯ ก็ตั้งความหวังว่า จากการสนับสนุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรมจะช่วยพัฒนาคนท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานกับบริษัทได้มากขึ้น

“ราชบุรีฯลงทุนในลาวมาร่วม 2 ปี วันนี้เราประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักของผู้นำระดับสูง ข้าราชการ ประชาชน รวมทั้งกลุ่มสมาคมต่างๆ เราก็ตระหนักดีว่าใน แง่ของการฝึกอบรมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเราประสบความสำเร็จในอนาคต ก่อนจะทำโครงการที่นี่ เราก็นึกถึงขบวนการโมเดลบางอย่างที่เราเคยทำในประเทศไทย เราเคยฝึกอบรมคนในชุมชนที่จังหวัดราชบุรี สร้างงาน จ้างงาน จนสามารถจ้างคนท้องถิ่นมาเดินเครื่องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าได้ที่ สปป.ลาว เราก็อยากให้คนท้องถิ่นมาร่วมงานกับเรา เราก็เลยคิดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของทาง สปป.ลาวตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ด้วย” นพพลกล่าว

ก่อนจะให้ทุนผ่านกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาวในครั้งนี้ ราชบุรีฯ เคยให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาจาก สปป.ลาวอยู่แล้วในระดับปริญญาโท เป็นทุนที่ส่งนักศึกษาไปเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาของไทย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ แต่มีอุปสรรคกับนักศึกษาอยู่บ้างแม้ภาษาไทยกับลาวจะคล้ายกันแต่การให้มาอ่านมาเขียนก็เป็นอุปสรรคอยู่

“การให้ทุนครั้งนี้กับที่เคยทำมาจะไม่เหมือนกัน เปลี่ยนมิติใหม่ เพราะครั้งนี้เราจะสร้างคนระดับวิชาชีพช่าง ที่พร้อมจะมาช่วยเดินเครื่องและบำรุงรักษา คนที่ได้ทุน ไม่ว่าเขาจะมาทำงานกับเราหรือไม่ แต่เขาจะมีอาชีพติดตัวเขาไป เพราะสำหรับ ราชบุรีฯ วัตถุประสงค์ที่เราทำโครงการนี้เพื่อทำให้เขามั่นใจและแสดงให้เห็นว่าบริษัทราชบุรีฯ และราชลาวฯ จะอยู่เคียงคู่กับเขาไปอีกนาน เราไม่ใช่แค่นักลงทุนแต่เราเป็นทั้งนักลงทุนและโอเปอเรเตอร์ที่จะอยู่กับเขาไปตลอดอายุของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง”

บทสรุปของซีเอสอาร์ข้ามชาติเรื่องนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจไทยและการศึกษาของ สปป.ลาวให้พัฒนา ไปได้ไกลเพียงไร ยังต้องรอดูผลอีก 5 ปีต่อจากนี้ แต่สิ่งที่ราชบุรีฯ คาดหวังในเบื้องต้นก็คือ ซีเอสอาร์ที่ทำด้วยความตั้งใจจริงและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสนับสนุนที่ทำให้ประเทศไทยและสปป.ลาวทำงานร่วมกันอย่างพี่และน้องได้อย่างมั่นยืน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us