|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจกลุ่มบี.กริมมีหลากหลาย นับจากนี้ไปองค์กรแห่งนี้จะโดดเด่นในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้า SPP อันดับ 2 ของประเทศไทย ที่ใช้งบลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้จากผลผลิตครั้งนี้ร่วม 3 หมื่นล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า
ในอดีตรายได้ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ธุรกิจคมนาคม สุขภาพ เครื่องปรับอากาศ แต่กลุ่มพลังงานจะกลายเป็นดาวรุ่ง เพราะเชื่อมั่นว่าจะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรนับจากนี้ไป
แนวคิดการหันมาพึ่งพาตนเองของกลุ่มบี.กริม เริ่มขึ้นหลังจากองค์กรประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ.2540 “วิกฤติ ต้มยำกุ้ง” รัฐบาลประกาศค่าเงินบาทลอยตัวทำให้องค์กรในขณะนั้นอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพราะไม่สามารถประเมินได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหนักหนาเพียงใด
กลุ่มบี.กริมดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 133 ปี หลายครั้งพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้ผู้บริหาร ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานต้องทบทวนวิสัยทัศน์และทิศทางขององค์กรอีกครั้ง
จุดเริ่มต้นของธุรกิจเริ่มจากการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง พอย่างเข้าสู่รุ่นสอง เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ และเกฮาร์ด ลิงค์ ลุงและพ่อของเขา เริ่มมองหาพันธมิตรเพื่อร่วมทุน เช่น ร่วมทุนกับเครื่องปรับอากาศ หรือร่วมทุนกับกลุ่มซีเมนส์จากเยอรมนี จำหน่ายอุปกรณ์รถไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม
เมื่อเข้าสู่ยุคฮาราลด์ ลิงค์ เขาบอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ ถึงแนวคิดว่า เป็นยุคที่ต้องพึ่งพาตนเองและลดพึ่งพิงต่างชาติ
กลุ่มบี.กริมเริ่มเข้าสู่ธุรกิจพลังงานอย่างจริงจังเมื่อปี 2538 ด้วยคำชักชวนของวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะ
วิกรมมีเป้าหมายสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะ 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยมีแผนสร้างโรงงานไฟฟ้าป้อนให้กับบริษัท เพื่อสร้างจุดขายให้กับบริษัทที่เข้ามาตั้งอยู่ในอุตสาหกรรม
ในครั้งนั้น กลุ่มบี.กริมมองว่าผู้ให้บริการไฟฟ้าในขณะนั้นมีไม่มากนัก มีเพียงบ้านปูและกลุ่มโคโคเป็นกลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทสนใจเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) มีกำลังการผลิต 120-150 MW โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
บริษัทจึงรับคำเชิญชวนของวิกรมและก่อตั้งบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด พร้อมกับแต่งตั้งปรียนาถ สุนทรวาทะ เป็นประธาน เธอเล่าให้ ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า ในตอนแรกกลุ่มเอนรอน (Enron) สนใจและศึกษาเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ไม่ทำ บี.กริม จึงเข้ามาแทนและก่อตั้งบริษัท มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ กลุ่มบี.กริม ร้อยละ 50 กลุ่มซีพี ร้อยละ 30 และวิกรม กรมดิษฐ์ ร้อยละ 20
ภายหลังกลุ่มซีพีถอนตัวออกไป เพราะมีเป้าหมายทุ่มเทให้กับอุตสาหกรรมด้านอาหาร
แต่บี.กริมไม่ถอย พร้อมเดินหน้าต่อ เริ่มเดินทางเจรจากับพันธมิตร จนกระทั่งได้เงินกู้จากแบงก์เยอรมนีและธนาคารกรุงเทพ ทำสัญญาเอ็มโอยูกับบริษัทซีเมนส์ เพื่อผลิตและติดตั้งอุปกรณ์
ส่วนพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมถือหุ้น คือบริษัท Eon ยักษ์ใหญ่ ด้านพลังงานในยุโรป เป็นไพรเวท ยูทิลิตี้ ใหญ่ที่สุดในยุโรป ส่วนวิกรมลดหุ้นเหลือร้อยละ 13 หุ้นที่เหลือถือระหว่างบี.กริมกับ Eon
ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะไปด้วยดี ทว่า Eon หนึ่งในผู้ถือหุ้น หลักตัดสินใจขายหุ้น เพราะมีนโยบายถอนธุรกิจออกจากเอเชีย
บี.กริมต้องเริ่มนับใหม่อีกครั้งมองหาพันธมิตรใหม่ จนกระทั่ง สามารถเจรจาได้กลุ่มสุมิโตโม ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมทุน ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 56 สุมิโตโม ร้อยละ 30 และวิกรม ร้อยละ 13.88
โรงงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ของบี.กริม ผุดขึ้น 4 แห่งใน ช่วงแรก โรงงาน 3 แห่งอยู่ในประเทศไทย อีก 1 โรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Bien Hoa ใกล้กับโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม บี.กริม ใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาทในการลงทุนครั้งแรก
โรงงานแห่งแรกในอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี บริษัทมีกำไรจากธุรกิจ 800 ล้านบาท ทำให้บี.กริมเชื่อมั่นขึ้นไปอีกว่าธุรกิจพลังงานจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
จากนั้นบริษัทมีแผนสร้างโรงงานเพิ่มอีก 4 แห่ง ชลบุรี 1 แห่ง อุตสาหกรรมบางกระดี่ ปทุมธานี 1 แห่ง และระยองอีก 2 แห่ง
ธุรกิจเริ่มไม่ราบรื่น เมื่อโรงงาน 2 แห่งในจังหวัดระยองไม่สามารถสร้างต่อและดำเนินการได้ เนื่องจากเข้าไปติดอยู่ในโครงการมาบตาพุด จำนวน 76 โครงการ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ศาลปกครองสั่งระงับโครงการทั้งหมดเมื่อปลายปี 2552
ในที่สุด บี.กริมก็รอดพ้นจากข้อกล่าวหา หลังจากพิจารณา ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่โครงการที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกิน 3,000 MW จึงจะเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม
ผลกระทบดังกล่าวทำให้บี.กริมต้องผลิตไฟฟ้าช้ากว่ากำหนด ออกไปเกือบ 2 ปี จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทได้เซ็นสัญญากู้เงินจำนวน 7,900 ล้านบาท ให้กับบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 และบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง เพื่อก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โดยมีธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยปล่อยกู้ร่วมกัน
ทั้ง 2 โครงการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 245 MW มีเป้าหมายจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 MW ต่อโครงการ มีระยะเวลาซื้อขาย 25 ปี ส่วนไฟฟ้าที่เหลือผลิตให้กับบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม
โครงการผลิตไฟฟ้า บริษัท อมตะ บี.กริม เพวเวอร์ (ระยอง) 2 จะเริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ส่วนโรงไฟฟ้า บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 จะเริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
บี.กริมเริ่มเดินหน้าสร้างและผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบี.กริมมีโครงการใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจทั้งหมด จำนวน 13 โครงการโดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกมีจำนวน 4 โครงการ คือ ชลบุรี 1 แห่ง บางกระดี่ ปทุมธานี 1 แห่ง และระยอง 2 แห่ง เฟส 2 จำนวน 9 โครงการ บางกระดี่ ปทุมธานี 1 แห่ง ราชบุรี 2 แห่ง ระยอง 4 แห่ง ชลบุรี 2 แห่ง
แผนการดำเนินงานเริ่มก่อสร้างโรงงานนับตั้งแต่ปัจจุบัน โรงงานสุดท้ายจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พ.ศ.2562 จากนี้ไปอีก 18 ปี
โครงการใหม่ที่ผุดขึ้นมาทั้งหมดจะใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท หรือลงทุนโรงงานละ 5,500 ล้านบาท จึงทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากบริษัท GULF POWER GENERATION จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับหนึ่งในปัจจุบัน
จำนวนโรงไฟฟ้าที่เตรียมกำลังก่อสร้างของบี.กริม ทำให้ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู รองผู้จัด การใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ถึงกับเอ่ยปากภายในงานเซ็นสัญญากู้เงินของบี.กริม 7,900 บาท เมื่อต้นเดือนมิถุนายนว่า อยากจะเปิดแอลซีให้บี.กริมเสียตั้งแต่วันนี้
วิสัยทัศน์ของฮาราลด์ ลิงค์ที่มีต่อธุรกิจพลังงาน ยิ่งทำให้เขาดูมั่นใจขึ้นไปอีก เมื่อเขาชี้ให้เห็นรายได้ในอีก 4 ปี ข้างหน้าของบริษัท จะมาจากพลังงานถึง 3 หมื่นล้านบาท จากรายได้กลุ่มทั้งหมดราว 4 หมื่นล้าน
ดาวรุ่งดวงใหม่กำลังฉายแสงให้กลุ่มบี.กริม อายุ 133 ปี แจ่มจรัสยิ่งขึ้นไปอีก
|
|
|
|
|