|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ชื่อของวิชา พูลวรลักษณ์ ได้รับการยอมรับและกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็น lifestyle trendsetter คนสำคัญของเมืองไทย ภายใต้อาณาจักรธุรกิจเครือเมเจอร์ของเขา ไม่แปลกเลยที่เขาจะเป็นผู้นำเข้านวัตกรรมใหม่ล่าสุดว่าด้วยโรงภาพยนตร์แบบ 4 มิติหรือ 4D Plex มานำเสนอต่อสายตาผู้ชม
หากแต่วันนี้บริบทการขับเคลื่อนของเขาดูจะไม่ได้ผูกพัน อยู่เฉพาะมิติว่าด้วยโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะเขากำลังสร้างโอกาสจาก “พื้นที่” ให้เกิดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เป็นผู้ประกอบการและลูกค้า ที่เป็นกลไกในการหล่อเลี้ยงให้องคาพยพทางธุรกิจเกิดการขับเคลื่อน
“หลักคิดของเมเจอร์ไม่มีอะไรมาก เราเขียนคำว่า Entertain ตัวโตๆ จากนั้นก็พัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้แวดล้อม อยู่กับคำคำนี้” วิชาในฐานะประธานกรรมการบริหารเครือเมเจอร์ ขยายความเป็นไปของทั้งตัวเขาและเครือเมเจอร์ด้วยประโยคง่ายๆ ตามแบบฉบับ ที่คุ้นเคย
แนวคิดของวิชา ที่ดูเหมือนง่ายๆ นี้ หากในความเป็นจริงต้องอาศัยการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างหนักหน่วง ควบคู่กับการเจรจา กับผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าหลากหลาย ก่อนที่จะผนวกและผนึกกำลังกลายเป็นเครื่องจักรกลในการสร้างรายได้ที่ทรงพลัง
ท่วงทำนองและจังหวะก้าวของวิชาเด่นชัดมากในการแสวง หาจุดยืนทางธุรกิจโดยเฉพาะมิติว่าด้วยการเป็น Total Enter-tainment Lifestyle Business ซึ่งทำให้เขามีสถานะที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทำให้เขากลายเป็นผู้ประกอบการที่เกือบจะเรียกได้ว่าปราศจากคู่แข่งขันที่ชัดเจน
นั่นไม่ได้หมายความว่า วิชาจะหยุดหรือพึงใจกับสิ่งที่เขามี เขายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจและต่อยอดนวัตกรรมออกมาเสริมจุดแข็งให้กับธุรกิจของเขาอยู่เสมอ
วิชาพยายามถอยตัวเองออกมาจากตำแหน่ง CEO ของเมเจอร์ ด้วยหวังว่าอาณาจักรธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นมาจะสามารถดำเนินไปในรูปของสถาบันธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพ โดยไม่ต้องพึ่งพาภาพลักษณ์ของเขาเหมือนกับที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าความพยายามอย่างน้อย 2 ครั้งของเขา ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ในวันนี้เขายังต้องกลับมากุมบังเหียนและกำหนดทิศทางให้กับเมเจอร์อีกครั้ง
“แม้ว่าเราจะไม่มีคู่แข่ง เพราะจริงๆ แล้ว เราต้องแข่งกับตัวเองในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งทำให้ เราต้องขยายออกตัวต่อไป เพราะธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีอินโนเวชั่นตลอด ต้องทำให้แตกต่าง เพราะรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอด”
ความสำเร็จจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง และคาราโอเกะ ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้วิชามองว่า ธุรกิจของเมเจอร์ฯ ไม่ได้เป็นเพียงเอ็นเตอร์เทนเมนต์เท่านั้น แต่ได้ขยายกลายเป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ไปแล้ว เพียงแต่ไลฟ์สไตล์นี้จะมีแกนกลางอยู่ที่โรงภาพยนตร์แล้วธุรกิจอื่นจะถูกต่อยอดจากโรงภาพยนตร์ออกมาอีกที หน้าที่ของเมเจอร์ฯ ก็คือ การมองหาธุรกิจที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและน่าจะเป็นที่นิยม ก่อนที่จะหยิบมาปรุงแต่งเสียใหม่ให้เข้ากับจริตของกลุ่มลูกค้า
กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนจากการหยิบโบว์ลิ่งมาทำให้ทันสมัย จนกลายเป็นกีฬาฮิตในหมู่วัยรุ่น หรือการนำเอาคาราโอเกะมาจากญี่ปุ่น แล้วดัดแปลงให้กลายเป็นกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมกันได้ทั้งครอบครัว
วิชาเคยแสดงทัศนะที่น่าสนใจไว้ครั้งหนึ่งว่า “คุณต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคมีชีวิตอย่างไร เขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร แล้วจึงครีเอตไลฟ์สไตล์ขึ้นมา จากนั้นก็ครีเอตเทรนด์ให้คนตาม”
แม้ว่าปัจจุบันทุกคนจะกล่าวถึงธุรกิจของเมเจอร์ในฐานะที่เป็น Lifestyle Business แต่หากพิจารณา จากข้อเท็จจริงจะพบว่า วิชาดำรงบทบาทของการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพียงแต่อสังหาริมทรัพย์ ที่เขาพัฒนาขึ้นมาไม่ได้เป็นที่พักอาศัยหรือศูนย์การค้าเช่นผู้ประกอบการรายอื่น แต่เป็น Entertainment Complex ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง และคาราโอเกะที่เป็นตัวสร้างรายได้หลัก นอกจากนี้ยังมีรายได้ค่าเช่า พื้นที่จากผู้ค้ารายอื่นด้วย
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ สิ่งที่วิชาได้กระทำก็คือการสร้างสรรค์เศรษฐกิจด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ ที่พร้อมจะเปิดให้เห็นโอกาสทางธุรกิจและเติบโตร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งอยู่ในฐานะ “คู่ค้า” ของเมเจอร์ มากกว่าที่จะเป็น “คู่แข่ง” ควบคู่กับการสร้างให้เกิดเทรนด์ของการดำเนินชีวิต ที่พร้อมจะกลายเป็น mass culture ได้อย่างไม่ยากเลย
วิชาได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ภูมิทัศน์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การริเริ่มสร้าง “อาณาจักร โรงภาพยนตร์” ควบคู่กับการสร้างธีมและเซกเมนต์ของโรงภาพยนตร์แต่ละแห่งให้สอดรับกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งกลายเป็นกลไกให้วิชาสามารถเพิ่มมูลค่าทั้งในมิติการเสพรับของลูกค้าและราคาที่เพิ่มขึ้นของ แต่ละโปรดักส์ได้อย่างลงตัว
การลงทุนเพื่อเปิดโรงภาพยนตร์แบบ 4 มิติครั้งล่าสุดก็ดำเนินไปในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากฐานความคิดหลักที่วิชาใช้ในการดำเนินธุรกิจมานานกว่าทศวรรษ
ขณะเดียวกัน วิชาได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้า (Customer Database) และระบบการจัดการฐานข้อมูลลูกค้า (CRM) ซึ่งวิชามักกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของเมเจอร์ฯ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสังเคราะห์ “วิสัยทัศน์”
ในความเป็นจริงที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ภายใต้เครือข่ายสายสัมพันธ์ที่กว้างขวางของวิชา ฐานข้อมูลลูกค้าที่เขามีอยู่ในมือ ยังเปิดโอกาสให้วิชาสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดด้วยการทำ Co-CRM กับพันธมิตรที่มีอยู่หลากหลายให้เกิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจในลักษณะ win-win อีกด้วย
“ปรัชญาทางธุรกิจของผม มีเพียงความรักและความไว้ใจ คือ love กับ trust ซึ่งทำให้ผมไม่มีคู่แข่งขัน มีเพียงคู่ค้าและครอบครัวธุรกิจ ที่ผมต้องร่วมด้วยช่วยดูแล”
ความสำเร็จของเมเจอร์ในห้วงเวลาปัจจุบัน อาจเป็นภาพสะท้อนที่พร้อมหนุนส่งให้เกิดการสร้างตัวแบบทางธุรกิจที่ต่อยอดออกไปสู่ธุรกิจอื่นที่มี synergy ช่วยเสริมกัน หากแต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เราจะผลิตสร้าง content เพื่อขยายไปสู่การสร้างรูปแบบและเทรนด์ ที่พร้อมขยายตัวออกไปต่อสู้แข่งขันในระดับสากลได้อย่างไร
หรือถึงที่สุดแล้ว โมเดลทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของเมเจอร์ ก็เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศรายอื่นๆ ที่มี content แข็งแรงกว่ามาเก็บรับประโยชน์เท่านั้น
|
|
|
|
|