|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เป็นธรรมดาเมื่อคลื่นลูกเก่าหายไปย่อมมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทน วัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมิได้ยกเว้นแม้กรณีคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ซึ่งออกอากาศแพร่ภาพและเสียงในระบบอนาล็อกต่อเนื่องมานาน 58 ปีนั้นกำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบทั่วทั้งประเทศนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2011 เป็นต้นไป
ย้อนกลับไปในยุคที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โทรทัศน์จัดเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ติดอันดับหนึ่งในสามที่ชาวญี่ปุ่นใฝ่ฝันอยากครอบครองมากที่สุด พร้อมกันนั้นยังสวมบทบาทในฐานะ สื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพล เป็นศูนย์กลางของชุมชน ในช่วงเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 1953
พัฒนาการของโทรทัศน์จำเริญขึ้นตามลำดับ จากภาพขาวดำเป็นภาพสี ต่อมามีรีโมตคอนโทรล เพิ่มขนาดหน้าจอ ลดความบางของเครื่องจนเหลือเพียงไม่กี่เซนติเมตร ปัจจุบันให้ภาพ 3 มิติและยังคงก้าวล้ำต่อไปไม่รู้จบ ขณะที่จำนวนช่องสัญญาณโทรทัศน์ในญี่ปุ่นได้ถึงภาวะอิ่มตัวไม่อาจขยับขยายให้บริการรองรับขีดความสามารถของเครื่องรับภาพที่เพิ่มศักยภาพสูงขึ้นทุกขณะได้
อีกทั้ง Digital Boardcasting ที่มาทดแทน คลื่นสัญญาณแบบเก่าซึ่งใช้มาครึ่งศตวรรษจะกลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสอดคล้องไปกับวิถีชีวิตในสหัสวรรษใหม่ของผู้คนในญี่ปุ่นตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้
เหตุผลเหล่านี้มีน้ำหนักมากพอที่สนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฉบับแก้ไขลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2001 ซึ่งเห็นชอบให้มีการยกเลิกการใช้คลื่นความถี่แบบอนาล็อกภายใน 10 ปีนับแต่วันประกาศ
จากนั้นแผนพัฒนาเครือข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภายใน 10 ปีภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบเพื่อเตรียมพร้อมโดยการติดตั้งอุปกรณ์เสาอากาศ UHF และเครื่องรับสัญญาณในระบบดิจิตอล ซึ่งมีทางเลือก 2 ทางคือ 1) จัดหา Tuner อุปกรณ์ เสริมสำหรับรับสัญญาณในระบบดิจิตอลประกอบเข้า กับโทรทัศน์รุ่นเก่าที่ใช้อยู่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 5,000 เยน (ประมาณ 1,500 บาท) หรือ 2) เปลี่ยนเป็นโทรทัศน์ รุ่นใหม่ที่ประหยัดไฟกว่าและรับสัญญาณดิจิตอลได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจัดแคมเปญ ระดับชาติ “Eco Point”* ช่วยแบกรับภาระส่วนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ได้ในราคายุติธรรม
การเปลี่ยนแปลงสัญญาณให้อยู่ในระบบดิจิตอลนอกจากจะเพิ่มช่องสัญญาณขึ้น รวมถึงช่อง โทรทัศน์ในโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า One-seg แล้วยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมภาพที่สวยคมสมจริง มีความละเอียดสูง คุณภาพระดับ HD 1080p (High Definition 1,080 pixel) ด้วยขนาดจอภาพที่กว้างขึ้น ในอัตราส่วนแนวนอนต่อแนวตั้ง 16:9 พร้อมระบบเสียง 5.1 ch (5 full-range channels + 1 LFE channel) ให้คุณภาพเสียงเทียบเท่าซีดีหรือสูงกว่าหากติดตั้งชุดลำโพง Surround เสริมเข้าไปก็สามารถเป็นเจ้าของ home theater ได้ไม่ยาก
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจนของการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เช่นในกรณีต่อเวลาการแข่งขันรายการกีฬา ถ่ายทอดสดซึ่งเดิมจะตัดเข้าสู่รายการปกติแล้วค่อยติดตามผลการแข่งขันในช่วงภาคข่าวนั้น Multi organization ในระบบดิจิตอลจะเพิ่มจอเสริมซึ่งถ่ายทอดช่วงต่อเวลาให้รับชมควบคู่กับจอหลักที่ถ่ายทอดรายการปกติไปได้พร้อมๆ กัน ทั้งนี้เนื่องเพราะใน 1 ช่องปกติของระบบอนาล็อกหากเปลี่ยน เป็นระบบดิจิตอลแล้วจะสามารถดูได้พร้อมกันทีเดียวถึง 3 รายการใน 1 ช่อง
บนรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์รุ่นใหม่ๆ จะมีปุ่มอักษร “d” ย่อมาจากคำว่า data แสดงถึงการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกาะติดสถานการณ์ล่าสุดที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น พยากรณ์อากาศรวมถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุไต้ฝุ่น, ข้อมูลแผ่นดินไหว, คำเตือน Tsunami, ข่าวสารปัจจุบัน รวมถึงหยุดภาพนิ่งได้ทุกจังหวะเมื่อต้องการดูรายละเอียดบนจอภาพ นอกจากนี้ยังมีปุ่ม EPG (Electronic Program Guide) ที่สามารถตรวจสอบตารางรายการออกอากาศของทุกช่องล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์รวมถึงแสดงรายละเอียดของแต่ละรายการและสามารถตั้งเวลาบันทึกภาพรายการที่สนใจได้ล่วงหน้า ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงเวลา ออกอากาศกะทันหันโปรแกรมที่ตั้งไว้จะปรับเปลี่ยนเวลาบันทึกรายการตามตารางใหม่โดยอัตโนมัติ
ขณะเดียวกันสัญญาณภาพและเสียงในระบบดิจิตอล จะออกอากาศยังไปทุกบ้านพร้อมกับอักษรบรรยายใต้ภาพเช่นบทสนทนาในละครหรือความเห็นของผู้ดำเนินรายการซึ่งช่วยให้คนหูหนวกสามารถดูโทรทัศน์ได้ทุกรายการโดยไม่ต้องพึ่งพาล่ามภาษามือ (แต่เดิมมีบริการให้ในบางรายการเท่านั้น) หรือผู้สูงอายุก็ไม่จำเป็นต้องเปิดโทรทัศน์เสียงดังจนเกินไปและยังช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นให้กับชาวต่างชาติหรือเด็กญี่ปุ่นได้อีกด้วย
อรรถประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมานั้นหาได้มุ่งเน้นแต่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว การให้สาระความรู้ในช่องการศึกษา เช่น NHK Education รวมถึงรายการการศึกษาทางไกลของ The Open University of Japan จะเพิ่มประสิทธิภาพมาก ขึ้นโดยสามารถต่อสายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับเครื่องโทรทัศน์อำนวยโอกาสให้เกิดการสื่อสารกันได้ 2 ทาง รวมถึงการร่วมสนุกตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นกับรายการถ่ายทอดสดก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่องรายการ TV shopping ตลอด 24 ชั่วโมงและขยายผลครอบคลุมไปถึงระดับอุตสาหกรรมการผลิตโทรทัศน์และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการสื่อสารในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Boardcasting ในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางให้ญี่ปุ่นมุ่ง สู่ประเทศผู้นำแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
อ่านเพิ่มเติม:
นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เรื่อง “Eco Point” ฉบับกันยายน 2552 หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=82132
|
|
|
|
|