|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ค่ำปลายเดือนเมษายน ข่าวสะเทือนขวัญสะพัดไปทั่วศานตินิเกตัน ชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งถูกสาดด้วยน้ำกรดโดยชายสองคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์โฉบมา ชายหนุ่มบาดเจ็บไม่มากแต่หญิงสาวอาการสาหัส น้ำกรดอาบกัดตลอดลำตัวด้านหน้า สัปดาห์ต่อมาแม้เธอจะพ้นขีดอันตรายแต่บาดแผลทั้งทางใจและกายยังฝังลึก คนร้ายยังลอยนวล ชาวบ้านคาดเดาว่าเป็นเรื่องพิษรักแรงหึง กระนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าชุมชนที่สงบและสันติอย่างศานตินิเกตัน ที่ซึ่งกวีและนักการศึกษาชาวเบงกาลี รพินทรนาถ ฐากูรวาดหวังให้เป็น ‘รวงรังแห่งโลก’ จะเกิดเหตุเหี้ยมเกรียมเช่นนี้ในปีแห่งการฉลองครบ 150 ปีชาตกาลของท่าน และผู้คนไม่น้อยก็ตระหนักว่า การทำร้ายด้วยน้ำกรดไม่ใช่แค่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อีกต่อไป
การสาดน้ำกรดส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายที่มุ่ง ให้เหยื่อเสียโฉมมากกว่ามุ่งเอาชีวิต มักเล็งเป้าที่ใบหน้าและลำตัวด้านหน้า เป็นการทำร้ายโดยเจตนา และมีการวางแผนล่วงหน้า มากกว่าเป็นเรื่องอารมณ์ ชั่ววูบอย่างที่คนเข้าใจ ความรุนแรงของบาดแผลขึ้นกับปริมาณและความเข้มข้นของกรด กรดจะกัดผิวหนังเกิดเป็นแผลย่นไหม้ บางรายอาจทะลุเข้าไปถึงกระดูก ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่จะมีแผลเป็นถาวร ตาบอด อวัยวะบางส่วนผิดรูป บางรายถึงกับเสียชีวิต
เหตุสาดน้ำกรดพบมากในกัมพูชา บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย จากการศึกษาพบว่าเหยื่อร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง ในกัมพูชาพบว่าน้ำกรดเป็นอาวุธที่ภรรยาใช้แก้แค้นชู้รักของสามี ส่วนปากีสถานสถานการณ์กลับกัน เพราะคนลงมือส่วนใหญ่เป็นสามีที่ต้องการแก้แค้นภรรยาที่ทำให้ตน ‘เสียเกียรติ’ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะการนอกใจ หลายกรณีเป็นเพราะภรรยาต้องการหย่าหรือแยกทาง รวมถึงแสดงอาการปีกกล้าขาแข็ง เช่น ออกไปทำงานนอกบ้านมีรายได้เป็นของตนเอง ในบังกลาเทศก็มีลักษณะคล้ายกันคือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในครัวเรือน
สำหรับอินเดีย ปัญหานี้ยังไม่ได้รับความสำคัญนักจึงไม่มีการสำรวจสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการ กระนั้นสื่อและเอ็นจีโอบางกลุ่มที่เริ่มจับตาปัญหานี้มีความเห็นว่าตัวเลขกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ปฏิเสธความประสงค์หรือยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายชาย เช่น ภรรยาที่ต้องการแยกทางจากสามี ภรรยาที่ปฏิเสธจ่ายค่าสินสอด ผู้หญิงที่ขัดขืนการล่วงละเมิด ทางเพศโดยเจ้านาย เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จัก ผู้หญิง ที่บอกเลิกกับแฟน หรือบอกปฏิเสธคนที่มาชอบพอ ฯลฯ นัยหนึ่งคนที่ลงมือหรือจ้างวาน ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดหรือรู้จักตัวเหยื่อ และการเลือกใช้น้ำกรด เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ถ้าเธอไม่ยอมเป็นของฉันก็อย่าคิดไปเป็นของใครอื่น
Arti Shrivastav อายุ 18 ปี เมื่อเธอโดน Abhinav Mishra เพื่อนชายที่มาตามจีบสาดน้ำกรด ฤทธิ์รุนแรงของกรดกัดกินเข้าไปถึงกะโหลกศีรษะ นอกจากเสียโฉม เธอยังสูญเสียสมรรถภาพการฟัง และหลับตาไม่ได้แม้ตอนหลับอยู่เป็นเวลาหลายปีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เธอทำศัลยกรรมพลาสติกมาแล้ว 5 ครั้ง รวมค่ารักษาพยาบาลกว่า 1.6 ล้านรูปี ที่สำคัญอารตีสูญเสียความมั่นใจ หวาดผวา และกลายเป็นคนเก็บตัว ส่วน Abhinav ซึ่งสารภาพเมื่อ โดนจับกุมว่า ต้องการแต่งงานกับอารตี และคิดว่าหากเธอเสียโฉมก็จะไม่สามารถรับรักใครได้อีกนอกจากตน เขาเรียนต่อจนจบ MBA แต่งงานและย้ายไปอยู่เมืองอื่น กระทั่งคดีถึงที่สิ้นสุดเมื่อปี 2009 เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีและเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 แสนรูปี แต่หลังจำคุกอยู่เพียงปีเศษ เขาก็ยื่นขอฑัณฑ์บนและเป็นอิสระอีกครั้ง
Nagamma อยู่กินกับ Shiva เป็นเวลาสองปีโดยไม่ได้แต่งงาน เมื่อ รู้ตัวว่าเขาไม่ได้คิดจะจริงจังจึงไปสมัครงานและได้งานทำ แต่ศิวะกลับโกรธและทุบตี นากัมมะจึงหนีกลับไปอยู่บ้านพี่สาว เขาก็ตาม ไปข่มขู่ให้กลับมาอยู่กับตน เมื่อเธอปฏิเสธ ในตอนกลางคืนที่ทุกคนหลับ เขาแอบปีนขึ้นไปบนหลังคาและเทน้ำกรดราดลงบนตัวนากัมมะ เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาสามเดือนต่อมา
Haseena Hussain อายุ 19 ปี ขณะที่ทำงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ของ Joseph Rodrigues เมื่อเห็นว่าบริษัทขาดทุนและทำท่าจะไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน เธอจึงลาออกและไปทำงานกับบริษัท แห่งใหม่ นายโจเซฟตามมาเรียกตัวเธอกลับไป แต่ฮาซีน่าปฏิเสธ วันหนึ่งเขาจึงมาดักรอและใช้กรดซัลฟุริกสองลิตรราดลงบนศีรษะของเธอ ฮาซีน่าเสียโฉมรุนแรงจากใบหน้าลำตัวไปจนถึงสะโพก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 13 ครั้ง และตาบอดถาวร
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับฮาซีน่า เมื่อปี 1999 ในรัฐกรณาฏกะ กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญ ทำให้สื่อและเอ็นจีโอเริ่มให้ความสนใจกับปัญหานี้ เมื่อมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันซ้ำอีก 2 รายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน เอ็นจีโอหลายหน่วยงานจึงได้ประสานความร่วมมือ ก่อตั้ง The Campaign and Struggle Against Acid Attacks (CSAAAW) ขึ้นในปี 2003 มีเป้าหมายการทำงานเพื่อยุติการทำร้ายด้วยน้ำกรด และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเดียวในอินเดียที่ทำงานด้านนี้
จากการศึกษาของ CSAAAW พบว่าปัจจัยหนึ่งที่เอื้อแก่อาชญากรรมชนิดนี้ คือการที่กรดหลายชนิดจำหน่ายโดยเสรีและมีราคาถูก บางชนิด ขายอยู่เพียงลิตรละ 10 รูปี ซื้อ ได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างแม้แต่ตามบาทวิถี ทางกลุ่มจึงเรียกร้องให้มีทางการออกกฎหมายควบคุมการซื้อขายกรด แต่หลายฝ่ายเห็นว่าทำได้ยาก เพราะกรดต่างๆ อาทิ กรดซัลฟุริก ไฮโดรคลอริก ไฮโดรฟลูโอริก ฟีนอล ฯลฯ เป็นกรดที่ใช้กันในงานหลายลักษณะ นับจากช่างทอง อู่ซ่อมรถ งานก่อสร้าง จนถึงบรรดาแม่บ้านเอง
ในแง่กฎหมาย อินเดียยังไม่มีกฎหมายและบทลงโทษการทำร้ายด้วยน้ำกรดโดยตรง ทำให้ไม่มีการบันทึกสถิติคดีแยกจากคดีทำร้ายร่างกายอื่นๆ จากรายงานโดยคณะกรรมาธิการด้านกฎหมาย แห่งชาติพบว่า คดีส่วนใหญ่ศาลพิพากษาด้วยบทลงโทษสถานเบาเกินไป และแนะนำให้เพิ่มบทลงโทษ เป็นการจำคุกจาก 5 ปี เพิ่มเป็น 10 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และเพิ่มค่าปรับเป็นอย่างน้อย 1 ล้านรูปี โดยมอบค่าปรับนั้นแก่ผู้ถูกกระทำในคดี กระนั้น เครือข่ายทนายความแห่งชาติได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อรายงาน โดยเห็นว่าน่าจะเพิ่มโทษจนถึงขั้นประหาร เช่นเดียวกับบังกลาเทศ
รายงานของ CSAAAW แสดงถึงปัญหาสำคัญอีกแง่มุม คือปัญหาด้านการรักษาพยาบาลและการเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งการสัมภาษณ์ผู้เคราะห์ร้ายที่รอดชีวิต 14 ราย พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ทันท่วงทีและถูกวิธี หนึ่ง เพราะหมอพยาบาลไม่มีประสบการณ์ สอง เพราะไม่มีเงินค่ารักษา เช่นกรณีของฮาซีน่า เธอต้องนอนทนพิษบาดแผลอยู่เป็นเวลาสองวัน โดยที่มีหมอพยาบาล ไม่ยอมแม้แต่ทำแผลเบื้องต้น เพราะไม่มีเงินค่ารักษา ขณะเดียวกันผู้หญิงที่โดนสาดด้วยน้ำกรดมักไม่ได้รับความเห็นใจจากคนรอบข้าง หลายคนรอดชีวิตแต่ต้องสูญเสียชีวิตและศักดิ์ศรี ความบอบช้ำทางจิตใจนั้นไม่น้อยไปกว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืน และทางร่างกายนั้นมันเป็นบาดแผลถาวรที่ทำให้โดนไล่ออกจากงาน โดนสามีหรือคนรักทิ้ง ไม่มีคนยอมรับเข้าทำงาน
หากอินเดียต้องการแก้ปัญหานี้ สิ่งสำคัญที่ควรแก้คือทัศนะแบบชายเป็นใหญ่ และความคิดเรื่องศักดิ์ศรีลูกผู้ชายแบบผิดๆ ขณะเดียวกันสังคมควรมองการทำร้ายด้วยน้ำกรดให้พ้นไปจากเรื่องพิษรักแรงหึง ควรตระหนักว่าเป็นอาชญากรรมที่กระทำโดยคนขี้ขลาด ลงมือโดยเจตนา เลือดเย็นและเหี้ยมเกรียม
|
|
 |
|
|