|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พูดถึงคำว่า “เซ็กซ์” ไม่ว่าใครก็ใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ เพศชายหรือเพศหญิงต่างก็หูผึ่งด้วยกันทั้งสิ้น
เดือนมิถุนายน 2554 แวดวงบันเทิงไทยอื้ออึงไปด้วยเสียงฮือฮาเกี่ยวกับภาพยนตร์ฮ่องกงสามมิติเรื่องหนึ่งที่มีโอกาสเข้าฉายในประเทศไทยอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด เพราะภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว โปรโมตตัวเองว่าเป็นภาพยนตร์อีโรติก 3 มิติ หรือหนังโป๊ 3 มิติเรื่องแรกของโลกที่มีโอกาสฉายในโรง
ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ “3D Sex and Zen: Extreme Ecstasy” หรือชื่อไทยว่า “ตำรารักทะลุจอ”
หลังจากเข้าฉายในเกาะฮ่องกงเมื่อวันที่ 14 เมษายน ภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างเพียง 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เรื่องนี้ก็ใช้คำว่า “เซ็กซ์ 3 มิติ” ดึงดูด ผู้คนให้เข้าโรงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของฮ่องกง โดยเปิดตัวทุบสถิติภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดังอย่างไททานิกและอวตารอย่างน่าทึ่ง ด้วยรายได้จากค่าตั๋วในวันแรก 351,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.79 ล้าน เหรียญฮ่องกง หรือ 10.5 ล้านบาท) ในช่วงเดือนของการฉายเฉพาะในฮ่องกงทำกำไรทันทีด้วยรายได้ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 40 ล้านเหรียญฮ่องกง) โดยรายได้ส่วนหนึ่งมาจากชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังเกาะฮ่องกงและถือโอกาสตีตั๋วดูหนังดังที่ถูกแบนบนแผ่นดินใหญ่เรื่องนี้เสียเลย
ทั้งนี้รายได้ค่าตั๋วดังกล่าวยังไม่นับรวมกับรายได้ของหนังที่ถูกซื้อไปฉายทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ รวมถึงเมืองไทยที่แม้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจัดเรตให้เป็น 20+ แต่เพียงสัปดาห์เดียวก็มีรายได้ค่าตั๋วสูงถึง 12.3 ล้านบาท
เมื่อเข้าฉายในเมืองไทย จุดสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่สื่อหยิบยกไปในประเด็นของความเซ็กซี่ของเนื้อหนังที่นางเอกถึงกับบินมาโปรโมตภาพยนตร์ถึงเมืองไทย ความเป็นภาพยนตร์ อีโรติก 3 มิติเรื่องแรกของโลก การรีเมคจากเซ็กซ์แอนด์เซนภาคเก่าที่เข้าฉายเมื่อปี 2534 (ค.ศ.1991) และกลายเป็นตำนานของภาพยนตร์อีโรติก รวมถึงการเปิดศักราชภาพยนตร์อีโรติกยุคใหม่ของวงการภาพยนตร์ฮ่องกง หลังจากที่ภาพยนตร์ทำนองนี้หดหายไปจากท้องตลาดกว่า 10 ปีแล้ว
ดูเหมือนว่า ทุกคนจะให้ความสนใจกับคำว่า “เซ็กซ์ (Sex)” ของชื่อเรื่องส่วนแรก ละเลยคำว่า “เซน (Zen)” ซึ่งเป็นชื่อเรื่องส่วนหลังไปเสียหมด ทั้งๆ ที่ “ปรัชญาเซน” นั้นถือเป็นแก่นแกนของนิยาย “โร่วผูถวน “ อันเป็นบทประพันธ์ต้นฉบับของ ภาพยนตร์เรื่องนี้
โร่วผูถวน (แปลเป็นไทยคือ เสื่อรองนั่งเพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนา ที่ทำจากเนื้อหนังมังสาของมนุษย์) เป็นบทประพันธ์ของหลี่ อี๋ว์ ( ; ค.ศ. 1611-1680) นักเขียนนิยาย นักการละครชาวจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 400 กว่าปีที่แล้วในยุคปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิง
หลี่ อี๋ว์ เป็นชาวจีนเชื้อสายฮั่นที่เกิดในมณฑลเจียงซู ในยุคปลายราชวงศ์หมิง เขาสามารถสอบเข้ารับราชการได้ในระดับซิ่วไฉ หรือขุนนางในระดับท้องถิ่นได้ ทว่าเมื่อจีนเกิดการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนผู้ครองแผ่นดินจากชาวฮั่นเป็นแมนจู หลี่ อี๋ว์ก็ล้มเลิกความสนใจที่จะเข้ารับ ราชการภายใต้การปกครองของราชสำนักแมนจู และหันเหมาทำงานประพันธ์ และจัดตั้งคณะละครเร่ขึ้น โดยที่ตัวเขาทำหน้าที่เป็นทั้งเจ้าของ ผู้เขียนบท ผู้กำกับการแสดงและผู้อำนวยการคณะละคร
ระหว่างที่หลี่ อี๋ว์ เป็นผู้นำคณะละครขึ้นเหนือ ไปเปิดการแสดงที่กรุงปักกิ่ง ล่องใต้ไปเปิดการแสดง ที่นานกิง (หนานจิง) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเมืองที่มีสถานะเป็นเมืองหลวงต่างยุคต่างสมัย ทำให้เขามีโอกาสได้ปฏิสันถาร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับปัญญาชน ขุนนางและคนในแวดวงวรรณกรรมเป็นจำนวนมาก จนสามารถผลิตผลงานบทละครและงานประพันธ์ออกมาอย่างมากมาย โดยนวนิยาย เรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญและได้รับการยกย่องจาก ทั้งคนจีนและชาวต่างชาติก็คือ “โร่วผูถวน”[1]
นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นราวปี 2200 (ค.ศ. 1657) ในสมัยราชวงศ์ชิง กลายเป็นหนังสือต้องห้ามของทางราชการจนถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก เนื้อหาถูกแบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบไปด้วย ชุน (ฤดูใบไม้ผลิ), เซี่ย (ฤดูร้อน), ชิว (ฤดูใบไม้ร่วง) และตง (ฤดูหนาว) โดยแต่ละตอนบรรจุไว้ 5 บท รวมทั้งสิ้น 20 บท[2]
โร่วผูถวน เป็นเรื่องราวชีวิตบัณฑิตหนุ่ม รูปงามผู้เพียบพร้อมด้วยรูปร่าง หน้าตา ฐานะ และมันสมองนาม เว่ย ยังเซิง ซึ่งมีความใฝ่ฝัน ถึงการไขว่คว้าอิสตรีผู้ซึ่งมีสิริโฉมงามที่สุดในแดนดิน มาเป็นเจ้าของ และได้ลิ้มลองเพศรสจากหญิงสาวผู้เลอโฉมทั่วแผ่นดิน ไม่นับรวมกับความพยายามในการเอาชนะ “กฎแห่งกรรม” ซึ่งหลวงจีนเหนือโลก เดียวดาย (ตามสำนวนแปลของชลันธร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ หลวงจีนปู้ไต้) ได้กล่าวเตือนบัณฑิตหนุ่มไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า
“ทั้งความงาม ความฉลาด และความหยิ่งผยอง นั่นมิใช่เป็นหลักประกันอันแท้จริงที่จะเสริมส่งให้วิถีชีวิตได้พบกับความร่มเย็นเป็นสุข อันนับเป็นมงคล ...ตีเสียว่าประสกได้พบเห็นหญิงงาม ได้ตกแต่งอยู่กินกับนางตามประสงค์แล้ว ผู้ใดจะค้ำประกันให้กับประสกได้ว่า นางคือหญิงงามเหนือปวงสตรีในแดนดิน? บางแห่งแหล่งที่อาจยังมีสตรีงามล้ำกว่าก็เป็นได้ ประสกต้องการที่จะจารึกอักษร “สวยงามที่สุด” ไว้ตรงหน้าผากของนางหรือ? จะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งกลับไปพบว่ายังมีสตรีอื่นสวยงามกว่า ประสกมิต้องละทิ้งรายแรก หันมาติดตามไล่คว้ารายที่สวยกว่า?...
“หากประสกไม่แยแสเรื่องจุดจบในขุมนรกนั่นก็สุดแต่ใจ จงเดินไปตามหนทางแห่งกามฉันท์เพื่อแสวงหาหญิงงามตามสะดวกเถิด หากพอใจจะถึงแดนสุขาวดีก็ต้องเลิกล้มความตั้งใจในทางโลก ขจัดกิเลสตัณหาออกจากจิต ละชีวิตเยี่ยงปุถุชนแล้ว อยู่ร่วมกับอาตมา” [3]
เมื่อความทะนงตนในรูปร่างหน้าตาและสติปัญญากลายเป็นใหญ่ บัณฑิตหนุ่ม เว่ย ยังเซิงจึงกล่าวลาหลวงจีนผู้หวังดีก่อนจะออกท่องยุทธจักรแห่งกามโลกีย์ ในที่สุดได้ค้นพบถึงแก่นแกนของสัจธรรม ที่หลวงจีนชราพยายามบอกกล่าวให้เขาได้ทราบ แต่แรก เพื่อชักจูงมิให้บัณฑิตหนุ่มต้องตกเข้า ไปในหล่มหลุมแห่งบาป กรรม ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ
สิบกว่าปีก่อนเมื่อ ได้อ่าน “โร่วผูถวน” ในฉบับบทประพันธ์ที่แปลเป็นภาษาไทย ผมพบว่านิยายเล่มนี้เป็นงานเขียนชิ้นเอกที่สามารถผสมผสานเรื่องราวทางโลก ซึ่งให้ข้อคิดทางศาสนาพุทธได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวที่สุด (นิกายเซนในภาษาญี่ปุ่น หรือนิกายฌานในภาษาจีน แท้จริงแล้วก็เป็นแขนงหนึ่งของพุทธศาสนา) โดยสามารถให้แง่คิดแต่ผู้อ่านเกี่ยวกับศิลปะแห่งการครองชีวิตและครอบครัว โดยผู้อ่านมิอาจรู้สึกเลยว่าตัวเองกำลังอ่านคัมภีร์ธรรมะอยู่
ซึ่งศิลปะแห่งการครองชีวิตนี้เองที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ในคู่มือมนุษย์ว่าเป็นพุทธศาสนาขั้นพื้นฐานที่สุดที่ปุถุชนอย่างเราควรจะยึดถือ และเป็นพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศิลปะที่จะทำให้การมีชีวิตอยู่ของเราน่าดูน่าชมน่าเลื่อมใส และน่าบูชาแก่คนทั้งหลายทั้งปวง โดยแนวคิดเกี่ยวกับการครอง ตน ครองเรือน และครองชีวิตที่หลี่ อี๋ว์ ผู้ประพันธ์โร่วผูถวน พยายามถ่ายทอดออกมานั้น คือ กล่อมเกลาให้ผู้อ่านสำรวจตรวจตราตนเอง มิให้ประพฤติพลาดพลั้งจนเกิดข้อผิดพลาดเหมือนกับตัวเอกในเรื่อง
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากพิจารณาลึกลงไปถึงช่วงเวลา และสภาพสังคมจีนในช่วงที่หลี่ อี๋ว์ เขียนนิยายเรื่องนี้ ขึ้นเมื่อราว 350 ปีก่อน ผมก็ยิ่งเห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของนักเขียนผู้นี้ และสัจธรรมของพระธรรม คำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่เหนือกาลเวลา
หากท่านผู้อ่านตั้งใจจะชม หรือได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง 3D Sex and Zen: Extreme Ecstasy ไปแล้วก็ตาม ผมขอถือวิสาสะแนะนำทุกท่านให้หยิบหนังสือโร่วผูถวน (หรือบัณฑิตก่อนเที่ยง คืน ในฉบับแปลภาษาไทย) มาอ่านสักหนึ่งรอบ หรืออย่างน้อยๆ สรรหาดีวีดีภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉบับคลาสสิกเมื่อ 20 ปีก่อน (ค.ศ.1991) มาชมสักรอบหนึ่ง
ผมเชื่อว่าท่านจะได้พบอรรถรสของคำว่า “เซน” ในคำว่า “เซ็กซ์” อย่างแน่นอน
หมายเหตุ:
[1] ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวหน้าของจีน “โร่วผูถวน” ได้รับความนิยมไปทั่วแผ่นดินจีนในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ก็แพร่หลายไปยังประเทศข้างเคียงอย่างญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน “โร่วผูถวน” ฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ชาวตะวันตกได้นำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า The Carnal Prayer Mat รวมถึงภาษาต่างๆ อีกมากมาย เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย รวมถึงภาษาไทยที่แปลออกมาในชื่อบัณฑิตก่อนเที่ยงคืน โดยผู้ใช้นามปากกาว่า ชลันธร
[2] http://zh.wikipedia.org/wiki/
[3] บัณฑิตก่อนเที่ยงคืน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5) โดย ลี่ หยู, ชลันธร แปล, ชุมศิลป์ธรรมดา, 2553, หน้าที่ 31-32.
|
|
|
|
|