คนที่พอจะสัมผัสยุทธจักรอ้อยน้ำตาลมาบ้าง มักจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า
ยุทธจักรนี้เป็นยุทธจักรของเสือ สิงห์ กระทิง แรด ในขณะที่คนที่สัมผัสอย่างใกล้ชิดก็จะเถียงข้อเปรียบเทียบนี้คอเป็นเอ็น
เขาบอกว่าไม่ใช่ เสือ สิงห์ กระทิง แรด หรอกหากแต่มันเป็น "สวนสัตว์" ซึ่งนอกจากจะมีประเภทที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บแล้ว
ประเภทเนื้อสมันก็มีไม่น้อย... กลุ่มวังขนายที่เพิ่งเยี่ยมกรายเข้าสู่ยุทธจักรเล่า...เป็นอะไรกันแน่...
มีบางคนยกย่องให้เรื่องราวการกำเนิดของกลุ่มโรงงานน้ำตาลวังขนายเป็นเรื่องของ
"ผู้กล้า"
และผู้กุมอำนาจอย่างเด็ดขาดที่ชื่อ อารีย์ ชุ้นฟุ้ง เป็น "วีรบุรุษ"
เช่นเดียวกับอีกบางคนที่มองว่าเป็นเรื่องของ "ช่องว่าง" เป็นเรื่องของการ
"จับขั้วลบขั้วบวก" ด้วยน้ำมือของนักจับเสือมือเปล่า และการแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า
ฯลฯ
คำถามนั้นก็มีอยู่ว่า เรื่องราวเพียงเรื่องเดียว ไฉนจึงมองไปได้หลายแง่?
"ผู้จัดการ" ได้พยายามควานหาคำตอบเช่นนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า
ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะเรื่องราวของวังขนายเป็นเรื่องของ "สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ที่ได้เป็นไปแล้ว" ทุกขั้นตอนมาโดยตลอดแท้ๆ "มันเหมือนกับมีคนมาบอกให้ฟังว่าเขาบินได้
ซึ่งคุณต้องไม่เชื่อ แล้ววันดีคืนดีเขาก็บินให้คุณดูต่อหน้าต่อตา" คนที่ศึกษาความเป็นมาของวังขนายมาตั้งแต่ต้นเปรียบเปรยอย่างสมเหตุสมผล
มันเริ่มต้นราวกลางเดือนมกราคมของปี 2516 เมื่อคน 4 คนปรึกษาเรื่องการค้าเก็งกำไรเรื่องหนึ่งที่สามารถให้ผลตอบแทนแน่นอน
แบ่งแล้วจะได้คนละไม่น้อย
คนหนึ่งชื่อ เต็กหลี แซ่โล้ว อีกคนชื่อ อารีย์ ชุ้นฟุ้ง อีกสองคนชื่อ เรวัต
ศิริศีลวัฒนุกุล และ สุชาติ เนติสิงห์
เต็กหลี แซ่โล้ว เป็นคนตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี เดิมนั้นมีอาชีพขายและซ่อมนาฬิกา
ต่อมากิจการใหญ่โตเป็นปึกแผ่นกลายเป็นห้างจำหน่ายนาฬิกาโล้วเฮงหมงอยู่ที่ท่าเรือ
และขยับขยายมาทำกิจการค้าน้ำมันและขายรถยนต์
เต็กหลี ขณะนั้นเป็นผู้มีอันจะกินมากๆ เขามีปั๊มน้ำมัน 2 ปั๊มเป็นของเอสโซ่กับเชลล์
อีกทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถสิบล้อยี่ห้ออีซูซุ รถไถยี่ห้อฟอร์ด รถเบนซ์ รถบีเอ็มดับบลิว
เปอโยต์ และแลนเซีย ผู้คนแถบท่าเรือและละแวกใกล้เคียงมักจะเรียกเต็กหลีว่า
"เสี่ยผอม"
และก็เช่นเดียวกับเศรษฐีท่าเรือทั้งหลาย เต็กหลี แซ่โล้ว มีกิจการไร่อ้อยอยู่ด้วย
อารีย์ ชุ้นฟุ้ง เป็นคนตำบลท่ายาง อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี เขตติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี
ที่ไม่ไกลจากท่าเรือนัก
อารีย์มีปูมหลังที่ไม่ค่อยมีใครทราบ จากคำบอกเล่าของหลายๆ คนที่พอจะทราบคนละนิดคนละหน่อยก็ได้ความว่า
อารีย์เกิดที่สมุทรสงครามแล้วย้ายมาอยู่บ้านโป่งภายหลัง เขาจยการศึกษาเพียงระดับประถม
ครั้งหนึ่งเคยทำงานเป็นหัวหน้ายามรักษาการของบริษัทสยามคราฟท์ (ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ที่บ้านโป่ง
ราชบุรี) ต่อมาก็หันมาทำการค้าหลายอย่างซึ่งที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากคือการค้าที่ดินและทำไร่อ้อย
ฐานะขณะนั้นเป็นเพียงมีพอกินพอใช้ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร
"แต่ก็เป็นคนที่คล่องมาก เขารู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่ รู้จักการผูกมิตรและก็รู้จักวิธีเอาชนะคู่แข่ง
เขามีบุคลิกของผู้นำอย่างเห็นได้ชัด..." คนที่เคยคบค้าสมาคมกับอารีย์ ชุ้นฟุ้ง
พูดตรงกันในข้อนี้
เรวัต ศิริศีลวัฒนุกุล ปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลเป็นศิรินุกุล ตอนนั้นเป็นผู้จัดการสาขาท่าเรือของธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การ เรวัตเคยเป็น ส.ส.กาญจนบุรี ติดต่อกันหลายสมัยในยุคพรรคกิจสังคมภายใต้การนำของ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (และเป็นประธานธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การด้วย) ขณะนี้เขายังมีตำแหน่งเป็น
ส.ส.อีกสมัย เพียงแต่เปลี่ยนพรรคมาอยู่กิจประชาคมแทน
ส่วนสุชาติ เนติสิงห์ ทำงานธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เช่นเดียวกับเรวัต
และการค้าที่คนทั้ง 4 นี้ปรึกษาหารือกันเป็นเรื่องของการวางแผนจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่เพื่อขายต่อให้กลุ่ม
"ชินธรรมมิตร" สร้างเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่"เรื่องก็มีอยู่ว่าพวกเขาได้รับการติดต่อให้จัดหาที่ดินแถบอำเภอท่าม่วงจากผู้ใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มชินธรรมมิตร
ก็เพียงลงทุนซื้อไปก่อนขายต่อมีกำไรแน่นอน" แหล่งข่าววงในคนหนึ่งเล่ากับ
"ผู้จัดการ"
อารีย์ ชุ้นฟุ้ง นั้นเป็นคนวิ่งเต้นหาที่ เต็กหลี แซ่โล้ว ใช้วงเงินเครดิตที่มีอยู่กับธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การ สาขาท่าเรือของตนกู้ยืมออกมาซื้อที่ มีเรวัตกับสุชาติคอยอนุมัติวงเงินกู้ยืมให้เป็นงวดๆ
ทุกขั้นตอนดำเนินไปอย่างราบรื่นเพียงแต่เผอิญกลุ่ม "ชินธรรมมิตร" ตัดสินใจจัดซื้อที่ดินก่อตั้งเป็นโรงงานน้ำตาลประจวบอุตสาหกรรมด้วยตนเอง
ปัญหาของ "นายหน้า" ค้าที่ดินกลุ่มนี้ก็มีอยู่ว่า จะทำอย่างไรกับที่ดินและหนี้สินนับสิบล้านบาทที่เกิดขึ้นไปแล้ว
"เชื่อไหม พวกเขาคิดตั้งโรงงานน้ำตาล..." แหล่งข่าวระดับวงในพูดให้ฟัง
ความคิดเรื่องสร้างโรงงานน้ำตาลนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตกกระไดพลอยโจนหรือเรื่องของความใฝ่ฝันที่วาดภาพไว้ในใจนานแล้ว
ออกจะเป็นเรื่อง "ฝันเฟื่อง" เอามากๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ถึงจะเป็นในช่วงปี
2516 ก็เถอะ
"มันเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องหวังผลระยะยาว ลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาทต้องมีฐานการเงินเข้มแข็ง
และก็ต้องมีเส้นสายพอที่จะทำให้ได้ใบอนุญาตด้วย" ผู้ที่อยู่ในวงการอ้อยน้ำตาลมานานสาธยาย
ปัจจัยเพียงแค่นี้ก้ดูเหมือนว่าทั้ง 4 คน ล้วนยังมีไม่ครบ เต็กหลี แซ่โล้ว
แม้จะร่ำรวยที่สุดก็เพียงนายทุนระดับท้องถิ่นคนหนึ่ง อารีย์ ชุ้นฟุ้ง ก็เพียงระดับหัวหน้าโควตาอ้อยที่เพิ่งเติบโต
ส่วนเรวัตกับสุชาติเป็นเพียงผู้บริหารธนาคารระดับภูมภาค ในขณะสิ่งที่เขาคิดเป็นงานอุตสาหกรรมระดับชาติที่ฝังรากลึกอยู่ด้วยกลุ่มทุนใหญ่ๆ
อย่างเช่นกลุ่มไทยรุ่งเรืองและกลุ่มโรงงานน้ำตาลในเครือถ้าผลผลิตซึ่งทุกกลุ่มผ่านการสร้างรากฐานและสะสมทุนมานานนับสิบๆ
ปีมาแล้ว
เป็นเรื่อง "ฝันเฟื่อง" ที่ยิ่งกว่า "ฝันเฟื่อง" เสียอีก
แต่ก็เป็น "ฝันเฟื่อง" ที่ลงท้ายด้วยการจัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลท่าม่วงขึ้นเมื่อวันที่
19 กันยายน ปี 2517 และดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเป็นขั้นๆ ตามกำลังทรัพย์ที่จำกัดจำเขี่ยภายใต้สูตรเดิมที่อารีย์
ชุ้นฟุ้ง เป็นคนคุมงานก่อสร้าง เต็กหลี แซ่โล้ว เป็นคนหาเงิน และเรวัตกับสุชาติช่วยประสานงานด้านสินเชื่อ
"ช่วงนั้นก็ยังทำอะไรไม่ได้มากเพราะขาดเงินทุน ก็มีความหวังขึ้นมานิดหน่อยเมื่อบริษัทชื่อบรอยสยามแสดงเจตนาว่า
จะขอร่วมทุนด้วยครึ่งหนึ่งและจะจัดหาทุนมาดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ แต่บริษัทบรอยสยามมีอันต้องถูกฟ้องล้มละลายไปก่อน
ทุกอย่างก็เลยชักวุ่น เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อโครงการที่เผอิญไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ถูกฟ้องล้มละลาย..."
ผู้ที่ทราบเรื่องดีเล่ากับ "ผู้จัดการ"
ทางออกจึงถูกกำหนดด้วยการจัดตั้งบริษัทน้ำตาลวังขนายขึ้นจัดทำโครงการสร้างโรงงานน้ำตาลแทนบริษัทอุตสาหกรรมท่าม่วงเมื่อวันที่
24 กุมภาพันธ์ 2518 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาทถือหุ้นโดยเต็กหลี
แซ่โล้ว และญาติพี่น้องทั้งหมด
ขั้นตอนต่อไปก็คือการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลจากกระทรวงอุตสาหกรรม
ช่วงนั้นเป็นช่วงรัฐบาลยุคพรรคกิจสังคมมี 18 เสียงสามารถเสริมส่งกระทั่งหัวหน้าพรรคอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ปราโมช สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และก็เป็นช่วงที่สุรินทร์ เทพกาญจนา
ส.ส.จังหวัดสมุทรสาครคุมกระทรวงอุตสาหกรรม
ฐานอำนาจเก่าของกลุ่มทหารที่เคยสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี และเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่แอบอิงแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลเพียงไม่กี่กลุ่มพังทลายไปพร้อมกับเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516 พร้อมกับการให้กำเนิดศูนย์อำนาจใหม่ที่กระจัดกระจายไร้ซึ่งเอกภาพและเสถียรภาพ
แต่กระนั้นก็สามารถก่อบทบาทได้ตามอายุขัยของอำนาจทางการเมืองที่มีในช่วงสั้นๆ
และหลายบทบาทก็มีผลกระทบต่อโครงสร้างผลประโยชน์เก่าด้วยการอุ้มชูกลุ่มผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
ในช่วงนั้นเองที่ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลหลุดออกมาทั้งหมด 4 ใบ ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานจนต้องขาดอายุไป
1 ใบ ตกทอดจนมาถึงกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งของวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ 1 ใบซึ่งก็ได้สร้างเป็นโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรขึ้นที่ภูเขียว
จังหวัดชัยภูมิ
และอีก 2 ใบตกอยู่กับกลุ่มโรงงานน้ำตาลวังขนาย
ดูเหมือนพวกเขาห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าความ "ฝันเฟื่อง" ไปแล้วขั้นหนึ่งในตอนนั้นพร้อมๆ
กับการตัดสินใจเพิ่มทุนพรวดเดียวเป็น 100 ล้านบาทโดยถือไว้เท่าๆ กันในสัดส่วนรายละ
25% "ซึ่งกลุ่มคุณเรวัตกับคุณสุชาติเขาไม่ถือเองโดยตรง หากแต่ให้คุณทนง บุรานนท์
กับคุณสมชาย พฤกษ์สว่างวงศ์ ถือแทน..." กลุ่มเต็กหลี แซ่โล้วระบุ
การตัดสินใจเพิ่มทุนกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2519 พร้อมกับการจัดสรรตำแหน่งกรรมการที่เป็นคนจาก
4 กลุ่มผู้ก่อการและกรรมการผู้มีอำนาจประกอบด้วยเต็กหลี แซ่โล้ว กับอารีย์
ชุ้นฟุ้ง
แต่ถึงจะมีทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาทแล้ว ปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างโรงงานจะตกไปก็หาไม่
วังขนายช่วงนั้นวิ่งหาแหล่งเงินกันเต็มเหยียดจริงๆ
ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การที่พอจะมีสายสัมพันธ์ผ่านทางเรวัตอยู่บ้างก็ตอบปฏิเสธด้วยการตัดสินใจของธนิต
พิศาลบุตร กรรมการผู้จัดการขณะนั้น แม้จะได้พยายามติดต่อกับอีกหลายธนาคารคำตอบที่ได้รับก็ยิ่งทำให้โครงการก่อสร้างล่าช้าไปทุกขณะ
วังขนายต้องกลายเป็นโครงการที่ค้างเติ่งมาจนปี 2524 และก็ไม่มีใครคิดว่าจะฟื้นขึ้นมาได้
อย่างน้อย 5 ปีที่ไม่มีอะไรคืบหน้ามากนี้ เต็กหลี เรวัต และสุชาติ คิดอย่างไรไม่มีใครยืนยัน
ที่จะยืนยันกันก็คืออารีย์ ชุ้นฟุ้ง นั้นยังไม่หมดกำลังใจ เขาเดินงานหลายระดับเหมือนกับไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อยย่อท้อ
อารีย์ ชุ้นฟุ้ง เข้าไปมีส่วนในการจัดตั้งบริษัทซูเทค จำกัด ขึ้นในช่วงปี
2521 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างเขากับคนที่ชื่อ สุเทพ ฉันทะกุล
จากนั้นเขาก็นำบริษัทซูเทคเข้ามาทำหน้าที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบโรงงานเครื่องจักรและสุเทฑ
ฉันทะกุล หุ้นส่วนในบริษัทซูเทค ได้รับตำแหน่งเป็นวิศวกรที่ปรึกษาของโครงการสร้างโรงงานน้ำตาลวังขนายด้วย
"หรือแม้แต่สถาปนิกของโรงงานที่ชื่อวิวัฒน์ชัย ปรางพิทักษ์ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทซูเทค"
ผู้ที่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทนี้ยืนยัน
และการเดินงานที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างสายสัมพันธ์กับธนาคารทหารไทยผ่านทางประยูร
จินดาประดิษฐ์ ซึ่งว่ากันว่าอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ให้ความเคารพนับถือตั้งแต่ครั้งกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทยคนนี้ยังทำงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าอารีย์ ชุ้นฟุ้ง รู้จักประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้อย่างไร
หรือตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่ทราบกันแน่ๆ นั้น อารีย์ ชุ้นฟุ้ง ในช่วงของการดิ้นรนหาทุนสร้างโรงงาน
พยายามเข้าเยี่ยมเยียนประยูรอยู่ไม่ได้ขาด
อารีย์ ชุ้นฟุ้ง ไม่เหนื่อยเปล่า ทุกอย่างเริ่มเห็นผลเมื่อย่างเข้าปี 2524
ภายใต้บรรยากาศรายรอบที่เป็นใจให้กับกลุ่มธุรกิจใหม่อย่างวังขนายยิ่งนัก
ประการแรก กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ผ่านการสะะสมทุนมาถึงระดับที่สามารถควบคุมพื้นที่เพาะปลูกนับพันๆ
ไร่ ปริมาณอ้อยนับแสนตัน ดำรงฐานะอยู่ในระดับหัวหน้าโควตาอ้อยที่มีลูกไร่จำนวนไม่น้อยพร้อมๆ
กับการเพิ่มขึ้นของอำนาจต่อรองกับโรงงาน พวกเขาได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญรากฐานหนึ่งของวงการอ้อยน้ำตาลทั้งระบบที่เมื่อก่อนอำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือฝ่ายโรงงานฝ่ายเดียว
และหลายคนในกลุ่มเหล่านี้ย่อมอยากมีโรงงานน้ำตาลเป็นของตนเองถ้ามีโอกาส อารีย์
ชุ้นฟุ้ง เสนอโอกาสให้หัวหน้าโควตาหลายคนพิจารณาในจังหวะนั้นพอดี แน่นอนทีเดียว
สำหรับทุนไร่อ้อยสิ่งนี้เป็นโอกาสที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนัก และสำหรับอารีย์กับวังขนายก็เป็นเรื่องของการอิงรากฐานในส่วนที่สามารถอิงได้เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่รากฐานอื่นๆ
ที่ต้องทำ"ลองเปรียบเทียบดูก็แล้วกันว่า จะต่างกันไหม หากบอกว่าโรงงานนี้เป็นของนายเต็กหลีกับนายอารีย์
กับบอกว่าโรงงานนี้เป็นของชาวไร่อ้อย..." นักการเมืองที่ผ่านการคลี่คลายม็อบชาวไร่อ้อยมาบ่อยครั้งพูดให้ฟัง
ประการที่สอง ปี 2524 เป็นปีที่ธนาคารทหารไทยเริ่มเปลี่ยนนโยบายจากธนาคารที่ขยายตัวช้าๆ
มาเป็นความพยายามที่จะก้าวกระโดด ธุรกิจใหม่ๆ ที่ธนาคารไม่เคยจับก็เริ่มจับ
ผลจากการเปลี่ยนนโยบายเช่นนี้ทำให้ทหารไทยก้าวจากธนาคารที่โตเป็นดันดับที่
10 ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 7 ทันทีเพียง 3 ปีหลังจากนั้น ซึ่งการสนับสนุนการเงินให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลต้องถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่ทหารไทยตัดสินใจเข้าไปจับ
วังขนายเดินเข้าธนาคารในจังหวะที่เหมาะสมมากๆ
ประการที่สาม จีนเปิดสัมพันธ์กับไทยได้หลายปีแล้วและกำลังต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการลงทุนและการค้าให้มากขึ้นภายใต้นโยบาย
4 ทันสมัยยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง ของจีน และการติดต่อกับจีนแม้จะค่อนข้างยุ่งยากหากไม่มีเส้นสาย
แต่ถ้าสามารถติดต่อกันได้แล้ว การค้ากับจีนเป็นเรื่องพูดง่ายยิ่งกว่าทุกชาติ
ประการที่สี่ อำนาจการเมืองไม่มีสภาพที่ศูนย์อำนาจใดเป็นปึกแผ่นได้ในระยะยาว
รัฐบาลภายหลังปี 2516 ต่อเนื่องมาโดยตลอดล้วนเป็นรัฐบาลที่ล้มลุกคลุกคลานเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับที่นโยบายบางประการสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาเหมือนกระดานหก
และสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับวังขนายกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปแล้วภายใต้เงื่อนไขหลายประการข้างต้น
ทั้งๆ ที่เป็นการเริ่มต้นอย่างคนมือเปล่าแท้ๆ
"อารีย์ จะมีก็เพียงโครงการและสิ่งที่เขาทำเป็นการขายโครงการให้กับทุกฝ่าย..."
ชาวไร่อ้อยระดับหัวหน้าโควตาคนหนึ่งกล่าวถึงบทบาทของอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ช่วงก่อนหน้าปี
2524 ให้ฟัง
ปลายปี 2524 เงื่อนไขทุกอย่างสำหรับวังขนายดูเหมือนจะเข้าล็อกไปหมด
อารีย์สามารถชักชวนหัวหน้าโควตาอ้อยจำนวน 20 คนเข้าผนึกกำลังเป็นรากฐานให้กับกลุ่มวังขนาย
พร้อมๆ กับบริษัทน้ำตาลวังขนายมีมติเพิ่มทุนอีกครั้ง 200 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียน
300 ล้านบาท หุ้นที่เพิ่มนี้ถือไว้โดยชาวไร่อ้อยระดับหัวหน้าทั้ง 20 คน คนละ
10,000 หุ้นมูลค่ารายละ 10 ล้านบาท (หุ้นละ 1,000 บาท)
ทางด้านบริษัทซูเทคและกลุ่มวิศวกรที่ปรึกษาที่อารีย์ดึงเข้ามาร่วมก็ลงมือออกแบบเครื่องจักรสำหรับโรงงานและด้วยการติดต่อผ่านญาติของเรวัต
ศิรินุกุล ที่เผอิญเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงพอสมควรของจีน การเจรจาให้จีนสร้างเครื่องจักรให้ก็ดำเนินไปได้อย่างรุดหน้า"ราคาเครื่องจักรตกประมาณ
700 ล้านบาท มีกำลังหีบ 15,000 ตันต่อวัน จีนถือว่าเป็นเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยสร้าง
เขาก็คงอยากได้งานนี้ด้วย เพราะเจ้าของเป็นการรวมตัวของเกษตรกร (ตามที่อารีย์บอกกับจีนและทุกฝ่าย)
จีนก็เลยยินดีที่จะสร้างให้ โดยวังขนายเปิดแอล/ซี ไปเพียง 5% ของมูลค่าเครื่องจักร
ทั้งนี้จีนมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนหลายข้อ อย่างเช่นเขาขอส่งวิศวกรมาดูแลการทำงานของเครื่องจักรทุกระยะเพื่อรายงานผล
ถ้าเกิดข้อผิดพลาดจะได้แก้ไขและช่วยให้เครื่องรุ่นหลังๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้น"
แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่า
ในรายงานการประชุมของบริษัทน้ำตาลวังขนายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2524
ระบุว่า การติดต่อกับจีนได้ตกลงกันได้ในปัญหาหลักการแล้ว และอารีย์จะต้องเดินทางไปเซ็นสัญญาขั้นสุดท้าย
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้อารีย์ไปเซ็นสัญญากับจีนและเห็นด้วยกับค่าใช้จ่าย
2,700,000 บาทที่อารีย์จำเป็นต้องใช้
ไม่มีรายงานกล่าวว่า ทำไมค่าใช้จ่ายเพียงการเดินทางไปเซ็นสัญญาจึงได้มากมายขนาดนั้น
และไม่นานหลังจากนั้นก็มีข่าวระบุออกมาว่าธนาคารทหารไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการวังขนาย
กลุ่มโรงงานน้ำตาลกลุ่มใหม่ถอดด้ามภายหลังการกระโดดเข้าไปในอาณาเขตใหม่ๆ
ทางธุรกิจที่ทหารไทยไม่เคยทำมาก่อน
สุพัฒน์ สุธาธรรมอดีตรัฐมนตรีคลังยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกเชิญให้เข้าร่วมรับตำแหน่งประธานบริษัทน้ำตาลวังขนาย
ว่ากันว่าเป็นการติดต่อของ อารีย์ ชุ้นฟุ้ง
กลุ่มเรวัตกับสุชาติที่ร่วมงานมาตั้งแต่แรกขอถอนตัวด้วยการขายหุ้นให้กับอารีย์
และอารีย์กลายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวที่สามารถกระทำการแทนบริษัทวังขนายได้ทั้งหมด
แต่นั่นก็ยังไม่ถือว่าวังขนายจะสามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตให้ก่อสร้างและการติดตั้งเครื่องจักร
"คือการตั้งโรงงานน้ำตาลจะต้องได้ใบอนุญาตทั้งหมด 3 ใบ แรกสุดคือใบอนุญาตให้ดำเนินการ
ใบที่ 2 อนุญาตให้สร้างโรงงาน และใบสุดท้ายอนุญาตให้ทำการผลิต วังขนายได้ใบแรกในยุครัฐบาล
18 เสียง ของพรรคกิจสังคม ปัญหาตอนนั้นของเขาก็คือการวิ่งเต้นขอใบอนุญาตก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร"
คนที่ทราบเรื่องวงการอ้อยน้ำตาลพูดกับ "ผู้จัดการ"
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมคือ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทย
ด้วยการเดินงานผ่านทางปรีชา อรรถวิภัชน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ใบอนุญาตก็หลุดออกมาได้ในที่สุด
ปรีชา อรรถวิภัชน์ สัมพันธ์กับกลุ่มวังขนายโดยเฉพาะอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ได้อย่างไรนั้น
ไม่มีใครทราบ แต่ที่ทราบๆ กันก็คือนอกจากให้ความร่วมมือในการประสานงานเดินเรื่องถึงรัฐมนตรีชาติชายในครั้งนั้นให้แล้ว
การซื้อโรงงานน้ำตาลอ่างเวียนและโรงงานน้ำตาลทรายเพชรของกลุ่มวังขนายก็ล้วนเป็นเรื่องที่ปรีชา
อรรถวิภัชน์ ประสานให้ทั้งสิ้น
ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างอารีย์
ชุ้นฟุ้ง กับผู้บริหารระดับสูงบางคนของธนาคารทหารไทย
"ผมว่าทั้ง 3 ส่วนนี่แหละคือกลไกที่แท้จริงของกลุ่มวังขนายในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งทำโรงงานน้ำตาล
มีชาวไร่อ้อยระดับหัวหน้าจำนวนหนึ่งเป็นฐานบวกกับสมองที่ปราดเปรียวและการรู้จักคบคน
อีกส่วนประสานงานด้านกลไกรัฐ คอยหาช่องทางให้กลุ่มมีการขยายฐานออไปเรื่อยๆ
และอีกส่วนคอยให้การสนับสนุนทางด้านเงินทอง..." ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งบอก
ปี 2526 โรงงานน้ำตาลวังขนายก็สร้างเสร็จ และได้รับอนุญาตให้เปิดหีบได้เป็นปีแรกพร้อมๆ
กับการเกิดขึ้นของระบบ 70/30 ของวงการอ้อยน้ำตาลในประเทศไทย
และถ้าหากวังขนายเกิดขึ้นมาด้วยความพิลึกพิลั่นที่หากไม่เป็นการประจวบเหมาะของทุกปัจจัยแล้วก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด
บทบาทภายหลังการได้เกิดแล้วดูเหมือนจะพิลึกพิลั่นยิ่งกว่านั้นหลายเท่า
มันเริ่มต้นด้วยปัญหาที่วังขนายไม่ยอมรับเรื่องภาระหนี้สินของระบบ 70/30
ที่ได้ยืมเงินจำนวน 78 ล้านเหรียญมาจ่ายให้โรงงานและชาวไร่อ้อย เพื่อพยุงฐานะความตกต่ำของอุตสาหกรรมในช่วงปี
2525 ซึ่งวังขนายไม่ได้รับส่วนแบ่งเพราะยังไม่ได้เปิดในช่วงนั้น เพราะฉะนั้นวังขนายตัดสินใจไม่รับภาระ
ในขณะที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยที่เป็นกลไกของระบบ ก็ต้องการให้วังขนายเข้าระบบด้วยการยอมรับภาระหนี้สินนี้จนขณะนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ปีการผลิตถัดมา 2527 วังขนายไม่ส่งมอบน้ำตาลโควตา ข. ก็เลยถูกตัดสิทธิในการส่งน้ำตาลออกขายต่างประเทศ
และปีที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ นี้ บริษัทส่งออกทั้ง 3 แห่ง (อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย,
ค้าผลผลิต และบริษัทส่งออกของกลุ่มไทยรุ่งเรือง) พบว่าวังขนายน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่มีในสต็อกจึงพร้อมใจกันไม่ค้ำประกันการส่งน้ำตาลขายต่างประเทศให้
นอกจากจะมีสถาบันการเงินยอมค้ำประกันให้โดยไม่มีเงื่อนไข "เข้าใจว่าเขาคงต้องการหมุนเงิน
คือสั่งขายไปเยอะๆ เพื่อเอาตั๋วมาทำแพ็กกิ้งเอาเงินออกไปหมุนเวียนใช้จ่าย
แต่น้ำตาลจริงๆ แล้วมีไม่พอ ถ้าต้องส่งมอบก็ต้องยืมโควตาของปีต่อๆ ไปส่งมอบทางบริษัทส่งออกเขาก็เลยไม่อยากค้ำประกันให้เจ็บตัว..."
แหล่งข่าวในวงการค้าน้ำตาลกล่าว
และสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งจะจบไปได้นี้ก็คือ วังขนายถูกสั่งปิดโรงงานดำเนินคดีที่มีกำลังผลิตเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต
(วังขนายได้รับอนุญาต 12,492 ตันอ้อยต่อวัน แต่หีบจริง 13,022.40 ตันอ้อยต่อวัน)
ต้องถูกสั่งปรับเป็นเงินราวๆ 42 ล้านบาทจึงได้รับอนุญาตให้เปิดหีบอ้อยได้ในปีนี้
"ผมว่าเรื่องกำลังหีบเกินนี้มันตั้งแต่เปิดโรงงานแล้ว แต่จู่ๆ ก็เกิดเรื่องนี้ขึ้น
แล้วจู่ๆ ก็ตกลงกันได้เรียบร้อยในฉับพลัน ภายหลังผู้บริหารธนาคารทหารไทยท่านหนึ่งประกาศว่าจะฉีดเงินให้วังขนายอีก
400 ล้านบาท..." ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งวิจารณ์
แต่ไม่ว่าวังขนายจะมีปัญหาที่ระบบเรียกว่าเป็นการ "แข็งเมือง" ที่ไม่ยอมขึ้นต่อระบบอย่างไร
นั่นยังอาจจะไม่ร้ายเท่ากับปัญหาภายในตัวของวังขนาย
ความขัดแย้งระหว่างอารีย์ ชุ้นฟุ้ง กับกลุ่มเต็กหลี แซ่โล้ว ที่ลงเอยด้วยคดีที่ต้องขึ้นศาลอย่างน้อย
2 คดี คดีแรกเกี่ยวกับการซื้อที่ดินร่วมกันในกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน และมีผลทำให้เต็กหลีเสียชีวิตไปด้วยโรคประจำตัวเมื่อต้นปี
2529 อย่างคนที่มีหนี้ท่วมตัว ในบรรยายฟ้องนั้นกลุ่มเต็กหลีระบุว่าหนี้ทั้งหมดที่เขาต้องรับภาระนี้เป็นการก่อขึ้นร่วมกันระหว่างเขา
อารีย์ เรวัต สุชาติ และบริษัทน้ำตาลวังขนาย ส่วนคดีที่สอง เป็นการร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทน้ำตาลวังขนายเพราะขาดทุนสะสมถึง709ล้านบาทกว่า
ในขณะที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพียง 300 ล้านบาท
"และก็มีการเปิดเผยว่าวังขนายโรงเดียวก่อหนี้ไว้ถึง 2,756 ล้านบาทเศษ"
ผู้ที่ทราบเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลระบุ
การเปิดหีบผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลวังขนายตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นก่อให้เกิดการขาดทุนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
(อ่านจากล้อมกรอบ) และเงื่อนไขที่จะทำกำไรดูเหมือนจะเป้นเรื่องที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้
บางคนอาจจะคิดว่าวังขนายคงต้องยืนตายแห้งไปพร้อมๆ กับความพ่ายอพ้ของกลุ่มธุรกิจใหม่ที่หาญกล้าเข้ามาในยุทธจักรที่ล้วนแต่มีผู้แข็งแกร่งที่อยู่มาเก่าแก่
แต่วังขนายก็ไม่ได้ยืนตายแห้ง
วังขนายกลับขยายตัวอย่างพลิกความคาดหมายด้วยซ้ำ
ภายหลังการลงมือก่อสร้างโรงงานน้ำตาลวังขนายได้ไม่นานนักนั้น โรงงานแห่งที่สองของกลุ่มวังขนายภายใต้ชื่อบริษัทรีไฟน์ชัยมงคลก็ลงมือก่อสร้างโรงงานน้ำตาลอู่ทองขึ้นที่ตำบลหนองโอ่ง
อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี"เขาก็ใช้ใบอนุญาตใบที่ 2 ที่ได้มาพร้อมกับวังขนาย
โรงงานนี้ก็เริ่มคล้ายๆ กับวังขนายคือผู้ถือหุ้นก็มีพวกหัวหน้าโควตาอ้อย
สนับสนุนการเงินโดยธนาคารทหารไทย บริหารโดยอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดเพียวผู้เดียว..."
หัวหน้าโควตาอ้อยเขตอำเภอด่านช้างสุพรรณบุรีเล่ากับ "ผู้จัดการ"
ที่ต่างออกไปเห็นจะมี 2 ประการ
- เครื่องจักรเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดที่มีการติดตั้งอยู่ในโรงงานน้ำตาลทั้งหมดของไทย
เป็นเครื่องจักรของบริษัท นิโช่ อิวายอิ แห่งประเทศญี่ปุ่น
- ตัวโรงงานนั้นจัดตั้งเป็นบริษัทชื่อบริษัทน้ำตาลอู่ทอง แต่ผู้บริหารใช้อีกบริษัทที่ชื่อรีไฟน์ชัยมงคล
ใครเป็นเจ้าของโรงงานและใครเป็นเจ้าของรีไฟน์ชัยมงคล "ผู้จัดการ" ไม่สามารถตรวจสอบได้
เพราะหลักฐานทั้งหมดยังไม่ส่งกระทรวงพาณิชย์"แต่สิ่งที่ยังไม่เข้าใจก็คือทำไมต้องแยกเป็น
2 บริษัท" แหล่งข่าวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกต
ว่ากันว่าเงินที่ลงทุนไปสำหรับโรงงานแห่งที่ 2 นี้ไม่น่าจะน้อยกว่า 1,800
ล้านบาทซึ่งเป็นเงินกู้ทั้งหมด"เครื่องจักรเป็นซัปพลายเออร์เครดิตที่มีสถาบันการเงินในนี้ค้ำประกันให้..."
แหล่งข่าวคนเดิมเปิดเผย
รีไฟน์ชัยมงคลเริ่มเปิดหีบปีแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งที่จริงตามกฎหมายแล้วยังไม่ได้รับอนุญาตแต่เพราะม็อบชาวไร่อ้อยในเขตสุพรรณบุรีร้องขอก็เลยต้องอนุญาตให้เปิดหีบได้
รีไฟน์ชัยมงคลที่จริงยังมีปัญหาต้องสะสางอีกพอควร โดยเฉพาะปัญหากำลังหีบเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกับโรงงานวังขนาย
และล่าสุดนิโช่ อิวายอิ ก็แสดงท่าทีต้องการคลี่คลายปัญหาหนี้สินจากการซื้อ
และติดตั้งเครื่องจักรด้วยการเข้ามาดำเนินกิจการโรงงานแห่งนี้ร่วมกับกลุ่มโรงงานน้ำตาลบางกลุ่มที่นิโช่ฯ
เห็นว่าแข็งแกร่งกว่าวังขนาย จะเป็นไปได้หรือไม่ได้นั้นกล่าวกันว่าอยู่ที่การตัดสินใจของธนาคารทหารไทยเจ้าหนี้รายใหญ่
ท่ามกลางปัญหาและกลุ่มวังขนายก็ยังเดินหน้าต่อไป
ปลายปี 2527 กลุ่มวังขนายทำในสิ่งที่วงการไม่คาดคิดด้วยการซื้อโรงงานน้ำตาลเพชรบุรีของ
คุน คุนผลิน เข้ามาในเครือเป็นโรงที่ 3 ด้วยสนนราคาเบ็ดเสร็จ 70 ล้านบาท
ซึ่งในวันทำสัญญานั้นวังขนายจ่ายไปเป็นเงิน 10 ล้านบาทเป็นเช็คธนาคารทหารไทย
วันที่ 3 ธันวาคม 2527 อีก 10 ล้านบาท เป็นการรับภาระหนี้แทนเจ้าของเก่าและ
50 ล้านบาทผ่อนชำระ ขณะนี้เหลืออีก 2 งวด งวดสุท้ายจะต้องชำระในวันที่ 3
มิถุนายน 2530 (ชำระเป็น 5 งวด งวดละ 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 10%)
"เขาชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอาวัลโดยทหารไทย" อดีตผู้บริหารโรงงานน้ำตาลเพชรบุรีบอก
ปลายปี 2528 วังขนายซื้อโรงงานน้ำตาลโรงที่ 4 บริษัทอุตสาหกรรมอ่างเวียนของตระกูลชินธรรมมิตร
ด้วยราคาประมาณ 360 ล้านบาท
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจกิจการในเครือธนาคารทหารไทยช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินให้
การซื้อโรงงานน้ำตาลอ่างเวียนนั้นเป็นการซื้อด้วยการเข้าไปถือหุ้นโดยบริษัทน้ำตาลวังขนาย
40% บริษัทน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล 40% อารีย์ ชุ้นฟุ้ง 10% และอีก 10% ที่เหลือกระจัดกระจายไปตามกลุ่มหัวหน้าโควตาอ้อยที่เป้นผู้ถือหุ้นในโรงงานวังขนาย
กลุ่มวังขนายนั้นเกิดขึ้นอย่างที่ไม่น่าจะเกิดได้!
ขยายตัวท่ามกลางปัญหาและหนี้สินที่หลายคนมองว่าจะชำระคืนอย่างไรไหว
มีความกล้าหาญพอที่จะไม่ยอมขึ้นต่อระบบในบางสิ่งที่ตระหนักว่าตนไม่ผิดจนใครๆ
ขนานนามให้เป็น "แกะดำ" ระบบ 70/30
ผู้บริหารคนสำคัญอย่าง อารีย์ ชุ้นฟุ้ง เองก็เด็ดเดี่ยวขนาดที่กล้าทุบโต๊ะสนทนากับคนระดับรัฐมนตรี
และกำลังตระเตรียมตัวที่จะตั้งบริษัทส่งออกพร้อมไวโลเป็นของตนเองแข่งกับยักษ์ใหญ่วงการน้ำตาลทั้งหลายในประเทศนี้
เรื่องของวังขนายเป็นเรื่องหักมุมโดยตลอด น่าจะเลี้ยวซ้ายกลับเลี้ยวขวา
ที่ควรกลับหลังกลับหันหน้า
วังขนายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?
เชื่อว่าเรื่องนี้จะต้องไม่เป็นปริศนาตลอดกาล!