|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถึงเวลาลงล็อกพอดี เมื่อ “เดอะมอลล์กรุ๊ป” เตรียมฉลองใหญ่ครบรอบ 30 ปี คู่แข่งอย่าง “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ “ซีพีเอ็น” ก็เปิดแผนลงทุน กว่า 20,000 ล้านบาท ฉลองครบรอบ 30 ปีเช่นกัน เพียงแต่ฝ่ายแรกยังซุ่มเงียบ อุบ “แผนธุรกิจ 5 ปี” ไว้อย่างมิดชิด ขณะที่อีกฝ่ายประกาศ “แผน 10 ปี” เปรี้ยงปร้างเขย่าวงการแถมปล่อยหมัดออกมาอย่างต่อเนื่อง
ห้างเดอะมอลล์เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2524 บนถนนราชดำริติดกับเกษรพลาซ่าและโรงแรมอโนมาปัจจุบัน ปิดตัวไปเมื่อปี 2531 เนื่องจากไฟไหม้ ล่าสุดมีสาขาทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ รามคำแหง “มอลล์ 2” รามคำแหง “มอลล์ 3” รามคำแหง “มอลล์ 4” ท่าพระ งามวงศ์วาน บางแค บางกะปิ และนครราชสีมาหรือโคราช นอกจากนั้นยังมีห้างหรู “เอ็มโพเรียม” และร่วมทุนกับกลุ่มสยาม พิวรรธน์ผุดศูนย์การค้า “สยามพารากอน” ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างที่เคยเป็นข่าว ปีหน้าเดอะมอลล์กรุ๊ปจะเปิด “เอ็มโพเรียม 2” ฝั่งตรงข้ามเอ็มโพเรียมเดิมและเน้นการปรับปรุงสาขาที่มีอยู่
ตามแผน 5 ปีที่ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด เคยให้รายละเอียดคร่าวๆ เมื่อปลายปีก่อนนั้น ในภาพรวมจะเป็นแผนเชิงรุก โดยไม่ได้มองการขยายสาขาเป็นกลยุทธ์หลัก แต่ต้องการให้สาขาเดิม แข็งแกร่งและอยู่ได้อย่างมั่นคงก่อน จึงค่อยมองหาพื้นที่ในการขยายสาขา ซึ่งทำแล้วต้องประสบความสำเร็จ เนื่องจากการลงทุน ใหม่ หมายถึงความรับผิดชอบต่อร้านค้าที่ร่วมกันไปบุกเบิก ต้องให้อยู่รอดกันทั้งสองฝ่าย
ทั้งหมดทั้งปวงจนถึงวันนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ และมีแนวโน้มว่า จะต้องรอการสรุปรายละเอียดทั้งหมดในเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 เดือนตามสไตล์การบริหารงานของศุภลักษณ์ คือ สมบูรณ์แบบและทำกำไรแน่นอน
ดูภายนอก เดอะมอลล์กรุ๊ปในวันนี้อาจดูเงียบสนิทในเชิงกระแสข่าวการลงทุน แต่วงในแล้ว ศุภลักษณ์ยุ่งกับการเจรจาธุรกิจอย่างหนัก ตั้งแต่เช้าจนถึงมืดค่ำทุกวัน
ขณะที่ฝ่าย “เซ็นทรัล” เปิดเกมรุกไม่หยุด โดยเฉพาะการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ “ลารีนาเซนเต” ในประเทศอิตาลี มูลค่าเงินลงทุน 260 ล้านยูโร หรือกว่า 10,000 ล้านบาท มีแผนขยายสาขาขนาดใหญ่ (แฟลกชิปสโตร์) ในอิตาลีตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น โรม เวนิส ฟลอเรนซ์ และเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น นาโปลีและโบโลญญา รวมถึงประเทศอื่นในยุโรป และเมืองสำคัญ หลักๆ ของโลก เช่น แถบเอเชีย แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง
ที่สำคัญยังเตรียมเงินตุงกระเป๋าอีก 2 หมื่นล้านบาทไว้ไล่ซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุด อยู่ระหว่างการเจรจากว่า 10 แห่ง เพื่อสร้างแบรนด์ ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ล่าสุดเท่ากับ มี 4 แบรนด์ คือ เซ็นทรัล เซน โรบินสันและลารีนาเซนเต ณ เวลานี้ ตั้งเป้าผลักดันแบรนด์ “เซ็นทรัล” เป็นแบรนด์ท็อปออฟ เอเชีย ส่วน “ลารีนาเซนเต” เป็นเวิลด์คลาส ไลฟ์สไตล์ แบรนด์
ตามนโยบายของบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือซีอาร์ซีปีนี้ บริษัทวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจมีทั้งการปรับปรุง แสวงหาพันธมิตรควบกิจการ เพิ่มมูลค่า ขยายสาขา พัฒนาช่องทางใหม่และก้าวไปสู่อินเตอร์ โดยเฉพาะนโยบายการควบรวมกิจการ หรือ M&A (Mergers & Acquisitions) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ สำคัญที่ส่งผลให้กลุ่มฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างกรณีบิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์และล่าสุด ซีอาร์ซีซื้อกิจการห้างหรูอิตาลี ลารีนาเซนเต คาดว่าจะสร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 แสนล้านบาทในปี 2555 จากปีนี้ที่คาดว่ามีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท
ในอนาคตเรียกว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะเน้นการควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากการลงทุนเองได้ผลตอบแทนช้ากว่า โดยเตรียมเงินชอปปิ้งฮุบกิจการห้างปีละ 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้าต้องมีสาขาในต่างประเทศครบ 40 สาขาภายใน 10 ปี เพื่อเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10% เทียบกับการขยายตัวในอัตราปกติปีละ 6-7%
สำหรับปีนี้นอกเหนือจากการเปิดโครงการหรู เซ็นทรัล เอ็มบาสซีแล้ว ก็มีห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 3 สาขาใหม่ ที่ จ.เชียงราย จ.พิษณุโลก และพระราม 9 ร้านท็อปส์ เดลี่ จะขยาย สาขาเพิ่มขึ้นจำนวน 100 สาขา รวมถึงร้านเพาเวอร์บายและไทวัสดุ ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศยังคงเน้นที่ประเทศจีน เป็นหลัก โดยเปิดอีก 2 สาขา คือ ห้างเซ็นทรัลและห้างเซน สาขา เสิ่นหยาง ล่าสุดยังเซ็นสัญญากับผู้บริหารโครงการศูนย์การค้ามิกซ์ซี เปิดห้างเซ็นทรัลเพิ่มอีก 1 สาขาที่เมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นสาขา ที่ 4 ในจีน และจะมีอีก 2 โครงการในเร็วๆ นี้
ส่วน “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปีนี้ครบรอบ 30 ปี กอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวว่า ซีพีเอ็นเตรียมเม็ดเงินลงทุนในช่วง 2 ปี คือ ปี 2554-2555 กว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจสู่อนาคตในการพัฒนาศูนย์การค้าคุณภาพระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพิชิตจุดหมายในการเป็น World Class Retail Property Developer
ซีพีเอ็นยังคาดการณ์ด้วยว่า แม้ต้องปิดปรับปรุงโครงการเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว แต่รายได้รวมน่าจะเติบโตได้ 10-15% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโครงการใหม่ๆ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวเซ็นทรัลพลาซา เชียงราย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะเปิดตัวเซ็นทรัลพลาซา พิษณุโลก ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ส่วนเดือนธันวาคมจะเปิดเซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 รวมทั้งการปรับโฉมเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ และห้างสรรพสินค้าเซนที่เซ็นทรัลเวิลด์จะเปิดในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ในปีหน้ามีโครงการเปิดศูนย์การค้าใหม่ คือ เซ็นทรัลพลาซา สุราษฎร์ธานี และเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ พร้อมปรับ โฉมเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี
ดังนั้น ในปีหน้าซีพีเอ็นจะมีสาขาแทบทั่วภูมิภาครวม 20 สาขา จากปัจจุบัน 16 สาขา และเร่งรีโนเวตศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา บางนาครั้งใหญ่สุดในรอบ 18 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าและรองรับการแข่งขันของศูนย์การค้าในย่านศรีนครินทร์ที่รุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค และเมกะ บางนา
หากเจาะจุดขายของศูนย์ใหม่ต้องถือว่า ซีพีเอ็นพยายามวางยุทธศาสตร์สงครามค้าปลีกอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่คนไทยใน ประเทศ อย่างโครงการเซ็นทรัล พลาซา พิษณุโลก จะเป็นไลฟ์ สไตล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอินโดจีน จำนวนพื้นที่ 105 ไร่ มีร้านค้าชั้นนำและแฟชั่นแบรนด์ดังกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางทางธุรกิจที่เชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอินโดจีน
กอบชัยยังเผยถึงแผน 10 ปีหรือการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 จะต้องใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทในการขยายศูนย์การค้าและลงทุนด้านอื่นๆ.
ปัจจุบันเซ็นทรัลมีพื้นที่ขายทั้งสิ้นจำนวน 3 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็น 16 สาขา และ 10 ปี ต่อจากนี้บริษัทตั้งเป้าหมายขยายสาขาเฉลี่ย 3-4 ศูนย์ต่อปี หรือมีพื้นที่ขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% เพื่อสร้างภาพผู้นำของศูนย์การค้าของไทย ให้เทียบเท่าศูนย์การค้าแคปิตอล แลนด์ (Capital Land) ของสิงค์โปรที่มีศูนย์การค้ารวมกว่า 60 ศูนย์ทั่วเอเชีย
ในการลงทุนสาขาต่างประเทศนั้น ขณะนี้กำลังเจรจาในโครงการที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน ผ่านสัดส่วนการถือหุ้นของเซ็นทรัล 30% และแผนดำเนินงานโครงการในอนาคตให้ความสำคัญกับตลาดเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย รองรับการที่ไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
“จิราธิวัฒน์” เปิดแผนครบเครื่องขนาดนี้ คงต้องจับตาฝั่ง “อัมพุช” จะเดินเกมโต้กลับอย่างไร
|
|
|
|
|