การเขียนความเห็นตบท้ายเรื่องของเขานี้ดูจะเหน็ดเหนื่อยและยากเย็นกว่าการเขียนเรื่องหลักเสียอีก
เพราะผมเองต้องอ่านข้อมูลศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและพูดคุยกับคนหลายๆ คนในจำนวนมากก่อนที่จะสรุปอะไรต่ออะไรออกมา
การจะเขียนความเห็นเรื่องนี้ ผมได้ยึดถือเอาความถูกต้องกติกาและกฎเกณฑ์ในทางธุรกิจเอาไว้เป็นหลัก
ในการเขียนครั้งนี้ผมต้องยอมรับว่า ผมเขียนด้วยความหงุดหงิดอย่างเต็มประดา
ที่ว่าหงุดหงิดเป็นเพราะว่า ผมเขียนไปผมมีคำถามที่คำตอบที่ถูกต้องมันมีอยู่แล้วแต่ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมันกลับเป็นอีกอย่าง
และเรื่องนี้ถ้าเราไม่แก้ไขกันแล้วมันน่ากลัวมาก เพราะมันจะเป็นชนวนบอกเหตุถึงอนาคตของประเทศนี้ที่เรากำลังหาทางแก้ไขจากผิดให้เป็นถูก
คำถามมีอยู่มากเช่น
...หลักเกณฑ์ในการค้าขายกับราชการในการประมูลนั้นจะยึดถือว่าเมื่อผู้ประมูลรับทราบเงื่อนไขต่างๆ
และเซ็นสัญญากับทางราชการแล้วจะต้องยึดถือสัญญาโดยเคร่งครัด หรือมีข้อยกเว้นที่ทางราชการสามารถผ่อนปรนและถึงจุดจุดหนึ่งสามารถให้แก้สัญญาได้?
เราจะเลือกเอาแบบไหน?
การที่กลุ่มสุราทิพย์ประมูลทำสุราในโรงงานสุรา 12 เขตของกระทรวงการคลังได้แต่ผู้เดียวโดยเสนอให้สิทธิค่าตอบแทนตลอดจนการสร้างโรงงานทั้ง
12 โรง ให้รัฐบาลเพื่อแลกกับการที่ตัวเองจะมีสิทธิในการดำเนินการโรงงานสุราทั้ง
12 โรงแต่ผู้เดียวนั้นก็เป็นการแลกเปลี่ยนกันโดยชอบธรรมแล้วเพราะ
ก) กลุ่มสุราทิพย์คือกลุ่มนักธุรกิจที่หวังผลกำไร การเสนอตัวเลขมาก็ย่อมแสดงว่าทางผู้บริหารกลุ่มสุราทิพย์ย่อมรู้แก่ใจว่าต้นทุนตัวเองเท่าไร?
และเสนอราคามาเท่านี้จะทำได้หรือไม่ได้?
ฉะนั้นการมาขอแก้สัญญาทีหลังโดยอ้างสาเหตุนานาประการย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าเจตนาการประมูลครั้งแรกนั้นไม่บริสุทธิ์
ข) ถ้าจะมีการแก้สัญญาก็จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประมูลรายอื่นที่แพ้ไป เพราะผู้ประมูลรายอื่นก็สามารถจะให้ค่าตอบแทนแก่รัฐในราคาสูงได้เช่นกัน
ถ้ารู้ว่าสามารถจะแก้สัญญาและได้รับความช่วยเหลือจากรัฐภายหลังดังเช่นกลุ่มสุราทิพย์กำลังจะได้อยู่
ถ้ารัฐบาลยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในเรื่องนี้ก็แสดงว่า
ก)เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรงตลอดจนนักการเมือง ที่วิ่งเต้นเรื่องนี้ต่างก็ได้รับผลประโยชน์เป็นสินจ้างรางวัลในการช่วยเหลือผู้ผิดสัญญาหรือไม่
ค) รัฐบาลเองก็น่าจะออกเป็นกฎเกณฑ์ให้ใช้กันได้ทั่วไปทุกหน่วยงานว่า การประมูลอะไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเซ็นสัญญากันในเงื่อนไขข้างต้นแล้วก็สามารถจะแก้ไขสัญญาได้
ถ้าผู้ประมูลไม่สามารถจะกระทำตามสัญญาได้จะได้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป
หากไม่ใช่เช่นนี้แล้วกติกาทางธุรกิจก็จะตกอยู่ในสภาวะของใครมีเงินมีอำนาจมีสายสัมพันธ์ก็สามารถจะทำอะไรก็ได้
เพียงเพื่อให้กลุ่มตัวเองได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ความถูกต้องในวงการธุรกิจที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราควรจะมีก็ไม่มีและมันก็จะไม่ต่างไปกว่าการส่งเสริมให้เรามี
" อั้งยี่ในวงการธุรกิจ"
...ความเป็นธรรมในการปฏิบัติของราชการกับประชาชนมีการแบ่งชนแบ่งชั้นกันใช่หรือไม่?
บริษัทห้างร้านที่ค้างภาษีอากรของรัฐก็จะถูกรัฐดำเนินคดีฟ้องร้องยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดทันที
ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งค้างภาษีอากรเช่นกันเป็นพันๆ ล้าน แต่กลับได้รับการอะลุ้มอล่วยจากหน่วยงานของรัฐตลอดจนกระทรวงการคลังอย่างออกหน้าออกตา
ไม่ทราบว่าประเทศนี้มีหลักเกณฑ์การแบ่งประชาชนออกเป็น "ผู้มีอิทธิพล คนร่ำคนรวย"
กับ "ประชาชนธรรมดา" หรือ?
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะประกาศออกมาในราชกิจจานุเบกษาให้มันรู้เช่นเห็นชาติกันไปเลย
อีกหน่อยมีเรื่องราวที่ไม่เป็นธรรมออกมาประชาชนชั้นธรรมดาก็จะได้ไม่ต้องโอดครวญขอความเป็นธรรมก็จะก้มหน้ารับกรรมต่อไป!
...ระหว่างกลุ่มสุราทิพย์ที่มีปัญหากับปัญหาของบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม
รัฐบาลควรช่วยใครบ้าง?
ธานินทร์อุตสาหกรรมเริ่มจากอุตสาหกรรมครอบครัวของตระกูลวิทยะสิรินันท์
มีมานะสร้างโรงงานผลิตวิทยุเพื่อขายแข่งกับสินค้าต่างประเทศ จนกระทั่งสามารถส่งออกได้
และต้องแข่งกับโรงงานอุปกรณ์ไฟฟ้าของต่างประเทศที่เข้ามาตั้งในไทย เขาได้พัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเขาเอง
เขาได้สร้างโรงงานให้คนไทย พัฒนาฝีมือแรงงาน ผลิตสินค้าที่พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและส่งออกไปขายต่างประเทศ
นำเงินตราต่างประเทศเข้ามา ทั้งหมดนี้รัฐบาลไม่เคยช่วยเขาสักแอะเดียว ทั้งๆ
ที่เขาเคยเรียกร้องให้ช่วยแต่ทุกคนเป็นบี้บอดใบ้ไปหมด ส่วนกลุ่มสุราทิพย์นั้นเป็นพ่อค้าที่จัดธุรกิจด้วยการประมูลเพื่อผูกขาด
(เหล้าต่างประเทศไม่ได้มีโอกาสมาตั้งโรงงานผลิตเหล้าแข่งกับเหล้าไทยเหมือนโรงงานโซนี่
ซันโย ฯลฯ ที่มาตั้งในไทยแข่งกับธานินทร์) การขายนอกจากจะขายสินค้าเหล้าที่ฆ่าคนแล้วตัวเองยังได้รับการชดเชยภาษีจากกระทรวงการคลัง
ในห้าปีแรกพอมีปัญหาก็ไม่จ่ายภาษีรัฐก็โอนอ่อนผ่อนปรน พออยากแก้สัญญาใหม่รัฐก็แบะท่าให้
ก็ไม่ทราบว่าสาธุชนที่รักความเป็นธรรมเปรียบเทียบแล้วจะรู้สึกอย่างไรบ้าง?
...ตัวเลขที่สับสนและอำพรางนั้นแท้ที่จริงแล้วติดค้างหนี้สินกันเท่าไรกันแน่?
หนี้สินทั้งหมดประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นดังนี้ :-
1. 5,088 ล้าน จ่ายเป็นเงินมัดจำค่าสิทธิประโยชน์ตอนประมูลได้ (เงินก้อนนี้ไม่สูญเพราะรัฐต้องจ่ายคืนให้ผู้ประมูลได้ภายใน
5 ปี)2. 5,000 ล้าน กู้มาสร้างโรงงาน 12 โรง (หนี้ก้อนนี้แปลงออกเป็นสภาพทรัพย์สินที่ธนาคารแบ่งกันยึดสิทธิเอาไว้ตามจำนวนเงินสินเชื่อของแต่ะธนาคาร)
3. 5,000 ล้าน กู้มาเพื่อซื้อสุราค้างสต็อกจำนวน 7.8 ล้านเท (หนี้ก้อนนี้ก็แปลงสภาพเป็นสุราซึ่งเมื่อขายไปแล้วก็ได้เงินคืนมา)4.
5,000 ล้านบาทกู้มาเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
ทั้งสี่ข้อนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า มูลหนี้จริงๆ ที่ต้องชดใช้ถ้ามีการเลิกสัญญาหรือประมูลใหม่คือหนี้
5,000 ล้านบาทในข้อที่ 4 เท่านั้นเอง หาใช่ 20,000 ล้านที่พูดเอาไว้ไม่?
...สมมติว่ารัฐให้ประมูลใหม่ใครจะได้ประโยชน์เสียประโยชน์ในเรื่องนี้?
ถ้ารัฐให้ประมูลใหม่รัฐจะได้ประโยชน์แต่ผู้เดียวเพราะ
ก) เงินค่ามัดจำรัฐก็ยึดไปได้
ข) โรงงานก็ตกเป็นของรัฐ
ธนาคารจะได้เพียง เหล้าค้างสต็อก 7.8 ล้านเท
ส่วนหนี้ที่ปล่อยไปให้กลุ่มสุราทิพย์ กู้ปจ่ายค่ามัดจำค่าสร้างโรงงานอีกรวมทั้งสิ้นประมาณ
10,000 ล้านบาทที่ต้องขาดทุน
ซึ่งถ้ามองในรูปของผลเสียหายแล้วอาจจะกระทบกระเทือนต่อสถานภาพของสถาบันการเงิน
ทางออกที่ดีที่สุด!
การหาทางออกในกรณีนี้ควรจะเป็นการหาทางออกที่ไม่ให้รัฐและธนาคารต้องเสียผลประโยชน์
(ธนาคารเองอาจจะเสียเฉพาะเงิน 5,000 ล้านที่ปล่อยให้คน 5-6 คนในกลุ่มมสุราทิพย์ค้ำประกันซึ่งก็ต้องให้ธนาคารเสียบ้างมากน้อยตามปริมาณของแต่ละธนาคาร
ซึ่งก็ต้องไปรีดเอาจากพงส์ สารสิน กมล เอี่ยมสกุลรัตน์ เถลิง เหล่าจินดา
เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ และอีกคนสองคนที่ค้ำประกันหนี้ก้อนนี้ไว้)
ส่วนผู้บริหารกลุ่มสุราทิพย์ต้องเสียผลประโยชน์นั้นเป็นเรื่องที่ชอบและถูกต้องในแผนอันนี้แล้ว
เพราะถ้าคนพวกร่ำรวยจากการผูกขาดขายเหล้า คนพวกนี้ก็ไม่ได้แบ่งสันปันส่วนเงินกำไรให้กับรัฐอยู่แล้ว
นอกเหนือจากภาษีที่ต้องเสียให้รัฐตามกฎหมายซึ่งก็เป็นธรรมดาเมื่อเขาทำผิดกติกา
และเขาทราบเงื่อนไขของกติกาตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาเล่น พวกเขาก็ต้องเคารพมันและรับมันไปเสีย
ผมเชื่อว่าเขาก็คงไม่ได้จนไปกว่าเดิมหรอกเพราะปากเขาโวยวายว่าเขาไม่มีเงินกินแล้ว
แต่ก็มีชื่อพวกเขานั่งกันอยู่ในธนาคารมหานคร ทั้งที่บริษัทก็ค้างค่าภาษีรัฐแต่พวกเขาก็ซื้อเบนซ์
500 ซึ่งราคาคันละ 5-6 ล้านให้ผู้อำนวยการนั่งกัน ฉะนั้นความจนของพวกเขาเป็นความจนที่พวกเราจะต้องมานั่งทบทวนกันให้ดีๆ
"ผู้จัดการ" ขอเสนอทางออกที่ยุติธรรมที่สุด (ยุติธรรมกับรัฐและประชาชนและกับธนาคารเท่านั้น)
1. ให้รัฐยกเลิกสัญญากับกลุ่มสุราทิพย์และหาผู้ซื้อสัญญานี้ต่อโดย
2. ให้คืนเงินค่ามัดจำสิทธิของเดิมให้กับธนาคารเจ้าของเงินเดิม
3. ให้ผู้รับสัญญาใหม่รับภาระการใช้หนี้ธนาคารจากการสร้างโรงงาน 5,000
ล้านโดยตรงและรับหน้าที่เกิดจากกู้มาซื้อสุราเก่า
4. ให้รัฐดำเนินการฟ้องร้องเรียกเอาเงินค่าภาษีคงค้างจากกลุ่มเก่า
5. ให้ธนาคารดำเนินการเรียกหนี้ 5,000 ล้านที่กลุ่มเก่ากู้เอามาใช้เป็นทุนหมุนเวียน
6. ผู้ที่จะเข้ามารับสัญญาใหม่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเดิมทุกประการ
ทางออกที่เสนอมานี้เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดและก็เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนที่เขามีเงินมาลงไม่ใช่พวกจับเสือมือเปล่า
บางคนที่เอาตัวเองค้ำประกันหนี้ที่ตอนนี้หย่าขาดกับเมียแล้วโอนแจกจ่ายสมบัติไปจนหมดเพื่อเมื่อโดนฟ้องจะได้ไม่เป็นไร
ทั้งหมดที่พูดมานั้นผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้เพราะมันเหมือนกับจะรู้ว่าเกมมันวางกันไว้แล้วและกระทรวงการคลังเองก็คิดจะช่วยคนกลุ่มนี้อยู่
แต่ก็ขอให้พูดเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้หน่อยเถอะ เพื่อคนไทยรุ่นต่อๆ
ไปอาจจะได้รับทราบข้อเท็จจริงและเมื่อเวลาผ่านไปจะได้รู้ว่าขบวนการปล้นชาติ
15,000 ล้านบาทนี้มันมีใครร่วมปล้นกันอยู่บ้าง
จะได้ไม่ลืมกันไงล่ะ!
จะได้สาปแช่งกันต่อๆ ชั่วนิรันดร!
สนธิ ลิ้มทองกุล
บรรณาธิการ