ใกล้พลบค่ำวันนั้นที่บริเวณชั้นล่างอาคารอโศกทาวเวอร์ ผ้าแพรคลุมป้ายบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
เอจีซี (ประเทศไทย) ถูกคลี่เปิดอย่างบรรจง
ผู้ทำหน้าที่ประธานกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง…
ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งก็เป็นคนเดียวกันที่ประสานงานติดต่อเจรจาจนเอจีซี
(ประเทศไทย) มีโอกาสได้เกิดเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รายล่าสุดในขณะที่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลัง
ยังไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง จนประสบความสำเร็จในนามพรรคประชาธิปัตย์
แต่มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
วันนั้นก่อนที่แชมเปญจะถูกเปิดและรินแจกจ่ายไปในหมู่แขกรับเชิญเพื่อชนแก้วแสดงความยินดีกับคณะผู้บริหารของเอจีซี
(ประเทศไทย) โดยมีแขกเกียรติยศชื่อ พงส์ สารสิน ตำแหน่งรองนายกฯ และนักธุรกิจชาวไทยชาวต่างประเทศมากหน้าหลายตาแล้ว
เอจีซี (ประเทศไทย) วางกำหนดการเปิดแถลงข่าวเวลา 16.00 น. ก่อนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้น
2 ชั่วโมงด้วย
ประชาสัมพันธ์ที่ส่งบัตรเชิญไปตามสื่อมวลชนนั้นก็ถึงกับโทรศัพท์กำชับดิบดีว่าจะเป็นการแถลงเรื่องสำคัญพร้อมกับเชิญชวนว่า
"ไม่ควรพลาด…" ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการตอบสนองจากสื่อมวลชนอย่างท่วมท้น
ด้วยความที่ได้ยินชื่อเสียงกิตติศัพท์ของเอจีซีกันมามากพอสมควร และไม่เคยสัมผัสของจริง
"ผู้ใหญ่ในแบงก์ชาติกับคลังพูดกันมากว่า เอจีซี เป็นมืออาชีพในธุรกิจการเงิน"
นักข่าวสายการเงินการคลังคนหนึ่งพูดกับนักข่าว "ผู้จัดการ"
เอจีซี (ประเทศไทย) นั้น เป็นบริษัทในเครือของออสเตรเลียน การันตี คอร์ปอเรชั่น
ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ก่อตั้งขึ้นกว่า
60 ปีแล้ว และสังกัดอยู่ในกลุ่มของธนาคารเวสต์แพค
เอจีซี มีชื่อเสียงมากในเรื่องการทำธุรกิจเช่าซื้อหรือที่เรียกว่า HIRE
PURCHASE
และเป็นที่คาดหมายกันว่าการเข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ ธุรกิจหลักก็คงหลีกเรื่องการเช่าซื้อไม่พ้น
ก็อาจจะจริงเอามาก ๆ ด้วย เพราะทีมงานของเอจีซีจำนวนไม่น้อยนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ผ่านการทำงานเรื่องการเช่าซื้อมาแล้วอย่างโชกโชน
โดยเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์
"กว่า 10 คนมาจากสยามราษฎร์ลิสซิ่ง…." ผู้บริหารระดับกลางของเอจีซี
(ประเทศไทย) บอกกับผู้สื่อข่าว
เอจีซี (ประเทศไทย) นั้นเกิดขึ้นด้วยการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยามของกลุ่มพีเอสเอเมื่อกว่าครึ่งปีมาแล้ว
ในขณะที่บริษัทแห่งนี้กำลังประสบวิกฤตและดิ้นรนหาทางออกอย่างทุรนทุราย การเข้าเทคโอเวอร์นี้ก็เป็นไปตามความเห็นดีเห็นงามของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง
มีข้อตกลงว่าเอจีซีได้เข้าไปถือหุ้น 80% ในปฐมสยามและจะบริหารงานพร้อมกับรักษาสัดส่วนการถือหุ้นระดับนี้ไว้เป็นเวลา
7 ปี หลังจากนั้นค่อยมาคุยกันใหม่ว่าจะเอากันอย่างไรต่อไป ซึ่งสำหรับเอจีซีแล้วก็รู้สึกมีความหวังมากขึ้นถึงกล้าประกาศว่าเอจีซี
อย่างน้อยต้องขอรบกวนเชิญผู้สื่อข่าวมาพบกันอีกครั้งในงานฉลองครบรอบปีที่
25 ของเอจีซีในประเทศไทย
สำหรับกลุ่มธุรกิจเชื้อสายออสซี่ (หมายถึงออสเตรเลีย) ที่คนไทยไม่ค่อยจะรู้จักเพราะความที่ยังไม่ค่อยมีธุรกิจการค้าติดต่อกันมากเหมือนฝรั่งทางยุโรปและสหรัฐฯ
แล้ว ภาพพจน์ทางข่าวสารในชั้นต้นของกลุ่มธุรกิจการเงินกลุ่มใหญ่อย่างเอจีซีที่กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในวงการเงินของไทย
แล้วก็ออกจะเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่และดูเป็นมืออาชีพมาก ๆ
แต่จะเป็นจริงตามที่ร่ำลือกันหรือไม่ก็คงต้องวัดกันที่ผลงานในระยะต่อ ๆ
ไป
ส่วนในชั้นนี้ก็จะบอกถึงความเป็น "มืออาชีพ" ของเอจีซีสักเล็กน้อย
ก็ตอนที่จัดแถลงข่าวก่อนหน้าพิธีเปิดสำนักงานนั่นแหละ
ผู้สื่อข่าว "ผู้จัดการ" นั้นเมื่อทราบว่าจะมีการแถลงข่าวเวลา
16.00 น. ก็เร่งรีบไปตรงตามเวลาไม่มีคลาดเคลื่อน เดินสาละวนหาห้องแถลงข่าวพักใหญ่มิไยที่จะได้เอ่ยถามพนักงานก็ได้รับการตอบสนองเพียง
"ขึ้นไปชั้นสอง…" แรกทีเดียวก็คิดว่าน่าจะเป็นความซวยของ "ผู้จัดการ"
ที่ได้รับการตอบสนอง อย่างเฉยเมยจากพนักงานบางคนเข้า แต่ครั้นพบหน้าผู้สื่อข่าวฉบับอื่น
ๆ ก็ได้รับการบอกกล่าวถึงด่านแรกของการต้อนรับที่เหมือนกันไม่มีผิด
ที่หน้าห้องแถลงข่าว ซึ่งก็คงจะเป็นห้องประชุมของของบริษัท ผู้บริหารและพนักงานเดินกันขวักไขว่
เวลาก็ล่วงเลย 16.00 น. ไปหลายนาทีแล้ว ปรากฏว่าผู้สื่อข่าวกลุ่มใหญ่ยืนเก้
ๆ กัง ๆ มองตากันปริบ ๆ ไม่มีใครเข้ามาทักทายหรือบอกกล่าวเชื้อเชิญเหมือนกับว่าที่นี่ไม่ได้จัดการแถลงข่าว
พอล เจ. ฮอริทซ์ กรรมการผู้จัดการเอจีซีที่ถูกส่งเข้ามาประจำประเทศไทยเดินผ่านผู้สื่อข่าวที่สะพายกล้องและถือเทปกันพะรุงพะรัง
ก็อย่าว่าแต่จะเอ่ยปากทักทายเลย แม้แต่ชายตาสักนิดก็ไม่มี ทั้ง ๆ ที่อีกสักครู่ก็จะต้องเล่นบทกันเองกับผู้สื่อข่าวขณะแถลงข่าวแล้ว
เวลาล่วงเลยไปเกือยครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ 2 คน วิ่งกระหืดกระหอบพร้อมกระดาษโรเนียวปึกใหญ่
มองผ่านแวบ ๆ ก็ทราบทันทีว่าเป็นคำแปลจากสปีชต้นฉบับภาษาอังกฤษของโรเบิร์ต
เอ. รอบสัน ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มบริษัท ออสเตรเลียน การันตี คอร์ปอเรชั่น
ที่เดินทางมาร่วมพิธีเปิดสำนักงานและจะเป็นผู้แถลงข่าวกับสื่อมวลชน หลังจากจัดการกับกระดาษปึกใหญ่ให้กระจายกันเข้าไปอยู่ตามแฟ้มต่าง
ๆ เพื่อแจกจ่ายผู้สื่อข่าวแล้ว ทุกคนก็ได้มีโอกาสเข้าไปนั่ง (หลังจากต้องยืนขาแข็งมานานแล้ว)
ในห้องแถลงข่าวพร้อมกับเสียงถอนหายใจโล่งอก
การแถลงข่าวดำเนินไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ อีกเช่นกัน
สำนวน เลาหประสิทธิ์ กรรมการคนหนึ่งของเอจีซีซึ่งก็เคยดำรงตำแหน่งเดียวกันนี้มาแล้วจากปฐมสยาม
ทำหน้าที่เป็นพิธีกรการแถลงข่าวอย่างที่เหมือนกับเพิ่งจะทราบว่าจะต้องเข้ามาทำหน้าที่อย่างกะทันหัน
(ทั้ง ๆ ที่ผู้สื่อข่าวเองยังทราบว่าจะต้องมีการแถลงข่าวล่วงหน้านานกว่าสัปดาห์)
กล่าวแนะนำกลุ่มผู้บริหารของเอจีซีเสร็จสรรพก็บอกกับผู้สื่อข่าวว่าให้อ่านสปีชที่แจกให้
ผู้บริหารชาวออสเตรเลียที่ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องกับผู้สื่อข่าวที่ฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยถนัดก็มองหน้ากันไปมองหน้ากันมา
ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จนมีผู้สื่อข่าวบางคนบอกว่าให้เขาพูดเถอะนั่นแหละ
โรเบิร์ต เอ. รอบสัน จึงได้มีโอกาสควักสปีชออกมาร่ายยาวรวดเดียวจบ โดยเนื้อหาสาระก็บอกเล่าถึงประวัติความยิ่งใหญ่ของเอจีซี
และไม่ลืมที่จะบอกว่าการเข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ จะเป็นการเข้ามาร่วมมือกันพัฒนาระบบการเงินของไทยด้วยศักยภาพที่ล้นเปี่ยมของเอจีซี
จากนั้นก็เปิดให้มีการซักถามปัญหา ผู้สื่อข่าวเหลือบดูเวลาก็ใกล้ 18.00
น. เข้าไปมากแล้ว แขกผู้มีเกียรติทั้งหลายกำลังจะมาถึงเพื่อร่วมพิธีเปิดสำนักงาน
ถามตอบกันได้ 2 - 3 คำถาม พิธีกรก็เลยต้องประกาศยุติการแถลงข่าว โดยบอกกับผู้สื่อข่าวอย่างซื่อ
ๆ ว่า แขกผู้ใหญ่กำลังจะมาแล้วต้องขอตัวไปต้อนรับก่อน
และก็ไม่มีคำเชื้อเชิญให้ผู้สื่อข่าวอยู่ร่วมพิธีเปิดด้วย
แน่นอนที่สุด…สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสายตาของเอจีซีนี้จะนำไปคำนวณค่าความสามารถทางธุรกิจของเอจีซีนั้นย่อมไม่ได้
"ผู้จัดการ" คิดว่า ทุกอย่างน่าจะเป็นอย่างกับที่ โรเบิร์ต เอ.
รอบสัน ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งเมื่อถูกถามว่า เอจีซีวางแผนการขยายตัวไว้อย่างไร?
"เราคงยังพูดให้ชัดเจนตอนนี้ไม่ได้หรอก เมืองไทยมีสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้อีกมาก…"