เมื่อตลาดภาพยนตร์วิดีโอในเมืองไทยเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้น FREE FOR ALL เสรีภาพในการขโมยภาพยนตร์มาก็อปปี้ลงเทปวิดีโอเป็นสิ่งที่ใคร
ๆ ก็ทำได้ ในเวลาต่อมาเรียกผู้ใช้สิทธิเสรีภาพลักษณะนี้ว่า "ผี"
และศูนย์ผลิตที่เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ภาพยนตร์วิดีโอจากผู้สร้างต่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตน
คำว่า "ลิขสิทธิ์" สะกดอย่างไร มีความหมายอย่างไร พวกผีแม้จะรู้จักแต่ก็ทำเป็นไม่เข้าใจ?
แม้ขณะนี้ในตลาดวิดีโอคำว่า "ลิขสิทธิ์" จะเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว
แต่ภาพยนตร์วิดีโอที่ศูนย์เช่าได้มามี 2 วิธีคือ แบบไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์
และเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ศูนย์ผลิต
กลุ่มที่ได้ภาพยนตร์วิดีโอมาโดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์หรือที่เรียกว่าผีนั้น
ส่วนใหญ่ทำโดยการไปซูม (ถ่ายซูมจากจอภาพยนตร์) จากโรงภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ
พวกผีอาจจะมีความรู้จักกับผู้คุมห้องฉาย ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ เพระความเป็นจริงแล้ว
เจ้าของโรงภาพยนตร์กับเจ้าของภาพยนตร์ไม่ใช่คนเดียวกันการจะเปิดโอกาสให้พวกผีซูมหนังไปขายโดยแลกกับผลตอบแทนที่น่าพอใจจึงเป็นไปได้ง่าย
หรือบางทีอาจให้ขอยืมฟิลม์ภาพยนตร์ไปก็อปปี้เป็นหนังวิดีโอขายเลยก็ได้
อีกวิธีหนึ่ง การนำภาพยนตร์วิดีโอที่ทางต่างประเทศนำออกจำหน่ายแล้วเข้ามาก็อปปี้ขาย
"ภาพยนตร์ในอเมริกาเมื่อเข้าฉายแล้ว เขาจะทำเป็นเทปวิดีโอออกขาย คนไปเมืองนอกก็หิ้วมาก็อปปี้ขายสบาย
ๆ กว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าเมืองไทยผ่านศูนย์ผลิตที่เป็นตัวแทนทางลิขสิทธิ์
วิดีโอเรื่องนี้ก็มีอยู่เต็มศูนย์แล้ว" ผู้จัดการศูนย์ผลิตแห่งหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ถึงการเกิดหนังวิดีโอผี วิธีนี้ก็เพราะภาพยนตร์ที่ฉายต่างประเทศกับในเมืองไทยเรื่องเดียวกันบางทีโปรแกรมฉายห่างกัน
1-2 ปี
สำหรับภาพยนตร์วิดีโอที่มีการเสียค่าลิขสิทธิ์ถูกต้องนั้น ในเมืองไทยเริ่มกันอย่างจริงจังเมื่อประมาณ
4 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ผลิตในประเทศจะติดต่อเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ภาพยนตร์วิดีโอจากกลุ่มผู้ผลิตต่าง
ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้และศูนย์ผลิตจะผลิตเป็นเทปวิดีโอเพื่อขายให้แก่ศูนย์เช่าอีกต่อหนึ่ง
ตลาดวิดีโอในเมืองไทยเมื่อแรกเริ่มรู้จักมักคุ้นกับคำว่า "ลิขสิทธิ์"
นั้น มีศูนย์ผลิตที่เป็นตัวแทนของลิขสิทธิ์ให้ผู้ผลิตภาพยนตร์วิดีโอกลุ่มต่าง
ๆ ประมาณ 30 กว่าศูนย์ และเมื่อวันเวลาได้พิสูจน์ความสามารถของศูนย์ผลิตอย่างจริงจัง
ด้วยความยากลำบากในการที่จะต้องต่อสู้กับพวกผี ด้วยค่าลิขสิทธิ์ที่แพงพอที่จะทำให้ศูนย์เช่าที่ไม่อยากรับภาพยนตร์พวกผี
ด้วยค่าลิขสิทธิ์ที่แพงพอที่จะทำให้ศูนย์ผลิตเกิดปัญหากับศูนย์เช่าที่ไม่อยากรับภาพยนตร์วิดีโอจากศูนย์ผลิตที่มีมากมายเกินไป
เพราะค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นในวันนี้จึงเหลือศูนย์ผลิตที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดมาได้เพียง
10 กว่าศูนย์ และจาก 10 กว่าศูนย์นี้ก็มีเพียง 4 ศูนย์ที่ศูนย์เช่ายอมรับและเต็มใจจ่ายค่าลิขสิทธิ์
เพราะมั่นใจว่าเป็นหนังวิดีโอที่มีเปอร์เซ็นว่าลูกค้าจะเช่ามาก
ศูนย์ผลิตเหล่านี้ได้แก่ ซีวีดี ศูนย์ผลิตที่จำหน่ายหนังฝรั่งม้วนเดียวจบ
หนังจีนชุดและหนังจีนม้วนเดียวจบ เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของผู้ผลิตต่างประเทศ
เช่น ฮ่องกง ทีวีบี, CIC (CINEMA INTERNATIONAL CORPORATION) ซึ่งรวม PARAMOUNT
และ UNIVERSAL และ RCA COLUMBIA ประเทศสหรัฐอเมริกา
วีอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จัดจำหน่ายหนังจีนม้วนเดียวจบ, หนังจีนชุดสั้น
2-3 ม้วนจบ เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของโกลเด้นทาวน์ฟิลม์, ซีนีม่า ซิตี้, โกบราเดอร์ส
ฮ่องกง รวมทั้งลิขสิทธิ์ลำตัดหวังเต๊ะทุกชุดด้วย
โอเรียลเต็ล วิดีโอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จัดจำหน่ายหนังไทยและหนังฝรั่งม้วนเดียวจบเป็นส่วนใหญ่
เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของเครือสหมงคลฟิลม์และโอเอ MANSON INTERNATIONAL แห่งสหรัฐอเมริกา,
ITC ENTERTAINMENT ประเทศอังกฤษ
วิดีโอเวิร์ล จัดจำหน่ายหนังจีนชุด เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของ เอ ทีวี (ฮ่องกง)
"ถ้าภายใน 2-3 ปีนี้ พ.ร.บ. ควบคุมธุรกิจวิดีโอยังไม่ออกมา ผมว่าบางทีอาจจะไม่เหลือสักศูนย์ก็ได้"
บุญชัย อภิสิทธิ์จรูญเลิศ ผู้จัดการโอเรียลเต็ล วิดีโอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์
บริษัทจัดจำหน่ายรายใหญ่รองจาก ซีวีดี กล่าวอย่างคับแค้นใจ