|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

“ไม่เห็นมีน้ำเลย” เสียงเปรยที่ได้ยินไปทั่วเมื่อมือสร้างฝายสมัครเล่นจากทั่วจังหวัดระยองร่วม 2 พันคนไต่ขึ้นเขาไปยังจุดสร้างฝายบนเขายายดา ที่บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เตรียมไว้ในงาน “สร้างฝายกับ SCG คืนชีวีให้เขายายดา” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ขณะที่เสียงตอบกลับของชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมเป็นแรงงานหลักในการสร้างฝายอธิบายกลับไปว่า “นี่ดีกว่าสองปีที่แล้วเยอะแล้วครับ”
สภาพแวดล้อมจากที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง ต้องยอมรับว่า อากาศวันนั้นช่างอบอ้าว ไม่มีลม ไม่มีฝน แดดร้อนจ้า การเดินเท้าในระยะแค่ไม่เกิน 100 เมตรจากตีนเขามาจุดสร้างฝาย ก็เรียกเหงื่อได้เต็มหน้าเต็มหลัง อาจจะทำให้รู้สึกรำคาญอยู่บ้าง แต่การได้นั่งใต้ร่มไม้ในป่าสักพักแค่ลมเบาๆ พัดมาก็รู้สึกเย็นชื่นขึ้นแล้ว ผิดกับสัมผัสของลมร้อนจากผิวคอนกรีตในเมืองที่คุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง
เขายายดาเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากะเฉด-เพ-แกลง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ขนาดประมาณ 28,000 ไร่ เคยเสื่อมโทรมหนัก เพิ่งได้รับการฟื้นฟูจากการริเริ่ม เข้าไปรณรงค์สร้างฝายโดยกลุ่มชาวบ้านในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งนำแนวคิดสร้างฝายของเครือเอสซีจี ที่ดำเนินงานอยู่มาทดลองทำฝายในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2550 เริ่มจากไม่กี่สิบฝายในปีแรก เพิ่มเป็นฝายที่สร้างไปแล้วจำนวน 1,200 ฝาย
ปัจจุบันสภาพของเขายายดามีเพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่มีสภาพสมบูรณ์จัดอยู่ในระดับลุ่มน้ำคุณภาพ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งมีศักยภาพในการให้บริการน้ำแก่พื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับจังหวัดระยอง ในฐานะผืนป่าสมบูรณ์ที่อยู่ใกล้เขต อำเภอเมืองระยองและใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมากที่สุด ต่างจากป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก ซึ่งอยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เสื่อมโทรมและปราศจากการเยียวยา ใดๆ มานานแล้ว
ผลลัพธ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เขายายดาและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวสวน ผลไม้ของชุมชนรอบเขายายดา จากสภาพร้อนแห้งแล้ง ขาดน้ำ เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในจังหวัดระยอง ให้กลับมาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีอากาศเย็นลง นี่เป็นข้อมูลจากการสังเกตด้วยตัวเองของชาวสวนในพื้นที่ ซึ่งยืนยันว่าผลผลิตจากสวนของพวกเขาดีขึ้นในช่วงหลายปีหลังนี้ และที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่พื้นที่เขายายดา ไม่เคยต้องเจอกับสภาวะแล้งน้ำ ไม่ต้องเรียกรถน้ำของกรมชลประทานเข้ามาบริการน้ำในพื้นที่เหมือนในอดีต น้ำในสระท้ายสวน ลำธาร แหล่งน้ำต่างๆ ก็ไม่เคยแห้ง ขอดอีกเลย
“เจ้าของสวนยางตรงเชิงเขาซึ่งเป็นป่ากันชน เขาเห็นว่าทำฝายแล้วมีน้ำ ก็เลยทำฝายในพื้นที่เขาเอง ด้วย เพราะอากาศเย็นต้นยางจะให้น้ำยางดีขึ้น” ผู้ใหญ่ เสวตร บุญฤทธิ์ ผู้ใหญ่หมู่ 11 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง หรือบ้านศาลเจ้าซึ่งมีพื้นที่ติดเขายายดาเล่าให้ฟัง
ส่วนตัวผู้ใหญ่ ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่นี้มานาน ก็ยืนยันด้วยว่า เมื่อก่อนเขายายดาเสื่อมโทรมขนาดที่กรมป่าไม้คิดจะให้สัมปทานกับนายทุนเพื่อทำไม้ ดีที่เปลี่ยนแนวทางจัดการมากันพื้นที่เชิงเขาเป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้านปลูกสวนยางเพื่อช่วยดูแลป่าแทน แต่ที่ผ่านๆ มา ชุมชนก็ยังต้องมีการเตรียมคนให้พร้อมรับมือกรณีที่เกิดไฟป่า ซึ่งยังเกิดขึ้นบ่อยๆ เพิ่งจะมาหลังการทำฝายนี่เองที่เห็นได้ว่าไฟป่าน้อยลง
“ป่ามันไม่แห้งเหมือนเดิม เออแปลก น้ำตรงฝาย บางทีไม่มีหรอกนะ แต่ใต้ดินมีน้ำ ตอนแรกที่เอสซีจีเข้ามาได้มากี่ฝายก็แบ่งกันไปทำ กลัวไม่ครบ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ชาวบ้านรู้แล้วว่าทำแล้วได้ผลก็ไม่ต้องเกณฑ์คน”
เมื่อฝายของเครือเอสซีจีใช้ได้ผล เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงปักธงดำเนินโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม และรับพันธกิจสร้างฝายจำนวน 5,000 ตัว จากเป้าหมายของทั้งเครือที่ตั้งไว้ 50,000 ตัว เข้ามาดำเนินงานต่อในพื้นที่เขายายดา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของการฉลองครบ 100 ปีของเอสซีจีในปี 2556 ด้วยงบประมาณ 15.2 ล้านบาท
ฝายเป็นโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนในระดับที่ให้ผลต่อชุมชนในวงกว้างของเอสซีจี เคมิคอลส์ โครงการแรกก็ว่าได้ เพราะจากเดิมการทำโครงการเพื่อสังคมแม้จะมีอยู่หลากหลายและทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็กระจัดกระจายไปตามชุมชนโดยเฉพาะบริเวณรอบๆ มาบตาพุด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งโรงงาน
โครงการที่บริษัททำมามีทั้งโครงการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โครงการเกี่ยวกับการจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้กับชุมชน โครงการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชน ฯลฯ
ก่อนหน้าที่จะมีโครงการฝายที่เขายายดาในปีนี้ มีการจัดทำโครงการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมหาดแม่รำพึง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระยอง แต่ก็ยังให้ภาพของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ไม่ชัดเจนเท่ากับโครงการ “สร้างฝายกับเอสซีจี คืนชีวีให้เขายายดา” ในครั้งนี้ โดยเอสซีจี เคมิคอลส์มีงบในการทำซีเอสอาร์เฉพาะบริษัทเองไม่เกี่ยวกับเครืออย่างน้อยปีละ 100 ล้านบาท สำหรับหน่วยธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับเครือเอสซีจีมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยรายได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทจากรายได้ทั้งเครือรวมกันมากกว่า 3 แสน ล้านบาท
“การดูแลรักษาธรรมชาติต้องประกอบด้วยความสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นเดียวกับการดูแลธาตุต่างๆ ในร่างกายของเรา อวัยวะต่างๆ ทำงานดีก็ส่งผลดีต่อร่างกายทั้งระบบ หากมีอวัยวะไหนเสื่อมชำรุดก็ส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ เช่นเดียวกับธรรมชาติที่ต้องพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ถ้าจุดไหนดีก็จะส่งผลดีต่อพื้นที่ใกล้ เคียง” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานในพิธีเปิดงานครั้งนี้กล่าวเปรียบเปรยสภาพแวดล้อมการทำงานของธรรมชาติที่ไม่ต่างจากระบบที่ทุกคนสังเกตได้จากร่างกายตัวเอง
คำกล่าวของ ดร.สุเมธเป็นความพยายามตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่ให้ประโยชน์ด้านต่างๆ ต่อมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ในเขตเมืองที่แวดล้อมไปด้วยมลพิษ ในแต่ละพื้นที่จึงต้องอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีป่า มีเขา มีต้นไม้ มีน้ำ มีทะเล มีชุมชน มีโรงงาน เมื่อทุกส่วนอยู่ในภาวะที่สมดุล จึงจะเกิดความยั่งยืนขึ้นได้ หากแค่หวังความเจริญของเมืองและอุตสาหกรรม คนและธรรมชาติก็คงจะมีแต่เสื่อมและตายไป ซึ่งท้ายที่สุดเมืองและอุตสาหกรรมก็จะไปไม่รอดเช่นกัน
“มีคนเปรียบเปรยว่า หากระยองคือ ร่างกาย เขายายดาก็คือปอด ที่ช่วยดูดซับอากาศเสียและฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับร่างกายนั่นเอง” ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์กล่าว
หากเปรียบเขายายดาเป็น “ปอด” ที่ทำหน้าที่ฟอกอากาศบริสุทธิ์เช่นนี้ที่ผ่านมาก็อาจจะพูดได้ว่า ปอดลูกนี้เคยถูกเซลล์ มะเร็งเกาะกินไปแล้ว แต่โชคดีที่ได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เพื่อให้สูบฉีดเลือดเข้าสู่ระบบการฟอกแล้วนำเลือดดีไปสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบร่างกาย หรือจังหวัดระยองในมิติใหม่
จากการคำนวณศักยภาพของเขายายดาในแง่ของการให้น้ำ พบว่า สภาพป่าปัจจุบันซึ่งเป็นป่าดิบแล้งรุ่นที่สองที่เพิ่งฟื้นตัวจากความเสื่อมโทรม เป็นป่าที่มีความสามารถในการเก็บกักน้ำเฉลี่ยได้สูงสุด 509.49 ลบ.ม.ต่อไร่ ดังนั้นจากพื้นที่ทั้งหมด เขายายดาจึงสามารถพัฒนาศักยภาพในการเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในธรรมชาติสำรอง ได้เต็มที่มากกว่า 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า “น้ำ” สำหรับชุมชน ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด ระยอง มีคุณค่าไม่ต่างจากทองคำบริสุทธิ์เลยทีเดียว
ขณะที่ศักยภาพด้านการให้อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งกรมป่าไม้คำนวณไว้ว่า ป่าประเภทนี้สามารถเก็บกักคาร์บอนได ออกไซด์ได้ถึง 65.29 ล้านตันต่อไร่ในรูปของต้นไม้และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7.26 ล้านตันต่อไร่ ก็เท่ากับเขายายดาเป็นเครื่องฟอกอากาศยักษ์ที่สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ถึง 1.8 ล้านล้านตัน ขณะเดียวกันก็ช่วยดูดซับอากาศเสียไว้ได้มากกว่า 2 แสนล้านตัน
นานไปป่าแห่งนี้เติบโตพัฒนาไปสู่ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ศักยภาพเหล่านี้ก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก ดังนั้นสำหรับธรรมชาติ จึงยังมีที่เหลือให้มนุษย์คิดและย้อนกลับมาฟื้นฟูเพื่อชดเชยการใช้งานที่ผ่านไปได้อีกมากมาย
ส่วนผลลัพธ์ต่อองค์กรที่เข้ามาเป็นกลไกผลักดันอย่างเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า ต้องการเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในการส่งเสริมและมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมในจังหวัดระยองอย่างยั่งยืน ก็คงจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เช่นเดียว กับเป้าหมายการสร้างภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบของโรงงานสีเขียว ที่มุ่งมั่นสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคมให้กับทุกฝ่าย และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน (Beyond CSR) ก็น่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินได้ไม่ยากเช่นกัน
|
|
 |
|
|