Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2530
ธานินทร์อุตสาหกรรมเนื้อแท้ของปัญหาที่ไร้คนมอง             
 


   
search resources

Electric
ธานินทร์อุตสาหกรรม




ในที่สุด ก็ถึงเวลาของธานินทร์อุตสาหกรรมที่ต้องร้องออกมา การร้องออกมาครั้งนี้ได้สร้างกระแสข่าวใหญ่โตขึ้นมาได้อย่างน่าพิศวง ทั้ง ๆ ที่ธานินทร์ฯ เองก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะล้มละลาย แต่การร้องออกมาครั้งนี้ทำให้สื่อมวลชน และผู้คนในวงการต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งตั้งคำถามว่า ในเนื้อแท้ของธานินทร์จริง ๆ แล้วคืออะไร?

นับตั้งแต่ข่าวโศกนาฏกรรมของบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม จำกัด ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2529 เป็นต้นมาแล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามกันมาอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในวงการธุรกิจอาชีพใดหรือระดับใด

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น แทบทั้งหมดต่างเห็นและมองธานินทร์อุตสาหกรรมประดุจวีรบุรุษผู้โชคเลือดมาจากสนามรบ ในการต่อสู้เพื่อชาติ แล้ววีรบุรุษผู้นี้ก็ไร้ใครเหลียวแล ไม่ว่าในขณะที่เขากำลังต่อสู้ในสนามรบหรือในขณะที่ยืนต้านกระแสลมฟายุฝน หรือแม้แต่ในขณะที่เขากำลังล้มลุกคลุกคลานอยู่ก็ตาม

สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ต่างก็พุ่งเป้าประเด็นไปที่ข้อผิดพลาดของรัฐบาล หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ซัดกระหน่ำให้ธานินทร์อุตสาหกรรมต้องพ่ายแพ้กลับมา

ปัญหาหรือสาเหตุใหญ่ที่สื่อมวลชนเหล่านั้นต่างพูดถึง พอที่จะแยกได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ

ประเด็นที่หนึ่ง สาเหตุจากความไม่แน่นอนของนโยบายของรัฐบาล เช่น การลดค่าเงินบาทเมื่อปลายปี 2527 ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้ประกาศออกมาว่า จะไม่มีการลดค่าเงินบาทอย่างเด็ดขาด และการลดค่าเงินบาทนี้มีผลทำให้ราคาวัตถุดิบชิ้นส่วนที่ซื้อมาประกอบจากต่างประเทศราคาสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย ในขณะที่ขายสินค้าไปต่างประเทศได้ราคาที่ต่ำลง หรือการจำกัดสินเชื่อของรัฐบาลในตอนต้นปี 2527 ซึ่งนอกจากจะทำให้ธานินทร์ฯ เองต้องขาดเงินอย่างกระทันหันแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้าปลีกต่าง ๆ เงินขาดมือ เช็คเด้งกันอีรุงตุงนัง และมีร้านค้าล้มละลายจำนวนมาก ทำให้ธานินทร์ฯ เก็บเงินไม่ได้ หรือปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างภาษี ที่สูงและไม่เหมาะสม อะไรต่าง ๆ เหล่านี้

ประเด็นที่สอง ต่างมองกันว่า ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกบริษัทไม่ว่าใหญ่หรือเล็กขาดทุนเหมือนกันหมด เนื่องจากอำนาจการซื้อของประชาชนลดต่ำลง และยังต้องแข่งขันกับสินค้าต้องแข่งขันกับสินค้าหนีภาษีอีกด้วย

ประเด็นที่สาม เกิดจากปัญหาความไม่นิยมไทยของคนไทยจึงทำให้ธานินทร์ฯ ขายสินค้าไม่ค่อยจะได้ และถูกสินค้าต่างประเทศแย่งตลาดไปมาก หลายรายต่างก็มองเหมือนกันว่า รัฐบาลน่าที่จะหามาตรการใดมาตรการหนึ่งเข้าช่วยเหลือ มิเช่นนั้นสินค้าที่ติดตราเมดอินไทยแลนด์จะไม่มีวันโต

ทั้งสามประเด็นเหล่านี้ ล้วนมีเหตุผลเพียงแต่เป็นด้านหนึ่งของปัญหา เป็นเพียงปัญหามองเห็นและจับต้องง่าย อันจะทำให้พร่ามัวกับปัญหาที่แท้จริง!

ปัญหาที่แท้จริงของบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม จำกัด มีมากกว่านี้ ในสายตาของนักธุรกิจและนายธนาคาร!!!

หนึ่ง ปัญหาทางด้านการจัดการ สอง ปัญหาด้านเทคโนโลยี

การแก้ปัญหาของธานินทร์อุตสาหกรรม นับจากวันนี้ไป หากไม่แก้ในสองประเด็นนี้ แม้รัฐบาลทุ่มเงินเข้าช่วยเหลืออีกกี่ร้อยล้านบาทก็ไม่มีวันที่จะช่วยให้บริษัทนี้ยืนขึ้นด้วยลำแข้งลำขาของตัวเองได้อย่างเด็ดขาด

การที่ธานินทร์อุตสาหกรรม เรียกร้องให้แบงก์ชาติเข้าช่วยเหลือ โดยปล่อยเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำให้กับธานินทร์อุตสาหกรรม เพื่อนำไปจ่ายหนี้สินระยะสั้นที่ต้องคืน ภายในหนึ่งปีเท่านั้น หากว่าแบงก์ชาติให้ความช่วยเหลือเช่นนั้นจริง อีก 5 ปีข้างหน้าปัญหาเหล่านี้ของธานินทร์ฯ จะต้องเกิดขึ้นอีก

เหมือนกับการเลี้ยงเฒ่าทารกที่ไม่ยอมโตเสียที

นี่คือแนวความคิดอีกด้านหนึ่งของปัญหาธานินทร์อุตสาหกรรม

ประเด็นที่หนึ่ง ปัญหาการจัดการของธานินทร์ฯ ซึ่งพอจะแบ่งปัญหาการจัดการของธานินทร์ฯ ได้ดังนี้คือ ประการแรก เป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดการองค์การบริหารภายในตัวของธานินทร์ฯ เอง

บริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม จำกัด ถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยความร่วมมือและการลงทุนร่วมกัน ของคนในตระกูลวิทยะสิรินันท์มาตั้งแต่ต้น โดยมีพี่ใหญ่คือ อุดม วิทยะสิรินันท์ เป็นโต้โผใหญ่ และมีน้อง ๆ คือเอนก วิทยะสิรินันท์ อนันต์ วิทยะสิรินันท์ อรรณพ วิทยะสิรินันท์ กับเหล่าสะใภ้อย่างเช่น คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ เหล่านี้เป็นต้น ร่วมกันถือหุ้นใหญ่

ลักษณะการจัดองค์กรทางการบริหารจึงเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า ระบบแบบครอบครัว ซึ่งความจริงแล้วการจัดองค์กรทางการบริหารแบบครอบครัว ก็หาใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป มันก็มีจุดที่ดีของมันอยู่ภายในตัวของมันเองเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างกรณี ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่สามารถพาอาณาจักรของเขารอดมาได้และเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

เคยมีนักบริหารมือระดับอาชีพคนหนึ่งแสดงทัศนะถึงระบบครอบครัวไว้ว่า

"ระบบครอบครัวจะดีได้ ก็ต่อเมื่อคนในครอบครัวสามัคคีกัน และทุ่มเทให้กับบริษัทหรือกิจการของครอบครัวของตัวเองอย่างจริงจัง แต่ทีนี้ระบบครอบครัวในบ้านเราหรือที่ไหน ๆ ก็แล้วแต่ที่มันพัง ๆ กันนั้นก็เนื่องจากสาเหตุที่แต่ละคนมัวแต่ทะเลาะกันต่างแย่งกันที่จะเอาผลประโยชน์จากบริษัทกันท่าเดียว อย่างงี้มันก็ย่อมที่จะเละ งานมันก็ไม่เวิร์คเป็นธรรมดา"

ในบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม ก็เช่นกัน ปัญหาการจัดการทางด้านการบริหารก็อยู่ที่จุดนี้ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ เหล่าน้อง ๆ ก็ดูเหมือนจะไม่เชื่อฟังกันเท่าใดนัก เพราะต่างคนต่างก็มีภรรยามีลูกที่จะต้องเลี้ยงดู มิหนำซ้ำต่างก็แยกกันไปสร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองขึ้นมา

อาทิเช่น อเนก วิทยะสิรินันท์ ก็ไปสร้างบริษัทไมโครเทค จำกัด ขึ้นมา โดยให้ลูกสาวชื่อ วารุณี วิทยะสิรินันท์ เป็นผู้ดูแล บริษัทไมโครเทค นี้เป็นบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อหวังที่จะผลิต FERRITE DEVICES และ MICROWAVE COMPONENTS ซึ่งเป็นตัวรับสัญญาณคลื่นจากดาวเทียมลงสู่โทรทัศน์ และคุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ภรรยาคนเก่งของ อเนก วิทยะสิรินันท์ ก็ยังไปตั้งบริษัทอีกบริษัทหนึ่งชื่อว่าบริษัทบีพีไทยโซล่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขึ้นมาอีก โดยเป็นบริษัทที่ร่วมลงทุนกับบริษัท บีพีโซล่า คอร์ปอเรชั่น ของอังกฤษ ทำการผลิตแผงเซลแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ ที่เรียก ๆ กัน

ด้วยพื้นฐานของลักษณะเหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อ บริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม มีกำไรต่างคนต่างก็แย่งกันเรียกร้องที่จะให้บริษัทธานินทร์ฯ จ่ายเงินปันผลให้มาก ซึ่งยังผลให้กำไรสะสมของธานินทร์อุตสาหกรรมไม่มีเงินที่จะสำรองหรือเตรียมเพื่อการขยายและพัฒนาตัวเองได้ เมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเช่น เกิดกรณีรัฐบาลลดค่าเงินบาทลงอย่างกระทันหันเมื่อปลายปี 2527 ธานินทร์ฯ ขาดทุน และไม่มีเงินสำรองที่จะช่วยตัวเองได้ จำเป็นที่จะต้องหาเงินทุนหมุนเวียนจากการกู้บริษัทเงินทุนด้วยดอกเบี้ยสูงถึง 15 เปอร์เซนต์ต่อปีหรือสูงกว่านั้น

"ความจริงพี่ ๆ น้อง ๆ ในธานินทร์ฯ ก็ใช่ว่าหมดเงินเสียเมื่อไหร่ พวกเขาก็ยังร่ำรวยกันอยู่ เพียงแต่ปัญหาที่มันเกิดนั้น มันเกิดจากที่ทุกคนควักเงินกันยากเท่านั้นเอง คือเมื่อคุณอุดม เขามองว่า ต้องควักเงินออกมาช่วยกันหน่อยแล้ว ในช่วงนี้ ก็ไม่มีใครที่อยากจะควักเงินออกมาช่วยกัน ต่างคนต่างก็ถือว่านี่มันกระเป๋าของฉัน ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ในที่สุดบริษัทก็ต้องหาแหล่งเงินกู้แพง ๆ คอยเสิร์ฟ"

คนใกล้ชิด อุดม วิทยะสิรินันท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมทั้งส่ายหน้า

หากย้อนไปดูงบการเงิน (ที่แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์) ของธานินทร์ฯ แล้ว จะเห็นว่า ในแต่ละปี ธานินทร์อุตสาหกรรมมีหนี้สินระยะสั้นที่จะต้องชำระคืนภายในหนึ่งปี ปีหนึ่ง ๆ เกือบหรือถึง 300 ล้านบาท ต่อปี เอาระยะใกล้ ๆ นี้อย่างเช่น ในปี 2526 ธานินทร์อุตสาหกรรม มีหนี้สินระยะสั้นถึง 328,053,165.74 บาท ในปี 2527 ก็มีหนี้ประเภทนี้สูงถึง 318,528, 759.27 บาท และในปี 2528 ก็มีถึง 273,249,581.97 บาท

การที่กิจการมีหนี้สินระยะสั้นมากเช่นนี้ ก็หาใช่ว่ากิจการนั้นจะมีปัญหาเสมอไป หากแต่อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างธานินทร์ฯ นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการวางแผนระยะยาวที่เกี่ยวกับหนี้สินอย่างเป็นระบบพอสมควร เนื่องจากอุตสาหกรรมไม่ใช่ธุรกิจที่ดำเนินการแบบซื้อมาขายไป หากแต่เป็นกิจการที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามา เพื่อทำการผลิต ผลิตเสร็จแล้วจึงจะขายไป ซึ่งถ้าหากหนี้สินระยะสั้นมีมากจะมีปัญหาเพราะจะมีช่วงที่เงินต้องจมอยู่กับการผลิตอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ธานินทร์อุตสาหกรรมเป็นกรณีศึกษาที่ดีกรณีหนึ่ง ต่อการศึกษาถึงบทเรียนในการบริหารทางการเงินของธุรกิจอุตสาหกรรม

ธานินทร์อุตสาหกรรมใช้เงินทุนระยะสั้นเหล่านี้ในหารหมุนเวียนเงิน แล้วในที่สุดเมื่อมีปัญหาทางด้านการตลาดหรือการขายเกิดขึ้น สินค้าล้นสต๊อคมาก ไม่มีเงินเข้ามา เมื่อถึงเวลาการชำระเงินคืนหนี้สินเหล่านี้ ธานินทร์ฯ ก็ยิ่งมีปัญหาหนัก แล้วก็สะดุด

"คุณคิดดู เมื่อก่อนเขาขายวิทยุทรานซิสเตอร์ได้ปีหนึ่ง ๆ นับแสนเครื่อง แต่มาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ เขากลับขายไม่ได้เลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายชำระหนี้ให้กับพวกทรัสต์ต่าง ๆ" แหล่งข่าวในบริษัทธานินทร์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากปัญหาการจัดการหนี้สินระยะสั้นที่ยังเป็นปัญหาของธานินทร์ฯ ดั่งที่ว่าแล้ว ก่อนหน้านี้ ดร. โอฬาร ไชยประวัติ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายใหญ่ของธานินทร์อุตสาหกรรม ได้ชี้ถึงการจัดการทางการเงินของธานินทร์ฯ ที่มีปัญหาอีกด้านหนึ่งว่า

"ธานินทร์ฯ ก็เหมือนกับธุรกิจอื่นทั่ว ๆ ไปในประเทศไทยที่กำลังมีปัญหา คือใช้เงินของสถาบันการเงินมากไป ในขณะที่ใช้เงินของตัวเองน้อย"

ปัญหาด้านการจัดการอีกปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับ INVENTORY CONTROL ในงบดุลของบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม แสดงสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบคงเหลือในสต๊อคที่มีสูงถึง 80 เปอร์เซนต์ของสินทรัพย์ที่ธานินทร์มีอยู่

ในปี 2527 ธานินทร์อุตสาหกรรมมีสินค้าคงเหลือคิดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 204,450,205.18 บาท และมีวัตถุดิบคงเหลือคิดเป็นมูลค่า 236,383,663.81 บาท รวมโดยคร่าว ๆ แล้วก็จะประมาณถึง 400 กว่าล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์ทั้งหมดเมื่อรวมกับสินค้าคงเหลือเหล่านี้แล้วประมาณแค่ 600 กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง

ในปี 2528 ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยธานินทร์อุตสาหกรรมมีสินค้าคงเหลือ 164,544,134.88 บาท มีวัตถุดิบคงเหลือ 280,893,099.35 บาท และมีสินทรัพย์ในประมาณที่ใกล้เคียงกับปี 27 คือประมาณ 600 กว่าล้านบาทเช่นกัน

ผู้อาวุโสด้านสินเชื่อธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงประเด็นปัญหานี้ว่า บริษัทธานินทร์อุตสาหกรรมนั้นมีปัญหามากเกี่ยวกับ INVENTORY CONTROL เนื่องจากความไม่ปรองดองกันระหว่างคนที่ทำการบริหารโรงงานและคนที่บริหารทางด้านการตลาด ความไม่ประสานกันระหว่างสองส่วนนี้เองที่ทำให้ธานินทร์ฯ มีปัญหาหนักเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือเหล่านี้

คนที่คุมทางด้านโรงงานคือ อเนก วิทยะสิรินันท์ และคนที่คุมทางด้านการตลาดก็คือ อนันต์ วิทยะสิรินันท์ สองพี่น้องฝาแฝด ที่ว่ากันว่าขัดแย้งกันเพราะภรรยา

"ธานินทร์ฯ เขาอาจจะไปได้ ถ้าหากคนที่คุมกิจการเป็นบิดา เพราะบิดาจะสามารถควบคุมกิจการจ่ายเงิน เพราะควักเงินของตัวเองได้ หรือไม่ถ้าหากว่ากิจการนี้เป็นของ อเนก วิทยะสิรินันท์ คนเดียวมันก็ไปได้" แหล่งข่าวอีกผู้หนึ่งพูดเสริม

ปัญหา INVENTORY CONTROL ได้โยงไปสู่การจัดการทางด้านการตลาดที่ขาดการวางแผนระยะยาวที่ดี

ธานินทร์อุตสาหกรรมมีลักษณะที่ดีอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ การเป็นนักฉกฉวยโอกาสที่เก่งทีเดียว

ในขณะที่ บริษัทใหญ่ ๆ กำลังแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เลิกผลิตของเก่า ๆ ธานินทร์อุตสาหกรรมกลับไปเน้นเรื่องการผลิตของเก่าเหล่านั้น

วิทยุทรานซิสเตอร์ เป็น CASE STUDY อันหนึ่ง คือในขณะที่ใคร ๆ ต่างก็หันไปผลิตสเตอริโอ วิทยุเทปที่ทันสมัย ธานินทร์ฯ กลับเน้นผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์กันอย่างขนานใหญ่ ซึ่งแน่นอนที่สุด เมื่อยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ต่างหันไปจับตลาดบนกันหมด ตลาดล่างก็ย่อมที่จะเปิดช่องว่างให้และธานินทร์ฯ เองก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์

ในช่วงประมาณปี 2520 ก็เช่นเดียวกัน ผู้ผลิตโทรทัศน์เกือบทั่วโลก กำลังหยุดการผลิตโทรทัศน์ขาวดำ หันไปทุ่มเทกับการผลิตโทรทัศน์สี แต่ธานินทร์ฯ ก็ยังคงทุ่มเทผลิตโทรทัศน์ขาวดำอยู่เช่นเดิม ในยุโรปเกิดปัญหาโทรทัศน์ขาวดำขาดตลาดแทบจะหาซื้อไม่ได้ แล้วอยู่ ๆ ฝรั่งแถบยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษก็เกิดหันกลับไปนิยมดูโทรทัศน์ขาวดำขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นโอกาสทองของธานินทร์ฯ ทีเดียวในช่วงนั้น

คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ ผู้รับผิดชอบทางด้านการตลาดต่างประเทศ ซึ่งกำลังมองหาตลาดอยู่พอดีในช่วงนั้น ก็ไม่ชักช้าให้เสียโอกาสทองเช่นนี้ รีบดัมพ์โทรทัศน์ขาวดำธานินทร์ฯ เมดอินไทยแลนด์เข้าไปในอังกฤษทันที

ด้วยราคาที่ถูกกว่ายี่ห้ออื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่บ้างในตลาด ทำให้ธานินทร์ฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในเกาะอังกฤษและประเทศรอบข้าง

เกาหลีใต้ และไต้หวัน ยืนมองความสำเร็จของธานินทร์ฯ แทบน้ำลายหก แล้วก็ทนไม่ได้ เพราะตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาต่ำนั้นทั้งสองประเทศนี้เคยยึดครองมาตลอดจะปล่อยให้เมดอินไทยแลนด์อย่างธานินทร์ฯ ช่วงชิงและตัดหน้าไปเช่นนี้ ก็ดูกระไรอยู่ แล้วไม่นาน ทั้งซัมซุง ลัคกี้โกลด์สตาร์ และแดวูของเกาหลีใต้ ก็จับมือกันทุ่มเทผลิตโทรทัศน์ขาวดำเพื่อทุ่มให้กับตลาดนี้กันอย่างขนานใหญ่ ทางด้านไต้หวันก็ไม่ต่างกัน

แล้วในที่สุด ตลาดโทรทัศน์ขาวดำในยุโรปก็ถูกผลิตภัณฑ์ของทั้งสามประเทศนี้ตีกระเจิดกระเจิง จนอีอีซี ทนไม่ไหวต้องวิ่งเข้าเจรจากับบริษัทต่าง ๆ ทั้งสามประเทศให้ส่งเข้าไปให้น้อยหน่อย เพราะสินค้าหลายประเภทที่ผิตในยุโรปกำลังแย่ แต่ดูเหมือนบริษัทของทั้งสามประเทศจากเอเชียเหล่านี้จะไม่สนใจ จนในที่สุด อีซีซี หรือที่แปลเป็นไทยว่า กลุ่มตลาดร่วมยุโรป ก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาตรการต่าง ๆ ออกมากีดกันสินค้าจากเอเชียเหล่านี้

ถึงตอนนี้ ธานินทร์ฯ ก็ต้องถอยกลับเป็นรายแรก เนื่องจากสู้กับภาษีและมาตรการต่าง ๆ ของอีอีซีไม่ไหว ที่สำคัญคือธานินทร์ฯ ไม่อาจสู้กับโทรทัศน์ขาวดำของเกาหลีและไต้หวันในด้านราคาได้ จึงต้องถอยกลับ

ปัญหาของธานินทร์ฯ ในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงประมาณปี 2524-2525 โทรทัศน์ขาวดำของธานินทร์ฯ คงค้างอยู่ในสต๊อคอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากถูกตีจนต้องล่าถอยกลับมา ด้วยความที่นึกไม่ถึงว่าจะเกิดกรณีเช่นนี้ กล่าวคือ ฝ่ายโรงงานก็ยังคงผลิตเพื่อป้อนตลาดในจำนวนที่เท่าเดิม ในขณะที่ตลาดหดเล็กลงอย่างกระทันหันเช่นนี้ ยอดค้างสต๊อคก็ย่อมที่จะมากเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งปีต่อมา ธานินทร์ฯ ก็ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อส่งโทรทัศน์ขาวดำเข้าไปจำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็ถูกตีกระเจิดกระเจิงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

"ในระยะหลัง ๆ จีนเขาให้บริษัทต่างประเทศ อย่างเช่น ฮิตาชิ เข้าไปตั้งโรงงานในประเทศของเขา ทำให้ธานินทร์ฯ มีปัญหาและที่สำคัญคือ ทางจีนเขากำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้สูง เช่น ชิ้นส่วนที่จะใช้ในโทรทัศน์ ถ้าผมจำไม่ผิดเขากำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศของเขาสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์" แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้ากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ว่ากันว่าในช่วงนั้น จากการที่ธานินทร์ฯ ขาดการวางแผนทางการตลาดในระยะยาวที่ดี ทำให้เมื่อส่งสินค้าไปประเทศจีน สินค้าเหล่านั้นก็ถูกรีเจ็คกลับมา แล้วในที่สุดก็ต้องวางกองกันอยู่ที่ฮ่องกง จะเอากลับก็ต้องเสียค่าขนส่งอีก ซึ่งก็ไม่คุ้มกัน ในที่สุดก็ต้องขายในราคาที่ถูก ๆ ในฮ่องกงนั่นแหละ

เมื่อกล่าวกันถึงปัญหาทางด้านการจัดการทางด้านการตลาดของธานินทร์ฯ นั้น สิ่งที่ธานินทร์ฯ ไม่อาจจะปฏิเสธได้อยู่ประการหนึ่งก็คือ ธานินทร์ฯ ไม่เคยประสบความสำเร็จกับตลาดบนหรือกลุ่มตลาดที่มีรายได้สูงเลย เนื่องจากตลาดกลุ่มผู้มีรายได้สูงนั้นเป็นกลุ่มที่ต้องการความทันสมัย ซึ่งต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ป้อนอยู่ตลอดเวลา แต่ธานินทร์อุตสาหกรรมขาดสิ่งเหล่านี้

การพึ่งอยู่กับตลาดล่างหรือตลาดผู้มีรายได้ต่ำ เป็นการดำเนินยุทธการทางการตลาดที่เสี่ยง เนื่องจากอำนาจทางการซื้อของคนเหล่านี้มีต่ำ แต่ธานินทร์ฯ ก็ไม่เคยเปลี่ยนยุทธวิธีของตนเองเลย นับเป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลก เมื่อปัญหาเศรษฐกิจโหมกระหน่ำ ประชาชนมีกำลังซื้อตก ในปี 2527 ธานินทร์อุตสาหกรรมจึงมีปัญหามากที่สุด

ธานินทร์อุตสาหกรรมภาคภูมิใจอยู่กับการขายวิทยุทรานซิสเตอร์มาตลอด โดยหารู้ไม่ว่าการที่จมอยู่กับสินค้าประเภทนี้นั้น ทำให้อิมเมจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของธานินทร์ฯ ตกต่ำลงไปด้วย สิ่งเหล่านี้ได้ถูกชี้ให้เห็นจากการที่ในช่วงระยะหลัง ๆ ถึงแม้ธานินทร์ฯ จะมีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ มากขึ้น โดยเป็นสินค้าระดับราคาสูง อย่างเช่น โทรทัศน์สี ตู้เย็น สเตอริโอกับเขาบ้างแล้วก็ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนหรือผู้บริโภคอย่างเช่นวิทยุทรานซิสเตอร์เลย ทั้ง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น อย่างเช่น โทรทัศน์สีนั้นชิ้นส่วนเกือบ 80 เปอร์เซนต์ที่สำคัญ ธานินทร์ฯ ก็สั่งซื้อจากเมืองนอก เช่นเดียวกับยี่ห้ออื่น ๆ เหมือนกัน

เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นตลาดที่ต้องแย่งกันด้วยคำว่า ไฮ-เทค และความพร้อมในด้านการตลาดที่สูงพอสมควร อิมเมจหรือภาพพจน์ในตัวสินค้าเป็นตัวชี้หนึ่งถึงคำว่าชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ในตลาดประเภทนี้แต่ธานินทร์อุตสาหกรรมกลับแก้ปัญหานี้ไม่ตก จึงไม่น่าแปลกอีกเช่นกันที่ในขณะนี้การวางตลาดของธานินทร์ฯ ในสินค้าประเภทนี้จึงเป็นลักษณะที่ต้องฝากขายแก่ร้านค้าปลีกทั่วไป ไม่ใช่การขายขาดให้กับร้านค้าปลีกดังที่ยี่ห้ออื่น ๆ กระทำกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ร้านค้าปลีกโดยทั่วไปเมื่อเชียร์สินค้า ในร้านของตัวเอง จึงมักจะไม่สนใจที่จะเชียร์ธานินทร์ฯ มากนัก เพราะถือว่ายังไง ๆ ก็คืนได้ ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ ทางร้านเมื่อสั่งสินค้าเข้าร้านมาต้องซื้อหรือจ่ายเงินไป เจ้าของร้านค้าปลีกจึงมักที่จะสนใจเชียร์ยี่ห้ออื่นแก่ลูกค้ามากกว่า

ในประเด็นปัญหาทางด้านเทคโนโลยีนั้น "ผู้จัดการ" อาจพูดไม่ได้ว่า เทคโนโลยีของธานินทร์ฯ นั้นเป็นเช่นไร เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ ในประเทศไทย แต่พูดได้ประการหนึ่งนั่นก็คือ เทคโนโลยีของธานินทร์ฯ ไม่ได้ก้าวล้ำหน้ากว่ายี่ห้ออื่น ๆ เลย

ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่ ธานินทร์ประสบและต้องแก้ให้ตก จึงจะแก้ปัญหาทางด้านการตลาดของตัวเองได้

ธานินทร์อุตสาหกรรม เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทย ที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากความคิดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา (ถ้าหากไม่ไปเลียนแบบใครเสียก่อน) ในขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ ในประเทศไทยได้จากการคิดค้นของบริษัทแม่ในต่างประเทศ

ความก้าวหน้าในด้านนี้ของประเทศเรายังมีปัญหา ธานินทร์ฯ จึงยังคงมีปัญหา

ทุกวันนี้ ธานินทร์อุตสาหกรรม ถึงแม้จะผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบบางอย่างได้แล้ว แต่ก็ยังคงเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ยังคงต้องสั่งซื้อจากภายนอกประเทศ อาทิ เช่น ในส่วนชิ้นส่วนที่สำคัญที่ใช้ประกอบวิทยุ ธานินทร์ฯ ยังต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศถึง 35% ในชิ้นส่วนประกอบในโทรทัศน์ขาวดำต้องสั่งซื้อ 50% และในโทรทัศน์สี ธานินทร์ฯ ต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนประกอบเหล่านี้ถึง 80%

เรียกได้ว่า การผลิตของธานินทร์ฯ ยังคงต้องใช้และพึ่งต่างประเทศอยู่มาก ดังนั้นด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ราคาสินค้าในท้องตลาดของธานินทร์ฯ จึงไม่ต่างกับยี่ห้ออื่นมากนัก เพราะต้นทุนในการผลิตและวิธีการผลิตใกล้เคียงกัน

สถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ได้ส่งคนเข้าไปดูแลแล้ว เพราะมองปัญหาเหล่านี้ออก

"กรณีนี้มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยสักนิด มันเป็นเรื่องระหว่างเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินกับธานินทร์ฯ เขา การแก้ปัญหามันก็อยู่ที่ว่า เจ้าหนี้เขายืดระยะเวลาการชำระหนี้ได้แค่ไหน จะให้แบงก์ชาติช่วยมันเป็นไปไม่ได้ และต่อไปหากบริษัทไหนมันเละเทะ เขามิต้องวิ่งเข้าหาแบงก์ชาติกันหมด พวกเขาก็คนไทยเหมือนกัน" ดร. ศิริ การเจริญดี ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องราวของธานินทร์ฯ ที่เกิดขึ้น ที่ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่า จะช่วย จะช่วย ไม่ว่าจากกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ.) หรือจากหน่วยงานใด ๆ ของรัฐบาลก็ดี ที่เป็นข่าวอยู่ทุกวัน ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม เป็นต้นมานั้น คงไม่ต่างอะไรจากคำว่า "ไทยมุง" ไม่นานก็ลืมหรืออย่างไร?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us