Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2554
Disaster Management เพื่อการศึกษาไม่มีอุปสรรคใดขวางกั้นได้             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Education




ผมเชื่อว่าถ้าผู้ปกครองมีโอกาสถามบุตรธิดาของตนเองเวลาที่เกรดออกมาไม่ดี ถ้าถามถึงอุปสรรคสำคัญในการเรียนหนังสือแล้ว เราจะพบว่าพวกเขาสามารถอธิบายปัญหาหรืออุปสรรคได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไม่ดี อาจารย์ไม่ดี ตึกเก่า ลามไปจนถึงอุปกรณ์การเรียน เช่น ที่นั่งไม่พอ ห้องเลกเชอร์มีปัญหาใดๆ บ้าง ผมเคยอ่านงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่มีข้อวิจารณ์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับนักศึกษาออกมาโจมตีอาจารย์ที่มาสอนว่าเป็นอาจารย์พิเศษ หรือการต้องไปพบหรือปรึกษาอาจารย์ที่โต๊ะใกล้ห้องน้ำแทนที่จะเป็นห้องทำงานของอาจารย์ต่างเป็นอุปสรรคได้ทั้งสิ้น ยิ่งถ้ามหาวิทยาลัยมีขนาดเล็กแล้ว ปัญหาห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน หรือคุณภาพของอาจารย์ จะนำมาเป็นประเด็น

ในฐานะที่ผมก็เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดม ศึกษา โดยเฉพาะในต่างประเทศมาก่อน ผมยอมรับตรงๆ ว่า ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับอาจารย์ประจำไม่สอนและคุณภาพของอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ดังๆ ของโลกทั้งในอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา แม้แต่นิวซีแลนด์ก็มีส่วนจริงไม่น้อยเพราะในต่างประเทศนั้นมหาวิทยาลัยของเขาเน้นการวิจัยเป็นการวัดผลของมหาวิทยาลัยมากกว่าการเรียนการสอน เพราะผลงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ แม้แต่นวัตกรรมสังคมไม่ว่าจะเรื่องการเมือง กฎหมาย หรือการค้า

ดังนั้น มหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการที่อาจารย์ของตนเองออกไปทำการวิจัย การที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะได้เลื่อนวิทยฐานะได้ต้องมาจากการวิจัยทั้งสิ้น อาจารย์ในต่างประเทศมักจะได้ Sabbatical leave หรือการลางานเพื่อทำการวิจัย ซึ่งโดยมากจะมีระยะเวลาระหว่างสามเดือนถึงหนึ่งปี ซึ่งอาจารย์ที่สอนจะหาย ไประหว่างหนึ่งเทอมถึงหนึ่งปี

นอกจากปัญหาเรื่องอาจารย์แล้ว มนุษย์เราสามารถหาปัญหามาบ่นได้สารพัด เคยจำได้ว่าแม้แต่ค่าถ่ายเอกสารหรือค่าใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็สามารถที่จะเป็นปัญหาในสายตานักศึกษาได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกันถ้ามนุษย์ เราคิดที่จะเรียนหนังสือแล้ว ในภาวะสงครามหรือแม้แต่ในยามที่มีอุทกภัยก็สามารถที่จะเรียนได้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมืองไครส์เชิร์ช ของนิวซีแลนด์ประสบเหตุอาฟเตอร์ช็อก ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคนและอาคารบ้านเรือนนับร้อยๆ แห่งเสียหาย รวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งแคนเทอเบอรี่ (University of Canterbury) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนิวซีแลนด์และทวีปออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก 7.1 และ 6.3 ริกเตอร์ตามลำดับ อาคารของมหาวิทยาลัยภายในตัวเมืองที่รู้จักกันดีในนาม Art Centre หลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ 7.1 ในเดือนกันยายน กลุ่มอาคารโบราณอายุ 137 ปีได้ปิดซ่อมแซม โดยมหาวิทยาลัยหวังว่าภายในกลางปีนี้จะสามารถให้คณะวิจิตรศิลป์ ดุริยางคศิลป์และคีตศาสตร์กลับมาทำการเรียนการสอนได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อก อาคารเรียน ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยและอาจจะต้องทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่

นอกจากนี้แคมปัสใหญ่ที่เขตไอแลมก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก แม้จะไม่เสียหายถึงขั้นถล่ม ลงมาแบบในตัวเมืองแต่อาคารหลายแห่งจำเป็นต้องปิดซ่อมแซมและตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปิดชั่วคราว กว่าสองอาทิตย์ ในช่วงนั้นสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักศึกษานิวซีแลนด์คือได้จัดตั้ง Student Army แต่ไม่ใช่พวกที่คิดจะไปประท้วงที่ไหนเพราะเป็นกองกำลังกู้ภัยที่ทำการออกไปร่วมกู้ภัยกับหน่วยกู้ภัยของรัฐ ซึ่งเป็นการไม่ปล่อยเวลาปิดเทอมให้เปล่าประโยชน์

ในขณะที่นักศึกษาออกไปทำงานช่วยเหลือสังคม ทางมหาวิทยาลัยได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางออกให้นักศึกษา ในขณะที่นักศึกษานิวซีแลนด์และนานาชาติได้ออกไปทำประโยชน์ต่อสังคม ก็ต้องมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ทำเรื่องตั้งแต่ขอย้ายมหาวิทยาลัยไปมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียหรือเมืองอื่นในนิวซีแลนด์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแห่งแคนเทอเบอรี่ก็ดูเหมือนให้การช่วยเหลืออย่างดี โดยนักศึกษาที่แตกตื่นนี้แยกเป็นสองพวก คือขอย้ายไปเลย และพวกที่ขอย้ายไปสักเทอมหนึ่ง เพื่อกลับมาเรียนต่อในเทอมที่สอง ผลปรากฏว่าจากสถิติ นักศึกษาที่ขอย้ายมีทั้งหมดราวๆ 1,700 คนจากนักศึกษากว่า 23,000 คนหรือไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มีขอย้ายเลยแค่ไม่กี่ร้อยคน ส่วนมากเป็นนักศึกษาจากเอเชีย ที่ยังไม่สามารถปรับตัวกับแนวคิดแบบฝรั่ง แต่นักศึกษาไทยที่แคนเทอเบอรี่ส่วนมากสามารถปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยมและมีไม่น้อยที่ออกไปช่วยชุมชนเช่นกัน

นอกจากการจัดการให้นักศึกษาย้ายที่ศึกษาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยตระหนักดีว่าไม่สามารถเปิดได้เร็วกว่าเทอมสองหรือเดือนกรกฎาคม ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการอย่างเร่งด่วนคือใช้เต็นท์ในที่จอดรถเป็นห้องเลกเชอร์ชั่วคราว รวมทั้งเป็นร้านอาหารชั่วคราว นักศึกษาที่ขับรถมาเรียนต้องไปหาที่จอดที่แคมปัสของคณะคุรุศาสตร์ ซึ่งเสียหายน้อยที่สุด โดยทางแคนเทอเบอรี่จะมีรถเมล์ไปรับส่งฟรีจากแคมปัสคุรุศาสตร์มายังแคมปัสหลัก

ตอนที่สร้างเต็นท์ทางมหาวิทยาลัยประกาศว่า นักศึกษาที่อยากหยุดชั่วคราวหนึ่งเทอมก็สามารถกลับมาได้ในเทอมที่สองหลังจากทุกอย่างซ่อมเสร็จแล้ว ขณะที่นักศึกษาที่ต้องการกลับมาเรียนในเต็นท์ เกือบสองหมื่นคนทำให้พื้นที่ไม่พอที่จะรองรับการกลับมาของนักศึกษาแทบทั้งหมด เพราะมีแค่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ที่เลือกหยุดหนึ่งเทอมหรือไปเรียนที่อื่น จุดนี้เองส่งผลให้มหาวิทยาลัยส่งทีมก่อสร้างไปสร้าง อาคารเรียนชั่วคราวในสนามฟุตบอล ซึ่งโดยมากจะเป็นบ้านขนาดเล็กซึ่งเพียงพอที่จะใช้เป็นอาคารเรียนชั่วคราวมากกว่าเต็นท์

ในช่วงเปิดเทอมอีกครั้งหนึ่ง นักศึกษาจำนวน มากแสดงความกระตือรือร้นที่จะเข้าเรียน แม้ว่าห้องเลกเชอร์จะมีเพียงเก้าอี้ บางวิชาอาศัยต้นไม้เป็นร่มเงาโดยมีนักศึกษานั่งล้อมอาจารย์ที่สอนแบบธรรมชาติ บรรยากาศที่ออกมาเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งความสุขมากกว่าการอมทุกข์ จนมีหนังสือพิมพ์เอาไปลงในหัวข้อ Happy Campus

ท่ามกลางบรรยากาศที่ควรจะเครียดหรือซึมเศร้า ในช่วงสี่อาทิตย์ตั้งแต่เปิดภาคเรียน แม้นักศึกษาทุกคนจะทราบว่าไม่มีที่จอดรถ ไม่มีโต๊ะเรียน ไม่มีปิดเทอม ไม่มี คอมพิวเตอร์ ไม่มีห้องสมุด และไม่มีห้องเลกเชอร์ เพราะทุกอย่างกำลังถูกซ่อมแซมอยู่ สิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุด สำหรับการเรียนการสอนคือ คณาจารย์ นักศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือใจที่อยากเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอย่างเต็มเปี่ยม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เราทราบว่ามหันตภัยต่างๆ สามารถที่จะกระตุ้นความต้องการที่จะใฝ่หาความรู้ให้กับมนุษย์มากกว่าความกลัวทั้งปวง เพราะถ้าเอาสถิติเป็นที่ตั้งมีคนน้อยกว่า 10% ที่จะย้ายออกไป และเกือบ 90% พร้อมจะสู้ต่อไป เพราะเขารู้ว่าการได้ศึกษาในที่ดีๆ นั้นเป็นเรื่องยาก ผมก็เชื่อว่ามนุษย์เรานั้นชอบการท้าทายโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาหรือการทำงานที่มักจะเลือกไปในที่ที่มีชื่อเสียงและเข้าศึกษายากก่อน ผมเชื่อว่ายิ่งสิ่งที่ได้มายากเท่าใด คนที่ได้ย่อมมีความภาคภูมิใจมากเท่านั้น ในหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัย บรรดานักศึกษาได้เขียนหัวข้อข่าวว่า “โลกเอ๋ยคิดว่าแค่นี้จะหยุดเราได้หรือ” ซึ่งเป็นการบอกว่าสิ่งที่เหนือกว่าภัยธรรมชาติ อุทกภัยและความสูญเสียใดๆ ก็ตามคือจิตใจของมนุษย์เราเองที่จะก้าวหน้าต่อไป

ในจุดนี้ผมขอกล่าวถึงงานวิจัยของศาสตราจารย์ เอด เอเดลสัน ที่กล่าวเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาที่ประสบอุทกภัยว่าจะก้าวพ้นอุปสรรคและออกมาเหนือกว่าเดิม เนื่องจากสิ่งก่อสร้างนั้นอย่างไรก็ซ่อมแซมได้ แต่เอเดลสันเชื่อว่าการที่จะก้าวต่อไปนั้นต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็งของมนุษย์ ศาสตราจารย์เอเดลสันมักจะยกตัวอย่างของ California State University, Northridge เป็นตัวอย่างของสถาบันศึกษาที่ก้าวข้ามอุทกภัยและออกมาแข็งแกร่งกว่าเดิม

ในปี 1994 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองนอร์ทริจนั่นเอง ส่งผลให้มีความเสียหายต่ออาคารในมหาวิทยาลัยสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหมื่นล้านบาทในขณะนั้น ถ้าตีเป็นความเสียหายจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าน่าจะเกือบสองหมื่นล้านบาทได้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นมูลค่าความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในโลก สิ่งที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนียสเตท ค้นพบคืออาคารต่างๆ ไม่ได้สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว จึงหันมาเน้นการวิจัยด้านวิศวกรรมโยธา โดยเน้นการวิจัยควบคู่กับธรณีวิทยาทำให้มหาวิทยาลัยเล็กๆ ผงาดขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษามากที่สุดในกลุ่ม California State system โดยมีถึง 36,000 คน

นอกจากนี้ศาสตราจาย์เอเดลสันได้กล่าวถึง Tulane University ในมลรัฐหลุยเซียนา ว่าหลังจากเกิดเฮอริเคนแคทรีน่าถล่มนิวออร์ลีนในปี 2005 มหาวิทยาลัยทูเลนต้องปิดซ่อมแซมถึงหนึ่งเทอม ช่วงนั้นนักศึกษาของทูเลนมีจำนวนราวๆ 6% เลือกที่จะย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่น ทำให้ทูเลนใช้มาตรการจิ๋วแต่แจ๋วคือจำกัดนักศึกษา ให้เหลือราวๆ 12,000 คนและผลักดันระบบเอนทรานซ์ให้เข้มข้นขึ้น ผลออกมาคือทูเลนกลายเป็นมหาวิทยาลัย ระดับที่ 239 ของโลก จากการจัดอันดับของ QS ขณะที่ก่อนหน้านี้อยู่อันดับที่ 243

ในขณะที่มูลนิธิคาร์เนกีร์ให้ทูเลนเป็นหนึ่งใน 195 มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการให้ความรู้แก่สาธารณชนทูเลนได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยยอดเยี่ยมอันดับที่ 19 ของอเมริกา โดยปรินสตัน รีวิว และเป็นสมาชิกของ Southern Ivy ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาตอนใต้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแวนเดอบิลที่เทนเนสซี มหาวิทยาลัยไรท์จากฮิวสตัน มหาวิทยาลัยดยุคที่นอร์ทแคโรไลนา และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น เมโธดิสที่เทกซัส ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทูเลนเป็นหน่วยงานที่มีการว่าจ้างงานมากที่สุดในนิวออร์ลีนส์

ปีที่ผ่านมามีนักศึกษายื่นความจำนงขอเอนทรานซ์ เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยทูเลนถึง 43,834 คน ในขณะที่ มหาวิทยาลัยสามารถรับนักศึกษาได้ไม่กี่พันคน เมื่อนำมาวัดกับก่อนวิกฤติแคทรีนาซึ่งมีนักศึกษาขอสมัครที่ 18,666 คนเท่านั้น ทำให้ทูเลนมียอดผู้สมัครเข้าเรียนสูง ที่สุดในอเมริกาแซงหน้ามหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างคอร์แนล (36,337 คน) สแตนฟอร์ด (32,022) หรือคู่หูในเซาท์เทิร์นไอวี อย่างแวนเดอบิล (22,000) กับดยุค (26,770)

ณ จุดนี้ ศาสตราจารย์เอเดลสันสรุปว่า การกลับมาของสิ่งที่เสียหายนั้นสามารถกลับมาได้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเสมอ ตราบเท่าที่มนุษย์เรามีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ดีขึ้น มีกำลังใจที่ดี มีความกล้าที่จะเริ่มใหม่และไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง เมื่อนำจุดนี้มาดูที่มหาวิทยาลัย แห่งแคนเทอเบอรี่ของนิวซีแลนด์ ซึ่งอันดับโลกนั้นสูงกว่าทั้ง California State หรือ Tulane อยู่มาก เพราะอยู่ในระดับทอป 180 โดย QS

ผมเชื่อว่าเมืองไครส์เชิร์ช และมหาวิทยาลัยแห่งแคนเทอเบอรี่ได้มาถูกทางแล้ว เพราะกำลังใจที่นักศึกษา ได้แสดงออกมา สปิริตการเรียนการสอน และการวิจัยที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น ต่างเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สถาบันใดๆ ก็ตามจะก้าวพ้นวิกฤติและกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม

เมื่อหันมามองด้านการศึกษาแล้ว ฝรั่งทั้งอเมริกา และนิวซีแลนด์ได้พิสูจน์แล้วว่าอุปสรรคของการศึกษาและการประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้อยู่ที่มหาวิทยาลัยไม่ดัง ไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์การเรียนไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่อาจารย์ ไม่เก่ง และไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่ได้ดังใจ แต่อุปสรรคทั้งมวลอยู่ที่จิตใจของนักศึกษาเองว่าอยากจะเรียนมากแค่ไหน อยากได้ความรู้มากเท่าใด ไม่ใช่เรียนตามเพื่อน เรียนเพราะสังคมบังคับ เรียนเพราะถูกบังคับ เพราะถ้านักศึกษาคิดแบบนี้ย่อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Structural violence ในจิตใจ คือเป็นความรุนแรงที่แอบซ่อนเพราะความกดดัน การเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมาจากใจของนักศึกษาเองที่อยากมาเรียน อยากที่จะได้ความรู้ และเมื่อมีจิตใจแบบนั้นแล้ว ต่อให้น้ำท่วม พายุเข้า แผ่นดินไหว ก็ไม่สามารถที่จะหยุดความตั้งใจจริงของมนุษย์เราได้

ผมเชื่อในคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ ว่าเป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่การที่จะมองเห็นโอกาสนั้นได้ต้องอาศัยกำลังใจ ความตั้งใจจริง ควบคู่ไปกับการมองโลกในแง่บวก เพราะมนุษย์เราโดยมากมักจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ เวลาเกิดวิกฤติจากความเศร้าโศกเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ผมชอบภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ที่จริงแล้วเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ตามสไตล์หนังวัยรุ่น แต่ในฉากที่พระเอกกับนางเอกไปคุยกับคุณลุงชาวสวนในเรื่องที่เล่าถึงพายุเกย์ถล่มชุมพรเมื่อยี่สิบปีก่อน คำพูดที่ว่า “ต้นไม้มันยังไม่ยอมตายแล้วเราเกิดมาเป็นคนทั้งทีจะยอมแพ้ง่ายๆ ได้อย่างไร”

ผมเชื่อว่าถ้าคนส่วนใหญ่คิดแบบนี้และพยายามจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการตั้งความหวัง ไม่ใช่มานั่งรอความช่วยเหลือนะครับ แต่เป็นการเอาความมุ่งหวังนั้นมาตั้งเป็นเป้าหมายและพยายามที่จะเดินไปหามันด้วยความอดทน ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าตราบเท่าที่เราอดทน มองโลกในแง่ดี ไม่โทษผู้อื่น มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะต้องเจอกับภัยอันตรายมากมายเพียงใดก็ตาม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us