คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ธุรกิจซึ่งได้รับความสำเร็จมาแล้ว มีความคิดสร้างสรรค์ชนิดหาที่ติไม่ได้
เฉลิมพล ชาญวิเศษ แห่งจิตรโภชนา กลุ่มอิตัลไทย กลุ่มกัมปนาทแสนยากรคือกลุ่มคนกลุ่มนั้นที่มาร่วมลงทุนสร้าง
"เมืองอุทยาน" การ์เด้นโฮมวิลเลจ โครงการที่น่าจะไปโลด แต่แล้วความเก่ง
ความสำเร็จจากหลายคนหลายประสบการณ์กลับกลายเป็น "ความขัดแย้ง"
ที่ไม่อาจประสานอย่างไม่น่าเชื่อ!?
การ์เด้นโฮมวิลเลจ โครงการหมู่บ้านจัดสรรแนวใหม่-เมืองอุทยาน เป็นแห่งแรกของประเทศนี้
ผู้ประกอบการ-ผู้บริหารเรียกตัวเองว่า "กลุ่มหนุ่มนักสร้างสรรค์"
แต่กลับทะเลาะกันอย่างหนัก และแตกหักอันเนื่องมาจากผลประโยชน์เฉพาะหน้า ในที่สุด
เฉลิมพล ชาญวิเศษ พ่อค้าขายข้าวแกง เคยบริหารร้านจิตรโภชนาจนขึ้นชื่อลือชาซึ่งไม่ได้อยู่ในสายตาของบรรดานักธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรเลย
ต้องกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงผู้เดียวในปัจจุบัน
ไม่หยุดแค่นั้น เฉลิมพล ชาญวิเศษ หรือที่ใคร ๆ เรียกเขาว่า เสี่ยอู๊ด ได้ประกาศโครงการใหม่
"อุทยานนคร" บนเนื้อที่ 7,000 ไร่ ย่านอำเภอองครักษ์ นครนายก ซึ่งเขากล้าพอจะบอกว่าขอเป็นเพียงผู้บริหารโครงการเท่านั้น
ประสบการณ์อันดุเดือดเลือดพล่านที่การ์เด้นโฮมวิลเลจ ช่างนำมาซึ่งความมั่นใจของเฉลิมพล
ชาญวิเศษ เสียนี่กระไร
โครงการการ์เด้นโฮมวิลเลจ เริ่มต้นอย่างธรรมดาสามัญในสายตาของนายธนาคารบ้านเรา
(แต่เป็นเรื่องแปลกพอประมาณในสายตาชาวบ้าน) คุณนายฉวีวรรณ สุทธิใหม่ ภรรยานายพลทหารอากาศคนหนึ่ง
เธอเป็นนายหน้าค้าที่ดินและมีที่ดินจำนวน 370 ไร่ ติดจำนองไว้กับธนาคารทหารไทย
ประกอบธุรกิจที่ดินในปี 2526 นั้นก็เรียกได้ว่าบูมได้ที่ การที่ธนาคารทหารไทยริอ่านหาผู้ลงทุนที่มีฝีมือด้านนี้มาลงทุนโดยที่โดดลงไปสนัสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
เพียงกะการณ์แค่นี้กำไรก็เห็นร่ำไรแล้ว!
ผ่านณรงค์ โชติเวช นักธุรกิจที่มีกิจการทางภาคเหนือและเป็นลูกค้าของธนาคารทหารไทย
มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ "ผู้ใหญ่" ของธนาคารนี้ด้วย ผ่านณรงค์มีเพื่อนฝูงในวงการธุรกิจมากไม่ว่าสรรเสริญ
ธีรสาส์น (ลูกเขยกำพล วัชรพล) ธานินทร์ ศรีอมร (ลูกเขยพลเอกยศ เทพหัสดินฯ)
รวมทั้งเฉลิมพล ชาญวิเศษ ด้วย และจากนี้ก็ชักนำไปดึงกลุ่มกัมปนาทเสนยากรและกลุ่มอิตัลไทยได้
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นในสายตาของธนาคารทหารไทย
บริษัทการ์เด้นโฮม จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน
40 ล้านบาท ได้รับเงินกู้จากธนาคารไทยซื้อที่ดินของคุณนายฉวีวรรณ ราคา 110
ล้านบาท บริษัทนี้กลุ่มเฉลิมพล ชาญวิเศษถือหุ้นประมาณ 22.5% กัมปนาทแสนยากรประมาณ
20% อิตัลไทย โฮลดิ้งคัมปะนี 10% ส่วนที่เหลือคือพรรคพวกของผ่านณรงค์
และทันทีที่รวมตัวกันได้ พวกเขาก็ประกาศว่าตนเองคือ "กลุ่มหนุ่มนักสร้างสรรค์"
พร้อมเผยแนวความคิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรแนวใหม่ หรือที่เรียกกันว่า "เมืองอุทยาน"
อันถือได้ว่าเป็น "ต้นแบบ" ของบ้านจัดสรรในลักษณะเดียวกันต่อ ๆ
มา อาทิ ชวนชื่น ปาร์ควิลล์ เมืองเอก เป็นต้น ก็เดินตามแนวนี้
ที่สุดยอดก็คือพวกเขาฝันเฟื่องจะฟันกำไรถึง 500% เมื่อโครงการนี้ขายหมดสิ้นแล้ว
เฉลิมพล เป็นประธานกรรมการบริหารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นเขาก็กำลังลุ้นโครงการโรงแรม
"ปาร์ควิวโฮเต็ล" บนพื้นที่ชายธง 12 ไร่ติดกับจิตรโภชนา ปากทางลาดพร้าว
หมายมั่นจะผงาดเผชิญหน้าโรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่า เขาคิดว่าโครงการใหญ่นี้จะต้องลงทุนเป็นเงินถึง
390 ล้านบาท ในเวลานั้นเฉลิมพล ยังมีภาระในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทจิตรและบุตรเจ้าของจิตรโภชนาและกรรมการผู้จัดการบริษัทจิตรซัพพลายมีสินค้าสำคัญคือ
ผลิตและส่งออกน้ำปลา
โครงการปาร์ควิวโฮเต็ล ต่อมากลายเป็นโรงแรมในฝัน เพราะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้
ทั้งนักธุรกิจที่เคยรับปากกันไว้ก็ถอยฉากหนีหมด ข่าวว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นอยู่ด้วย
หากกล่าวถึงสาเหตุใคร ๆ ก็ต้องอ้างปัจจัยภายนอกไว้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการจำกัดสินเชื่อ
18% บวกกับอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์สูงลิ่วชนเพดาน 19% ขณะเดียวกันบริษัทจิตรซัพพลายก็ต้องมีอันเลิกกิจการส่งออกน้ำปลาเพราะเฉลิมพล
ชาญวิเศษ มัวทุ่มเทกับงานการ์เด้นโฮมวิลเลจ จนไม่มีเวลาดูแล ลูกน้องที่ส่งมาดูแลก็มีปัญหา
ถึงกับฟ้องร้องเรียกเงินนับสิบล้านบาท
จริง ๆ แล้วตอนนั้นเฉลิมพล ชาญวิเศษ ยังไม่ได้โดดลงเต็มตัวเช่นทุกวันนี้
การก่อตัวของการ์เด้นโฮมวิลเลจ ผู้มีบทบาทจริง ๆ มี 4 กลุ่ม ผ่านณรงค์
เฉลิมพล อิตัลไทย และกัมปนาทแสนยากร (ซึ่งมีกิจการบริษัทยิบซั่ม อินเตอร์เนชั่นแนล
ผลิตยิบซั่มบอร์ดรวมอยู่ด้วย) และการประกาศโชว์กลุ่มผู้ถือหุ้นที่เป็นนักธุรกิจมีชื่อเสียงแขนงต่าง
ๆ เหล่านี้ เป็นภาพที่ดีแก่คนทั่วไป แต่เบื้องหลังการร่วมทุนครั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญหลายประการ
เริ่มตั้งแต่การแบ่งปันผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไปจนถึงความฝันเฟื่องจะฟันกำไร
500%
เงื่อนไขประการแรกก็คือ ผ่านณรงค์ โชติเวช ซึ่งเป็น "ตัวกลาง"
ตกลงกับฝ่ายกัมปนาทแสนยากรและอิตัลไทย จะให้ 2 กลุ่มรับผิดชอบการก่อสร้างบ้านระบบ
ทีจีรอนโด มันมีเหตุผลในตัวเองตรงที่กัมปนาทแสนยากรจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างและอิตัลไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างครอบจักรวาล
ว่ากันว่าเฉพาะการก่อสร้างอาคารระบบนี้ต้องใช้เงินถึง 250 ล้านบาท
ส่วนผ่านณรงค์และเฉลิมพล รับงานการถมที่ 370 ไร่ ซึ่งกะไว้ว่าต้องใช้ดินถึง
5 แสนคิว ผู้รู้กล่าวว่า เฉพาะหักค่าหัวคิวตรงนี้ก็ได้เงินหลายล้านบาทแล้ว
ศึกยกแรกของผู้ประกอบการชุดนี้เกิดจากปมเงื่อนตรงนี้นั่นเอง
เริ่มด้วยความเห็นไม่ตรงกันเรื่องระบบการก่อสร้างที่เรียกว่าทีจีรอนโด
ผู้สันทัดกรณีเล่าว่า แท้ที่จริงการก่อสร้างระบบนี้ต้องใช้โครงสร้างเหล็ก
แต่ที่การ์เด้นโฮมวิลเลจเป็นเพียงโครงสร้างอลูมิเนียมที่พับได้คล้าย ๆ สังกะสี
ไม่เสริมคอนกรีต แต่ใช้ยิบซั่มปะเข้าไปแทน เหมือนบ้านกระดาษอย่างไงอย่างงั้น
"ฝ่ายเสนอโครงการก่อสร้างบ้านแบบนี้คือ อิตัลไทย และกัมปนาทแสนยากรนั้นได้ประโยชน์จากการขยายสินค้า
ชนิดเอาเงินออกจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา ลองคำนวณง่าย ๆ ทั้งโครงการมีบ้าน
700 หลัง ราคาก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 3-4 แสนบาท ก็ประมาณ 250 ล้านบาท กำไรแค่
10% ก็ 25 ล้านบาทเข้าไปแล้ว" อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนหนึ่งของการ์เด้นโฮมบอก
"ผู้จัดการ"
หัวหอกของผู้คัดค้านก็คือ เฉลิมพล ชาญวิเศษ ซึ่งแน่นอนย่อมรวมไปถึงธานินทร์
ศรีอมร สรรเสริญ ธีรสาส์น และผ่านณรงค์โชติเวช เองก็ต้องอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
บ้านตัวอย่างที่สร้างด้วยระบบทีจีรอนโด ยังไม่ทันเสร็จดี ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็โหวตไม่เห็นด้วยกับการสร้างด้วยวิธีนี้
ต่อมาบ้านตัวอย่างเหล่านั้นก็ต้องทุบทิ้ง
เหตุการณ์ตอนี้เข้าทำนองขิงก็ราข่าก็แรง ชูชีพ ศิลปรัตน์ อดีตผู้อำนวยการเขตบางเขน
ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เขาเข้ามาถือหุ้นในบริษัทการ์เด้นโฮมวิลเลจโดยยืนอยู่กับกลุ่มกัมปนาทแสนยากร
ได้ออกโรงโจมตีผ่านณรงค์และเฉลิมพล ซึ่งรับผิดชอบถมหน้าดิน ดำเนินการไปแล้วกว่า
10% ชูชีพยกเอากรณีน้ำท่วมถนนพหลโยธินจนปริ่มพื้นที่โครงการการ์เด้นโฮมวิลเลจ
(ที่ถมที่แล้ว) ขึ้นมาอ้าง
การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างผู้ถือหุ้นการ์เด้นโฮมนี้ คนที่หนักใจที่สุดกลับเป็นธนาคารทหารไทย
ผู้ต้นคิดสนับสนุนและรู้ความเป็นไปของโครงการนี้มาตลอด อดรนทนไม่ได้จึงได้เข้ามาไกล่เกลี่ย
โดยเสนอให้คนนอกมารับเหมาถมที่ดินแทน เป็นอันว่าไม่มีใครได้ใครเสียนั่นเอง
หรืออีกความหมายหนึ่งคือเสียทั่งคู่
แต่ทว่ารอยร้าวมันยากจะประสานเสียแล้ว
วันที่ 6 ตุลาคม 2527 ที่ห้องจิตรนภา ห้องอาหารจิตรโภชนา ลาดพร้าว บริษัทการ์เด้นโฮมเปิดประชุมผู้ถือหุ้น
เพื่อเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของบริษัท กล่าวคือกลุ่มกัมปนาทแสนยากร และอิตัลไทยได้ถอนตัวออกไปรวมทั้งชูชีพ
ศิลปรัตน์ด้วย เฉลิมพลตกกระไดพลอยโจนเข้ารับซื้อหุ้นส่วนนี้เข้ามาถือ
เฉลิมพล จากตำแหน่งประธานก็แทนที่ด้วย พลอากาศเอกอัมพร คอนดีเพื่อนรุ่นเดียวกับพลเอกประยุทธ
จารุมณี ประธานกรรมการธนาคารทหารไทยเข้ามารับตำแหน่งแทน โดยเข้าเป็นกรรมการผู้จัดการโดดลงมาคุมงานอย่างเต็มตัว
พลเอกยศ เทพหัสดิน อยุธยา (พ่อตาธานินทร์ ศรีอมร) เข้าเป็นกรรมการ รวมทั้ง
"เสธแฮ็งค์" พีรพงษ์ สรรพากษ์พิสุทธิ์ รวมอยู่ด้วย
เป็นที่รู้กันว่าธนาคารทหารไทยอีกนั่นแหละที่สนับสนุนเฉลิมพล ให้กู้เงินซื้อหุ้นครั้งนี้
โดยเฉลิมพลนำที่ดินของตระกูลเข้าค้ำ สำหรับสนนราคาค่าหุ้นนั้นเขาต้องใจป้ำซื้อในราคาประมาณ
250 บาท/หุ้น เป็นอันว่าครอบครัวชาญวิเศษเข้าถือหุ้นบริษัทการ์เด้นโฮมแล้วเกือบ
60%
"ความจริงคุณเฉลิมพลเป็นลูกค้าแบงก์ทหารไทยตลอดมา แม้ซื้อที่ชายธงปากทางลาดพร้าว
สำหรับโครงการปาร์ควิวนั้น เข้ากู้เงินจากแบงก์ทหารไทยด้วย"
ปลายปี 2527 นั่นเองที่มีการลดค่าเงินบาท บริษัทการ์เด้นโฮมเจ็บตัวพอสมควร
เพราะกู้เงินตราต่างประเทศประมาณ 60 ล้านบาท ประกอบกับโครงการก่อสร้างก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
อันเนื่องมาจากขัดจังหวะจากการทะเลาะกันแล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย
ครอบครัวชาญวิเศษ เลยปริวิตกกันว่า หากเมื่อเฉลิมพล ชาญวิเศษ โดดลงเล่นธุรกิจที่ดินอย่างเต็มตัวเช่นนี้
คงไม่มีเวลาพอจะมาดูแลกิจการร้านอาหารของครอบครัว มิหนำซ้ำอาจจะพาธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวซวนเซไปด้วย
ในต้นปี 2528 ครอบครัวชาญวิเศษจึงแบ่งสมบัติกัน เฉลิมพล ถูกจัดวางบทบาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายอาหารอีกต่อไป
ว่ากันว่าเขาเองก็ไม่พอใจนักในเรื่องนี้ จากจุดนี้เองไม่นานเข้าจึงพาภรรยาไปเช่าที่ของ
"กมลสุโกศล" เป็นเวลา 5 ปี เปิดร้าน….. เชิงสะพานกรุงธน ฝั่งกรุงเทพฯ
ชื่อ บ้านคุณหลวง"
ในเวลานั้นเฉลิมพล กับฝ่ายผ่านณรงค์ โชติเวช ได้จัดสรรอำนาจกันใหม่ เฉลิมพลคุมกิจการบริษัทการ์เด้นโฮม
รับผิดชอบการขายบ้านและที่ดินของโครงการ ส่วนผ่านณรงค์คุมบริษัทการ์เด้นโฮมค้าวัสดุและก่อสร้าง
ซึ่งเป็นผู้จัดวัสดุ อุปกรณ์สนับสนุนการก่อสร้างโครงการ
แม้ผ่านณรงค์เองจะมีหุ้นในบริษัทการ์เด้นโฮมไม่มากนัก แต่เขาได้แรงหนุนอย่างเต็มที่จากสรรเสริญ
ธีรสาส์น และธานินทร์ ศรีอมร เสียงของเขาจึงดังและเป็นอำนาจที่เข้ามาคานเฉลิมพลอย่างช่วยไม่ได้
ในเวลานั้นที่เฉลิมพล เข้าลงทุนร้านอาหาร "บ้านคุณหลวง" ผ่านณรงค์ก็กำลังลุ้นตัวโก่งในการก่อสร้างโครงการนานาแมนชั่น
โดยที่เขาทั้งสองได้นำงเนจากการสนับสนุนโครงการการ์เด้นโฮมวิลเลจโดยธนาคารไทยออกไปหมุนใช้กันอุตลุด
เรียกได้ว่า ในปี 2529 นั้นการ์เด้นโฮมวิลเลจแทบจะไม่ได้ขายบ้านและที่ดินกันเลย
คนที่เคยจองกันมากมายเมื่อวันเปิดโครงการก็หนีหน้าไปไม่น้อย
ณ สิ้นปี 2528 บริษัทการ์เด้นโฮมมีสินค้าคงเหลือ (บ้านและที่ดินขายไม่ออก)
313 ล้านบาท จากจำนวนสินทรัพย์ทั้งหมด 326,146,481.03 บาท ในขณะที่หนี้สินทั้งหมด
355,471,825.47 บาท มียอดขาดทุนสะสม 69 ล้านบาท (ตามงบการเงินแจ้งกระทรวงพาณิชย์)
ตอนนี้เฉลิมพลกับผ่านณรงค์ก็เริ่มปีนเกลียวกันและต่อเนื่องมาเมืองอุทยานการ์เด้นโฮมวิลเลจขายออกอย่างฝืดต้องเปลี่ยนยุทธวิธีการขายเป็นการขายที่ดินอย่างเดียวได้
ขณะเดียวกันเฉลิมพล ชาญวิเศษก็สวมวิญญาณพ่อค้าขายข้าวแกงบริหารงานแบบรวบอำนาจต่อไป
ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเปลี่ยนคนแล้วคนเล่า
ในเดือนพฤศจิกายน 2529 หน้า 4 ไทยรัฐประกาศหาตัว เฉลิมพล โดยบอกว่า ให้มาพบกับสรรเสริญ
ธีรสาส์น โดยด่วน ในเวลาเดียวกันนั้นเองมีข่าวว่า ธนาคารทหารไทยจะเข้า "เทคโอเวอร์"
การ์เด้นโฮมวิลเลจ และเฉลิมพล ชาญวิเศษ ก็ล่องหาคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเขาไปไหน
แท้จริงความเคลื่อนไหวระดับลึกก็คือธนาคารไทยเสนอให้บริษัทการ์เด้นโฮมเพิ่มทุนเท่าตัวจาก
40 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาท พร้อม ๆ กับการที่พลอากาศเอกอัมพร คอนดี ประธานบริษัทการ์เด้นโฮมออกมาแถลงข่าวว่าบริษัทได้เพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว
ถึงตอนนี้ยืนยันกันว่า เฉลิมพล ชาญวิเศษ ได้เพิ่มสัดส่วนของตนเองเป็น 80%
แล้ว ไม่มีฝ่ายของผ่านณรงค์ในกรรมการอีกแล้ว
และแน่นอนธนาคารทหารไทยก็เข้ามีส่วนต่อไป เฉลิมพล ชาญวิเศษ นำที่ดินชายธงปากทางลาดพร้าวที่กะไว้ว่าจะสร้างปาร์ควิวโฮเต็ลขายให้ธนาคารทหารไทยในราคาประมาณ
100 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ดินติดจำนองอยู่ก่อนแล้ว ทั้งยังเสนอขายที่ดินส่วนหน้าติดถนนพหลโยธินจำนวน
60 ไร่ แก่กลุ่มเซ็นทรัลในราคาประมาณ 135 ล้านบาท และดูเหมือนเซ็นทรัลพอใจกับทำเลพอสมควร
ท่ามกลางข่าวร้ายปกคลุมโครงการการ์เด้นโฮมวิลเลจ เฉลิมพล ชาญวิเศษถือฤกษ์วันลอยกระทง
15 พฤศจิกายน 2529 เข้าพิธีบวชครั้งที่ 2 มีผู้ใกล้ชิดร่วมงานนี้ 6-7 คน
ที่วัดโพธิสมพร จังหวัดอุดรธานี แล้วมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่
12 ธันวาคม เขาสึกพร้อมกับการเดินทางไปเยี่ยมพระเทพที่วัดหินหมากเป้ง อ.
ศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ก็มานั่งทำงานที่การ์เด้นโฮมวิลเลจ
"คุณเฉลิมพล แกสบายใจแล้ว หลายอย่างปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มดีขึ้น การบวชคงเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นปัญหาหนัก
ๆ ที่ได้ลุล่วงไปแล้ว" พลอากาศเอกอัมพร คอนดี ตอบแทนเฉลิมพลกับ "ผู้จัดการ"
เริ่มศักราชใหม่การ์เด้นโฮมวิลเลจที่ดำเนินธุรกิจขายบ้านที่ดินต่อไป แม้จะถูกประทีบ
ตั้งมติธรรม เจ้าของโครงการชวนชื่นปาร์ควิว (แนวความคิดเมืองอุทยานเหมือนกัน)
ปรามาสว่า หากเป็นมืออาชีพแล้ว ภายใน 3 ปีก็สามารถเปิดโครงการได้
แต่การ์เด้นโฮมเดินโครงการมากว่า 4 ปีแล้ว พลอากาศเอกอัมพร คอนดี บอกว่าเหลือเพียง
180 แปลง (ที่ดิน) หรือประมาณ 20% ของทั้งโครงการ
สำหรับ เฉลิมพล ชาญวิเศษ ผู้ผ่านทางโลกและทางธรรมมาอย่างโชกโชนแล้ว คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง!?!?!