- 26 มกราคม 2530 อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประกาศลาออกด้วยเหตุผลหลักคือ ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง
(เหตุผลโดยละเอียดดูในปัจฉิมกถาของ ดร. อาทิตย์) ท่ามกลางความอาลัยรักไม่อยากให้เขาจากไปของคนประปา
สหภาพแรงงานเคลื่อนโจมตีนักการเมืองพรรคชาติไทย
- 27 มกราคม 2530 อาทิตย์ยอมถอนใบลาออกตามคำขอร้องของพลเอกเปรม แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลควรจะแก้ปัญหารากฐานที่ทำให้เขาต้องลาออกด้วย
สหภาพชุมนุมต่อพร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีที่คุมประปาและปรับปรุงบอร์ดใหม่
- 28 มกราคม 2530 อาทิตย์ยืนยันการลาออก หลังจากที่พลเอกประจวบ สุนทรางกูร
ไม่มีทีท่าว่าจะช่วยแก้ปัญหารากฐานที่ทำให้เขาทำงานไม่ได้และปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหภาพอย่างสิ้นเชิง
- 29 มกราคม 2530 พลเอกเปรมแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการยืนยันที่จะลาออกของอาทิตย์พร้อมทั้งอนุมัติใบลา
สหภาพเคลื่อนไหวต่อโดยได้รับแรงหนุนจากสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย
- 30 มกราคม 2530 อาทิตย์กล่าวคำอำลาพนักงานประปา พร้อมทั้งขอร้องให้สหภาพสลายตัว
ท่ามกลางความโศกเศร้าอาดูรของพนักงานประปา
เหตุเกิดที่การประปานครหลวง (กปน.) นี้มีผู้อธิบายได้หลายแง่
อาทิตย์ต้องลาออกจาก กปน. เพราะโดนการเมืองเล่นงานเนื่องจากไม่ได้เป็นคนของพรรคชาติไทย
ซึ่งมีรัฐมนตรีคุมหน่วยงานนี้อยู่ สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า "มาด้วยการเมืองก็ต้องไปด้วยการเมือง
และพรรคการเมืองไหนคุม ก็ต้องเอาคนของตนเข้าไป เป็นกติกา" ของพลตรีชาติชาย
ชุณหวัณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย
แต่เอกชัย เอกหาญกมล ประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง กล่าวว่า "การที่พรรคการเมืองไหนคุมแล้วส่งคนของตนเข้ามานั้น
แท้จริงคือการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ถ้ายังเป็นเช่นนี้ รัฐวิสาหกิจมีแต่จะเลวลง"
ในความเข้าใจของคนทั้งหลาย แม้จะเป็นนักการเมือง อาทิตย์ได้รับการยอมรับในานะนักบริหารมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในการบริหารรัฐวิสาหกิจ
การเข้าใจเช่นนี้มีความนัยว่า นักบริหารมืออาชีพเป็นเงื่อนไขหลักที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ
และต้องไม่แปรเปลี่ยนเมื่อเปลี่ยนพรรคการเมืองหรือรัฐมนตรี
แนวความคิด 2 กระแสนี้ดำรงอยู่จริงในปัจจุบัน
"มาเพราะการเมืองและไปเพราะการเมือง" เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง
ที่อำนาจพรรคการเมืองไปถึง (ซึ่งยังมีจำนวนน้อยกว่ารัฐวิสาหกิจภายใต้อิทธิพลของกองทัพ
เช่น การบินไทย เดินอากาศไทย การท่าอากาศยานฯ ของกองทัพอากาศ องค์การโทรศัพท์ฯ
การสื่อสารฯ ของกองทัพบก รวมไปถึงรัฐวิสาหกิจภายใต้อำนาจของกระทรวงการคลังอีกหลายแห่งที่พรรคการเมืองแทรกเข้าไปไม่ถึง)
รัฐวิสาหกิจประเภทนี้คงเหลืออีกไม่กี่แห่ง อาทิ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
(อตก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือการประปานครหลวงที่เพิ่งตกเป็นข่าวเกรียวกราวนี้
พรรคชาติไทยบอกว่าคนของตนก็พบปัญหานี้มาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่บุรินทร์ หิรัญบูรณะ
ต้องเด้งออกจาก อตก. ให้ที่แก่พัลลภ ตันหยงมาศ คนของพรรคกิจสังคม เมื่อเปลี่ยนพรรคคุมกระทรวงเกษตรและเมื่อถึงยุคของพรรคประชาธิปัตย์
คณิน บุญสุวรรณ จึงได้ขึ้นมาแทน มันเป็นวัฎจักรมาเช่นนี้ซึ่งพรรคชาติไทยก็ยอมรับกติกามาโดยไม่เคยโวย
การณ์ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีผู้ว่าฯ กปน. ที่ชื่ออาทิตย์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นกรณียกเว้น และในที่สุดก็บานปลายกลายเป็นเรื่องการเมืองซ้อนการเมือง
ซึ่งถึงที่สุดแล้วประโยชน์อันแม้จริงจะเกิดขึ้นแก่ใครยังเป็นที่สงสัยอยู่
คู่กรณีคือ รมช. สุขุมและพรรคชาติไทย ดูจะตกเป็นฝ่ายรับมาตั้งแต่เริ่มต้น
เพราะนอกจากจะไม่ทันเกมการเมืองแล้วยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ การแต่งตั้งบอร์ดใหม่ที่มีทั้งญาติ
รมช. และผู้เกี่ยวข้องในบริษัทที่ทำการค้าขายกับ กปน. อยู่ ซึ่งแม้ว่าในที่สุดแล้วอาทิตย์ต้องไปนั้นดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของพรรคชาติไทย
แต่ถึงที่สุดพรรคชาติไทยก็ยังต้องเตรียมรับมือกับฝ่ายค้านที่รอจังหวะอยู่ด้วย
กล่าวสำหรับอาทิตย์ การตัดสินใจลาออก ดูจะเป็นการลงจากเวทีอย่างสง่างาม
อาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีบทแตกในวันที่เขารอคอยอยู่แล้ว และต่อมาการที่นายกฯ
ขอร้องให้กลับมาดูก็จะเสริมให้ความสำคัญของเขาเด่นยิ่งขึ้น เนื่องจากถูก
"ผู้ใหญ่" ขอร้องแกมบังคับ โดยมารยาทเขาต้องรับปากถอนใบลา แต่ในที่สุดต้องกลับเป็นยืนยันการลาออก
ซึ่งถูกสื่อมวลชนตีความว่าเป็นการลาออกครั้งที่สอง นับเป็นความพลาดพลั้งที่ทำให้ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ภาพพจน์ของวีรบุรุษเริ่มแปรเปลี่ยน ดูเหมือนเขาจะลงจากเวทีได้ไม่งดงามดังความตั้งใจเสียแล้ว
นัยว่าเขาถูกกุนซือฝ่ายรัฐบาลตลบหลังเสียก่อน
สำหรับ กปน. ขณะที่เหตุการณ์ยังไม่ยุติ งานต่าง ๆ ของประปาส่วนใหญ่หยุดชะงักลงชั่วคราว
ในระยะยาวขององค์กรที่ยังไม่ลงตัวในแง่ของการทำงาน ดังนั้นผู้นำยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งขณะที่อาทิตย์ยังอยู่เขาริเริ่มงานต่าง
ๆ ไว้มาก ซึ่งแน่นอนงานหลายอย่างคงต้องหยุดชะงัก ให้เวลากับผู้บริหารคนใหม่และคนประปาปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้น
สิ่งที่น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง อาจจะได้แก่อุทาหรณ์สำหรับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่คิดว่าจะสามารถแผ่อิทธิพลเข้ามาในรัฐวิสาหกิจได้อย่างง่ายดาย
และความหวังที่จะให้นักบริหารมืออาชีพมาช่วยแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและถึงรากถึงโคน
ดูจะเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ของโครงสร้างการเมืองการบริหารเช่นนี้