Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2530
โครงการ 4 เมษา สูตรผสมโหด-เลว-ดี ที่ยังอยู่ในห้องทดลอง?             
 

   
related stories

ธวัชชัย ถาวรธวัช ตึกทองที่อาจจะกลายเป็นตึกตะกั่ว
เรื่องไม่ง่ายสำหรับคนจากคลังและแบงก์ชาติ
โรงงานเซเว่น-อัพ เรื่องของคู่เขยพลิกล็อค
สังสรรค์ผู้บริหารทรัสต์ 4 เมษา ที่ผิดพลาดพลั้งไป...อภัยด้วย

   
search resources

เริงชัย มะระกานนท์
สมหมาย ฮุนตระกูล
ศุภชัย พานิชภักดิ์
Financing
ธวัชชัย ถาวรธวัช
สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต




ลักษณะพิเศษของโครงการ 4 เมษายนนั้น นอกจากความฉุกละหุกแล้ว ประการสำคัญเห็นจะอยู่ที่ความเป็นสูตรผสมของวัฒนธรรมการคลี่คลายปัญหาแบบไทย ๆ ที่มีหลายอารมณ์และมีความเป็นสุภาพบุรุษที่ยืดได้หดได้ บางครั้งก็โหด บางครั้งก็ไม่ค่อยจะดีนัก แต่ก็จบลงด้วยความสบายใจของทุกฝ่ายยิ่งกว่าหนังไทยเสียอีก และไม่แน่นักอาจจะมีภาค 2 ภาค 3 ต่อไปอีกหากผู้ชมเรียกร้อง

สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต, ธวัชชัย ถาวรธวัช, ไพโรจน์ จิรชนานนท์, วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี กับอีกบางคนนั้น ถ้าถามคนแบงก์ชาติหรือคลัง ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นพวกที่มาในมาดไม่ต่างไปจากเตียบักฮ้ง หรือโคว้เฮงท้ง

สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต กลุ่มของเขาเคยประกอบด้วยบริษัทการเงิน 6 แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คอมเมอร์เชียลทรัสต์, บริษัทเงินทุนไฟแนนซ์เชียลทรัสต์, บริษัทเงินทุนไทยเงินทุน, บริษัทเงินทุนสกุลไทยและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์สากลสยาม

กลุ่มธวัชชัย ถาวรธวัช ก็มีบริษัทเงินทุนแหลมทอง, บริษัทเครดิตฟองสิเอร์ เมืองไทยพาณิชย์ และอาจจะพ่วงบริษัทเรดิตฟองสิเอร์เจริญผลเข้าไปด้วย

กลุ่มไพโรจน์ จิรชนานนท์ มีบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์, บริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีและบริษัทเงินทุนของสุธรรม โรจนวรกุล คู่เขยไพโรจน์

ส่วนกลุ่มวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี มี 2 แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส่งเสริมเงินทุนไทยกับบริษัทเครดิตฟองสิเอร์ส่งเสริมออมทรัพย์ไทย

มันน่าแปลกที่ภายใต้จินตภาพของคนแบงก์ชาติและคลังเช่นนี้ บริษัทการเงินในเครือเยาวราช ของสุพจน์ เดชสกุลธร หรือเตียบังฮ้งและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหไทยของโค้วเฮงท้ง ถูกคลังใช้ซามูไรเชือดสังเวยไปแล้ว

แต่บริษัทการเงินกลุ่มสุรินทร์, ธวัชชัย, ไพโรจน์และวิวัฒน์เป็น 14 บริษัทในจำนวนทั้งหมด 25 บริษัทที่คลังกับแบงก์ชาติประกาศให้ความโอบอุ้มภายใต้โครงการ 4 เมษายน ที่เริ่มขึ้นในวันเดียวกับชื่อโครงการนั้นเมื่อปี 2527!!

และนี่อาจจะเป็นรากเหง้าของความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับโครงการ 4 เมษายน ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าจนต้องค้นหาทางออกกันอุตลุด ซึ่งล่าสุดก็ตกลงให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้รับไปสะสางเอาเอง จะสำเร็จหรือไม่ "ก็ห้าสิบ…ห้าสิบ" คนที่เฝ้าจับตาโครงการ 4 เมษามาตั้งแต่ต้นไม่กล้ายืนยัน

ทัศนะหนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสองมิอาจเป็นอื่นใดไปได้ของคนคลังและแบงก์ชาติโดยส่วนใหญ่นี้ ดูเหมือนสิ่งที่ตามมาก็คือความ "โหด" และก็เป็นความโหดที่เริ่มตั้งแต่ "หัวเรื่อง" ยัน "หางเครื่อง" ไล่เป็นลูกระนาด

โดยเฉพาะสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีคลังที่ขณะนั้นอยู่ในจุดของคนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด สถานการณ์วันนี้ยืนยันชัดเจน ฉายา "ซามูไรโหด" ของเขาเหมาะสมที่สุดแล้วด้วยประการทั้งปวง

เช่นเดียวกับที่ภาพของเริงชัย มะระกานนท์ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์และผู้ใหญ่อีกหลายคนของคลังกับแบงก์ชาติก็ไม่พร่ามัวอีกต่อไป

หากพิสูจน์ความชัดเจนนี้ ไม่ใช่เป็นการเดิมพันบนเค้าหน้าตักถึง 20,000 ล้านบาท ตามราคาทรัพย์สินของทรัสต์ 4 เมษาทั้ง 25 แห่งรวมกันแล้ว ก็คงจะน่าลองมาก ๆ?

และควรจะลองต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อความชัดเจนในวิชาความรู้ที่สู้อุตส่าห์ร่ำเรียนมาหลายปีที่หาโอกาสใช้ไม่ง่ายนัก!

โครงการ 4 เมษายนนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นทางออกที่ทำกันฉุกละหุก ซึ่งก็อาจจะเป็นได้ที่เพียงต้องการหยุด PANIC ส่วนเมื่อ PANIC หยุดเพราะมียันต์จากกระทรวงการคลังไปแปะไว้หน้าบริษัทการเงินแล้วจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป ช่วงนั้นความคิดยังไม่ลงตัวเลยแม้แต่น้อย

เป็นเรื่องฉุกละหุกที่ไม่ใช่เพราะไม่มีเวลา หากแต่เป็นเรื่องความรั้นของคนที่จะต้องตัดสินใจซึ่งว่าไปแล้วก็ค่อนข้างจะเหลือเชื่อ

เมื่อปลายปี 2526 ที่เกิดกรณีอีดีทีของกลุ่มตึกดำนั้น เริงชัย มะระกานนท์ นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ก่อนอีดีทีล้ม เริงชัยก็ทราบปัญหาและพยายามหาทางช่วยเหลือสุดเหวี่ยงแต่เผอิญไม่สำเร็จ "ตอนนั้นถ้าหาเงินมาใส่สัก 2,000 ล้าน PANIC มันก็จะไม่เกิด ก็เข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" แบงค์เกอร์คนหนึ่งพูดให้ฟัง

ซ้ำร้ายกว่านั้น สมหมาย ฮุนตระกูล ผู้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์เสียอีกว่า สมควรให้บริษัทการเงินที่อ่อนแอล้มเพื่อปิดกิจการไปส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีมากเกินความจำเป็น

เท่านั้นเองใบปลิวเถื่อนที่บอกว่าทรัสต์นั้นจะล้มทรัสต์นี้จะไปไม่รอดอยู่ในลิสต์รายชื่อที่คลังจะสั่งปิดก็ว่อนไปทั้งเมือง นักวิเคราะห์สถานการณ์ต่างก็ยืนยันตรงกันว่า ไบปลิวเหล่านี้เป็นผลพวงของการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันที่ผสมโรง "ยืมดาบฆ่าคน" ซึ่งก็ได้ผลชะงัดมาก ๆ เพราะผู้ฝากเงินก็แห่กันไปรุมถอนเงิน บริษัทไหนที่ไม่แข็งแรงพอก็เลยล้มไปจริง ๆ ส่วนที่แข็งแรงอยู่บ้างก็บอบช้ำไปตามสภาพ

ที่จริงก่อนหน้าการประกาศจุดยืน (ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี) ของสมหมายอย่างโจ่งครึ่มนั้น ข้ออ่อนที่สำคัญของนโยบายที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงินที่จุดชนวนขึ้นที่อีดีทีก็คือ ความคิดที่สวนทางกันระหว่างฝ่ายแบงก์ชาติของผู้ว่าฯ นุกูล ประจวบเหมาะ กับคลังของรัฐมนตรีสมหมาย ฮุนตระกูล

และคนที่เป็นหนังหน้าไฟ วางตัวลำบากยากยิ่งก็เห็นจะเป็นเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของนุกูลที่เผอิญมีศักดิ์เป็นหลานเขยของสมหมาย

แบงก์ชาติตอนนั้นเสนอหนทางแก้ไขด้วยการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก

แบงก์พาณิชย์หลายแห่งที่มีบริษัทการเงินในเครือซึ่งเข้มแข็งไม่มีปัญหาก็คัดค้านด้วยความที่กลัวจะเสียเปรียบ" (และเสียเงิน)

ที่ปรึกษาสายเหยี่ยวหลายคนของสมหมายก็มองว่าไม่เหมาะเพราะเท่ากับจะไปรักษาบริษัทที่อ่อนแอไม่มีประสิทธิภาพให้อยู่ได้ต่อไป การแก้ปัญหาที่จะต้องลดจำนวนบริษัทการเงินที่มีเงื่อนไขให้แล้วนี้ก็จะพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

อาจจะผสมผสานกับความหัวรั้นด้วย สมหมาย ฮุนตระกูล ก็เขี่ยเรื่องสถาบันประกันเงินฝากตกไปอย่างไม่แยแส "พวกทรัสต์อิสระที่ร่วมให้ข้อมูลแบงก์ชาติ และเห็นว่าสถาบันประกันเงินฝากจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เข่าแทบทรุด ไม่มีใครคาดเดามาก่อนว่าสมหมายจะโหดขนาดนั้น…" อดีตผู้บริหารบริษัทการเงินที่ไม่มีธนาคารเป็นหลังพิงบอกกับ "ผู้จัดการ"

มีบางคนเปรียบเทียบความคิดของสมหมายกับทีมที่ปรึกษาที่แวดล้อมขณะนั้นว่า เป็นความคิดแบบหมอผ่าตัดที่อยากจะผ่าคนไข้ใจจะขาด "ให้เลือด ให้น้ำเกลือไม่อั้น ขอให้ผ่าดูสักหน่อยเถอะ ว่ามันเป็นโรคอะไรอยู่ ไม่ต้องมานั่งคิดกันละว่าหมอมีพอกับจำนวนคนไข้หรือไม่ ในที่สุดคนไข้ก็เลยต้องส่งให้เวรเปลไปนั่งวิเคราะห์โรคแทน…"

เมื่อไม่มีสถาบันประกันเงินฝาก แต่วิกฤติการณ์ยังขยายตัวลุกลามไม่หยุด

โครงการ 4 เมษายน ก็ถูกกำหนดขึ้นมาแทนที่เพื่อยับยั้งวิกฤต

สำหรับเริงชัยแล้วนอกจากจะเป็นโครงการที่ว่ากันว่า เขาสรุปบทเรียนมาจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของอังกฤษประเทศ ที่เขาเคยไปเรียนจนจบปริญญาโทที่สำคัญกว่านั้นเห็นจะอยู่ที่ว่ามันเป็น "ทางสายกลาง" ที่ทั้งฝ่ายนุกูลและฝ่ายสมหมายพอจะยอมรับได้

นุกูล ยอมรับในแง่ที่โครงการ 4 เมษาจะช่วยยับยั้ง PANIC ไม่ให้ขยายวงกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้น

ส่วนสมหมายก็คงจะพอใจที่ภายใต้โครงการนี้งานผ่าตัดระบบสถาบันการเงินก็จะดำเนินไปได้อย่างจำแผนก ที่ไร้คุณภาพก็ล้มไป ทางการรับเปลี่ยนตั๋วให้ ที่แข็งแรงก็สามารถยืนอยู่ได้ ส่วนที่พอจะมีคุณภาพแต่ประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์ก็เข้ามารับความช่วยเหลือจากทางการผ่านโครงการ 4 เมษายน ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบครอบจักรวาลตามสูตรสถาบันประกันเงินฝากที่เขาไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้เงื่อนไขก็คือบริษัทการเงินที่ทางการรับเข้าโครงการจะต้องโอนหุ้น 25% ให้ทางการและเพื่อให้มีสิทธิในการบริหารก็โอนหุ้นอีก 50% เป็นการชั่วคราว (ทำสัญญาที่จะคืนให้ภายใน 5 ปี) พร้อมทั้งจัดหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันทรัพย์สินที่ด้อยคุณภาพให้ครบถ้วน

"ก็นับว่าเป็นเงื่อนไขที่ถ้าบริษัทใดสามารถเข้าโครงการได้ ก็เหมือนทางการได้ออกประกานียบัตรรับรองแล้วอย่างมั่นคง เพราะถ้าไม่ดีจริงทางการก็คงจะไม่ยอมรับตั้งแต่ต้น" อดีตผู้ถือหุ้นรายย่อยทรัสต์ 4 เมษาคนหนึ่งแสดงความเห็น

ขณะนั้นมีบริษัทการเงินจำนวนกว่า 30 รายที่เสนอตัวขอเข้าโครงการ 4 เมษา ซึ่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟด้วยรายหนึ่ง

แต่ก็มีเพียง 24 รายที่ทางการยินดีรับและต่อมาก็ได้รับส่งเสริมเงินทุนไทยของวิวัฒน์ สุวรรณภาศรีเข้ามาทำให้กลายเป็น 25 ส่วนที่ไม่รับเข้าโครงการ "บางรายเขายังแข็งแรงพอจะไปได้ ก็ไม่อยากเอามาเป็นภาระ ส่วนบางรายก็อยู่ในฐานะที่กู้ไม่กลับแล้ว รับไปก็ไม่ไหว ก็เลยไม่รับ" คนแบงก์ชาติพูดกับ "ผู้จัดการ"

บริษัทการเงินที่เข้าโครงการ 4 เมษานี้ เริงชัย ตอนนั้นก็ประกาศว่า จะบริหารภายใต้สิ่งที่เรียก "แมเนจเม้นท์ พูล" โดยจะแบ่งออกเป็น 3 พูล และจ้าง "มืออาชีพ" เข้ามารับผิดชอบ ก็เป็นที่กะเก็งกันวุ่นวายพอสมควรว่าคนนั้นคนนี้จะเข้ามาในพูลอย่างเช่นสงบ พรรณรักษา ที่อยู่เอ็ตโก้ก็เป็นคนหนึ่งที่พูดกันว่าถูกทาบทามจากคลังและแบงก์ชาติ

แต่ยังไม่ทันไปถึงไหน การเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่อย่างเงียบเชียบก็มาพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

เริงชัย มะระกานนท์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารและผู้ที่ก้าวขึ้นมาแทนเริงชัย คือ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้มาพร้อมกับคำว่า "ไลฟ์ โบต" หรือเรือช่วยชีวิตที่จะต้องช่วย 25 ทรัสต์ที่ยุคเริงชัยคัดเลือกไว้แล้ว

"คนคู่นี้เขาคิดไม่เหมือนกัน เริงชัยนั้นจะจับ 25 แห่งแยกเป็น 3 พูลแล้วจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว แยกเป็น 3 พูลจะทำให้ใช้คนไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินความจำเป็น แต่ศุภชัยเขากลับมองว่า ทรัสต์ทั้ง 25 แห่ง ต่างแห่งต่างปัญหา จะเอามาพูลกันแล้วใช้คนทีมเดียวดูแลก็อาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ศุภชัยก็เห็นว่าต้องแยก ต่างคนต่างบริหารกันไป ทั้งนี้คลังกับแบงก์ชาติก็จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการดูแลทุกแห่งอย่างใกล้ชิด ใครแก้ปัญหาตัวเองได้ตกเร็วก็โอนกลับให้เจ้าของเดิมได้เร็ว ใครช้าทางการก็จะได้ทุ่มเทฟูมฟักให้ได้เต็มที่" แหล่งข่าวที่ศึกษาโครงการ 4 เมษาพูดถึงเบื้องหลังที่ "แมเนจเม้นท์ พูล" หายเข้ากลีบเมฆไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเริงชัย

และนั่นเห็นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินชักแถวเข้าเป็นกรรมการและผู้บริหาร 25 ทรัสต์ โครงการ 4 เมษาของคนคลังและแบงก์ชาติจำนวนกว่า 100 คนตั้งแต่ระดับ "ผู้ใหญ่" ไปจนถึงระดับ "หางเครื่อง"

"ฝ่ายแบงก์ชาติก็มีฝ่ายของ ดร. ศุภชัย เป็นคนกลั่นกรองเสนอ ส่วนกระทรวงการคลังคนที่ดูแลเรื่องนี้ต้นทางก็คือวีระยุค พันธุเพชร หัวหน้ากองนโยบายการเงินการธนาคาร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง" แหล่งข่าวผู้หนึ่งเล่าถึงกลไกการส่งคนของทางการเข้าไปใน 25 ทรัสต์

คนทางการเหล่านี้ ไม่ได้เข้าไปเพื่อบริหารธุรกิจการเงิน กล่าวให้ถูกต้อง ทุกคนมีหน้าที่เข้าไป "จับผิด" และ "สะสางบัญชี" ที่เจ้าของเก่าและผู้บริหารเดิมทำไว้

"ผมไม่อยากตำหนิ ดร. ศุภชัย หรอกนะ เพราะสิ่งที่ ดร. ศุภชัย ดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เริงชัยวางเค้าโครงไว้ สำคัญที่สุดก็คือ 25 ทรัสต์ที่เข้าโครงการนั้นหลายแห่งพบเห็นเงื่อนงำผิดปกติเมื่อเข้าไปตรวจสอบภายหลัง หลักทรัพย์ที่เอามาวางค้ำคุณภาพต่ำกว่าเป็นจริงบ้างและบางแห่งไม่น่าจะรับเข้ามาก็รับ เพราะฉะนั้น ดร. ศุภชัยก็เลยไม่พูล เดี๋ยวของเสียจะไปดึงของดี ก็ต่างแห่งต่างบริหารและขั้นต้นสุดก็จะต้องล้างครัวกันให้สะอาดเสียก่อน…" เจ้าหน้าที่คลังรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

อาจจะเป็นตรงนี้เองที่จินตภาพ "เจ้าของทรัสต์มันก็เลวเหมือน ๆ กันหมด" กลับเข้าครอบงำอีกครั้ง แต่ความน่ากลัวก็คือเผอิญเป็นจินตภาพที่เกิดขึ้นกับบริษัทการเงินที่ทางการได้อ้างว่ากลั่นกรองอย่างดีเยี่ยมแล้วก่อนรับเข้าโครงการ 4 เมษา ซ้ำร้ายกว่านั้นมันได้กลายเป็นกิจการที่คลังเป็นเจ้าของ (บอกว่าชั่วคราวตามสัญญา) และคนของทางการสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ทุกขณะ!!

"เป็นเรื่องแปลก เพราะแทนที่คนทางการจะสะสางคนทางการด้วยกันเอง ว่าไปไหน้ามืดตามัวเข้าอีท่าไหนจึงถูกแหกตาได้ กลับเป็นว่าคนที่จะต้องถูกเชือดอย่างเสมอหน้าคือบริษัทการเงินทั้ง 25 แห่ง" อดีตเจ้าของทรัสต์ 1 ใน 25 แห่งที่เข้าโครงการด้วยความหวังที่เคยเปี่ยมล้นวิจารณ์ดุเดือด

"คือก็ต้องยอมรับว่า ก็มีบางแห่งใน 25 แห่งที่กว่าจะเข้ามาได้ก็ต้องอาศัยบารมีทหารใหญ่บางคน บางแห่งเคยมีเรื่องตั๋วปลอมวุ่นวายมากก็อาศัยวิ่งเข้าหลังบ้านผู้ใหญ่ และอีกบางรายก็อาศัยบารมีอดีตผู้ใหญ่กระทรวงการคลังที่เล่นการเมืองจนมีตำแหน่งใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อนช่วยขอร้องให้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นจำนวนมากจะไปมองเขาเลวร้ายไม่ได้ เขาทำธุรกิจก็จะต้องยืดหยุ่นแต่เจตนาโกงหาประโยชน์เข้าตัวหรือเอาเงินไปเล่นการพนันนั้นไม่มี ทำไมไม่มองอย่างแยกแยะ…" เขาเสริม

จากนโยบายที่จริง ๆ แล้วก็อาจจะต้องแยกแยะ แต่เมื่อลงไปสู่การปฏิบัติโดยคนของทางการที่เคยชินกับกรอบของระเบียบวินัยที่เคร่งครัดอีกทั้งขาดประสบการณ์ทางธุรกิจ ความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้น

ตรรกวิทยาง่าย ๆ ก็คือ เมื่อทางการเข้าไป PANIC ก็หยุด เงินที่เคยไหลออกก็เริ่มไหลเข้า

ขณะเดียวกันที่อีกด้านหนึ่งก็ตั้งหน้าแต่ตรวจสอบบัญชี เร่งรัดหนี้สิน ทวงถามหลายครั้งไม่คืบหน้าก็ฟ้องร้องดำเนินคดี และไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อใด ๆ ทั้งสิ้น

ผลก็คือดอกเบี้ยเงินฝากต้องจ่ายแรายได้ไม่มีเพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่เมื่อท่าทีไม่ผ่อนปรน ก็หาทางหลบเลี่ยงฟ้องได้ฟ้องไป ส่วนกิจการที่เป็นหนี้อยู่เมื่อไม่ปล่อยเงินให้หล่อเลี้ยง ที่ดีก็ทำท่าจะเสียเอาดื้อ ๆ

"ก็ยิ่งบักโกรกกันหนักเข้าไปอีก อย่างล่าสุดก่อนหน้าที่ที่จะให้กรุงไทยรับไปก็ยืนยันว่าขาดทุนทุกวันอย่างน้อยวันละ 6 ล้านบาทเมื่อรวมทุกแห่ง…" อดีตเจ้าของทรัสต์ฯ คนเดิมสรุป

ดูเหมือนกว่าที่ ดร. ศุภชัย จะทราบชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เกือบสายเสียแล้ว

ก่อนหน้าการสละเก้าอี้เพื่อเข้าสู่เวทีการเมือง เขาพยายามหาทางคลี่คลายปัญหาอยู่เหมือนกัน

เขาประกาศเรียกร้องให้คนทางการกลับ

ขณะเดียวกันก็บอกว่ามีทรัสต์บางแห่งที่แก้ปัญหาได้ตกแล้วและพร้อมจะคืนให้เจ้าของเดิม?

และภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนด 3 ฉบับ (ที่กลายเป็นพระราชบัญญัติ…เพิ่มอำนาจให้คลังกับแบงก์ชาติ) ก็มีการประกาศลดทุนทรัสต์โครงการ 4 เมษาเหลือ 25% พร้อมกับเอาเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มทุนเข้าไป

การตัดสินใจใช้อำนาจ "ล้นฟ้า" ลดทุนและเพิ่มทุนนี้ ไม่ว่าจะอธิบายว่าเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหรือเหตุผลที่สวยหรูแค่ไหน สิ่งที่ติดตามมาก็คือสัดส่วนความเป็นเจ้าของฝ่ายเจ้าของเดิมก็มีอันลดลงโดยอัตโนมัติ

หรือว่าเจตนาจริง ๆ แล้วก็คือไม่ต้องการคืน?

สำหรับเจ้าของเก่านั้น สิ่งนี้ก็น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย

การใช้มาตรการทางกฎหมายตอบโต้คนทางการได้เริ่มขึ้นแล้วประปรายในช่วงต้นปี 2529 พร้อม ๆ กับการแฉโพยพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล ที่ยิ่งแฉสีสันก็ยิ่งเพิ่ม และในช่วงปลายปี 2529 สมุดปกแดงที่เสนอบทรายงานละเอียดยิบเกี่ยวกับโรงการ 4 เมษาก็ถูดจัดทำขึ้นมาอย่างประณีต

พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับสมุดปกแดงฉบับนี้ เช่นเดียวกับที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ได้รับไว้อ่านอย่างน้อยก็เล่มหนึ่ง

มันเป็นการรุกตอบโต้คลังและแบงก์ชาติทั้งด้านเปิดและด้านปิด ทั้งด้านกว้างโดยผ่านสื่อหลายชนิดและด้านลึกผ่านเส้นสายที่ระโยงระยางเชื่อมโยงถึงกลุ่มผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สามารถนำไปใช้ในปฏิบัติการเชิงรุกต่อรัฐบาลโดยเฉพาะตัวรัฐมนตรีคลังได้อย่างถนัดถนี่

และมันก็เป็นแรงบีบเค้นที่ต้องส่งผ่านมาเป็นทอด ๆ จนมาถึง ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยคลังและเริงชัย มะระกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ที่จะต้องหาทางคลี่คลายปัญหาให้ตก ในฐานะที่สร้าง 4 เมษามาคนละครึ่งอีกทั้งฐานะปัจจุบันของคนทั้ง 2 ก็เอื้ออำนวยด้วยประการทั้งปวง

"…ทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาบริษัทการเงิน 25 แห่งในโครงการ 4 เมษายน ทางการมีทางเลือกได้หลายประการคือ 1. ให้ธนาคารของรัฐรับกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ไปบริหารภายใต้โครงสร้างของธนาคาร 2. ให้ผลักภาระให้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ รับบริษัทการเงินต่าง ๆ เหล่านี้ไปบริหาร 3. เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจอื่นเข้าบริหาร 4. ให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ารับช่วงการบริหาร 5. รวมกิจการต่าง ๆ ให้เหลือจำนวนน้อยเพียง 3-4 แห่งและเรียกผู้บริหารเดิมกลับมาบริหาร 6. กำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารเดิมรับกิจการคืนไป โดยอาจจะมีข้อจูงไจบางประการในการที่จะคืนกิจการ เช่น ทยอยคืนหุ้นให้เต็มจำนวนเต็มมูลค่า ให้โอกาสและเวลาในการแก้ปัญหาหนี้สิน ให้เวลาในการทยอยซื้อหุ้นคืนหรือช่วยจัดหาแหล่งเงินช่วยเหลือซื้อหุ้นเพิ่มเติม เป็นต้น โดยที่ผู้บริหารเดิมต้องพยายามคืนเงินลงทุนของทางการในระยะยาว แต่ในเวลาเดียวกันทางการก็ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่เจ้าหน้าที่ของทางการได้ทำให้กิจการเหล่านี้เสียหายเพิ่มเติมขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ทางการอาจจะชดใช้หรือหักหนี้ไปบางส่วน…" เนื้อหาตอนหนึ่งภายใต้หัวข้อ "ทางออก" ของสมุดปกแดงเสนอไว้

ช่วงต้นปี 30 ก็เริ่มเปิดศักราชด้วยข่าวสารระดับวงในว่า เจ้าของเดิมบางคนมีการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคลังแบงก์ชาติพร้อม ๆ กับกระแสทิ่มตำคนทางการเริ่มค่อย ๆ เงียบไปบ้าง

กลางเดือนมกราคม บางกระแสระบุว่า ธนาคารกรุงไทยตัดสินใจรับทรัสต์จำนวนหนึ่งไปดูแลต่อ โดยส่วนหนึ่งจาก 25 รายนี้ก็จะมีการควบกิจการเข้าด้วยกัน

"เป็นทางออกที่คงจะดีที่สุดแล้ว เพราะพูดกับนักบริหารการเงินด้วยกันที่กรุงไทยจะส่งเข้ามาแทนคนทางการน่าจะรู้เรื่องมากกว่าคนทางการที่ไม่ประสีประสา เอาแต่ดูบัญชีอยู่นั่นแหละ บอกอาการไม่ได้สักทีว่าจะรักษาโรคกันอย่างไร" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนมีชื่อแห่งหนึ่งให้ข้อคิด

เข้าใกล้ปลายเดือนมกราคมภาพก็ยิ่งแจ่มชัดขึ้นว่ามาตรการแก้ไขนั้นถูกแบ่งเป็น 3 ระดับ

ระดับแรกเป็นการคืนกิจการบางส่วนออกไปจากโครงการด้วยการซื้อคืนโดยเจ้าของเก่าซึ่งก็รวมทั้ง 3 รายที่ประกาศไปแล้วแต่แท้จริงยังคืนให้ไม่ได้เนื่องจากชำระเงินให้ทางการไม่ครบ (แต่ก็อุตส่าห์ออกมาแถลงข่าวว่าคืนได้แล้วเพื่อโชว์ผลงานกัน)

ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ก็คืนให้กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองไป

ส่งเสริมออมทรัพย์ไทยวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี หาเงินมาซื้อคืนได้สำเร็จ ส่วนส่งเสริมเงินทุนไทยยังเอาคืนไม่ได้และก็ไม่ง่ายนักหากต้องการเอาคืน ภายหลังที่วิวัฒน์ต้องประสบปัญหาจากโครงการเมืองมหาวิทยาลัยที่บางนา กรณีธนาคารนครหลวงไทยถูกสั่งลดทุนและโครงการปุ๋ยแห่งชาติที่วิวัฒน์เข้าไปเอี่ยวด้วย ต้องกลายเป็นโครงการที่ไม่มีอะไรแน่นอนไปแล้วในขณะนี้

หลายคนเชื่อว่าวิวัฒน์จะต้องใช้เวลาในการฟูมฟักธุรกิจตัวเองที่เหลือในย่านปากคลองตลาดอีกพักใหญ่เพื่อจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

นอกจากนี้ก็มีกรุงไทยของกลุ่มโรงน้ำตาล

และอีก 2 รายที่เจรจาสำเร็จเมื่อภายหลังคืนธนไทยของปิยะพงษ์ กนกนันต์ กับบูรพาทรัสต์ที่ วานิช ไชยวรรณ กลุ่มไทยประกันชีวิตตัดสินใจรับซื้อคืนไปในวินาทีสุดท้าย

ระดับที่ 2 เป็นการควบบริษัทที่พอจะมีเงื่อนไขให้ควบกันได้ ซึ่งก็พอจะมีอยู่ 3 กลุ่ม

กลุ่มสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต 6 บริษัท ซึ่งเมื่อรวมสินทรัพย์แล้วก็จะราว ๆ 9,000 ล้านบาท

กลุ่มเอราวัณทรัสต์ของไพโรจน์ จิรชนานนท์ ที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่หนักไปทางที่ดินโดยเฉพาะย่านพระประแดง (บ้านเกิดไพโรจน์) และบริเวณถนนรัชดาภิเษกที่มีจำนวนกว่า 300 ไร่ จำนวน 3 บริษัท สินทรัพย์รวมกันแล้วประมาณ 5,000 ล้าน

และกลุ่มแหลมทองของธวัชชัย ถาวรธวัช ที่มีอยู่แล้ว 2 คือแหลมทองกับเมืองไทยพาณิชย์และกำลังเจรจากับกลุ่มเจ้าของเก่าเจริญผลเพื่อจะดึงเข้ามาร่วมให้เป็น 3 กลุ่มนี้มีสินทรัพย์ โดยคร่าว ๆ เกือบ 1,000 ล้านบาท

"ถ้าสามารถรวมกันได้สำเร็จก็ดี เพราะลุยแก้ปัญหา 3 กลุ่มนี้สำเร็จ ทุกอย่างก็เริ่มง่ายแล้ว เพราะ 3 กลุ่มนี้สินทรัพย์รวมกันแล้วก็เกือบ 15,000 ล้านบาทแล้ว ที่เหลือก็แค่รวมกันอีกราว ๆ 5,000 ล้านมันก็สบายมือขึ้น…" แบงค์เกอร์ผู้หนึ่งวิเคราะห์

ส่วนระดับที่ 3 ก็คือตระเตรียมให้กรุงไทยเข้าไปรับหน้าที่

ซึ่งภายหลังการประชุมร่วมเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 23 มกราคม สุธี สิงห์เสน่ห์เป็นประธานนั้น ก็ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการเข้ามาของธนาคารกรุงไทย ท่ามกลางการแซ่ซร้องสรรเสริญของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต ก็คงจะยินดีไม่น้อย เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่พอจะมีเงื่อนไขรวมกิจการทั้ง 6 แห่งเข้าด้วยกันได้ จึงจัดเข้าไปอยู่ในพูลที่ 3 อย่างเป็นเอกเทศไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับบริษัทอื่น ในขณะที่กลุ่มเอราวัณทรัสต์กับกลุ่มแหลมทองถูกจัดให้อยู่ในอีก 2 พูลที่เหลือโดยคละกันไปกับบริษัทที่เหลือบนพื้นฐานปัญหาที่คล้าย ๆ กัน "อย่างกลุ่มเอราวัณทรัสต์ก็ไปอยู่ในพูลแรกที่มีทั้งหมด 9 บริษัท ซึ่งส่วนมากกลุ่มนี้ทรัพย์สินก็จะเป็นพวกที่ดิน รีลเอสเตทพวกนี้" เจ้าหน้าที่กรุงไทยเปิดเผยให้ฟัง

คนแบงก์ชาติระดับผู้อำนวยการฝ่ายคนหนึ่งพูดถึงการเข้ามาของกรุงไทยว่า "มันเป็นบทสรุป" เขาพูดคล้ายกับว่าได้ถูกกำหนดเป็นขั้นตอนไว้แน่นอนแล้วล่วงหน้า ซึ่งเท่ากับที่ผ่าน ๆ มานั้นไม่ใช่ความผิดพลาดเลยแม้แต่น้อยนิด

หรือมันเป็นบทบาทหนึ่งที่ถูกกำหนดให้โหด

แล้วก็ยอมก้มหน้าให้ด่าทอว่า "เลว"

เพื่อที่จะได้สรุปลงในฐานะอัศวินม้าขาวที่เปี่ยมด้วยความดี

หากไม่ใช่ นี่ก็คงจะเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งหนึ่งบนสถานการณ์ใหม่ที่จริง ๆ แล้วก็ยังปกปิดสถานการณ์บางด้านกันอยู่อย่างเป็นกระบวนการ?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us