ที่จริง "ผู้จัดการ" ภายหลังถ่ายทอดเรื่องราวของวรวัฒน์ ปั้นจิตร
อดีตพนักงานบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ที่ป่วยเป็นมะเร็งในสมองและต้องถูกให้ออกจากงาน
ก็ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเขามาโดยตลอด
เราทราบว่าอาการป่วยของวรวัฒน์ทรุดอยู่ทุกขณะ
ทราบว่าภรรยาพยายามทวงถามความเป็นธรรมจากโกดัก และได้รับการสนองตอบระดับหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อนพนักงานหลายฝ่ายถึงกับรวบรวมเงินคนละนิดคนละหน่อย
เตรียมนำมามอบให้กับครอบครัวของวรวัฒน์
แต่ดูเหมือนจะไม่มีเสียงขานตอบจากตัวบริษัทโกดัก
"ก็พูดกันว่าผู้บริหารหลายคนเห็นใจวรวัฒน์ แต่ลมเสียมากที่เรื่องของวรวัฒน์ปรากฏอยู่บนหนังสือพิมพ์ทำให้โกดักเสียภาพพจน์…"
แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
ภรรยาของวรวัฒน์นั้นภายหลังจากเฝ้ารออยู่นานพอควรว่าจะมีอะไรจากโกดักหรือไม่
ซึ่งก็ปรากฏแต่ความเงียบ
ก็เลยต้องตัดสินใจเดินขึ้นศาลแรงงานกลาง ฟ้องบริษัทโกดักเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวรวัฒน์ที่ตอนนั้นได้แต่นอนแบบเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนไม่ได้แล้ว
"ก็ขึ้นแบบอนาถาไม่มีเงินจ้างทนายต้องขอความช่วยเหลือจากนิติกรของศาลแรงงานกลาง…"
คนที่รู้จักกับครอบครัวของวรวัฒน์เล่า
คดีระหว่างวรวัฒน์ ปั้นจิตรกับบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) แรก ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องยืดเยื้อไปอีกนาน
เพราะฝ่ายโกดัก (ประเทศไทย) ก็บอกว่า ได้ตัดสินใจกระทำลงไปถูกต้องตามขั้นตอนและกฎเกณฑ์ทุกประการแล้ว
แต่ภายหลังการขึ้นให้การของภรรยาวรวัฒน์ ที่บอกกับศาลด้วยน้ำตานองหน้ายังความสลดหดหู่ให้กับคนที่พบเห็น
และรับทราบชะตากรรมของวรวัฒน์ที่จะมีผลกระทบถึงครอบครัวรวมทั้งลูกชายตาดำ
ๆ อีก 2 คนของเขา ฝ่ายโกดัก (ประเทศไทย) ก็ตัดสินใจยุติข้อพิพาทยินยอมจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับวรวัฒน์ไปตามจำนวนที่เรียกร้อง
"วรวัฒน์เรียกไปแสนเศษ หักหนี้ที่วรวัฒน์ค้างชำระกับโกดักก็เหลือราว
ๆ 8 หมื่นบาท…" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวพร้อมกับถือโอกาสชมเชยความมีน้ำใจของโกดักพอหอมปากหอมคอ
และเงินก้อนนี้วรวัฒน์คงจะต้องยินดีมาก ๆ ก็เป็นได้ เพราะมันไม่ได้ถูกใช้ไปกับการป่วยของเขามากนัก
หากแต่สามารถเก็บเป็นค่าใช้จ่ายของภรรยาและลูกได้อย่างน้อยก็วาระหนึ่ง
วรวัฒน์ ปั้นจิตร สิ้นลมเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2528 วันสิ้นปีที่ทุกครอบครัวเฉลิมฉลองกันอย่างมีความสุข!
พิธีศพของเขาจัดอย่างประหยัดและรวบรัดท่ามกลางแขกวงในจริง ๆ ในพิธีสวด
2 คืนแรกเนื่องจากเป็นวันหยุดติดต่อผู้คนลำบาก
กระทั่งคืนที่ 3 ที่เป็นคืนสุดท้าย เพื่อน ๆ พนักงานโกดักกับเพื่อน ๆ ที่เคยทำงานชิปปิ้งด้วยกันจึงได้มีโอกาสมาคารวะศพ
ซึ่งพนักงานโกดักนั้นก็ล้วนแต่เป็นพนักงานธรรมดา ๆ ที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานฝ่ายเดียวกันมาเป็นส่วนใหญ่
ไม่ปรากฏแม้แต่เงาของผู้หลักผู้ใหญ่สักคนเดียว
รุ่งขึ้นอีกวันก็เป็นวันปลงศพ
เป็นการจากไปตามการคาดหมายที่หลาย ๆ คนก็ภาวนาว่าอย่าได้เป็นเช่นนั้นเลย
ครอบครัวของวรวัฒน์ ปั้นจิตรเองก็มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
ทุกคนจะต้องปรับตัวและหาทางดิ้นรนเอาชีวิตรอด
และเรื่องราวของหัวหน้าครอบครัวของพวกเขาเช่นวรวัฒน์นั้น คงทำให้ต้องจดจำชื่อโกดักไปอีกนาน
ไม่ต้องมานึกตอนเลือกกระดาษอัดภาพสีอย่างที่โฆษณานั่นหรอก