แล้วก็ถึงวาระที่ ดร. ชัยยุทธ ปิลันธ์โอวาท จะต้องเปลี่ยนนามบัตรใหม่อีกครั้ง
นามบัตรเก่าที่ ดร. ชัยยุทธเคยใช้อยู่หลายปีนั้น ระบุตำแหน่ง ดร. ชัยยุทธเป็นกรรมการรองผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ
ยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ของวงการทรัสต์และไฟแนนซ์ซึ่งก็อยู่ใต้ชายคาหนึ่งเดียวกันกับเบอร์
1 อย่างสินเอเซีย (ชาตรี โสภณพนิช คงจะยืนยันได้)
ส่วนนามบัตรใหม่ที่เพิ่งจะส่งพิมพ์ยังไม่หมาดหมึกดีนี้ ระบุตำแหน่ง ดร.
ชัยยุทธ ในร่วมเสริมกิจสูงส่งขึ้นอีกขั้น คือตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการที่สุจินต์
วงศ์ไพศาล เคยนั่งอยู่หลายปีดีดัก
"ก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานหนักขึ้น เพราะเปลี่ยนนามบัตรแล้วนี่ครับ…"
ดร. ชัยยุทธบอกทีเล่นทีจริงกับ "ผู้จัดการ"
ดร. ชัยยุทธ ปิลันธ์โอวาทเป็นนักบริหารรุ่นหนุ่มคนหนึ่งที่ไต่บันไดดารารวดเร็วมาก
แต่กระนั้นการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของร่วมเสริมกิจก็มีเสียงเล็ดลอดออกมาทั่วทิศว่า
"ชาตรี โสภณพนิช เลือกได้ไม่ผิด…" ซึ่งก็คือคณะกรรมการบริษัทฯ
เลือกไม่ผิดด้วยนั่นแหละ
ถึงวันนี้ ดร. ชัยยุทธ เพิ่งจะมีอายุเพียง 39 และ 8 ปีเต็มเป็นเวลาที่ใช้ไปกับร่วมเสริมกิจภายหลังบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งนี้ถูกกลุ่มชาตรี
โสภณพนิชซื้อผนวกเข้ามาในเครือเพื่อชุบชีวิตใหม่ เมื่อปี 2522 หรือพูดอีกที
ดร. ชัยยุทธ ก็คือผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งที่ถูกส่งเข้าฟื้นฟูร่วมเสริมกิจมาตั้งแต่ต้น
"บางทีชาตรีอาจจะเลือกถูกคนตั้งแต่ตัดสินใจดึง ดร. ชัยยุทธเข้ามาร่วมงานแล้วก็เป็นได้"
แบงก์เกอร์ระดับซีเนียร์ไวซ์เพรสซิเด้นท์คนหนึ่งพูดให้ฟัง
ดร. ชัยยุทธนั้นเป็นคนโคราช เรียนหนังสือระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนราชสีมาพิทยาลัย
ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด สอบผ่านได้เป็นที่ 2 ของจังหวัด ปี 2508 เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนพาณิชยการพระนคร
เรียนอยู่เพียง 2 ปีก็สอบเทียบได้ ม.ศ. 5 ติดบอร์ดด้วยคะแนน 86% แล้วสอบผ่านได้เข้าไปเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อสำเร็จปริญญาตรีโดยมีเกียรตินิยมพ่วงท้ายก็ได้งานเป็นอาจารย์ประจำคณะบัญชีฯ
ที่ธรรมศาสตร์ทันที
สอนหนังสือเพียง 4 เดือนก็สอบชิงทุนกรมศุลกากรได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค
ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาการบริหาร ปรากฏว่า เรียนดีมากทางมหาวิทยาลัยเลยให้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาเอกฟรี
เขาใช้เวลา 3 ปีในระดับปริญญาเอก สาขาการเงินและเศรษฐกิจการคลัง จากนั้นเข้าทำงานในกองวิชาการและสถิติกรมศุลกากรเพื่อชดใช้ทุน
เล่ากันว่า เมื่อ ดร. ชัยยุทธเพิ่งทำงานที่นี่กรมศุลฯ ได้เพียง 3 เดือนนั้น
ทางธนาคารกรุงเทพได้ติดต่อทาบทามจะให้มาทำงานด้วย เป็นงานด้านวางแผนที่ขึ้นตรงกับบุญชู
โรจนเสถียร แต่ก็ตกลงกันไม่ได้
ต่อมาก็ถูก ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุล ขอตัวไปช่วยงานที่นิด้า แต่กรมศุลฯ
ไม่อนุมัติ ดูเหมือนตอนนั้นงานข้างนอกที่ ดร. ชัยยุทธ สามารถทุ่มเทให้ได้เป็นการร่วมงานกับสังเวียน
อินทรวิชัย วางหลักการเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ที่รัฐบาลกำลังจะตั้งขึ้น และงานนี้เองที่ชักนำให้
ดร. ชัยยุทธ มีโอกาสรู้จักกับสุนทร อรุณานนท์ชัย ผู้บริหารคนสำคัญของสินเอเซียเมื่อครั้งไปร่วมสัมมนาเรื่องตลาดหลักทรัพย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน
จากสุนทร ดร. ชัยยุทธถูกแนะนำให้รู้จักกับชาตรี และชาตรีขอให้ ดร. ชัยยุทธมาช่วยงานพาร์ทไทม์ที่สินเอเซีย
ทำงานพาร์ทไทม์เพียง 2 เดือน ดร. ชัยยุทธก็ลาออกจากกรมศุลฯ มาอยู่กับสินเอเซียเต็มตัว
ว่ากันว่างานหลักที่ ดร. ชัยยุทธได้รับมอบหมายจากชาตรีขณะนั้นก็คือ งานทางด้านการค้าหลักทรัพย์
แต่เผอิญยังไม่ทันขยับจะทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ชาตรีก็ขอให้ ดร. ชัยยุทธเข้าไปช่วยฟื้นฟูร่วมเสริมกิจที่เพิ่งจะซื้อมาหมาด
ๆ
ดร. ชัยยุทธมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบกว้างขวางขึ้นเพราะตอนที่กลุ่มชาตรีซื้อบริษัทแห่งนี้เข้ามาอยู่ในเครื่อนั้น
ในจำนวนสถาบันการเงิน 100 กว่าแห่ง ร่วมเสริมกิจติดอันดับท้าย ๆ มีสินทรัพย์เพียง
500 กว่าล้านบาท
และสำคัญทีสุดช่วงปี 2522 ที่กลุ่มชาตรีซื้อร่วมเสริมกิจนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังเริ่มประสบวิกฤตอันเป็นผลจากกรณีบริษัทราชาเงินทุน
อัตราการเจริญเติบโตของสถาบันการเงินอยู่ในระดับ 3-4%
"แต่ผมอยากจะเรียนว่าช่วงนั้นร่วมเสริมกิจโตขึ้นถึง 22% พลิกความคาดหมายอย่างสิ้นเชิง"
ดร. ชัยยุทธพูดอย่างภูมิอกภูมิใจ
เขาบอกว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่สามารถฟันฝ่าวิกฤติการณ์จนทำให้ร่วมเสริมกิจกลายเป็นสถาบันการเงินที่โตไม่หยุดจนปัจจุบันนี้มียอดสินทรัพย์กว่า
7,000 ล้านบาท และใหญ่เป็นอันดับ 2 นั้นเบื้องหลังก็คือ การทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยวันละ
12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ฝึกอบรมคนกันอย่างจริงจังและวางระบบโดยอาศัยคอมพิวเตอร์เข้าช่วยอย่างต่อเนื่อง
"ถึงขณะนี้สามารถกล่าวได้ว่า งานทุกอย่างเราคอมพิวเตอร์ไรซ์ไปแล้ว
80-90% ส่วนการเทรนคนของเรานั้น อย่างทางด้านการหาเงินฝากเราพูดได้ว่าคนองเราคนหนึ่งสามารถสู้กับผู้จัดการสาขาของธนาคารพาณิชย์ได้สบาย
ๆ…" ดร. ชัยยุทธพูดให้ฟัง
ดร. ชัยยุทธค่อนข้างจะเชื่อมั่นในศักยภาพของคนแลความเป็นมืออาชีพของร่วมเสริมกิจที่เขามีส่วนสำคัญในการวางระบบมาก
ๆ
"เพียงแต่เราไม่ค่อยได้คุยให้ภายนอกได้รับทราบเท่านั้นว่าเราทันสมัยแค่ไหน"
มีบางคนบอกว่า น่าจะเป็นเพราะร่วมเสริมกิจต้องการสร้างตัวเองให้แข็งแกร่งก่อน
จากนั้นค่อยเปิดแนวรบอย่างมืออาชีพจริง ๆ และ 8 ปีที่ผ่านมาน่าจะพอเพียงแล้วสำหรับร่วมเสริมกิจ
ปี 2530 ที่มาพร้อม ๆ กับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ของร่วมเสริมกิจอย่าง
ดร. ชัยยุทธ ปิลันธ์โอวาท จะเป็นการเริ่มต้นที่ ดร. ชัยยุทธบอกว่า
"เราจะล้ำแดนของธนาคารพาณิชย์แล้ว เราจะไม่ยืนอยู่ในจุดที่เคยยืนอีกต่อไป
เป้าหมายที่เราจะต้องแข่งขันคือ ธนาคารพาณิชย์…"