คำตอบในปัจจุบันสำหรับบางคำถาม หาได้จากอดีต บางทีเรื่องมากมายในปัจจุบันที่ทำเอาวุ่นวายสับสน
เมื่อย้อนอดีตแล้วก็พอจะมองภาพกระจะ ๆ บางภาพได้
ดังจะเล่าเรื่องแบงก์สยามกัมมาจล ในปี 2543 ที่หลายคนลืมและไม่เคยได้ยินมาก่อนตรงนี้
แบงก์สยามกัมมาจล ตั้งขึ้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2450 มีทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท
โดยกลุ่มราชวงศ์ถือหุ้นประมาณ 50% ชาวจีน (รวมทั้งชาวจีนซึ่งมีบรรดาศักดิ์)
ประมาณ 35% ที่เหลือกลุ่มธนาคารเดนมาร์คและเยอรมัน แต่การบริหารงานธนาคารส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของฝรั่ง
ส่วนคนจีน ฉลอง ไนยนารถ (ยู่เซ็งเฮง) เป็นผู้จัดการสาขาราชวงศ์
กลุ่มคนจีนเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่มีกิจการค้าข้าว โรงสีต่อมาได้ตั้งธนาคารของตนเอง
ยู่เซ็งเฮงตั้งธนาคารยู่เซ็งเฮง ฮุนกิมฮวด (โกศล ฮุนตระกูล พ่อสมหมาย ฮุนตระกูล)
ตั้งธนาคารบางกอกซิตี้แบงก์
ความจริงกลุ่มคนจีนเหล่านี้มีโยงใยทางการค้าเหมือนกลุ่มเดียวกัน แม้แต่ธนาคารทั้งสองแห่งก็ถือหุ้นกันไปกันมา
และได้รับพระบรมราชานุญาต
ปี 2453 ธนาคารบางกอกซิตี้ ที่ฮุนกิมฮวดเป็นผู้จัดการประสบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง
การส่งออกข้าวลดฮวบ ยังผลให้ธนาคารนี้ซวนเซ คนแห่ถอนเงินเป็นการใหญ่ เมื่อเห็นท่าไม่ดีธนาคารยู่เซ็งเฮงก็เข้ามาอุ้ม
จ่ายเงินคืนแก่ผู้ถอนคืน ต่อมาไม่นานธนาคาร 2 แห่งก็รวมกันตั้งเป็นธนาคารจีนสยาม
จากหนี้สินจำนวนมากที่ค้างอยู่ ประกอบกับธนาคารแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ล้ม
ซึ่งเป็นธนาคารมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการค้าของชาวจีนในไทยอย่างมาก อีกทั้งเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงมากขึ้นทุกขณะ
ธนาคารสยามกัมมาจลโดยยู่เซ็งเฮง ผู้จัดการสาขาราชวงศ์ ได้นำเงินจำนวน 3,673,817
บาท เข้ามาอัดฉีดธนาคารจีนสยาม แต่ก็ไม่สามารถพยุงธนาคารดังกล่าวได้ จนต้องล้มไปในที่สุด
จะว่าไปแล้วธนาคารของชาวจีนก็คือ บริษัทครอบครัวชาวจีนนั่นเอง
ปรากฏต่อมาการที่สยามกัมมาจลเข้าช่วยธนาคารจีนสยามนอกจากจะเป็นเงินจำนวนมากแล้ว
ธนาคารจีนสยามยังนำตั๋วเงินเก๊มาค้ำประกันไว้จำนวนมาก รวมแล้วลูกหนี้ที่ไม่อาจเรียกเก็บหนี้ได้มีจำนวนเงินถึง
5.3 ล้านบาท
การจะปล่อยให้ธนาคารสยามกัมมาจลนั้นล้มนั้นเป็นเรื่องเสียหายมากทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งจะเสียพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงเห็นว่าไม่อาจปล่อยให้ธนาคารสยามกัมมาจลล้มไปได้
กระทรวงพระคลังจึงมีคำสั่งลดทุนเหลือเพียง 10% หรือ 3 แสนบาท พร้อมทั้งเพิ่มทุนทันทีอีก
3 ล้านบาท พระคลังข้างที่ซื้อหุ้นในส่วนของตน ส่วนกระทรวงพระคลังซื้อหุ้นทั้งหมดส่วนที่เหลือ
ซึ่งชาวจีนดังกล่าวข้างต้นไม่มีปัญญาซื้อหุ้นเพิ่มอีกแล้ว
ความผิดทั้งหลายทั้งปวงตกอยู่กับ ยู่เซ็งเฮง (ฉลอง ไนยนารถ) กับนายเชย
(พระสรรพการหิรัญกิจ) ซึ่งเป็นชาวจีนภายใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งคู่ ทั้งสองต้องชดใช้ถูกทางการยึดทรัพย์จนหมดตัว
ไม่ว่าบ้านและที่ดิน
ธนาคารสยามกัมมาจลต่อมาคือธนาคารไทยพาณิชย์ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "SIAM
COMMERCIAL BANK" คล้าย ๆ กับชื่อภาษาอังกฤษของธนาคารนครหลวงไทย ที่ว่า
"SIAM CITY BANK" เสียด้วย