|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ฮิว กิลเบิร์ต” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
คนไทยหลายคนโดยเฉพาะบรรดาสาวกเป๊ปซี่ในระดับแฟนพันธุ์แท้ เริ่มออกมาแสดงความกังวลแล้วว่า เครื่องดื่มน้ำดำสายพันธุ์นี้จะสูญหายไปจากตู้แช่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หลังจากที่เห็นรายงานข่าวว่า ผู้ถือหุ้นใน บมจ.เสริมสุข ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ในเมืองไทย เห็นพ้องให้ยกเลิกสัญญาการจัดจำหน่ายและการผลิตเครื่องดื่มยี่ห้อนี้
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “เป๊ปซี่ โค” และ “เสริมสุข” ชวนให้นึกถึง Case Classic ระหว่างพิซซ่า ฮัท และไมเนอร์กรุ๊ป ที่แม้ทั้งคู่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมายาวนานหลายสิบปี แต่สุดท้ายเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว เจ้าของลิขสิทธิ์ก็มักจะลงเอยในรูปแบบเดียวกับ “พิซซ่า ฮัท”
นั่นคือ การลงมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในตลาดเดิมๆ ที่ตัวเองเคยครอบครองทุกอย่างไว้ในกำมือ
คำถามคือ ชะตากรรมของ “เป๊ปซี่” จะมีเส้นทางเดียวกันกับ “พิซซ่า ฮัท” หรือไม่?
เพราะบทเรียนการขัดแย้งกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจในประเทศนี้ ล้วนมีบทสรุปที่ไม่แตกต่างกันนัก แม้ว่า คำตอบที่ผู้คนส่วนใหญ่ในแวดวงเครื่องดื่มจะโฟกัสไปที่ “พันธมิตรใหม่” ของเสริมสุขมากกว่าว่า “ใคร...?” จะมาแทนที่ “เป๊ปซี่”
แต่กระนั้น ผู้สันทัดกรณีก็ยังเชื่อว่า “เป๊ปซี่ ยังทิ้งไพ่ไม่หมด”
พวกเขาเชื่อว่า กลุ่มเป๊ปซี่ โค น่าจะยังมีไม้เด็ดที่จะเป็นแนวทางในการต่อสู้ เพราะคงไม่มีเจ้าของธุรกิจคนไหน จะทิ้งหม้อข้าวใบเขื่อง ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลถึงปีละนับหมื่นล้าน
ที่สำคัญประเทศไทยเป็นตลาดไม่กี่แห่งในโลก ที่ทำให้คนของเป๊ปซี่สามารถเชิดหน้าได้อย่างภาคภูมิว่า เหนือกว่าคู่แข่งตลอดกาลอย่าง “โค้ก”
แล้วอะไร คือไม้เด็ดของเป๊ปซี่?
นักวิเคราะห์อีกราย บอกว่า ข่าวดีประการหนึ่ง สำหรับแฟนพันธุ์แท้เป๊ปซี่ไทย รวมไปถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นเป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ใน บมจ.เสริมสุข ประมาณ 40% นั่นก็คือ การยกเลิกสัญญานี้อาจจะเป็น “โมฆะ”!
แม้ว่า คณะกรรมการบริษัทเสริมสุข จะออกมาย้ำหลายครั้งว่า การบอกเลิกสัญญานี้สามารถทำได้ฝ่ายเดียว เพราะเป็นสัญญาตามกฎหมายนิวยอร์ก ที่สามารถบอกเลิกได้โดยไม่ต้องรอการยินยอมจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม
หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้เป๊ปซี่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553
การประชุมในครั้งนั้นทางฝั่งผู้ถือหุ้นเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ถูกตัดสิทธิ์จากบริษัทเสริมสุข ไม่ให้ลงมติออกเสียงในการเจรจาแก้ไขสัญญาระหว่างบริษัทเสริมสุขกับเป๊ปซี่ และรับทราบแผนธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การยกเลิกสัญญากับเป๊ปซี่ในที่สุด
ดังนั้น ถ้าศาลแพ่งตัดสินให้เพิกถอนมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553 มติใดๆ ที่มีผลจากการประชุมในวันนั้นจะถูกยกเลิกเป็นโมฆะทันที แน่นอนรวมไปถึงมติล่าสุดของผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่เสียงส่วนใหญ่ให้ยกเลิกสัญญากับเป๊ปซี่ เพราะเป็นผลมาจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553
ไม่เพียงเท่านี้ ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของเป๊ปซี่ โค ยังมีสำรองกันเหนียวอีกชั้น ในกรณีที่ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม นั่นก็คือ การยื่นเรื่องคำร้องฉุกเฉิน เพื่อขอยกเลิกคำสั่งศาลแพ่งของ “บริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ จำกัด” ที่ถูกตัดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเสริมสุข
เป็นที่รู้กันว่า “เอสบีเค” ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยกลุ่ม “ซันโตรี่” ซึ่งเป็นพันธมิตรและผู้ถือหุ้นของเป๊ปซี่ โค โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมจำนวนหุ้นให้มากที่สุด เพื่อเป็นฐานเสียงในการโหวต และการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร บมจ.เสริมสุข
ดังนั้น การที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยยึดครองที่นั่งในบอร์ดบริษัทเสริมสุขไว้ได้ทั้งหมด ทำให้เป๊ปซี่ โค อยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งเป็นตัวแปรมาตลอดโหวตให้ เพราะฉะนั้นทางออกของเป๊ปซี่ ก็คือ ต้องภาวนาให้ศาลแพ่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองเพื่อให้กลุ่มซันโตรี่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
“ถ้าศาลเห็นว่าซันโตรี่เข้ามาอย่างถูกต้อง และซันโตรี่ยืนอยู่ฝ่ายเป๊ปซี่ โค จริง ทั้งคู่อาจจับมือกัน เพื่อยึดคืนบริษัทเสริมสุขกลับคืนมาในภายหลัง เพราะ เป๊ปซี่ โค มีหุ้น 41.54% บวกกับที่ทาง ซันโตรี่ถืออยู่จะรวมเป็น 50.67% เกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้คงยังไม่จบเท่านี้”
อย่างไรก็ตาม การประกาศกดปุ่มนับถอยหลัง การจำหน่ายแบรนด์เป๊ปซี่ของบอร์ดเสริมสุขว่า จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 เม.ย.55 ไม่ได้หมายความว่าเป๊ปซี่เหลือเวลาอีกแค่ 12 เดือน เพราะทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลแพ่งทั้งสองกรณี
ไม่ว่าการพิจารณาจะกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน แต่เมื่อมีผลตัดสินออกมาเข้าทางเป๊ปซี่ พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมาทวงอำนาจคืนได้ทุกเมื่อ
แหล่งข่าวในวงการเครื่องดื่มที่เกาะกระแสเรื่องนี้มาโดยตลอด ให้ความเห็นอีกมุมหนึ่งว่า “ในกรณีที่เป๊ปซี่ไม่ใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า ก็ยังมีวิธีประนีประนอมแบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น อยู่ ด้วยการขอเปิดเจรจาใหม่เกี่ยวกับเงื่อนไขสัญญา ในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 12 เดือน ก็ทำได้ เพียงแต่ว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาและเสนอต่อผู้ถือหุ้นให้ทราบตามขั้นตอน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะเลือกวิธีไหน”
ไม่มีใครรู้ว่า บอร์ดของเป๊ปซี่ โค จะเลือกแนวทางไหนในการต่อสู้ในวันข้างหน้า แต่สิ่งที่ปรากฏในวันนี้คือ การเร่งหาพันธมิตรใหม่ของเสริมสุข ที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายนปีหน้าประมาณ 6 เดือน เพื่อเริ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มใหม่ให้ทัน กับรายได้ที่จะสูญเสียไปถึง 70% จากที่ไม่มีเครื่องดื่มเป๊ปซี่
ถึงวันนั้น ไม่แน่ว่าเมืองไทยอาจจะมีเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อใหม่ที่มีชื่อว่า “ช้างโคล่า” เกิดขึ้นมาก็เป็นได้
|
|
|
|
|