“ทองหล่อ” ทำเลทองที่ดีที่สุดของคอมมูนิตี้มอลล์เมืองไทย กำลังสร้างต้นแบบคอมมูนิตี้รูปแบบใหม่ชนิดจิ๋วแต่แจ๋ว กับร้านค้าเพียง 24 ร้าน แต่เป็นระดับพรีเมียม ที่พร้อมดูดกำลังซื้อนับแสนต่อวัน ความแตกต่างครั้งใหม่ที่ทำให้สมรภูมิบนถนนเส้นนี้คึกคักยิ่งขึ้น
เหตุผลที่ทำให้คอมมูนิตี้มอลล์มีสีสันคึกคักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ที่นิยมความสะดวกในการซื้อสินค้า และชอบกินดื่มเที่ยวนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ตลอดปี 2554 จะมีคอมมูนิตี้มอลล์ เกิดใหม่อีกราว 40-50 แห่ง
บรรดาทำเลทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร “ทองหล่อ” ถือเป็นทำเลสุดฮอตของคอมมูนิตี้มอลล์ จากก่อนหน้านี้มีกว่า 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น ฟิฟตี้ ฟิฟท์, มาร์เก็ต เพลส, โพลา โพล่า, โฮม เพลส, เดดคอร์ มาร์ท, เฟอร์นิเจอร์ โมเดอร์นฟอร์ม, โนเบิล ออร่า, เจ อะเวนิว, เพนนี’ส บัลโคนี, เพลย์กราวนด์ และเอชวัน เป็นต้น
ทว่าวันนี้ หลายคอมมูนิตี้มอลล์ถอดใจ เพราะทนแรงแข่งไม่ไหว แต่ก็มีหน้าใหม่เข้ามาชิมลางไม่ขาดสาย ดังเช่นน้องใหม่ล่าสุดจากวงการเฟอร์นิเจอร์หรู “ซีนสเปซ” ที่ร่วมแจมในสังเวียนนี้ ขณะที่แบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งและมีประสบการณ์ในตลาดมานานก็ยังคงโลดแล่นอยู่บนถนนทองหล่อที่ครองตลาดรวมกัน 5 ราย
“ทองหล่อเป็นโซนที่กำลังซื้อดีที่สุดในกรุงเทพฯ มียอดคนหมุนเวียนเฉลี่ย 100,000 คนต่อวัน อีกทั้งโครงสร้างเหมาะกับการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์”
เป็นคำกล่าวของ อัครเดช พันธิสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีนสเปซ จำกัด ถึงศักยภาพของทำเลทองหล่อ และเป็นจุดที่ทำให้ซีนสปซเลือกที่จะเข้ามาปักธงในการรุกตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ย่านนี้เป็นครั้งแรก
ซีนสเปซหันมาให้ความสนใจในธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอมมูนิตี้ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ความต้องการมองหาธุรกิจใหม่ที่จะมาเสริมรายได้จากตลาดเฟอร์นิเจอร์หรู ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 400-500 ล้านบาท
แม้จะเป็นน้องใหม่แถมยังต้องเผชิญกับบิ๊กเพลเยอร์ที่มีความชำนาญในธุรกิจนี้ ซีนสเปซยังเชื่อมั่นในความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น โดยจะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 500 ตารางวาเท่านั้น ขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์อื่นๆ จะมีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ขึ้นไป
“พฤติกรรมของลูกค้าย่านนี้ส่วนมากจะอาศัยคอนโด มีวิถีชีวิตอยู่นอกบ้าน เน้นความสะดวก สิ่งที่ซีนสเปซเน้นอย่างมาก คือ บรรยากาศของมอลล์ ต้องตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง ด้วยการเน้นออกแบบในสไตล์โมเดิร์น”
นั่นคือมุมมองของอัครเดช ที่แตกต่างจากคอมมูนิตี้มอลล์ทั่วไป ที่ส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึงปริมาณพื้นที่ให้เช่าเป็นอันดับแรก เพื่อให้คุ้มกับการลงทุน ส่วนบรรยากาศเป็นอันดับ 2 ซึ่งตรงกันข้ามกับซีนสเปซอย่างสิ้นเชิงที่จะเน้นบรรยากาศเป็นจุดขายหลัก โดยภายในโครงการจะประกอบด้วยร้านค้าพรีเมียมเพียง 24 ร้านเท่านั้น
ซีนสเปซยังใช้ร้านค้าชื่อดังเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย เพราะหากดูจากพฤติกรรมของลูกค้าในย่านนี้ พบว่า เป็นกลุ่มลูกค้าพรีเมียม รู้จักและคุ้นเคยกับร้านดัง ซึ่งหากมีร้านประจำชื่อดังมาเปิดสาขา ก็จะช่วยดึงลูกค้าเป้าหมายให้เข้ามาใช้บริการ
ดังนั้น แม้จะมีร้านค้าเพียง 24 ร้าน แต่หากได้ยินชื่อแต่ละร้าน ล้วนเป็นแบรนด์ดังและโดดเด่นในแบบฉบับของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านมนตร์ลดา ของมนตร์ลดา พงษ์พานิช, ร้าน Roast ของ วรัช วิจิตรวาทการ, ร้าน Tudari ของดาราชื่อดัง เอ๊ะ ศศิกานต์, ร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าคลัง ของอรินทม์ แสง-ชูโต และร้าน BREW ซึ่งนำเข้าเบียร์กว่าร้อยชนิดจากทั่วโลก
“เราคาดหวังว่าน่าจะมีคนเดินเข้ามาใช้บริการในโครงการเดือนละ 200,000 คน และสร้างรายได้ในซีนสเปซปีแรก 50 ล้านบาท”
นั่นคือ เป้าหมายของซีนสเปซ คอมมูนิตี้มอลล์น้องใหม่ และอนาคตยังมีแผนจะเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้แบรนด์ “ซีนสเปซ” สาขา 2 ที่บริเวณเส้นทางด่วนรามอินทรา ซึ่งเป็นอีกทำเลที่มีศักยภาพรองจากทองหล่อ โดยมียอดคนหมุนเวียนเฉลี่ยเกือบ 100,000 คนต่อวัน บนพื้นที่ประมาณ 15 ไร่
ส่วนรูปแบบของมอลล์ยังไม่สรุป เพราะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในย่านนั้นให้ชัดเจน เนื่องจากมองว่ารูปแบบมอลล์จากทำเลหนึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอีกทำเลหนึ่งได้ อีกทั้งขนาดของพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันมาก โดยคาดว่าสาขา 2 จะสรุปรายระเอียดต่างๆ ได้ภายในสิ้นปี 2554 นี้ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2555
|