Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์12 พฤษภาคม 2554
แบรนด์ดังวัดใจ ดูดพลัง “คนรุ่นใหม่”             
 


   
search resources

ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล, บมจ.
สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง, บจก.
แอมเวย์ (ประเทศไทย), บจก.
เอวอน คอสเมติคส์ (ประเทศไทย)
Branding
สยามคิริน เบฟเวอร์เรจ, บจก.




*ห้าง เสื้อผ้า เครื่องดื่ม เหล้า ยันขายตรงปรับตัวใหญ่

*รีแบรนด์ รีโพซิชันนิ่ง ปรับโฉมเปลี่ยนแพกเกจดึงกระแส

*ยึดทำเลชิงพื้นที่ปั้นพรีเซนเตอร์โหมสู่เป้าหมาย

*ล็อกผู้บริโภค “คนรุ่นใหม่” ปูเส้นทางสู่อนาคต

ตั้งแต่ต้นปีจะเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนทัพของเหล่าแบรนด์และสินค้าที่ไม่เคยเจาะตลาดคนรุ่นใหม่อย่างจริงจังมาก่อน พลิกตัวแบบ 360 องศา หวังจะเข้าไปปักธงจองพื้นที่ในตลาดดังกล่าว เพื่อสร้างฐานผู้บริโภคหนุ่มสาวในระยะยาว

ห้างสรรพสินค้า แชมพูสระผม เครื่องสำอาง แบรนด์เสื้อผ้า แอลกอฮอล์ แม้กระทั่งในธุรกิจขายตรง ต่างไม่ยอมตกขบวนผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมไปถึงยังมีอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะเคลื่อนทัพเอาใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ในอนาคต

คนรุ่นใหม่จึงนับเป็นกลุ่มที่สร้างสีสันและเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าแทบทุกแบรนด์ไม่อาจมองข้าม แม้จะยังมีการภักดีต่อแบรนด์เป็นรองกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer แต่ก็เป็นกลุ่มที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย และถ้าสินค้าใดสามารถทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ยอมรับได้ กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้อย่างมหาศาล

ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ครีเทิร์น
เจาะคนรุ่นใหม่นิยมดื่ม


หลังจาก “แบล็คแคท” หายหน้าหายตาไปจากวงการ 6-7 ปี วันนี้หลายคนยังจำ “ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค” กันได้ แต่ไอ้ฤทธิ์วันนี้อาจดูแก่เกินไปเสียแล้ว การกลับหวนคืนสู่วงการอีกครั้งของแบล็คแคท วิสกี้จึงต้องมีการรีโพซิชันนิ่งกันใหม่ เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่

“เราเปลี่ยนทั้งโลโก้ เปลี่ยนทั้งรสชาติ เพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่นิยมดื่มให้เข้ามาทดลองดื่ม เมื่อเขาดื่มแล้วชอบก็จะดื่มอย่างต่อเนื่อง”

นั่นคือสิ่งที่ ไพศาล ชีวะศิริ ประธานกรรมการ บริษัท พัฒนาทรัพย์สิน จำกัด ผู้จัดจำหน่าย แบล็คแคท วิสกี้ ต้องการอยากให้เกิดขึ้นกับการรีเทิร์นของแบล็คแคท

การรุกตลาดอีกครั้งของแบล็คแคทมาพร้อมกับเม็ดเงินในการทำตลาดสูงถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแบรนด์แบล็คแคทในตลาดวิสกี้ระดับสแตนดาร์ด ด้วยการปรับสูตรการผลิตใหม่ เพื่อให้ได้รสชาติตรงกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้แก่คนทำงานอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ที่มีไลฟ์สไตล์นิยมการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง มีรสนิยมที่แตกต่างและโดดเด่น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

การรีแบรนดิ้งแบล็คแคทใหม่ครั้งนี้ ได้กำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ให้เป็นวิสกี้ของนักดื่มไทย ที่มีความทันสมัย และพรีเมียมมากขึ้น

แนวทางการทำตลาดของแบล็คแคทเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับตำแหน่งและภาพลักษณ์สินค้า หลังจากที่ปรับสูตรการผลิตใหม่ โดยปัจจุบันแบล็คแคทผลิตที่โรงงานสุราพูนเพิ่มไพศาล จังหวัดนครปฐม และมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน

ไพศาลเชื่อว่าการกลับมาครั้งนี้ ยังมีโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับแบล็คแคทอยู่มาก ถึงแม้จะห่างหายจากการทำตลาดมาหลายปี แต่แบล็คแคทไม่ใช่แบรนด์ใหม่ ที่ไม่มีต้นทุน และหลายคนยังคุ้นเคยกับแบรนด์แบล็คแคท ผ่านสื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา

แบล็คแคทยังวางกลยุทธ์การทำตลาดมุ่งเน้นการจัดจำหน่ายไปยังช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก โดยจะเริ่มวางจำหน่ายแบล็คแคท ขนาด 70 ซีซี. ที่แม็คโครเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีการสำรวจพบว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ค้ารายย่อยมักนิยมมาจับจ่ายซื้อของในช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นประจำ ก่อนขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปยังร้านค้าส่งที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งตลาด 10% ในตลาดวิสกี้ระดับสแตนดาร์ดภายใน 1 ปี

หากมองในแง่ของการแข่งขัน การที่แบล็คแคทปรับตัวใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากตลาดวิสกี้ในเซกเมนต์อีโคโนมีมีการแข่งขันอย่างรุนแรงจากผู้ประกอบการหลายรายที่ทำตลาดนี้อย่างหนัก ต่างกับวิสกี้ในเซกเมนต์สแตนดาร์ดที่มีผู้ประกอบการน้อยกว่า และส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในตลาดวิสกี้ระดับอีโคโนมี มีการใช้เม็ดเงินในการทำตลาดและสร้างภาพลักษณ์สูงกว่าตลาดระดับสแตนดาร์ด

ธุรกิจขายตรงล็อกเป้าคนรุ่นใหม่

แอมเวย์ ผู้นำตลาดขายตรงของเมืองไทยมายาวนาน เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประกาศชัดเจนจะเข้าไปปักธงในตลาดดังกล่าวมากขึ้น เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญของแอมเวย์ในอนาคต

“Gen Y จะเป็นกลยุทธ์ระยะยาวของแอมเวย์ เพราะจากข้อมูลพบว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มก้าวกระโดด ในอีก 10 ปีข้างหน้า Gen Y จะเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่สุด ถึงวันนั้นเราเองก็ไม่อยากตกขบวน”

เป็นคำกล่าวของ กิจธวัช ฤทธีราวี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงทิศทางของแอมเวย์นับจากนี้ และว่า ปัจจุบันสัดส่วนกลุ่ม Gen Y ของแอมเวย์ อยู่ที่ 35% ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มหลักที่เป็น Baby Boomer แต่ถือเป็นตัวเลขที่แอมเวย์พอใจ หากเทียบกับฐานผู้บริโภคหนุ่มสาวที่มีอยู่ในปัจจุบัน และในอดีตที่แอมเวย์มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้เพียง 18% แต่หากอนาคตฐานลูกค้ากลุ่มนี้มีการเติบโต แอมเวย์ก็ต้องขยับฐานคนรุ่นใหม่ให้เติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ภาพลักษณ์ของธุรกิจ ทำให้แอมเวย์ยังมีระยะห่างกับผู้บริโภคกลุ่มนี้อีกมาก เราจึงต้องปรับทิศทางการทำตลาดเพื่อเข้าไปใกล้คนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวจะมียอดขายต่อคนน้อยกว่ากลุ่ม Baby Boomer โดยมียอดขายเฉลี่ย 28% ของยอดขายรวมเท่านั้น”

ทิศทางการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ของแอมเวย์วันนี้ จึงเริ่มที่จะสื่อสารผ่านแอมเวย์ ชอป ซึ่งเป็นแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกที่แอมเวย์นำแบรนด์เข้าสู่ศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองอย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ แหล่งรวมของวัยรุ่น นอกจากนี้ รูปแบบการขายยังเปลี่ยนไป โดยต่อไปจะไม่ใช่แค่การขายสินค้าเป็นชิ้นๆ แต่จะนำเสนอเป็นโซลูชั่น ตั้งแต่การให้คำแนะนำ ตรวจสุขภาพ คลับสำหรับคุมน้ำหนักในชื่อ แอมฟิต คลับ (AmFit Club) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของนิวทริไลท์และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลดน้ำหนักจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนการแนะนำสินค้าที่เหมาะสม

การสร้าง “แอมฟิต คลับ” ขึ้นมาของแอมเวย์ เป็นผลจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่กังวลเรื่องน้ำหนัก การมีโปรแกรมลดน้ำหนักจึงช่วยทำให้แอมเวย์เข้าถึงคนรุ่นใหม่ง่ายขึ้น เมื่อรวมกับการนำเสนอเป็นโซลูชั่น ยิ่งเป็นการช่วยตอกย้ำภาพความเป็นผู้เชี่ยวชาญ จากการที่ผู้บริโภคเห็นผลจริงด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการบอกต่อปากต่อปาก

แอมเวย์ยังมีการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมใช้ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่นแอมเวย์บนไอโฟน และไอแพด ซึ่งลูกค้าสามารถเข้ามาดูข้อมูลสินค้าและสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีด้วย

ด้วยส่วนผสมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่อย่างแฟลกชิปสโตร์บนห้างหรูใจกลางเมือง ถือเป็นการสร้างความสะดวกในการเข้าถึงแบรนด์แอมเวย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น และในที่กลางเมืองเช่นนี้ แอมเวย์สามารถที่จะต่อจิ๊กซอว์สู่คนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เมื่อรวมกับการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดด้านอื่นๆ ผู้บริหารแอมเวย์มั่นใจว่าจะทำให้เข้าไปใกล้ลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น ขณะเดียวกัน คนกลุ่มเดิมเข้ามาก็จะไม่รู้สึกแปลกแยกด้วย

เอวอนเทน้ำหนักสู่คนรุ่นใหม่

เอวอน เป็นอีกแบรนด์ที่หันมาให้น้ำหนักกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะเอวอนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและช่วยให้เอวอนในเมืองไทยที่มีอายุ 33 ปีไม่แก่ไปตามวัยด้วย

เอวอนเลือกที่จะใช้โครงการ “เอวอน วอยซ์” การแข่งขันร้องเพลงออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไปและผู้จำหน่ายอิสระ เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดเพื่อขยายฐานสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่

วัลลภา นฤนาทวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอวอน คอสเมติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า จากการเปิดแคมเปญตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์เอวอนในความเป็นอินเตอร์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

นอกจากแคมเปญเอวอน วอยซ์แล้ว นโยบายการขับเคลื่อนสู่ตลาดคนรุ่นใหม่ของเอวอนต่อจากนี้ ยังจะหันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ที่เป็นดิจิตอล มาร์เกตติ้งมากขึ้น โดยภายในปีนี้เตรียมเปิดแอปพลิเคชั่นผ่านมือถือ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้จำหน่ายอิสระรุ่นใหม่เข้าถึงธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ไอ.ซี.ซี.ปั้นแบรนด์เสื้อผ้า
ดึงพรีเซนเตอร์เจาะเด็กแนว


แม้ว่า ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จะเปิดตัวทำตลาดแบรนด์ “เลมอนเนต” มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดกลุ่มวัยรุ่นที่มีสไตล์เป็นของตนเอง ชอบการแต่งตัวแบบมีดีไซน์ มาในปีนี้ ไอ.ซี.ซี.ยังวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสร้างแบรนด์เลมอนเนตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ไอ.ซี.ซี.ใช้งบการตลาดไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ในการสร้างแบรนด์ และทำกิจกรรมการตลาด กระตุ้นความสนใจ โดยแคมเปญแรกของปีนี้ นอกจากการเปิดตัวชุดยีนส์ สตาร์ออนสตรีต ซัมเมอร์ 2011 ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นใหม่ของ อเมริกันไอดอล (American Idol) ด้วยบูทคอร์เนอร์ตามห้างได้รับการตบแต่งใหม่ด้วยสีสัญลักษณ์ธงชาติอเมริกัน

แบรนด์เลมอนเนตยังดึงดาราวัยรุ่น พอร์ช-ศรันย์ ศิริลักษณ์ มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ พร้อมจัดแคมเปญโหวตทายใจ “ค้นหาสาวรู้ใจคนใหม่ของพอร์ช” ให้สาวๆ ส่งรูปเข้าประกวดเฟ้นหาสาวไอดอลยีนส์เลมอนเนต ทั้งหมดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากที่สุด

นอกจากกิจกรรมการตลาด ไอ.ซี.ซี.ยังขยายการลงทุน เปิดสาขาใหม่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด จากเป้าหมายที่จะเจาะเข้าสู่กลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมชอบเดินชอปปิ้งตามศูนย์การค้า หรือพลาซ่าต่างๆ ไอ.ซี.ซี.จึงมีแผนลงทุนเพิ่ม เปิดสาขาและชอปในศูนย์การค้าและพลาซ่าเพิ่มเติม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 15 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งหมด 15 สาขา

รวมถึงยังเตรียมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ฮ่องกง และยังมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดต่อไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ทีเบรคปรับโฉม
ขยายฐานคนรุ่นใหม่


ความเคลื่อนไหวของแบรนด์เครื่องดื่มในตลาดชาพร้อมดื่ม มีการปรับทิศทางเพื่อขยายฐานคนรุ่นใหม่ อย่าง สยามคิริน ได้มีการปรับโฉม “ทีเบรค” ใหม่ พร้อมดึง บอย ปกรณ์ มาเป็นพรีเซนเตอร์ ช่วยกันสองแรงในการเพิ่มตลาดเข้าไปกินใจคนรุ่นใหม่

สยามคิรินใช้งบการตลาดกว่า 100 ล้านบาท ในการบุกตลาดชาพร้อมดื่ม ซึ่งมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 25% ในปีนี้ ตามแผนของสยามคิรินนั้น ได้เตรียมแผนรุกตลาดเต็มที่ผ่านการปรับโฉมแพกเกจจิ้งทีเบรคใหม่ ให้มีความสดใสมากขึ้น ด้วยเป้าหมายขยายฐานกลุ่มผู้ดื่มวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ช่วงอายุ 18-29 ปี

สำหรับแพกเกจจิ้งใหม่นี้ เป็นการปรับตัวครั้งแรกหลังจากวางตลาดชาพร้อมดื่มทีเบรคมาแล้วเกือบ 2 ปี โดยยังเน้นความหรูดูดีมีรสนิยม สะท้อนภาพลักษณ์ของชาอังกฤษต้นตำรับ ซึ่งวางตลาดมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เน้นทุกช่องทางการจำหน่าย ทั้งโมเดิร์นเทรด และเทรดดิชันนัลเทรด ในราคาขวดละ 18 บาท สำหรับ Straight Tea (ชาต้นตำรับ) และ Lemon Tea (รสเลมอน) ส่วน Milk Tea (ชานม) ราคาขวดละ 20 บาท

นอกจากการปรับแพกเกจจิ้งแล้ว สยามคิรินยังรุกทำกิจกรรมการตลาด เริ่มจากหนังโฆษณาชุดใหม่ความยาว 30 วินาที โดยใช้ บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ มาเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทีเบรค หันมาใช้กลยุทธ์โฆษณาผ่านพรีเซนเตอร์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ถือเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สยามคิรินยังใช้งบผ่านสื่อโฆษณาเต็มรูปแบบ อาทิ การประชาสัมพันธ์ สื่อนอกบ้าน กิจกรรมการแจกตัวอย่าง และกิจกรรมการตลาด ณ จุดขายอย่างครบวงจรด้วย

“เราเน้นการทำตลาดทีเบรค ด้วยการสร้างแบรนด์ทีเบรคให้เป็นที่รู้จัก และทำเซลโปรโมชั่นควบคู่กัน พร้อมทั้งยังออกรสชาติใหม่ จะมีผลทำให้เราเติบโตขึ้นในปีนี้” ฮิเดยูกิ อิวาโอะ ประธานบริษัท สยามคิริน เบฟเวอร์เรจ จำกัด ผู้ผลิตชาอังกฤษ ทีเบรค กล่าว

‘ที สแควร์’ ชื่อนี้
ดึงวัยรุ่นมาเดินชอปปิ้ง


ห้างสรรพสินค้าอย่าง “ตั้งฮั่วเส็ง” ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ยิ่งขึ้น หลังจากห้างนี้มีภาพลักษณ์ที่ไม่หวือหวาเหมือนห้างดังอย่างเดอะมอลล์ และเซ็นทรัล
มาวันนี้แนวทางจากนี้ ภาพของตั้งฮั่วเส็ง จะเปลี่ยนไป และจะเปลี่ยนไปแบบที่ไม่เคย ปรากฏมาก่อนในรอบ 20 ปี

“ตั้งฮั่วเส็งต้องทบทวนครั้งใหญ่ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เมื่อลูกค้าเก่าที่เหนียวแน่นสูงวัยมากขึ้น”

เป็นคำกล่าวของ วิโรจน์ จุนประทีปทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด

ปฏิบัติการรีแบรนดิ้งตั้งฮั่วเส็งสู่ “ที สแควร์” จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ที่สำคัญ ที สแควร์จะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้กับตั้งฮั่วเส็ง

จากการศึกษาของตั้งฮั่วเส็งต่อพฤติกรรมของลูกค้าในย่านธนบุรี นอกจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นประจำแล้ว ศักยภาพของเมืองที่พัฒนา ทำให้มีรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านไปมากว่า 100,000 คันต่อวัน ขณะที่กลุ่มสถาบันการศึกษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัยก็มีมากมาย

โอกาสของการสร้างฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ตั้งฮั่วเส็งยังยืนยันที่จะเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใช้สำหรับขายของ ไม่ได้เน้นเรื่องการเข้ามาหาความบันเทิงมากนัก แนวทางการปรับ จะเลือกเฉพาะความต้องการพื้นฐานที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และสอดคล้องกับศักยภาพทางด้านพื้นที่ที่มีอยู่

รูปแบบของศูนย์การค้าจึงเป็นโฉมใหม่ ที่จะเข้ามาเพิ่มบรรยากาศและสร้างภาพลักษณ์ของตั้งฮั่วเส็งให้สดใสขึ้นอีกครั้ง โดยจะทำการปรับพื้นที่เพื่อเพิ่มโซนพลาซ่า หรือร้านค้าเช่ามากขึ้น เพื่อให้บรรดาร้านอาหารสมัยใหม่ และร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ ได้เข้ามาใช้พื้นที่มากขึ้น

ศูนย์การค้าแห่งนี้จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ที สแควร์” T-SQUARE ในคอนเซ็ปต์ “Creative Lifestyle Center” โดย “ตั้งฮั่วเส็ง” ยังคงเป็นส่วนของห้างสรรพสินค้าอยู่ภายใน พร้อมด้วย “เก็ท อิท” Get It ซึ่งเป็นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เกตของตั้งฮั่วเส็ง ส่วนพลาซ่าที่ปรับเพิ่ม โดยลดส่วนของห้างลงไป จะเป็นบรรดาร้านอาหาร เซอร์วิสเซ็นเตอร์ และร้านค้าย่อยอื่นๆ ที่เข้ามาเสริมกำลังรับคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ยังมีการปรับส่วนฟู้ดคอร์ตที่เคยอยู่ชั้นใต้ดิน จะย้ายขึ้นไปอยู่บนชั้น 5 พร้อมด้วยการเพิ่มสถาบันกวดวิชาและการอบรมสำหรับคนรุ่นใหม่ หวังให้เป็นโซนที่ใช้สำหรับการนัดพบ นั่งเล่น นั่งคุยของกลุ่มวัยรุ่น โดยทั้งหมดจะมีภาพลักษณ์ใหม่ทั้งสิ้น

เมื่อเพิ่มส่วนของการขยายสำหรับการจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งฮั่วเส็งยังมีการพัฒนาเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยเฉพาะจุดขายทางด้านสินค้างานฝีมือ จะเพิ่มความหลากหลายด้วย Hobby Center ศูนย์รวมงานฝีมือ งานอดิเรกทั่วทุกมุมโลก โดยได้รับแรงบันดาลใจในการปรับปรุงครั้งนี้จาก Tokyo Hand ห้างสรรพสินค้าที่รวบรวมงานอดิเรกหลากหลายรูปแบบในประเทศญี่ปุ่น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us