Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2530
ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ "ลูกหนี้ตัวอย่าง"             
โดย บุญศิริ นามบุญศรี
 


   
www resources

โฮมเพจ สวนสยาม

   
search resources

อมรพันธุ์นคร-สวนสยาม, บจก.
ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ
Real Estate
Amusement Park




ในฐานะนักจัดสรรบ้านและพัฒนาที่ดิน ไชยวัฒน์ได้รับรางวัลนักธุรกิจตัวอย่างเป็นอนุสรณ์ ยืนยันความสำเร็จ แต่ในฐานะผู้ประกอบกิจการสวนสนุก ไชยวัฒน์ มีหนี้สินเป็นอิสริยาภรณ์ประดับกาย หากในปี 2529 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่ธนาคารหลายแห่ง "เจ็บปวด" และ "หัวปั่น" จากลูกหนี้ยอดแสบ ไชยวัฒน์น่าจะได้รับการยกย่องเป็น "ลูกหนี้ตัวอย่าง" ที่สุด !

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักจัดสรรบ้านและพัฒนาที่ดินที่ประสบความสำเร็จ โครงการของไชยวัฒน์ไม่ว่าจะเป็น เธียรสวนนิเวศน์ อมรพันธ์ ศูนย์การค้าพหลโยธิน อมรพันธ์นิเวศน์ ฯลฯ ล้วนแต่ทำเงินให้เขาเป็นกอบเป็นกำทั้งสิ้น จากความสำเร็จนี้ทำให้ไชยวัฒน์ได้รับรางวัลนักธุรกิจตัวอย่างเป็นคนแรกเมื่อปี 2522

ในช่วงเวลานั้นชื่อของไชยวัฒน์เหมือนเครื่องหมายรับรองความสำเร็จของโครงการบ้านจัดสรรที่ดิน ไชยวัฒน์มีเครดิตดีและเป็นเจ้าของกิจการหลายบริษัท เช่น บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ช. อมรพันธ์ บริษัทเงินทุนไฟแนนเชียลทรัสต์ บริษัทปัญจมิตรวิสาหกิจ บริษัทอมรพันธ์นคร บริษัทอมรพันธ์เคหะกิจ กล่าวได้ว่ากิจการจัดสรรบ้านและที่ดินของเขาเกือบครบวงจร ไชยวัฒน์มีตั้งแต่บริษัทจัดสรรที่ดิน ก่อสร้าง จนถึงบริษัทเงินทุนสนับสนุนโครงการ

ปี 2530 ไชยวัฒน์เป็นที่รู้จักดีในนามประธานกรรมการบริหารบริษัทอมรพันธ์นคร สวนสยามเจ้าของกิจการ "สวนสยาม" สวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนเนื้อที่ 300 ไร่ที่พร้อมไปด้วยอุปกรณ์ เครื่องเล่น สวนพักผ่อน สวนสัตว์ และสวนน้ำซึ่งมีทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เหล่านี้ไชยวัฒน์แลกมาด้วยกำลังกาย กำลังใจ และหนี้สินสะสมมาตั้งแต่เริ่มกิจการเมื่อปี 2523 รวมแล้วกว่า 400 ล้านบาท

ตั้งแต่ไชยวัฒน์เริ่มทำสวนสยามก็มีข่าวเป็นระลอก ๆ ไม่แพ้คลื่นในทะเลเทียมที่กระหน่ำอยู่ตลอดเวลาสวนสยาม "เจ๊งแน่" พร้อม ๆ กับข่าวไชยวัฒน์หิ้วกระเป๋าใบใหญ่ไปต่างประเทศเหมือนบรรดาลูกหนี้อัปยศทั้งหลายกระทำกัน แต่ตั้งแต่ข่าวลือครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ ไชยวัฒน์ก็ยังยืนสง่าในฐานะประธานกรรมการบริหารสวนสยาม วิ่งหาเงินมาใช้หนี้อยู่จนถึงทุกวันนี้!

ไชยวัฒน์มีตำนานการก่อร่างสร้างตัวไม่แพ้นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยหลายคน ที่ไม่ได้มาจากตระกูลที่ร่ำรวยหรือมีพื้นฐานการศึกษาที่สูงส่ง เขาสร้างตัวด้วยความมานะอดทนและการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ

จากเด็กชายที่วิ่งอยู่แถวทุ่งบางเขน จบ ป. 4 มาเป็นกระเป๋ารถเมล์ คนขับรถรับจ้างส่งของ คนขายปลา จนถึงเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหญ่ ๆ จะว่าไปตำแหน่งราชาบ้านจัดสรรและที่ดินก็น่าจะพอแล้วสำหรับไชยวัฒน์ .... แต่อะไรล่ำทำให้ไชยวัฒน์ตัดสินใจทำสวนสยามต่อไปอีก

"ผมได้กำไรจากประชาชนมามากแล้วจากการทำบ้านจัดสรร ก็หาทางคืนเงินให้ประชาชนโดยสร้างแหล่งพักผ่อนหย่อนใจขึ้นมา เป็นสวนสนุก เป็นอุทยานอเนกประสงค์ เป็นแหล่งพักผ่อนของคนทั่วประเทศ" ไชยวัฒน์ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ" ถึงการเข้ามาทำกิจการสวนสนุก

ถ้าจะวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาถึงการทำสวนสยามตามเหตุผลที่ไชยวัฒน์กล่าวข้างต้น ตามทฤษฎีความต้องการขึ้นพื้นฐานของมนุษย์แล้ว คงอธิบายได้ว่าขณะนั้นไชยวัฒน์มีพร้อมแล้วเรื่องปัจจัย 4 ความมั่นคงในชีวิต ชื่อเสียงและการยอมรับ สิ่งเดียวที่ไชยวัฒน์ยังต้องการอีกคือความสำเร็จในชีวิตตามที่ตั้งใจไว้ และเขาคงคิดว่าสวนสยามจะสนองความต้องการของเขาได้

ไชยวัฒน์เคยพูดเสมอว่าอยากให้สวนสยามเป็นเหมือนดิสนี่ย์แลนด์ที่วอลท์ ดิสนีย์ ราชาการ์ตูนของโลกสามารถเนรมิตไร่ส้ม 500 ไร่ ในแคลิฟอร์เนียให้เป็นโลกแห่งความฝันที่ปรากฎอยู่บนโลกแห่งความจริงได้ เพราะแรงดลใจที่เห็นลูกสาวนั่งเล่นม้าหมุนในสวนสนุกแห่งหนึ่ง

แต่สำหรับไชยวัฒน์ราชาบ้านจัดสรรและที่ดิน เขาจะพลิกผืนนา 300 ไร่บริเวณถนนสุขาภิบาล 2 สร้างสวนสยามให้เป็น "โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม" เพราะต้องการคืนกำไรให้กับประชาชนแค่นั้นหรือ?

ถ้าจะหาเหตุผลอื่นประกอบคงต้องย้อนไปดูสถานการณ์เมื่อปี 2522

เริ่มตั้งแต่ต้นปีน้ำมันขึ้นราคา เป็นผลทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ ขึ้นตาม รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างด้วย ประกอบกับขณะนั้นประชาชนตื่นตัวกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของโครงการต้องลงทุนเพื่อจัดสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานตามที่ ปว. 286 กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ต้นทุนการดำเนินการสูงขึ้นอีกมาก

และกลางปี พ.ร.บ. เครดิตฟองซิเอร์ถูกนำมาใช้ควบคุมกิจการเช่าซื้อบ้านและที่ดิน รวมทั้งควบคุมระดมเงินฝากจากประชาชนและการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย สถานการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อกิจการบ้านจัดสรรและที่ดินของไชยวัฒน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทในเครือ

"ไชยวัฒน์รู้สึกผิดหวังกับเรื่องสาธารณูปโภคที่ต้องลงทุนไปมาก เขาคิดว่ามันไม่ยุติธรรมกับเจ้าของโครงการ" แหล่งข่าวคนหนึ่งพูดถึงไชยวัฒน์ในช่วงที่กิจการบ้านจัดสรรเริ่มมีแนวโน้มไม่ดีทำให้ไชยวัฒน์ต้องคิดหาลู่ทางการลงทุนใหม่ และสวนสนุกเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ไชยวัฒน์ใฝ่ฝันจะทำ

แต่ที่ลึก ๆ ไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าไชยวัฒน์เป็นนักพัฒนาและจัดสรรที่ดินด้วยความช่ำชองในธุรกิจนี้ เขาย่อมตระหนักดีว่าที่ดินบริเวณสวนสยามนั้นเมื่อพัฒนาแล้ว ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหายเลยทีเดียว!

ไชยวัฒน์ตัดสินใจลงเสาเข็มเพื่อเริ่มกิจการสวนสนุก ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอมรพันธ์นคร สวนสยาม ในปี 2523 ด้วยทุน 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ "สวนสยาม" ในขณะเดียวกันเพื่อให้คุ้มกับการลงทุนด้านสาธารณูปโภคก็จัดสรรที่ดินบริเวณนั้นทำโครงการหมู่บ้าน "สวนสยาม" ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท อมรพันธ์นครด้วย

เมื่อแรกเริ่มสวนสยามไชยวัฒน์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนพลิกผืนนาให้เป็นสวนสนุกประมาณ 500 ล้านบาท

แต่ลงทุนทำสวนสยามได้ปีกว่าไชยวัฒน์เริ่มสำนึกได้ว่าเงินลงทุนแค่นั้นไม่พอและการทำสวนสนุกนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนสนุกที่รวมไว้ด้วยสวนน้ำ สวนสัตว์ที่ใหญ่โตมโหฬารอยู่กลางทุ่งนาอย่างสวนสยาม

ไชยวัฒน์เริ่มเข้าใจแนวคิดทำสวนสนุกลักษณะนี้ดีว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูงและระยะเวลาคืนทุนยาว

สวนสยามตอนนั้นไม่ต่างอะไรกับต่างจังหวัดทั้งที่อยู่แค่บางกะปิ ด้านหนึ่งติดถนนสุขาภิบาล 2 ด้านหนึ่งติดถนนรามอินทรา โดยมีถนนสวนสยามเชื่อมแต่ขณะนั้นไม่มีรถเมล์ผ่าน ไม่มีหมู่บ้านมากมายเหมือนทุกวันนี้ ที่สำคัญไม่มีคนเข้าไปเที่ยวเนื่องจากการเดินทางไม่สะดวก

ข่าวสวนสยามล้มสะพัดไปทั่ว "เขาว่าเจ๊งมันก็ต้องเจ๊งนั่นแหละ" ไชยวัฒน์ยอมรับว่าทำได้ปีแรกเงินทุนจมไปกับสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้าง ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทางทำให้คนไม่ไปเที่ยวรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาด สภาพคล่องเริ่มมีปัญหา แต่สวนสยามต้องการเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก!

ปลายปี 2523 เพื่อรักษาสวนสยามไว้ไชยวัฒน์ต้องตัดสินใจขายบริษัทเงินทุนและกิจการบ้านจัดสรรรวม 4 บริษัทคือ บริษัท ปัญจมิตรวิสาหกิจ (2511) บริษัทเครดิตฟองซิแอร์ ช. อมรพันธ์ (2514) บริษัทเงินทุนไฟแนนเชียลทรัสต์ (2515) บริษัท อมรพันธ์เคหะกิจ (2521) ให้กลุ่มสากลเคหะของสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิตในราคาประมาณ 200 ล้านบาท

"เมื่อเริ่มทำสวนสยามไชยวัฒน์เอาที่ 300 ไร่ที่ทำสวนสนุกนั้นไปค้ำประกันเงินกู้จากแบงก์กรุงเทพมาประมาณ 180 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี พอทำไปแล้วสวนสยามจะเจ๊ง เลยต้องขายที่ดินกับบริษัทในเครือออกไป เอาเงินมาใช้หนี้" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับไชยวัฒน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการขายสมบัติครั้งแรกของไชยวัฒน์เพื่อนำเงินมาใช้หนี้

ที่จริงแล้วไชยวัฒน์เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ สาขาลาดพร้าวอยู่ประมาณ 80 ล้าน ซึ่งกู้มาเสริมสภาพคล่องให้กิจการบ้านจัดสรรและที่ดินเมื่อครั้งกิจการนี้ทรุดก่อนหน้าทำสวนสยาม โดยนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ได้แก่ ที่ดินหมู่บ้านอมรพันธ์ 9 บางเขน 30 ไร่,ที่ดิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 100 ไร่ และอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน ถ. รามอินทรา ก.ม. 7 อีกประมาณ 3 ไร่

เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ธนาคารกรุงเทพที่กู้มาลงทุนในสวนสยามให้ได้ตามกำหนด และหักลบหนี้เก่าด้วย ไชยวัฒน์จึงตัดสินใจขายที่ดินและกิจการทั้ง 4 บริษัทดังกล่าวให้กลุ่มสากลเคหะ เพื่อแลกเอาสวนสยามและเครดิตของตนไว้

การขายที่ดินและกิจการทั้ง 4 บริษัทครั้งนั้นเหมือนลางบอกเหตุว่า การขายทรัพย์สินของไชยวัฒน์จะมีครั้งต่อ ๆ ไปอีก

เพราะถึงอย่างไรก็ตามสถานการณ์เลวร้ายก็ยังคงอยู่เป็นเพื่อนไชยวัฒน์ ในปี 2524 อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 20-21% ต่อปี สถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายปล่อยกู้ระยะยาว แต่สวนสยามต้องการเงินลงทุนเพิ่มอีก ไชยวัฒน์ต้องขายที่ดินอีกหลายแปลงพร้อม ๆ กับขอกู้จากธนาคารกรุงเทพเพิ่มเติม

ถึงปี 2526 สถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ซ้ำปลายปีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯนานกว่า 3 เดือน ยิ่งพากันฉุดให้ปีนั้นเป็นปีที่สวนสยามตกต่ำที่สุด ทั้งที่ไชยวัฒน์พยายามปรับปรุงและพัฒนาเครื่องเล่นตลอดจน เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่รายได้ก็ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้และปีนี้เป็นปีที่สวนสนุกแฮปปี้แลนด์ยอมลาจากโลกสวนสนุกเพราะทนภาวะขาดทุนต่อไปไม่ไหว

ตามเอกสารทางการเงินจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2526 สวนสยามมีหนี้สินกว่า 310 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 135 ล้านบาทมากกว่าเงินทุนจดทะเบียนที่มีอยู่ 40 ล้านบาทกว่า 3 เท่า

ข่าวไชยวัฒน์จะขายกิจการเพราะเบื่อเมืองไทยสะพัดอีกครั้ง

"ช่วงนั้นประกาศขาย เราทำงานอยู่ในประเทศไทยทำสถานที่พักผ่อนหย่อนใจซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรให้แก่ประชาชน แต่รัฐไม่เคยสนใจเราเลย เพื่อนที่อเมริกาที่อยู่ในสมาคมสวนสนุกโลกด้วยกันเขามาขอซื้อ บอกให้ไปอยู่อเมริกาดีกว่า เขาจะใช้หนี้ให้แล้วแถมเงินให้อีก" ไชยวัฒน์เล่าถึงข้อเสนอจากอเมริกา

จะว่าไปก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับไชยวัฒน์อยู่หรอก เพราะเวลานั้นมีเงื่อนไขหลายประการที่สนับสนุนว่าไม่ควรทำสวนสยามต่อ เช่น ขอรับสิทธิการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ไม่ได้ ขอให้ทาง ข.ส.ม.ก. จัดรถเมล์วิ่งผ่านก็ไม่ได้ เพราะเห็นว่าวิ่งไปก็ขาดทุน ขอให้ลดค่ากระแสไฟฟ้าให้คิดในอัตรากิจการอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำอัตราดอกเบี้ยสูงและสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยกู้ง่าย ๆ อีกต่อไปด้วย

ในเวลานั้นสวนสยามอยู่ในภาวะวิกฤต ไชยวัฒน์เซ็นเช็คติดสปริงเป็นว่าเล่น ซึ่งยังผลให้ปีต่อ ๆ มาคดีฟ้องร้องเรื่องเช็คกับไชยวัฒน์จึงเป็นเพื่อนสนิทที่พบกันเกือบทุกวัน

แต่ไชยวัฒน์ก็ไม่ยอมขายสวนสยามยังกัดฟันทำต่อไป เขาโชคดีที่ธนาคารกรุงเทพให้โอกาสอีกครั้ง

ปี 2527 สวนสยามจึงต้องเพิ่มทุนอีก 220 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 260 ล้านบาท คราวนี้ที่ดินของสวนสยามทั้งหมด อาคารและอุปกรณ์ ทั้งใบหุ้นส่วนหนึ่ง จำนองและจำนำไว้เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันเงินกู้งวดใหม่เข้ามา

ว่ากันว่าในช่วงวิกฤตทางการเงินของสวนสยามนั้น เจ้าหนี้รายใหญ่ถึงกับส่งเจ้าหนี้มาดูแลการเก็บเงินค่าผ่านประตูวันต่อวันเลยทีเดียว

จนถึงวันนี้สวนสยามลงทุนไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 800 ล้านบาทสำหรับสาธารณูปโภค เครื่องเล่นในสวนสนุก สวนน้ำ และสวนสัตว์ ขาดทุนสะสมติดต่อกันมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการประมาณ 300 ล้านบาท เป็นหนี้เฉพาะธนาคารกรุงเทพฯอย่างเดียวเกือบ 400 ล้านบาท

ถึงอย่างไรไชยวัฒน์ก็ยอมสู้กับภาวะหนี้สินและหาทางหมุนเงินมาจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลาโดยไม่หนีหน้าไปไหน คงไม่ผิดถ้าจะยกไชยวัฒน์ให้เป็น "ลูกหนี้ตัวอย่าง" ที่ยืนสง่าสู้หน้ากับเจ้าหนี้อย่างทรนง

แม้บางช่วงเวลาจะหาเงินกู้จากสถาบันการเงินไม่ได้ ไชยวัฒน์ก็ยอมหักใจขายทรัพย์สินที่ดินที่เขาสะสมมาตลอดชีวิตการทำงานออกไปทีละแปลง สองแปลง เพื่อนำเงินมาลงทุนในสวนสยามและจ่ายเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระคืน

ตั้งแต่ปี 2524 ถึงปัจจุบัน ไชยวัฒน์ทยอยขายที่ดินของเขาออกไปแล้วมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทไม่ว่าจะเป็น

ที่ดินข้างปั๊มน้ำมัน หน้าสำนักงานใหญ่ น.ส.พ.ไทยรัฐ 40 ล้านบาท

ที่ดินและร้านอาหารถ.ช้างเผือก จ. เชียงใหม่ 10 ล้านบาท

ที่ดินที่ลาดกระบัง 300 ไร่ 40 ล้านบาท

ที่ดินที่มีนบุรี 20 ไร่ 8 ล้านบาท

ที่ดิน ถ. รามอินทรา ตรงข้ามทางเข้าสวนสยาม 16 ไร่ 10 ล้านบาท

ที่ดิน 700 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อพร้อมกับที่ดินสวนสยามขณะนี้ ทยอยขายไปในราคาประมาณ 100 ล้านบาทในนามบริษัทอมรพันธ์นคร ซึ่งไชยวัฒน์ถือหุ้นอยู่ 25% จึงได้ส่วนแบ่งมาประมาณ 25 ล้านบาท

ที่ดินที่เขาอีดำ จ. ระยอง 30 ไร่ 40 ล้านบาท

และที่ดินที่กำลังต่อคิวรอการขายเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องของสวนสยามอีกคือที่ดินบริเวณ ถ. รัชฎาภิเษกแยกบางเขน 16 ไร่ จะขายราคาประมาณ 100 ล้านบาท และที่ดินที่ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 100 ไร่ จะขายในราคา 140 ล้านบาท

ไชยวัฒน์เคยรำพึงรำพันว่า "สวนสยามก็เหมือนกับทะเลนั่นแหละน้ำที่นี่ดูดเงินลงไปหมด"

ก็คงไม่ใช่เพราะการทำสวนสนุกนั้นเป็นการลงทุนไปกับทรัพย์สินถาวรมากแต่ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้สวนสยามดูดเงินลงไปชนิดจมหาย ๆ

เริ่มจากการบริหารทางด้านการเงิน เพราะเมื่อแรกเริ่มสวนสยามวางแผนการเงินระยะยาวไม่รัดกุม เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่กิจการสวนสนุกเป็นการลงทุนที่ระยะคืนทุนยาว แต่เงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น เมื่อระยะคืนทุนกับเงินกู้ไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งไชยวัฒน์แก้ปัญหาโดยการขายทรัพย์สินที่ดินส่วนตัวออกไปเรื่อย ๆ เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ต้องทำติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ที่เชื่อมต่อกันไม่มีวันจบ

"ไชยวัฒน์ไม่มีความชำนาญเรื่องการเงิน" แหล่งข่าวใกล้ชิดกับไชยวัฒน์เมื่อครั้งทำกิจการเงินทุนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" และเพราะไชยวัฒน์เป็นผู้บริหารการเงินของสวนสยามเอง จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไชยวัฒน์ต้องหมุนเงินจนหัวปั่นจนถึงทุกวันนี้

ทางด้านการตลาดสวนสยามไม่มีการเตรียมการทางด้านการตลาดที่เป็นระบบไม่ว่าจะเป็นด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ หรือกลยุทธ์ทางการตลาดอื่น ๆ ที่ชักชวนให้คนมาเที่ยว

"เมื่อคิดอะไรออกก็ทำ ๆ ไปตามประสบการณ์" ไชยวัฒน์สารภาพกับ "ผู้จัดการ" ถึงการตลาดและการส่งเสริมการขายที่สวนใหญ่มาจากความคิดของไชยวัฒน์ตามแต่สะดวก

ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2525 ไชยวัฒน์จัดงานสวนสยามเอ็กซ์โปร์เพื่อร่วมฉลอง 200 ปี กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าอะไรมากนัก โดยเฉพาะความร่วมมือจากทางภาครัฐบาลผลจากงานนั้นสวนสยามขาดทุนอีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

หรือแม้แต่บัตรฟรี เข้าสวนสยามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายที่งบประมาณปีละ 3-5 ล้าน ก็ไม่มีการควบคุมการใช้อย่างรัดกุม ว่ากันว่าในฤดูการเลือกตั้งไชยวัฒน์พิมพ์แจกเป็นใบปลิวเลยทีเดียว

และที่สำคัญระบบการตัดสินใจของสวนสยามนั้นขึ้นอยู่กับไชยวัฒน์เพียงคนเดียว ถึงแม้ไชยวัฒน์จะมีที่ปรึกษามากมายหลายคณะ หลายกลุ่ม ที่สามารถเสนอคำแนะนำและความคิดเห็นได้เสมอ แต่สำหรับคำแนะนำที่นอกเหนือไปจาก SENCE หรือความตั้งใจของไชยวัฒน์แล้วคำแนะนำนั้นจะไร้ความหมายทันที

ไชยวัฒน์ทำงานแบบ ONE MAN SHOW ตั้งแต่ระดับตัดสินใจ จนถึงขั้นปฏิบัติงาน เขาทำได้หมด บางครั้งเขาตัดสินใจซื้อเครื่องเล่นราคา 40-50 ล้านบาทด้วยตนเอง คิดจัดงานส่งเสริมการขายที่ต้องใช้เงินทุนนับล้านเพื่อนสนองความต้องการของตนเอง และในบางเวลาที่เดินตรวจตราสวนสนุกไชยวัฒน์ก็เก็บไม้เสียบลูกชิ้นลงถังขยะอย่างหน้าตาเฉย

การบริหารงานของสวนสยามก็ยังคงเป็นระบบครอบครัว เพราะไชยวัฒน์และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ไชยวัฒน์เองก็พูดเสมอว่าจะพยายามให้สวนสยามบริหารงาน โดยมืออาชีพ และต้องการให้คนนอกเข้ามามีส่วนในการบริหารงาน แต่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร

"สวนสยามผมทำคนเดียวเกือบทุกอย่าง คนเราเมื่อสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้แล้วก็อยากลงทุนอยากขยายงาน มันท้าทายให้เราทำอะไรโดยไม่ได้พิจารณาฐานเลยว่าแน่นหรือยัง" ไชยวัฒน์พูดถึงจุดอ่อนของการเป็นเถ้าแก่ และการไม่คำนึงถึงฐานด้านการเงิน ซึ่งมีส่วนทำให้สวนสยามเป็นการลงทุนชนิดจมหาย ๆ และมีหนี้สินมาก

แต่ขณะนี้สถานการณ์สวนสยามเริ่มดีขึ้น เครดิตของไชยวัฒน์เริ่มกลับมาอีกครั้ง เขาคาดว่าปี 2530 นี้จะเป็นปีแรกที่สวนสยามดำเนินกิจการคุ้มทุน เพราะปีนี้เป็นปีท่องเที่ยวไทยที่คาดว่าการท่องเที่ยวจะคึกคักเป็นพิเศษ

สวนสยามได้ร่วมกับทาง ท.ท.ท. จัดงานหลายงาน และมีการวางแผนการตลาดที่เป็นระบบยิ่งขึ้น โดยเริ่มด้วยการให้ลินตัสทำโฆษณาด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท มีการเตรียมพนักงานประชาสัมพันธ์และต้อนรับเป็นพิเศษและจัดพนักงานขายที่จะออกไปติดต่อกับกลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาเที่ยวสวนสยามโดยเจาะเป็นกลุ่ม ๆ เช่น โรงเรียน บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ และตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะมีคนมาเที่ยวสวนสยามประมาณ 2 ล้านคน

สวนสยามขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 90% ทุนที่ลงไปกว่า 800 ล้านบาท เริ่มแสดงผลกลับมาให้เห็น สวนสยามกำลังจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สมบูรณ์ มีสาธารณูปโภคพร้อม มีรถเมล์เข้าถึง ถ. สุขาภิบาล 2 กำลังปรับปรุงให้เป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องทางที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปี โครงการถนนวงแหวนรอบนอกที่จะทำให้การเดินทางจากที่ต่าง ๆ มาสวนสยามเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายกำลังปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่าง

เมื่อทุกอย่างในสวนสยามเสร็จสมบูรณ์และพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ได้พัฒนาเต็มที่แล้ว คงเป็นเวลาที่ไชยวัฒน์ทำสวนสยามได้ 10 ปี และตามที่ไชยวัฒน์เคยพูดไว้ว่าทุน 1,000 ล้านบาทที่ลงไปจะเห็นผลในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้เวลานั้นเข้ามาแล้ว และเมื่อถึงเวลานั้นที่ดิน 300 ไร่ของสวนสยามที่ไชยวัฒน์ซื้อไว้ในราคาไร่ละ 1 แสนบาท จะมีราคาไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3 ล้านบาท

และนั่นคือบทพิสูจน์ที่ว่าไชยวัฒน์เป็นนักพัฒนาที่ดินจริง!

แต่กว่าจะถึงวันนั้น ในปีนี้ไชยวัฒน์ต้องทำให้สวนสยามมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทจึงจะคุ้มทุนที่จะต้องหักเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 60 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยอีกประมาณ 40 ล้านบาท ในเฉพาะหน้านี้ไชยวัฒน์ต้องพยายามเต็มที่และหยุดไม่ได้ที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น แม้จะต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวออกไปอีกก็ตาม

"ผมขายอะไรมามากแล้ว ขายจนไม่มีอะไรจะขายแล้ว เคยมีคนบอกให้ผมหยุด แต่ผมหยุดไม่ได้เพราะถ้าหยุดผมตายทันที" ไชยวัฒน์กล่าวทิ้งทายกับ "ผู้จัดการ"

ใช่! ไชยวัฒน์ยังหยุดไม่ได้และยังตายไม่ได้ เพราะมีอีกหลายคนที่ต้องการให้ไชยวัฒน์อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ชื่อ "แบงก์กรุงเทพ"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us