Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2530
พายุโหมสหกลแอร์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปีกจะหักเสียแล้ว!             
 


   
search resources

สหกลแอร์
ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
Aviation




การลงทุนธุรกิจการบินหากไม่หล่นหลุมอากาศก่อนเวลาอันควรเสียก่อน โอกาสที่จะฟันกำไรในระยะยาว ก็อยู่ไม่ไกลเกินฝันนัก ด้วยเหตุนี้หมอผ่าตัดชื่อดัง ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จึงกล้าที่จะละธุรกิจทุกอย่าง หันมาทุ่มเทอย่างจริงจัง พร้อมตั้งความหวังสูงสุดว่า วันหนึ่งจักต้องเป็นจ้าวเวลาให้จงได้ แต่เส้นทางบินที่ผ่านมาไม่นานนัก พายุปัญหาซึ่งถั่งโถมโหมกระหน่ำทุกทิศทุกทาง ได้ตั้งคำถามขึ้นมาแล้วว่ายังจะกร้านแกร่งอยู่อีกหรือ ?

ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เกิดในตระกูล "ช้างบุญชู" ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากเกี่ยวกับเวชกรรมโอสถต่างๆ ทองคำ ช้างบุญชู ซึ่งเป็นอาและเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาแพทย์ให้เขามาแต่เด็ก ๆ เป็นหมอพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับนับถือจนสามารถเข้านอกออกในเขตพระราชฐานสมัยก่อนได้อย่างสบายและไม่ขัดเขิน

ทองอยู่ ช้างบุญชู ผู้เป็นพ่อเป็นผู้ที่เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "ปราสาททองโอสถ" พร้อมตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายยาหอมขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณห้าแยกพลับพลาไชย ยาหอมปราสาททอง ยาหอมอินทรแท่งทอง ยาข่าหอมปราสาททองฯลฯ ชื่อเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีแต่อดีตสืบต่อจนปัจจุบัน

พี่น้อง "ปราสาททอง" เกือบทุกคนไม่แตกต่างจากลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเพราะจบการศึกษาถ้าไม่สาขาแพทย์ เภสัช ก็วิทยาศาสตร์ ทว่าที่ปรากฏในวงสังคมบ่อย ๆ ก็มี ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปราไพ ปราสาททองโอสถ อดีตพี่เลี้ยง นางสาวไทยและประสพสุข ปราสาททองโอสถ อดีตผู้อำนวยการนิตยสารการเมืองฉบับหนึ่ง

ตัวปราเสริฐเรียนจบด้านศัลยแพทย์จากศิริราช เขาเป็นหมอผ่าตัดในจำนวนไม่มากนักที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ในความสามารถผลงานที่สร้างชื่อมากที่สุดก็คือ การผ่าตัดนายทหารนักบินคนหนึ่งที่หมอทุกคนลงความเห็นว่า "ไปไม่รอด" แต่ปราเสริฐ กลับช่วยชีวิตไว้ได้ราวปาฏิหาริย์

ปราเสริฐแม้ไม่ใช่ จักร ศัลยประจิตรตัวละครเอกคนหนึ่งในนิยายชื่อดังของ "อิงอร" แต่ทั้งคู่ก็มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันที่ว่า จักรไม่เคยเรียกชื่อตัวเองนำหน้าว่านายแพทย์ เพราะกระดากที่ตั้งคลีนิคทำการค้าส่วนปราเสริฐ ไม่คิดที่จะตั้งคลีนิครักษาคนไข้ "มันดูเหมือนกับว่าเรากำลังทำลายจรรยาแพทย์" เขากล่าวสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ"

และนี่กระมังที่เป็นจุดหักเหในชีวิตที่ทำให้เขากระโจนลงสู่สนามการค้า

"เมื่อคิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นหมอเช่นคนอื่น ๆ เขาได้ ในขณะที่ชีวิตต้องการแสวงหาความก้าวหน้า ก็มองเห็นช่องทางว่า การทำธุรกิจการค้าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด "ผมตัดสินใจเลิกอาชีพหมอหลังจากที่ทำมาแล้วถึง 5 ปี" ปราเสริฐเล่า

ปราเสริฐจับงานธุรกิจก่อสร้างเป็นงานแรกโดยร่วมกับ สุจินต์ ศิริทรัพย์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับวัลลีย์ภรรยาของเขาและยังมีสุธรรม ตัณฑไพบูลย์ (เจ้าของเรือซีทรานควีน) เพื่อนนักเรียนรุ่นพี่อัสสัมชัญเข้ามาช่วยเหลือเกื้อหนุนอีกแรงในนามบริษัท "สหกลเอ็นยิเนียเริ่ง" ที่ต่อมาเป็นบริษัทในเครือ "กรุงเทพสหกล"

เป็นจังหวะดีของการเสี่ยงมาก ๆ เนื่องจากระยะนั้นเป็นระยะที่สหรัฐอเมริกามีโครงการจัดตั้งฐานทัพในเมืองไทย จึงมีการลงทุนก่อสร้างต่าง ๆ มากมาย ก็ด้วยความสามารถทั้งเหนือเมฆและใต้ดินสหกลเอ็นยิเนียริ่ง นับเป็นบริษัทเดียวที่คว้างานเหล่านั้นไว้ได้มากที่สุด โครงการที่สร้างชื่อให้ลือลั่น และทำกำไรอย่างมหาศาลก็คือ การสร้างสนามบินอู่ตะเภาที่สัตหีบ

"ปราเสริฐกับสุธรรมเป็นคนที่มีเพื่อนสนิทเป็นนายทหารมากมาย และยังเข้าถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ ที่คุมอำนาจสมัยนั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะประมูลงานของสหรัฐไว้ได้ ส่วนสุจินต์เขารับหน้าที่คุมงานมากกว่าเพราะช่ำชองที่สุด" ผู้ใกล้ชิดคนทั้งสามกล่าว

งานแรกฉลุย งานอื่น ๆ ก็เคลื่อนตาม สามสหายเริ่มปฏิบัติตัวเป็น "หนวดปลาหมึก" ที่จะเกาะเกี่ยวธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งก็เลือกเอาด้าน การขนส่ง และพลังงานโดยตั้งแผนกขนส่งทางอากาศขึ้นมาอีกแผนกหนึ่งในบริษัทกรุงเทพสหกล เมื่อปี 2509 และตั้งบริษัท ไทยปิโตรเลี่ยมเซอร์วิส จำกัด (TPS) คุมด้านพลังงาน (ให้บริการต่าง ๆ กับบริษัทขุดเจาะน้ำมัน)

แต่ต่อมาต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปสุธรรมหันกลับไปคุมกิจการเดินเรือของครอบครัว สุจินต์รับงานสหกลเอ็นจิเนียริ่งโดยไม่มีปราเสริฐร่วมแรง ส่วนปราเสริฐก็มุ่งมั่นกับกิจการขนส่งทางอากาศและธุรกิจด้านพลังงานอย่างไม่อินังขังขอบเช่นกัน

"เป็นธรรมดาเราร่วมงานกันมานานชีวิตจิตใจบางครั้งมันก็นึกเบื่อ จึงตัดสินใจผ่าบริษัทออกเป็น 3 เสี่ยง สุจินต์รับด้านก่อสร้าง สุธรรมก็กลับไปคุมธุรกิจเดินเรือที่ชอบมาแต่เด็ก ส่วนผมนั้นใฝ่ฝีนอยากจะเป็นนักบินมาแต่เด็กเลยจับด้านนี้เป็นหลัก" ปราเสริฐกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ทว่าแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเล่าว่า จุดแตกแยกนั้นน่าจะเกิดจากการเป็นวันแมน โชว์ ของปราเสริฐมากกว่า เพราะเขาเชื่อในการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะเด็ดเดี่ยวของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้อาจจะมาจากพื้นฐานการเป็นหมอที่ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง กอปรกับระยะหลังๆ เขาไม่ค่อยจะไว้เนื้อเชื่อใจใครนัก !

"ไม่แต่เพื่อนเท่านั้น แม้แต่ปราไพที่เป็นน้องสาว และเข้ามาคุมด้านบริหารการเงินป้องกันรั่วไหลได้เป็นอย่างดี ก็ไม่อาจทนกับแบบแผนการทำงานที่ยึดถือตัวเองคือความถูกต้องของพี่ชายได้ ซึ่งความคิดนี้ยังสะสมในตัวหมอมาจนถึงปัจจุบันที่มีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารที่เป็นคีย์แมนในบริษัทไม่มีที่สิ้นสุด" แหล่งข่าวกล่าว

ปราเสริฐ ยอมรับตรงไปตรงมาว่า "ครับผมเป็นคนที่เชื่อมั่นใจตนเองสูง" แต่ดูเหมือนจากภาวะบีบคั้นต่าง ๆ ในปัจจุบัน มีข่าวว่า "ปราเสริฐดึงปราไพกลับมาร่วมงานเช่นเดิมแล้ว"

และข้อดีของปราเสริฐในสายตาผู้ร่วมงานที่ผ่านมาทุกคนบอกว่า "ถึงแม้หมอจะบริหารงานแบบรวมอำนาจผูกขาด แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อมากที่สุดคนหนึ่ง"

ถึงปราศจากแม่ทัพที่เคยกรำศึกฝ่าความยากลำบากกันมาแต่ต้น ทว่าปราเสริฐยังคงเป็นนักสู้ที่ท้าทายภาระหนักหน่วงทุกรูปแบบอย่างไม่ย่อท้อ และอาจะเป็นโชคที่พระเจ้าจงใจหยิบยื่นแก่เขาก็ได้ทำให้ทั้งกิจการขนส่งทางอากาศ (AIR TAXI) และด้านบริการแรงงาน แวร์เฮาส์ (โกดังเก็บเครื่องมือ) ให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันเมื่อสิบปีก่อน ไม่มีคู่แข่งมากนัก ปราเสริฐผงาดขึ้นมาจนได้รับการขานรับว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง

กินการการบินที่ไม่เคยตกหลุมอากาศ ที่สุดเมื่อปี 2527 เขาจึงตัดสินใจยกระดับแผนกนี้ขึ้นเป็นบริษัทต่างหากคือ สหกลแอร์ ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งรแก 1 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท มีผู้ร่วมก่อตั้งและถือหุ้น 7 คนคือ

น.พ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้นใหญ่ 4,497 หุ้น

ประสพสุข ปราสาททองโอสถ 2,499 หุ้น

รณรงค์ วรรณพฤกษ์ 2,500 หุ้น

ขจิต หัพนานนท์ ปราภา นวลสกุล เทียมจันทร์ อินทุวงศ์ และอรพินทร์ จงจิตกมล คนละ 1 หุ้น

ต่อมามีการเพิ่มทุนบริษัทขึ้นอีก 9 ล้านบาท พร้อมกับที่ ปราไพ ปราสาททองโอสถ, ธีระ อูนากูล และนิพนธ์ จันทร เข้ามาเป็นกรรมการแทน อรพินทร์,ขจิต และรณรงค์ ที่ขอลาออก ซึ่งนิพนธ์ จันทร ต่อมาเป็นมือขวาของปราเสริฐที่รับภาระกิจการการบิน

ธุรกิจการบินแต่เดิมเป็นการให้บริการบินเช่าเหมาเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปี 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติให้บริษัทเอกชนเข้าดำเนินธุรกิจการบินประเภทเครื่องบินโดยสารแบบประจำมีกำหนดเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

ด้วยความพร้อมที่มีอยู่ไม่น้อย ปราเสริฐเริ่มตั้งความหวังในใจว่า "เขานี่แหละที่จะขอเป็นเอกชนรายแรกที่เข้ามาเล่น และขอให้กิจการการบินพาณิชย์โดยเอกชนเป็นที่ยอมรับให้จงได้" ซึ่งความใฝ่ฝันนี้ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ เป็นอย่างดี

กระทรวงคมนาคมสมัย สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีนั้นเปิดให้บริษัทเอกชนที่บริการด้านเครื่องบินเช่าเหมาเสนอหลักการประกอบการบินโดยสาร สหกลแอร์ก็เป็น 1 ใน 4 บริษัทที่แสดงความจำนงที่เหลือก็มี บริษัท เอราวัณแอร์ จำกัดของกลุ่ม พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ที่อกหักจากการขอเปิดบินไปจีน) บริษัท ไทยฟลายอิ้งเซอร์วิส จำกัด (ของธีรเดช ไม้ไทยที่พาคณะอธิบดี ศิววงศ์ จังคศิริ โหม่งโลกที่ปทุมธานี) และบริษัท ที.ไอ.เอส. จำกัด (ของทองอินทร์ แสงงาม)

แต่จากเงื่อนไขและหลักการต่าง ๆ ที่ทุกบริษัทเสนอ คณะกรรมการพิจาณาที่มี น.พ. บุญเทียม เขมาภิรัตน์ รมช. คมนาคม สมัยนั้นเป็นประธาน ได้ตอบกลับว่า "พร้อมที่จะอนุญาตให้ทุกบริษัทบินรับส่งผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องเป็นบริษัทมหาชนเท่านั้น"

ทุกบริษัทปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะธุรกิจการบินถ้าทำเช่นนั้นเท่ากับฆ่าตัวตายทางอ้อม เนื่องจากแต่ละคนต่างก็อยากเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว

"ในที่ประชุมยัวะกันมากกับแนวความคิดของหมอบุญเทียม โดยเฉพาะหมอปราเสริฐแกโกรธจัด" แหล่งข่าวที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

หลังจากนั้นไม่กี่วันหมอปราเสริฐก็ทำให้ทุกคนงงไปหมด เมื่อมีข่าวว่าครม.มีมติอนุมัติให้ บริษัท สหกลแอร์ จำกัดเป็นผู้ได้รับสัมปทานการบิน

"พวกเรางงกันมาก เพราะที่ประชุมแทบจะตีกันตาย หนำซ้ำที่สหกลแอร์ได้รับอนุมัติก็อยู่ในเงื่อนไขเดิมที่เคยเสนอไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตามที่หมอบุญเทียมเสนอแม้แต่น้อย เมื่อผลออกมาดังกล่าวเราต้องยอมรับในความเป็นวงศ์เทวัญของหมอ" แหล่งข่าวท่านเดิมกล่าว (วงศ์เทวัญ เป็นสรรพนามที่คนในกองทัพอากาศเรียกหมอประเสริฐซึ่งมีญาติสนิทมิตรสหายมากในกองทัพอากาศ)

ว่ากันว่างานนี้เล่นเอาหมอบุญเทียมกับคนเหนือหัวที่หมอปราเสริฐวิ่งเข้าล็อบบี้แทบจะผีไม่เผา เงาไม่เหยียบกัน

ช่วงเดียวกันนี้หอการค้า จ. นครราชสีมา โดย ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานอนุกรรมการ ฝ่ายการท่องเที่ยว มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้มีสายการบินมาลง เนื่องจากเห็นว่า เป็นเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ มีการติดต่อทางการค้าอย่างมากมาย และเรื่องนี้เคยเสนอต่อ บดท. แต่ได้รับการปฏิเสธว่าไม่คุ้มทุน

ถึงกระนั้นก็ยังไม่สิ้นความพยายามทวิสันต์ได้เจรจาติดต่อกับสหกลแอร์ที่ได้รับอนุมัติแล้วให้เปิดเส้นทางบินมาที่โคราชโดยเริ่มติดต่อกันครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2528 ซึ่งทางหอการค้าโคราชได้ยอมทุ่มทุนทำวิจัยความเป็นไปได้ของการลงทุนนานนับหลายเดือน

ที่สุดก็ได้ข้อมูลว่า สามารถทำได้สบาย ๆ ไม่ขาดทุน

สหกลแอร์ก็เห็นด้วยกับผลวิจัยดังกล่าว

เมื่อผ่านอุปสรรคไปเปลาะหนึ่ง หอการค้านครราชสีมา จึงวิ่งเต้นติดต่อถึง พล.ต. อรุณ ปริวัตติธรรม ผบ. กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรนารีในขณะนั้นและสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าฯ ขอใช้สนามบินทหารซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

นั่นเป็นความภาคภูมิใจของคนโคราชอย่างมาก

20 มกราคม 2529 สหกลแอร์สามารถเปิดทำการบินรับส่งผู้โดยสารได้เป็นครั้งแรกซึ่งทวิสันต์ที่เป็นตัวตั้งตัวตีรับเป็นเอเย่นต์ขายตั๋วทางโคราชให้ด้วย ความประทับใจดังกล่าวเป็นเครื่องระลึกถึงเสมอมา

และเพื่อสนับสนุนกิจการการบินของสหกลแอร์ ทางหอการค้านครราชสีมากับบริษัท โคราชธุรกิจ ของทวิสันต์ยังได้พยายามที่จะเปิดเมืองโคราชให้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอีสานใต้ พร้อมวิ่งประสานบริษัททัวร์ต่างๆ ให้จัดส่งนักทัศนาจรมาให้สหกลแอร์ ตอนนั้นทุกอย่างเต็มไปด้วยความอึกทึก

ต่อจากเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราชก็ขยายเป็นกรุงเทพฯ-สุรินทร์ และกรุงเทพฯ-กระบี่ ตามลำดับ ทั้งนี้สหกลแอร์ได้ใช้เครื่องบินแบบเดเรนเต้ อีเอ็มบี. 110 ซึ่งเป็นเครื่องบิน 18 ที่นั่งที่เช่าจากบริษัทในออสเตรเลีย 2 ลำมาบริการรับส่งผู้โดยสาร

สหกลแอร์ได้ดึงมือดีด้านต่าง ๆ เสริมทัพอย่างแข็งขันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายจ้าวเวหาให้ได้มือดีเข้ามาก็อาทิเช่นธีระชัย เชมนะศิริ นักบริหารหนุ่มจากปูนซีเมนต์ไทย พอเพ็ญ เสงี่ยมพงษ์ชาญ มือ พี.อาร์. จากไทยฮักกุโด ธนวัฒน์ ลีละพันธ์ จากการบินไทย ซึ่งปลุกโรงแรมราชพฤกษ์ให้คึกคักมาแล้ว พนักงานที่อาคารกรุงเทพสหกล ก็ยัวะเยียะไม่น้อยกว่า 35 คน

ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องเป็นครั้งแรกที่ต้องมาเล่าขานถึงความไม่สู้ดีในปัจจุบันนี้เลย

นอกจากจะเปิดเส้นทางบิน 3 สายแล้ว หมอปราเสริฐ ยังมีโครงการที่จะสร้างสนามบินขนาดใหญ่ที่มีรันเวย์ยาวกว่า 1,200 เมตรที่เกาะสมุย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างโรงแรมขนาดยักษ์ของตนที่นั่น ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จ

เกาะสมุยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไม่แพ้หาดใหญ่เลยทีเดียว

"การเปิดเส้นทางบินของผมนั้นผมมองไปที่เมืองท่องเที่ยวเป็นแนวหลัก มากกว่าที่จะมองไปยังเมืองเศรษฐกิจเพราะผมเชื่อว่าอนาคตเราจะต้องไปเที่ยวกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงเปิดบินไปยังระนอง กระบี่ สมุย ที่จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในอนาคต" ปราเสริฐกล่าวถึงแผนการตลาด

กิจการบินใน 3 เส้นทางดำเนินด้วยความปกติ แม้จะไม่สู้ดีในบางสาย แต่ก็มีแนวโน้มว่ายังคงจะไปได้สวยในอนาคตโดยเฉพาะสายกรุงเทพ-โคราช ที่บินถึงวันละ 4 เที่ยว จนมาถึงวันที่ 3 กันยายน 2529 ก็ปรากฏเค้ารางแห่งความยุ่งยากเมื่อสหกลแอร์เกิดปัญหากับบริษัทให้เช่าเครื่องบินที่ออสเตรเลียจนต้องคืนเครื่องกลับไปทั้งหมด

เครื่องบินแบนเดเรนเต้ อีเอ็มบี .110 ที่เช่ามาในลักษณะเช่าซื้อ แหล่งข่าวที่คลุกคลีในวงการบินมานับสิบๆ ปี ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไม่รู้ว่าหมอแกคิดอย่างไรในเรื่องนี้ แต่พวกเราในวงการงงกันมาก เพราะไม่มีสายการบินที่ไหนในโลกเขาทำกัน แอร์สยามเองครั้งแรกยังใช้วิธีเช่าเครื่องจาก เอสเอเอส."

ส่วนสาเหตุที่สหกลแอร์มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องแบนเดเรนเต้ แหล่งข่าวกล่าวว่า

1. เครื่องแบนเดเรนเต้ ไม่มีเครื่องอะไหล่ในเมืองไทย เมื่อเครื่องเข้าตรวจซ่อมต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมงจึงเกิดปัญหาหาเครื่องทดแทนไม่ได้ บริษัทผู้เช่าก็เสียผลประโยชน์และเรียกค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงสูงผิดปกติ

2. จากปัญหาแรก ก็เลยทำให้การเจรจาที่จะเช่าซื้อติดขัด เพราะสหกลแอร์ต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาให้ตรงกับความเป็นจริงที่เครื่องไม่สามารถทำงานได้ 100% โดยขอลดหย่อนราคาลงมา แต่ทางออสเตรเลียไม่ตกลง

3. บริษัทผู้ให้เช่าออสเตรเลียกระเสนกระสายมาว่า สหกลแอร์ไปพบเครื่องบินซาปที่ให้ผลคุ้มค่ากว่าเครื่องของตน และก็เข้าใจว่าสหกลแอร์ต้องเอาเครื่องนั้นแน่เพื่อไม่ให้เสียเหลี่ยมก็เลยตัดใจขอเครื่องคืนไปเสียก่อน

สหกลแอร์ต้องหยุดบินจนถึง 1 ตุลาคม 2529 พร้อมกับที่ภายในบริษัทก็เกิดเรื่องวุ่นวายไม่น้อย มือดีที่ดึงเข้ามาไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนงานที่วางเอาไว้ เป็นเพราะถูกบีบจากคนที่เป็นใหญ่ซึ่งรวบอำนาจเอาไว้

ที่สุดคนเหล่านั้นก็เลยโบกมืออำลากันไปทีละคนสองคน

บรรยากาศที่เคยคึกคักก็กลายเป็นเงื่อนหงอยเศร้าซึม

หมอปราเสริฐก็เริ่มถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหลายหลากในการดำเนินธุรกิจ

การหยุดบินในครั้งนั้นส่งผลเสียหายเป็นอย่างมาก บริษัท โคราชธุรกิจ จำกัดได้มีจดหมายลงวันที่ 20 กันยายน 2529 เสนอแนะให้สหกลแอร์แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ทำไมต้องหยุดบินทั้งนี้เพื่อไม่ให้ศรัทธาที่กำลังงอกงามต้องจางหาย

แต่สิ่งที่ได้รับคือความเพิกเฉยอยู่เป็นเวลานาน

เมื่อประสบปัญหากับเครื่องแบนเดเรนเต้ สหกลแอร์ก็หาทางออกด้วยการไปเช่าเครื่องแอฟโร จาก บดื.ในราคาค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาทมาบริการผู้โดยสาร ซึ่งเครื่องบินนี้ต้องใช้รันเวย์ยาวดังนั้นจึงต้องยุบสายสุรินทร์และกระบี่ไปเหลือกรุงเทพฯ-โคราชเส้นเดียวพร้อมกับลดเที่ยวบินเหลือเพียงวันละ 2 เที่ยว (เช้า-เย็น)

แม้จะเหลือวันละ 2 เที่ยวเรื่อก็ไม่น่าจะเลวร้ายถ้าหากสหกลแอร์จะปฏิบัติการบินได้เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ในต่างประเทศ และแล้วฝันร้ายก็กระหน่ำซ้ำเมื่อ 1 มกราคม 2530 สหกลแอร์ได้ลดเที่ยวบินเหลือแค่เที่ยวเดียว โดยไม่มีจดหมายแจ้งให้เอเยนต์ทราบล่วงหน้า

"ทำเหมือนกับว่าเราเป็นอะไรอย่างนั้น ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งตำหนิติเตียนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีหลักการและระบบของหมอ อย่างเช่นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์กรุงเทพคล้องมาลัยส่งกันเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีเครื่องเขาเสียหน้ามาก เราเป็นเอเยนต์ก็ต้องแบกรับ หมอคิดถึงข้อนี้บ้างไหม" ทวิสันต์ของโคราชธุรกิจกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เหตุการณ์บินแบบกระปริบกระปรอย บินหยุด ๆ หย่อน ๆ ยังก่อความเสียหายอีกหลายครั้ง และที่เสียหายมากที่สุดก็คือ กลุ่มนักธุรกิจเครื่องไฟฟ้าที่ตกเครื่องไม่สามารถไปประชุมได้ตามกำหนดเวลาจนแทบเสียเครดิต ซึ่งครั้งนี้ทวิสันต์คิดว่า "เขาทนมาพอแล้ว"

เมื่อแก้ไขให้ดีขึ้นไม่ได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นตนก็ไม่ใช่ผู้ก่อ จะต้องทนให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อไปทำไม ที่สุดทวิสันต์จึงบอกเลิกการเป็นเอเยนต์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530

กับเหตุการณ์อันน่าหดหู่ดังกล่าวหมอปราเสริฐ แย้งและแก้ต่างว่า ได้ระงับการบินจริง 2 ครั้ง ๆ แรกเนื่องจาก บดท. นำเครื่องไปเวียงจันทร์แล้วส่งมอบให้ไม่ทัน อีกครั้งต้องเช็คเครื่อง ที่ไม่บอกล่วงหน้า เพราะนักบินเห็นว่าบินไปแล้วไม่ปลอดภัย การหยุดบินนี้เป็นเรื่องธรรมดาตนอยู่ในวงการนี้มาหลายสิบปีไม่ยอมเสียชื่อแน่ ๆ "ทวิสันต์เขาไม่เคยขายตั๋วมาก่อนเลยไม่รู้"

จุดผิดพลาดของสหกลแอร์ที่น่าพิเคราะห์อีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจากความผิดพลาดในการบริหารงานแบบ "หมอคนเดียว" การขาดการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดลึกซึ้งก็คือ ในบรรดาทีมขายที่ดึงเข้ามานั้นไม่มีใครรู้เรื่องการตลาดอย่างแท้จริง ธนวัฒน์ก็ผ่านมาแบบเฉียด ๆ

"นี่แหละจุดผิดพลาดมากที่สุด ดูกันแค่ราคาตั๋วหากใครรู้เรื่องการบินคงคัดค้านแล้วกับราคา 400 บาทที่ไปโคราช ราคานี้ฆ่าตัวตายชัดๆ การตลาดสินค้าอื่นอาจหั่นราคายอมขาดทุนได้ แต่การบินไม่เหมือนสินค้าอื่น ถ้าหมอได้ศึกษาสายการบินในอินโดนีเซียอาจไม่เจอเหตุการณ์อย่างนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ก็ตรงกับความจริงที่ปราเสริฐเองยอมรับว่า "ผมขาดทุนมาตลอด"

นอกจาปัญหาการบินที่ไม่สม่ำเสมอจนเสียศรัทธา ปัญหาการตลาดที่อยู่ในรูปเนื้อเต่ายำเต่า ขาดทุนแบบไม่น่าขาดทุนมาตลอด ปัญหาการเงินก็เป็นประเด็นสำคัญเพราะเงินส่วนหนึ่งของปราเสริฐไปจมกับโครงการสร้างสนามบินที่เกาะสมุยอย่างค่อนข้างจะโชคร้าย

เดิมทีเดียวที่ดิน 150 ไร่ ซึ่งจะใช้สร้างสนามบินที่เกาะสมุยเป็นที่ดินของ ทองอินทร์ แสงงาม แห่งบริษัทที.ไอ.เอส.จำกัด ซึ่งเคยเสนอตัวขอบินรับส่งผู้โดยสารเช่นกัน ที่ดินนี้ทองอินทร์ได้รับการช่วยเหลือจากหลวงพ่อวัดเขาเต่า เป็นธุระติดต่อในการซื้อขายกับชาวบ้านในราคาที่ไม่แพงนักเพียงไร่ละไม่กี่พันบาทโดยมีโครงการสร้างสนามบินเช่นเดียวกัน

แต่เมื่อ ครม. พิจารณาให้สหกลแอร์เป็นผู้ได้รับสัมปทานการบิน ประจวบกับที่ดินบริเวณนี้เหมาะสมอย่างมากต่อการสร้างสนามบิน เมื่อตนเองไม่ได้และปราเสริฐอยากจะได้

ก็เลยเป็นแค้นที่ต้องชำระกันทางอ้อม

ทองอินทร์ขายที่ดินให้สหกลแอร์ไปในราคาที่สูงกว่าซื้อมาร่วมสิบเท่า และยังกันเอาไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อทำเป็นบ่อน้ำจือขายให้กับโรงแรมที่ปราเสริฐจะสร้างขึ้นมาอีก

เป็นเบี้ยที่ตาเก็บอย่างแสบสันต์ซึ่งปราเสริฐเองต้องจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดั่งเหมือนโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็นที่ตามหลอกหลอนไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยความต้องการที่จะสร้างสนามบินขนาดยักษ์ทำให้ต้องกว้านซื้อที่ดินเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 220 ไร่ คราวนี้ราคายิ่งสูงมากขึ้นไปกว่าครั้งที่ทองอินทร์ขายให้เสียอีก ว่ากันว่าราคาขายสูงถึงไร่ละ 200,000 บาท

"ผมว่าแกคิดผิด เอาเงินไปจมที่เกาะสมุยมากเกินไปไม่น้อยกว่าร้อยล้าน ความคิดนี้ดีแต่ควรเกาะ บดท. ไปก่อนการสร้างสนามบินถ้าไม่มีรายได้ทางอื่นหรือแอร์ไลน์สายอื่นมาร่วมใช้ก็ลำบากที่ทราบมาหมอจะใช้ของแกคนเดียว" แหล่งข่าวกล่าว

และด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ บีโอไอ. ไม่ยอมให้การส่งเสริม รวมไปถึงการเช่าซื้อ เครื่องบินซาป 340 (SAAB 340) ที่สหกลแอร์ขอลดหย่อนภาษีนำเข้าจาก 5% เหลือ 1% อีกด้วยเหตุผล "ไม่คุ้มทุน" จนเรื่องนี้ปราเสริฐเองถึงกับยัวะ บีโอไอ. มากว่า "จุ้นไม่เข้าเรื่อง คุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุนอยู่ที่คนค้ำประกัน"

สำหรับเครื่องซาป 340 ที่จะเช่าซื้อจากบริษัทในสวีเดน 2 ลำ เป็นเครื่องบิน 34 ที่นั่งที่ปราเสริฐต้องการนำมาแทนเครื่องแอฟโร 748 โดยซื้อในวงเงินเครื่องแรก 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลำที่สอง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนแรกมีข่าวว่าจะนำเข้ามาในเดือนตุลาคม 2529 แต่ก็เลื่อนมาเป็นมกราคม 2530 ทว่ายังนำเข้าไม่ได้จนขณะนี้

ไม่รู้ว่ามีนาคมจนถึงพฤษภาคม 2530 จะนำเข้ามาได้อย่างที่ว่าไว้หรือไม่?

"ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เราส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกกับเขาแล้ว สีก็ทาเรียบร้อยแล้วคาดว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมคงนำเข้ามาได้แน่นอน" ปราเสริฐกล่าวอย่างมั่นใจกับ "ผู้จัดการ"

แหล่งข่าวในวงการการบินเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงสาเหตุที่สหกลแอร์และหมอปราเสริฐยังไม่สามารถนำเข้าเครื่องบินซาป 340 ได้นั้นเป็นเพราะ

1.หมอกำลังประสบปัญหาการเงินจากการดำเนินธุรกิจที่เริ่มมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการบินหรือบริษัทที่ให้บริการด้านขุดเจาะน้ำมันที่ฟุบไปตามสถานการณ์พลังงานที่ตกต่ำตั้งแต่ปีที่แล้ว

2. นักบิน 4 คนที่ส่งไปเช็คและฝึกกับเครื่องโดยทุนที่ทางซาปออกให้ตามพันธะสัญญาปรากฎว่าผ่านการทดสอบเพียงคนเดียว เมื่อเป็นอย่างนี้ทางซาปจึงไม่กล้าที่จะส่งมอบเครื่อง ปัญหานี้ถ้าจะแก้ไขสหกลแอร์ต้องส่งนักบินไปฝึกใหม่โดยออกค่าใช้จ่ายเอง

ปัญหาอยู่ที่ว่าค่าใช้จ่ายในการฝึกบินนั้นไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 10,000 บาทสมมุติว่าส่งไปอีกสาม สหกลแอร์จะต้องแบกรับภาระที่ไม่น้อยเช่นกัน ยิ่งเมื่อฐานะเริ่มคลอนแคลนก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันอย่างหนัก

"ไม่รู้นะในความคิดของผมว่าเครื่องซาป 340 นี่ยากจะเข้ามา การตัดสินใจซื้อก็เป็นการฮาราคีรีตัวเองแล้ว ธุรกิจการบินระดับประเทศยังไม่ทำ อย่างแอร์ลังกายังใช้วิธีเช่าเครื่องอยู่เลย ที่สำคัญคือว่าเครื่องซาป 340 นี้ถ้าเสียไม่อาจซ่อมได้ในเมืองไทยต้องไปซ่อมที่สิงคโปร์ ถ้าหมอจะเอาเข้ามาก็ต้องลงทุนสร้างโรงซ่อมอีก ไม่รู้ว่ามันจะคุ้มกันไหม" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกันในสายงานตั้งคำถามถึงปราเสริฐกับ "ผู้จัดการ"

สภาพการบินของสหกลแอร์ แม้ปราเสริฐจะยืนกรานหนักแน่นถึงความมั่นคงที่ไม่เคยผิดสัญญากับเจ้าหนี้ต่างๆ แต่คนวงในก็บอกว่า "นั่นคือภาพลวงตาเพราะเนื้อแท้นั้นข้างในกลวงสิ้นดี" ซึ่งมีข่าวที่ยืนยันได้ว่า ปราเสริฐยังมีพันธนาการทางหนี้สินอีกหลายปมไม่ว่าจะเป็นหนี้กับกรมศุลกากรในการนำเครื่องบินไปเปอร์นาวาโฮชิฟเทนเข้ามาในประเทศ 50 ล้านบาท ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว คิดเบี้ยประกัน 2 แสนบาทกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในการประกันผู้โดยสารและเครื่องแบนเดเรนเต้ อีเอ็มบี. 110 ในวงเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันภัยทำท่าจะไม่ให้เครื่องซาป 340 ถ้ายังไม่สามารถเคลียร์หนี้สินเก่าให้หมดเสียก่อน

ในวังวนแห่งความสับสน มองไปข้างหน้าก็เห็นแต่หลุมอากาศเต็มไปหมด ปราเสริฐก็ยังพอที่จะหลงเหลือความหวังอยู่บ้างว่า หนทางที่เขาจะฝ่าบินเพื่อเป็นจ้าวเวหานั้นยังไม่มืดมิด โดยมุ่งไปที่เพื่อนซี้สมัยเรียนเตรียมแพทย์ศิริราช คนที่ชื่อ พล.อ.ท. เกษตร โรจนิล หรือบิ๊กเต้เสนาธิการทหารอากาศคนปัจจุบันที่จ่อหัวคิวหมายเลข 2 ในการขึ้นคั่วตำแหน่งผบ.ทอ.

หาก ผบ.ทอ. คนต่อไปเป็นบิ๊กเต้คงมีผลต่อปราเสริฐไม่น้อย เนื่องจากตำแหน่ง ผบ.ทอ. นั้นจะต้องนั่งเก้าอี้ประธานการบินไทยและ บดท. ไปในตัวซึ่งการประกอบธุรกิจการบินภายในประเทศที่ภาคเอกชนอย่างปราเสริฐและหลายๆ รายประสบปัญหาอยู่ในเวลานี้ก็คือ ถูกกลั่นแกล้งทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก บดท. โดยที่ บดท. พยายามจะกีดกันเส้นทางบินที่มีอนาคตเอาไว้คนเดียวอย่างเช่นเส้นทางบินไปเชียงใหม่ ภูเก็ต

เส้นทางที่เจียดให้ภาคเอกชนเป็นเส้นทางสายมรณะเสียเกือบหมด

ปัญหานี้เป็นที่ถกเถียงและพูดคุยกันอย่างมากในการประชุมเกือบทุกครั้งล่าสุดในการประชุมที่เชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา บดท. ก็ถูกสับเละว่าเป็น แมวหวงก้าง อยากได้เอาไว้แต่ทำไม่ได้ดี ทุกคนกระทุ้งกันว่า ถึงเวลาที่ บดท. ควรใจกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาเส้นทางบินบางสายได้แล้ว

ปราเสริฐเองก็ตั้งความหวังเหล่านี้ไว้ในใจ มีหลายสายที่เขาอยากจะทำ แต่ติดขัดซ้ำซ้อนกับบดท.

ดังนั้นถ้าบิ๊กเต้ คนที่ต้องพูดคุยทางโทรศัพท์กับเขาเกือบทุกอาทิตย์ บุญพาวาสนาส่งก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่ง ผบ.ทอ. ได้เป็นผลสำเร็จ ก็เท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้ปราเสริฐไปแล้วครึ่งตัว

ท่ามกลางสภาวะแห่งปัญหาที่ถั่งโถมถ้าคืนนี้ปราเสริฐไม่แหลกราญไปเสียก่อนพร้อมกับที่มีการปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เสียใหม่ ที่พูดกันว่าเขาจะเป็นจ้าวเวหาเมืองไทยก็อาจเป็นไปได้มากทีเดียว !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us