Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2530
KEDANREN OF THAILAND เถ้าแก่ภูธร "แข็งเมือง" เถ้าแก่หอการค้าไทย             
โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ
 


   
www resources

โฮมเพจ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
โอมเพจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

   
search resources

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
โพธิพงษ์ ล่ำซำ
Commercial and business
สมภพ สุสังกรกาญจน์
หอการค้าจังหวัด




ก็ได้แต่พูดกันว่าความมั่งคั่งไพศาลของประเทศ จำต้องพัฒนาฐานเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคให้มั่นคงแข็งแรงเสียก่อน แต่ก็นั่นแหละน้ำลายที่ไหลเป็นคุ้งเป็นแควยังหาแก่นสารที่เป็นจริงในทางปฏิบัติไม่ได้องค์กรนำทางการค้าอย่าง "หอการค้าจังหวัด" ซึ่งควรจะเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก เสริมสร้างศักยภาพดังกล่าวกลับถูกบดบี้ทางอ้อมจนแคระแกร็น แต่วันนี้ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นแล้ว

หอการค้าเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ทุกประเทศในระบบการค้าเสรีได้ให้ความสำคัญลำดับสูงที่จะเข้ามามีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคก็ได้มีการรวมตัวของพ่อค้าต่างๆ ในรูปแบบคล้ายคลึงกับหอการค้ามาเป็นเวลานานแล้ว อย่างเช่นกลุ่มพ่อค้าชลบุรี และกลุ่มพ่อค้าเชียงราย

แต่การรวมตัวดังกล่าวเป็นไปแบบไม้หลักปักขี้เลน พลังอำนาจที่คิดว่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองหรือชี้นำกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจภาคต่างๆ ไม่อาจบรรลุผลที่มุ่งหวัง ไม่มีกฎหมายรองรับการรวมตัว เสียงที่ดังออกมาจึงกลายเป็นเสียงนกเสียงกาไปเสียหมด

เมื่อปี 2509 มีการตราพระราชบัญญัติหอการค้าขึ้นเป็นครั้งแรก กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าที่จะรวมตัวกันต้องจดทะเบียนเป็น "หอการค้า" ตามกฎหมายฉบับนี้และมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมาย พร้อมกันได้มีการตั้งหอการค้าไทย (หอการค้ากรุงเทพมหานคร) ขึ้นเป็นครั้งแรก และกำหนดให้หอการค้าจังหวัดต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นต้องเป็นสมาชิกหอการค้าไทย

ทว่าสภาพสังคมไทยเมื่อยี่สิบปีก่อนที่รวมศูนย์ความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ เอาไว้แต่ในเมืองหลวง ทำให้การขยายแนวความคิดที่จะชูธงหอการค้าจังหวัดต่างๆ เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น แม้ว่าระยะเดียวกันนั้นจะมีการจัดตั้งหอการค้าจังหวัดขึ้น 3 จังหวัด (เชียงราย, ชลบุรี,สงขลา) แต่สภาพที่ปรากฏก็ไม่ผิดแผกอะไรกับการเป็น "ลูกนอกคอก" จะโตหรือตายก็สุดแท้แต่บุญกรรม

นับเป็นการล่มสลายทางความคิดที่จะยกบทบาทพ่อค้าให้สูงเทียมเท่าพระยาเลี้ยงโดยสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่แนวคิดนี้หากจะว่าไปก็เริ่มจุดประกายจากมันสมองของพ่อค้าภูธรโดยแท้

มีผู้วิเคราะห์ความล้มเหลวของการจัดตั้งหอการค้าจังหวัดผ่านมาซึ่งเป็นไปได้แต่ตั้งไข่ล้ม ไว้ว่า

ประการแรก เกิดจาก พรบ.หอการค้า 2509 มีข้อจำกัดที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา โดยเฉพาะโครงสร้างหอการค้าไทยที่เป็นศูนย์รวมมีลักษณะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในกำมือของพ่อค้าใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯเท่านั้น ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไหลผ่านเข้าหอการค้าไทยและถูกคนกลุ่มนี้ "ดักลอบ" เอาไว้หมด

สภาพที่สะสมเช่นนี้ทุกเมื่อเชื่อวันกลายเป็นมะเร็งร้ายที่ลามแทะศรัทธาความคิดของพ่อค้าอื่นๆ ที่จะรวมตัวกันเป็นหอการค้าจังหวัดให้สูญสลายไปเพราะมองเห็นว่ารวมกันแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาทำมาหากินไปเปล่าๆ

ประการต่อมา บรรทัดฐานของการรวมตัวยังไม่มีใครเข้าใจถึงปรัชญาแท้จริงของ "หอการค้า" ว่ามีบทบาทและทิศทางที่จะเกื้อหนุนต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างไร ดังนั้นการรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปอย่างเลื่อนลอยสะเปะสะปะ ซ้ำร้ายบางจังหวัดผู้บริหารบางคนกลับใช้หอการค้าเป็นขุมทองตักตวงผลประโยชน์ส่วนตนไปเสียอีก

"เงินสนับสนุน 20,000 บาทที่ได้รับจากหอการค้าไทย ถูกใช้ไปกับการบริจาคให้กับจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เป็นการต่อทุนจัดเลี้ยงไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา นับเป็นการใช้เงินผิดทิศทางอย่างมหันต์" กรรมการหอการค้าจังหวัดท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"ที่จริงเงินช่วยเหลือเพื่อการจัดตั้งหอการค้าจังหวัดแต่ละจังหวัด 20,000 บาทนี้ทางหอการค้าไทยควรที่จะนำไปเพื่อการพัฒนาหรือฝึกอบรมให้แกนจัดตั้งแต่ละคนได้เข้าใจถึงปรัชญา วัตถุประสงค์ของหอการค้า และน่าที่จะมีการตรวจสอบผลงานแต่ละขั้นตอนในระยะแรกอย่างเข้มงวด มิใช่ให้แล้วให้เลย"

ซึ่งเงินสนับสนุนนี้ กรรมการหอการค้าท่านหนึ่งได้เคยเสนอแนะว่า "น่าจะมากกว่า 20,000 บาท เพราะเงินของหอการค้าไทยที่มีอยู่นั้นก็หลายสิบล้าน พวกเราก็จ่ายให้ทุกปี ให้มาแค่ 20,000 บาท ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร"

เขาบอกว่ารายได้ของหอการค้าไทย ได้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิกปีละ 1,200 บาท และได้รับค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า กับประทับตรารับรองเอกสารสินค้าระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งในปี 2525 มีเงินฝากประจำกับสถาบันการเงินต่างๆ 14.5 ล้านบาทและเงินฝากกับมูลนิธิสงเคราะห์ที่หอการค้าไทยตั้งขึ้นมาอีก 1.7 ล้านบาท

ปัจจุบันเงินฝากดังกล่าวเพิ่มพูนถึง 30 กว่าล้านบาทแล้ว

เงินจำนวนนี้สมาชิกหลายคนคลางแคลง และอยากเป็นอย่างยิ่งว่านายแพทย์สมภพ สุสังกรกาญจน์ ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทย ควรที่จะเคลียร์ออกมาให้กระจ่างชัดก่อนที่จะเกษียณจากตำแหน่ง

นอกจากกลิ่นไม่ดีเรื่องเงินแล้วเรื่องคณะกรรมการก็มีคนพูดบ่อยๆ ว่ายุคหมอสมภพเป็นใหญ่มุ่งแต่จะเลือกสรรคนที่มีบารมีและมีกำลังทรัพย์มากมายเท่านั้นเข้ามาเป็นกรรมการ โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจังที่จะปฏิบัติภาระหน้าที่ในการเร่งพัฒนาหอการค้าจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหอการค้าไทยให้เติบโต ทั้งที่พูดกันปาวๆ ว่าเป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศ

"ยกตัวอย่างง่ายๆ การประชุมกรอ.แต่ละครั้งที่ผ่านมา สมาชิกหอการค้าจังหวัดแต่ละแห่งเสนอปัญหาเข้าไปเพื่อให้ช่วยเหลือหาทางแก้ไข กรรมการเหล่านั้นก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่รู้ว่าปัญหาเหล่านั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้อย่างไร เรื่องที่ยกเข้าไปในกรอ.มีแต่ปัญหาและผลประโยชน์ที่กรรมการหอการค้าไทยซึ่งเป็นพ่อค้าใหญ่ๆ ต้องการจะได้ทั้งสิ้น"

"เราเคยเสนอขอเพิ่มกรรมการจากประธานหอฯ ต่างจังหวัดให้มีส่วนร่วมในหอการค้าไทยมากขึ้นก็ได้รับการวางเฉย เหมือนไม่เห็นความสำคัญทั้งๆ ที่หอต่างจังหวัดมีสมาชิกร่วมหมื่นราย หรือการที่จะผลักดันคนหนุ่มอย่าง นายแบงก์ประกิต ประทีปเสน โพธิพงษ์ ล่ำซำ ดร.สม จาตุรศรีพิทักษ์ ที่พ่อค้ามองว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ให้เข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการมากขึ้น ก็ถูกเส้นสายอำนาจเก่าบางกลุ่มกีดกันตลอดเวลา" กรรมการหอการค้าจังหวัดอีกท่านกล่าวอย่างเหลืออดกับ "ผู้จัดการ"

ความขุ่นข้องหมองใจต่างๆ ของมวลสมาชิกทั่วประเทศ น่าที่จะเป็นบทเลี้ยงส่งที่หมอสมภพซึ่งพยายามปกป้องตัวเองให้พ้นจากมลทินต่างๆ มาตลอดเวลา ควรจะชำระสะสางปลดเปลื้องให้ชาวยุทธเหล่านั้นคลายจากอาการ "อกหัก" มิใช่หรือ

"พระเจ้าจะช่วยก็แต่คนที่ช่วยตัวเองเท่านั้น"

"ความเจ็บปวดที่ผ่านมา การเติบโตทางความคิดของพ่อค้าภูธรที่มองเห็นว่า พวกเรานั้นคือทัพหน้าของการพัฒนาประเทศจริงๆ เนื่องจากภูธรเป็นเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ที่จะไหลหล่อเลี้ยงบำรุงให้ประเทศอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่ในเมื่อเขาไม่เหลียวมองจริงๆ พวกเราก็ควรจะลุกขึ้นมาด้วยตนเอง" อมร วงษ์สุรวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมุ่งมั่นที่จะผลักดันบทบาทหอการค้าต่างจังหวัดให้สูงขึ้นกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการรวมตัวของหอการค้าต่างๆ เป็น "สำนักงานหอการค้าจังหวัด"

ซึ่งนี่เป็นอาวุธสำคัญในวันนี้ที่ทุกคนมุ่งหวังว่าจะเป็นตัวทะลุทะลวงไปสู่จะดหมายแห่งชัยชนะได้สำเร็จในอนาคต

สำหรับแนวทางการจัดตั้ง "สำนักงานหอการค้าจังหวัด" มีรากฐานมาจากโครงการพัฒนาหอการค้าจังหวัด ซึ่งมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) ร่วมกับสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือจากศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศ (CENTER FOR INTERNATIONAL PRIVATE ENTERPRISE) แห่งหอการค้าสหรัฐอเมริกา

เป้าหมายหลักของโครงการนี้เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาหอการค้าจังหวัดให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นพร้อมที่จะปล่งเสียงของตัวเองให้เป็นที่สนใจของภาครัฐบาล ในการที่จะร่วมรับรู้หรือสนใจในปัญหาที่บรรดาพ่อค้าต้องการจะให้มีการแก้ไข และสร้างสรรค์ความคิดไม่ให้พ่อค้ามองแต่ประโยชน์เฉพาะตนมากเกินไป โดยมุ่งให้คำนึงถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศอีกด้วย

ก็เป็นเรื่องที่ฝันได้ไกล แต่จะไปได้ถึงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

โครงการพัฒนาหอการค้าจังหวัดเริ่มแรกในปี 2526 จัดให้มีการอบรมนักธุรกิจจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 100 ผู้อบรมรุ่นแรกซึ่งมีชื่อเสียงขจรขจายในยุทธจักรภูธรก็เช่น อมร วงษ์ สุรวัฒน์ ดร.ภิญโญ นิโรจน์ ปีนั้นได้รับทุนช่วยเหลือจากไอเม็ท 2 ล้านบาท

จากนั้นก็จัดติดต่อกันมา โดยปีที่ 2 ทุนสนับสนุนเหลือเพียง 25% นอกนั้นผู้เข้าร่วมอบรมศรัทธาให้การบริจาคทั้งหมด จนกระทั่งปีที่ 3 ที่ 4 เงินที่ใช้ในการจัดไม่ต้องพึ่งพาจากไอเม็ทอีกเลย ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้ว 372 คน (รับผู้เข้าอบรมเพียงปีละไม่เกิน 100 คน)

"แนวความคิดของนิด้า-ไอเม็ท ในเรื่องนี้สอดคล้องกับแผนงานรัฐบาลอย่างมาก โดยในช่วงปี 2527 รัฐบาลต้องการที่จะให้มีการจัดตั้ง กรอ.ส่วนภูมิภาคขึ้นมา ซึ่งเรามองเห็นว่าถ้าไม่มีหอการค้าเกิดขึ้นมาก่อน กรอ.ก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงเลย ช่วงนั้นมีหอการค้าแค่ 10 หอ และแต่ละหอก็ยังแกร่งไม่พอที่จะเข้าไปแบกรับภาระหนักหน่วงนั้นได้ จุดนี้จึงต้องพัฒนาแกนนำเสียก่อน ซึ่งก็ได้ผลคุ้มค่าคนอย่าง อมร, ดร.ภิญโญ ถึงวันนี้เป็นบทพิสูจน์ที่ดีแล้วว่า พวกเขาแอ็คทีฟและมองอะไรทุลุปรุโปร่งเพียงไร" ดร.นิกร วัฒนพนม หัวหอกสำคัญของนิด้า กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ก็เป็นแนวคิดที่ดีไม่น้อย เพราะระยะนั้นที่รัฐบาลต้องการให้มี กรอ.เกิดขึ้นทุกๆ ภาค การเติบโตดังกล่าวภาครัฐบาลมุ่งแต่จะขยายปริมาณให้มากขึ้นๆ โดยไม่ใส่ใจกับคุณภาพมากนัก หอการค้าที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปตามแฟชั่นนิยมเสียมาก

ดีที่นิด้า-ไอแม็ท วางหมากรุก-รับได้ทันท่วงที ไม่เช่นั้นแล้วก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ถึงวันนี้รัฐบาลพลเอกเปรม ที่เป็นตัวตั้งตัวตีจะต้องพบกับการ "หน้าแตก" แผลเบ้อเร่อเพียงไหน

เมื่อประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง นิด้า-ไอเม็ท ได้รับคำเสนอแนะจากศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศ (CIPE) ให้จัดส่งบุคลากรเพื่อดูงานและฝึกอบรมเพื่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ MR.DRONKROS ที่เป็น VICE PRESIDENT FIELD OPERATION ได้มาศึกษาสภาพการณ์ของหอการค้าจังหวัดต่างๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2528 แล้วพบความจริงข้อหนึ่งว่า

กลุ่มคนพวกนี้แหละที่จะเป็นพลังสั่นสะเทือนให้ทั่วโลกต้องมองดูเมืองไทย !

สำหรับยอดยุทธ์ที่เข้าอบรมฝึกปรือวิทยายุทธให้แกร่งกล้านี้มี 5 คน คือ ดร.นิกร วัฒนพนม ดร.ทิตยา สุวรรณชฎ ดร.สมบูรณ์ ศรีสุพรรณดิษฐ อมร วงษ์สุรวัฒน์ และตัวแทนจากหอการค้าจากสงขลา ในตอนแรกจะมีชุมพล พรประภา ประธานบริษัทเอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ให้การสนับสนุนโครงการของนิด้า-ไอเม็ท มาโดยตลอดร่วมไปด้วย แต่เผอิญชุมพลติดกิจธุระจึงเข้าร่วมด้วยไม่ได้

การอบรมนี้ทำในเดือนตุลาคม 2528

และทั้งหมดที่ไปอบรมก็กลับมาเป็นตัวกระตุ้นให้มีการพัฒนาหอการค้าต่างจังหวัดอย่างเอาเป็นเอาตายตลอดระยะปี 2529 จนถึงเดี๋ยวนี้สามารถจัดตั้งหอการค้าจังหวัดที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 70% ไปจนครบถ้วนทุกจังหวัดแล้ว นับเป็นการเกิดและพัฒนาอย่างรวดเร็วเหลือคณานับ

สำหรับหอการค้าไทยนั้นก็งุนงงไม่น้อยเหมือนกันว่า "ทำกันได้อย่างไร" หอฯไทยตั้งมาร่วมยี่สิบปีมีสมาชิกไม่กี่พันคน ทว่าหอฯต่างจังหวัดกับเวลาขวบปีกว่าๆ สามารถระดมจำนวนสมาชิกได้เป็นหมื่นๆ

เพื่อการพัฒนาที่ไม่ขาดขั้นตอน คณะทำงานชุดนี้จึงกำหนดโครงการที่จะพัฒนากรรมการหอการค้าและเจ้าหน้าที่หอการค้าจังหวัดต่างๆ ให้เข้าใจทิศทางหอการค้าอย่างลึกซึ้งให้ครบทั้ง 72 หอโดยกำหนดระยะเวลาไว้ 6 ปี เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2529 ซึ่งมีผู้เข้าอบรม 79 คนจาก 18 หอโครงการนี้ได้รับเงินช่วยเหลือจาก CIPE จำนวน 97,000 เหรียญสหรัฐ

"ประสบผลดีมาก ประธานหอฯหลายคนไม่คาดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น ทุกคนเข้าใจและมีกำลังใจที่จะพัฒนาหอฯ ต่อไปจนถึงที่สุด และยังตระหนักอีกว่า 54 หอที่ยังไม่เข้ารับการอบรมควรที่จะจัดการให้แล้วเสร็จภายในปี 2530 ไม่ต้องรอจนถึง 6 ปีอย่างที่วางเอาไว้" ดร.นิกรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"ช่วงชีวิตที่เหลือของผมคงได้เห็นหอการค้าพัฒนามากไปกว่านี้ สิ่งที่ทำขึ้นไม่ได้แข่งขันกับใคร ไม่ได้คิดเป็นองค์กรซ้ำซ้อนกับใคร ไม่ต้องการที่จะเป็นก้างตำคอใคร"

นั่นเป็นบททิ้งท้ายสั้นๆ ของนักวิชาการหนุ่มของนิด้า ที่อาจพลัดหลงไปทิ่มแทงใจดำของใครบางคนเข้าโดยไม่เจตนาบ้าง

ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการนิด้า -ไอเม็ทครั้งแรกที่พัทยาท่านหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" เพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนั้นทำให้สมาชิกหอการค้าต่างจังหวัดได้รู้ตื้นลึกหนาบางหลายสิ่งหลายอย่างในหอการค้าไทยมากขึ้นการที่คนอย่าง ดร.สมบูรณ์ ศรีสุพรรณดิษฐ์ ที่คลุกคลีตีโมงกับหอการค้าไทยมาร่วมยี่สิบปี กระโจนเข้ามาร่วมโครงการนี้อย่างเต็มตัว ย่อมเป็นการชี้ทิศทางการเคลื่อนไหวในอนาคตได้เป็นอย่างดี

"คุณสมบูรณ์แกว่าการประชุมครั้งนั้นถ้าไม่มีโอกาสมาร่วมก็เสียดายไปตลอดชีวิต แต่เมื่อได้มาแล้วกลับไปเป็นอะไรก็สบายใจ คุณชุมพลถึงกับสละเวลางานมาร่วมด้วย 6 วันเต็มๆ หรือแม้แต่เสี่ยปุ้ย สุรินทร์ โตทับเที่ยง ยังไม่ยอมหนีกลับถึงจะมีงานยุ่งยากก็ตาม"

และเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างมากเมื่อมีรายงานข่าวล่าสุดว่า ประธานหอการค้า 18 หอที่ผ่านการอบรม ได้ยื่นหนังสือถึง ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ ประธานไอเม็ท เพื่อขอให้การสนับสนุนเร่งโครงการพัฒนาประธานหอการค้าที่เหลือให้แล้วเสร็จในปี 2530 ซึ่งก็ไม่มีอุปสรรคอะไรขัดขวาง

ก้าวขยับของนักสู้ภูธรเหล่านี้ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นกับการขัดแย้งบางประการกับกลุ่มอำนาจในหอการค้าไทย เนื่องจากหอการค้าจังหวัดนั้น ตามกฎหมายถือได้ว่าเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของหอการค้าไทย เมื่อท่าทีปรากฎออกมาเช่นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจที่กำลังจะตามมา

ขุมกำลังภูธรที่โตวันโตคืน ก็ย่อมพร้อมที่จะสำแดงเดช "ทำหมัน" อำนาจการผูกขาด เพื่อกระจายผลประโยชน์ไปยังมวลสมาชิกตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งหอการค้าอย่างแท้จริง

"เราก็รู้ว่าคนของหอไทยมองภูธรว่าเป็นหนูลำพอง ก็ธรรมดาคนเคยเป็นผู้นำเมื่อรู้สึกว่าจะต้องสูญเสียการนำก็ต้องวิตกจริตเป็นธรรมดา เขาไม่เคยฟังเสียงต่างจังหวัดเลยในเมื่อหอฯไทยไม่มีแผนกต่างจังหวัด เราบอกจะทำให้ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง"

"ถ้าเป็นพ่อค้าแล้วต้องมาเจอสภาพที่ว่า ประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทางหอการค้าไทยที่ควรจะรับรู้มากที่สุด กลับส่งแต่เจ้าหน้าที่แก่ๆ มาร่วมประชุม ไม่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างไรถูกถามปัญหาก็งง ให้คำตอบแก่สมาชิกไม่ได้ มันก็ถึงที่สุดแล้ว" รองประธานหอการค้าชื่อดังของภาคเหนือระบายความคับอกให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

สิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการจัดการที่เป็นรูปเป็นรอยของบรรดาหอการค้าต่างจังหวัดอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแตกกระจายทางความคิด และลดช่องว่างของการสื่อสารให้กระชับเพื่อทำความเข้าใจกันได้มากขึ้นก็ได้มีการแบ่งหอการค้าทั่วประเทศออกเป็นเขตๆ 12 เขตคือ

เขต 1 ตราด จันทบุรี ระยอง

เขต 2 ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก

เขต 3 นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท

เขต 4 นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

เขต 5 อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์

เขต 6 อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พระเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน

เขต 7 นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์

เขต 8 ขอนแก่น กาฬสินทธุ์ มหาสารคาม สกลนคร

เขต 10 ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี มุกดาหาร

เขต 11 พังงา กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช

เขต 12 ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

และกุญแจดอกสำคัญที่จะเร่งเร้าหอการค้าจังหวัดให้มีศักยภาพมากขึ้นจนเป็นที่ถูกจับตามองว่า อนาคตอันใกล้เขาเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นมาคานอำนาจกลุ่มอำนจเดิมในหอการค้าไทย

ประวิทย์ อัครชิโนเรศ ประธานหอการค้าเชียงใหม่ เจ้าของคณะกรรมการผู้จัดการ รพ.ลานนา (ธุรกิจบริการดีเด่นประจำปี 2529) ความสามารถที่การันตีก็คือ เป็นประธานหอคนแรกที่นำคณะพ่อค้าภูธรบุกเบิกตลาดต่างประเทศจนเป็นที่ฮือฮาเมื่อปี 2527 รายการนั้นนับเป็นการตบหน้าทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มีหอการค้าไทยและสมาคมอุตสาหกรรมไทยเป็นตัวหลักอย่างแสบสันต์

อมร วงษ์สุรวัฒน์ ประธานหอการค้านครราชสีมา เจ้าของโรงน้ำแข็งดำรงไทยและผู้ถือหุ้นธุรกิจการค้าอีกหลายแห่งในโคราช เป็นประธานหอที่แม้แต่ต่างประเทศยังยอมรับว่ามีความกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ เป็นหัวขบวนที่รุกไล่ให้รัฐบาลประกาศให้นครราชสีมาเป็นเขตส่งออกได้เป็นผลสำเร็จ และยังเป็นผู้ที่ถูกทาบทามให้เข้าไปประสานรอยร้าว "เมืองใหม่เจ้าพระยา" ธุรกิจบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานซึ่งเกิดปัญหาถูกเจ้าหนี้ยึด

ชวน ภูเก้าล้วน ประธานหอการค้ากระบี่ อดีตนายแบงก์ธนาคารนครหลวงไทย ปัจจุบันประกอบธุรกิจค้าไม้รายใหญ่ของปักษ์ใต้ ซึ่งมีข่าวว่ากำลังรอบรวมนายแบงก์ของภาคนี้กว้านซื้อที่ดินเกาะอันตาเพื่อโปรโมทให้เป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่แข่งกับภูเก็ต ชวนเป็นคนที่พ่อค้าใหญ่ในหอการค้าไทยให้ความเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ

วิญญู คุวานันท์ ประธานหอการค้าขอนแก่น ด้วยความเป็นนักอุตสาหกรรมชื่อดังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกอีซูซุซึ่งบริษัทแม่ประคบประหงมเป็นพิเศษ วิญญูเป็นอีกคนหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบุญชู โรจนเสถียร ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเขาหมดเงินสนับสนุนผู้สมัครของพรรคกิจประชาคมในภาคอีสานไปหลายล้านบาท ในการรวมพลเที่ยงนี้ได้ชื่อว่าเป็น "เจ้าบุญทุ่ม"

สมศักดิ์ เชยกำแหง ประธานหอการค้าอุดรธานี กิจการรับเหมาก่อสร้างของเขาแผ่บารมีครอบคลุมในหลายจังหวัดของภาคอีสาน บารมีของเขาไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้า "เสี่ยกิมก่าย" คนดังของหนองคายเท่าใดนัก เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น "เจ้าบุญทุ่มของภาคอีสาน"

สมศักดิ์ อดิเทพวรพันธ์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ครั้งที่ พล.อ.หาญ ลีนานนท์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมชูธงใต้ร่มเย็น สมศักดิ์นับเป็นคีย์สำคัยของภาคเอกชนที่พยายามใช้นโยบายเปิดเมืองนครฯ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อดับไฟร้อนสงครามประชาชน และก็ทำได้ดีอย่างไร้ที่ติเสียด้วย ปัจจุบันประกอบธุรกิจด้านเหมืองแร่เป็นอีกหนึ่งเสือที่กุมธุรกิจปักษ์ใต้ไว้ในกำมือ

สวัสดิ์ สุคนนที ประธานหอการค้านครปฐม เป็นคนที่คุมกิจการเดินรถทั้งโดยสารและขนส่งในเขตภาคใต้ไว้เกือบหมดเช่นเดียวกับที่ถาวรฟาร์มเป็นเต้ยในภาคเหนือ อิทธิพลของสวัสดิ์นั้นพูดกันง่ายๆ ว่า รถบรรทุกของเขาน้อยครั้งนักที่จะมีเรื่องถูกปล้นชิงของ ทั้งๆ ที่ภาคใต้ขึ้นชื่อนักหนาในเรื่องนี้

สุวัฒน์ ฟ้าประทานชัย ประธานหอการค้าระยอง ไม่น้อยกว่า 50% ของธุรกิจในย่านชายทะเลตะวันออกที่อยู่ในความครอบครองของเขา สุวัฒน์เป็นเอเยนต์รายใหญ่ของปูนซีเมนต์ไทย เป็นเจ้าของธุรกิจศูนย์การค้าและโรงแรมขนาดใหญ่ของระยองที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นด้วยเงินลงทุนร่วม 200 ล้านบาท ผู้ว่าฯ ระยอง ท่านหนึ่งเคยพูดถึงเขาว่า "เสียงของเขากำหนดทิศทางความเป็นไปของระยองได้ไม่น้อยทีเดียว"

ดร.ถาวร นิโรจน์ ประธานหอการค้านครสวรรค์ เจ้าของธุรกิจเดินรถ "ถาวรฟาร์ม" ที่เป็นที่รู้จักกันดีในภาคเหนือเบื้องหน้าเบื้องลึกของตระกูล "นิโรจน์" ที่กำลังเร่งขยายตัวเพื่อความเป็นยักษ์ใหญ่ในภูธร "ผู้จัดการ" จะนำเสนออย่างละเอียดอีกครั้ง ในส่วนของหอการค้านครสวรรค์นี้ผู้มีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ดร.ถาวร อีกคนก็คือ กำนันทรง องค์ชัยวัฒนะ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในหมู่ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร

รักษ์ ตันติสุนทร ประธานหอการค้าตาก นักธุรกิจเหมืองแร่และพ่อค้าชายแดนชื่อดัง ซึ่งสามารถดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสให้มาลงทุนตั้งโรงงานทำทับทิมดำที่แม่สอดได้สำเร็จ ด้านการเมืองเขาก็เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของพรรคกิจสังคม

ทางเดินในอดีตของบุคคลเหล่านี้บางคนนอกจากแผ่ขยายปริมณฑลธุรกิจของตนเองให้เติบใหญ่ไพศาล แล้วก็หาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโตขึ้นกว่าที่เป็นอยู่มากเท่าไรนัก

ใครดีใครอยู่ ใครเขี้ยวคมคนนั้นก็รอดเสียมากกว่า

"เมื่อพวกเขากระโดดลงมาเล่นอย่างนี้ มองกันว่าธุรกิจจะไปรอดก็ต้องช่วยให้เศรษฐกิจส่วนรวมพ้นพายุไปได้เสียก่อน ถึงว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้จึงไม่โดดเดี่ยว และก็คิดว่าจะต้องแผ่กว้างออกไปอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ภายใต้กติกาที่ต้องเคารพกัน อย่างคุณวิญญูถ้ามองแกเป็นนักอุตสาหกรรมใหญ่ก็ไม่ผิดแต่ในที่ประชุมแกยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่มาก" ผู้ประสานงานจัดตั้งสำนักงานหอการค้าภูธรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับการดำเนินงานจัดตั้งสำนักงานฯ นั้นได้มีการบริจาคเงินจากประธานหอฯ 12 เขตคนละ 20,000 บาทเพื่อเป็นทุนรอนดำเนินงานขั้นแรก นอกจากนี้ประธานหอฯ บางจังหวัดยังบริจาคพิเศษสมทบอีกต่างหาก โดยฐานบัญชาการรบจะใช้อาคารบริษัท โค้วยู่ฮะ จำกัดของวิญญู คุวานันท์ เป็นที่ทำการ ซึ่งเดิมทีจะใช้อาคาร เอส.พี.ของชุมพล พรประภา แต่ติดขัดที่ยังไม่เรียบร้อย ส่วนตัวเลขาธิการฯ มีมติเอกฉันท์แล้วว่า อมร วงษ์สุรวัฒน์ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งประธานหอฯ นครราชสีมา จะเป็นผู้มารับภาระหน้าที่นี้เป็นคนแรก

"ทีแรกก็มีข่าวออกมาว่า คุณวิญญูต้องการที่จะมาเป็น โดยมองไปว่า ต้องการสนองตอบกับการดำเนินธุรกิจของตน ข่าวที่ปล่อยออกมาไม่ดีเลย เพราะตำแหน่งนี้เราตกลงกันอย่างสุภาพบุรุษทุกคนก็เห็นว่าอมรนั้นเหมาะสมที่สุดไม่เคยมีการแก่งแย่งกันเลย" แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว

"พวกเขาเห็นว่าผมคงเป็นเบ๊ที่ดีก็เลยเลือก ซึ่งผมจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะให้สำนักงานฯ แห่งนี้เป็นกระบวนการเสริมสร้างหอการค้าจังหวัดให้กล้าแกร่งขึ้น ขีดความสามารถของหอกาค้าต่างจังหวัดจะต้องช่วยเหลือสมาชิกได้ครบทุกรูปแบบ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเป็นศาลเจ้าที่ไร้คนเมิน" อมรกล่าวสั้นๆ

รังสีกระบี่ที่เตรียมจะคลี่สยบ จะเริ่มต้นในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน

และคนของหอการค้าไทยที่วาดหวังจะเข้ารับตำแหน่งแทนหมอสมภพก็เดินหมากเข้าตีสนิทกับคีย์หอการค้าต่างจังหวัดราวกับจะประสานให้เป็นเนื้อเดียว แต่ก็อย่างว่า "บาดแผลบนร่างกายของคนเราอาจมีนับพันแห่ง แต่บาดแผลในใจนั้นมีแห่งเดียว"

หนำซ้ำแผลใจแผลนี้พ่อค้าภูธรยากที่จะลืมเลือนเสียด้วย

ที่ว่าง่ายก็เลยทำท่าจะยากไปเสียแล้ว !!

เส้นทางที่ผ่านมาภาคเอกชนมักไม่ค่อยมีความเชื่อว่า การที่ตัวเองได้มารวมตัวกันและมานั่งถกเถียงปัญหากันก็สามารถจะพึ่งตัวเองได้ โดยไม่ต้องงอนง้อรัฐบาลผิดกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่มีไคดันเรน (KEDANREN) วันนี้เขาได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาที่เป็นพ่อค้ามีพลังมากเพียงใด

จนแทบจะกล่าวได้ว่า ไคดันเรน คือตัวกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศดีๆ นี่เอง เมื่อพวกเขาพูด รัฐบาลจำเป็นจะต้องฟัง เมื่อเขาลงมือกระทำ รัฐบาลจำเป็นจะต้องดูและหาทางสนับสนุน

แล้วของเราที่กำลังจะเริ่มต้น จะเป็นไปอย่างนั้นได้ไหม?

ยังไงๆ ก็อย่าให้ตกหลุมที่ใครบางคนในหอการค้าไทยพูดเอาไว้ว่า "เมื่อเขาขยายตัวใหญ่ขึ้นมีผลประโยชน์มากขึ้นที่สุดก็ต้อง กัดกันเอง" เสียก็แล้วกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us