|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ดอกไม้นับเป็นผลงานศิลปะชิ้นเอกของจิตรกรนาม “ธรรมชาติ” ที่รังสรรค์ให้มนุษยชาติได้ชื่นชม แต่แทนที่จะต้องนั่งรอเทศกาลดอกไม้งามยามหน้าหนาว วันนี้ คนไทยยังสามารถรื่นรมย์กับนิทรรศการศิลปะแห่งมวลพฤกษาได้ทุกฤดูกาลที่ “ห้องจัดแสดงดอกไม้ (Flower Gallery)” ที่มีชื่อว่า “ดาษดา แกลอรี่”
ดอกเยอบีร่าหลากสีสันกว่า 60 สายพันธุ์ แข่งขันชูช่อดอกขนาดใหญ่ กว่าที่เห็นตามท้องตลาดทั่วไป ดูราวกับทุ่งเยอบีร่าในโรงเรือนขนาดร่วม 4 พันตารางเมตร
โรงเรือนที่อยู่ติดกัน มีขนาดเดียวกัน กำลังเตรียมพื้นที่เพื่อลงดอก เยอบีร่าชุดใหม่อีกหลายหมื่นต้น ซึ่งเตรียมนำเข้าสายพันธุ์ลิขสิทธิ์สั่งตรงมาจากเนเธอร์แลนด์
ปัจจุบันดอกเยอบีร่าก้านแข็ง สีสันแปลกใหม่ จำนวนกว่า 8 พัน-1.2 หมื่นดอก ที่ถูกเก็บออกไปจากทุ่งแห่งนี้วันเว้นวัน ส่วนหนึ่งถูกส่งออก ไปในตลาดต่างประเทศ อันประกอบด้วยญี่ปุ่นและประเทศแถบตะวันออก กลาง ซึ่งเป็นตลาดหลัก บางส่วนถูกส่งขายให้ร้านดอกไม้ในกรุงเทพฯ
ขณะที่ส่วนที่เหลือนำมาใช้จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ทางศิลปะจากมวลดอกไม้อยู่ในห้องจัดแสดงดอกไม้ที่ชื่อ “ดาษดา แกลอรี่” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับโรงเรือนเพาะเลี้ยง
ภายในเรือนกระจกควบคุมอุณหภูมิของแกลอรี่แห่งนี้ ประดับประดา ด้วยดอกไม้นานาพันธุ์นับแสนดอก ทว่า “นางเอก” ของนิทรรศการดอกไม้ ครั้งนี้คือ “ไฮเดรนเยีย” ดอกไม้เมืองหนาวที่จำเพาะให้มาถูกจัดแสดงในเดือนเมษายน ช่วงที่ถือว่าร้อนที่สุดของเมืองไทย ในธีม “Winter Meets Summer”
เทศกาลทุ่งไฮเดรนเยียจากราว 80 สายพันธุ์ ดูโดดเด่นด้วยซุ้มชิงช้าประดับประดาด้วยกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ โดยมีหุ่นหญิงสาวเป็นกิมมิค ขณะที่อีกมุมหนึ่งมีหุ่นเงือกสาวและเงือกหนุ่มตัวโตนุ่งห่มด้วยดอก เบญจมาศสีอ่อนบนแท่นดอกเยอบีร่าสีสดเป็นจุดดึงดูดเสียงรัวชัตเตอร์
หอไอเฟล (Eiffel Tower) ขนาด 5 เมตร ประดับด้วยเคราฤาษีและดอกกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสสีสด และซุ้มคริสซานติมั่มสีขาวบริสุทธิ์ ก็เป็นอีกจุดที่ผู้เข้าชมนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
ไฮไลต์อีกจุด ได้แก่ สวนถาดที่เป็น “มาสเตอร์ พีซ” 15 ชิ้น ที่นำ เสนอการจัดดอกไม้แนวสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ชื่นชอบดอกไม้ แต่เบื่อบูเกต์ (bouquet) ดอกไม้แบบเดิมที่มักใช้ดอกกุหลาบและ ดอกลิลลี่เป็นดอกหลัก
ด้านนอกห้องแอร์เป็นส่วนของซุ้มแสดงดอกกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส และดอกหน้าวัวหลากสีสันหลายสายพันธุ์ รวมถึงดอกคริสต์มาสกว่า 40 สายพันธุ์ ตลอดจนต้นไม้อีกหลากชนิด
ผลงานศิลปะแห่งดอกไม้เหล่านี้ถูกสร้างสรรค์โดยฝีมือของ “ครูกอล์ฟ” พิทักษ์ หังสาจะระ นักจัดดอกไม้ชื่อดังอันดับต้นของเมืองไทย จากฟลาวเวอร์ เด็คคอร์สตูดิโอ
ดาษดา แกลอรี่ (Dasada Gallery) ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 800 ไร่ ณ บริเวณเชิงอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้ริเริ่มก่อตั้งคือ ดร.ปวเรศ บุญตานนท์ วิศวกรด้านเคมี และผู้บริหาร สูงสุดแห่ง PSP Group กลุ่มธุรกิจคลังน้ำมันและโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นจารบีรายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท DSD Blossom เจ้าของดาษดา แกลอรี่
“ดาษดา” แปลว่า มากมาย สอดคล้องกับสโลแกนของแกลอรี่ดอกไม้แห่งนี้ ที่ว่า Plenty of flowers, Plenty of happiness อันเกิดจากพื้นฐาน ความรักของผู้ก่อตั้งที่เชื่อว่า ดอกไม้กับความสุขเป็นของคู่กัน
ทั้งนี้ ดอกไม้ที่จัดแสดงในดาษดา แกลอรี่ ทั้งหมดนำมาจากฟาร์มของบริษัท ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้นราว 1.6 หมื่น ตร.ม. ราว 1 หมื่น ตร.ม. อยู่ที่ปราจีนบุรี อีก 6 พัน ตร.ม. มาจากฟาร์มที่เชียงใหม่
“แรงบันดาลใจของการเปิดดาษดา แกลอรี่ มาจากการที่เราทำธุรกิจส่งออกดอกไม้มาได้สัก 2 ปี แล้วผู้บริหารคิดว่าอยากเปิดตลาดในประเทศไทยด้วย ทีนี้จะทำอย่างไรให้คนรู้จักสินค้าเรา พอดีเรามีพื้นที่ ตรงนี้ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วย ก็เลยเกิดโปรเจ็กต์ แกลอรี่ดอกไม้นี้ขึ้นมา” นภัทร บุญตานนท์ กล่าวในฐานะผู้ช่วยคนสำคัญของ ดร.ปวเรศ และหลานสาววัย 28 ปี ผู้ดูแลด้านการตลาดให้กับทั้ง 2 ธุรกิจของคุณลุง
ขณะที่ธุรกิจน้ำมันอยู่บนหลักเหตุผล หรือ “rational basis” เป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจดอกไม้เหมือน อยู่อีกขั้ว นภัทรจำเป็นต้องย้ายมายืนอยู่บนหลัก “emotional basis” ซึ่งเธอยอมรับว่ายังไม่ค่อยถนัด เธอจึงกำลังมองหานักการตลาดมืออาชีพทางด้าน “consumer product” มาเป็นที่ปรึกษา
ด้วยนัยของ “แกลอรี่” เทศกาลแสดงดอกไม้ ของที่ดาษดา แกลอรี่ จึงไม่ใช่เพียงการนำดอกไม้มาจัดกลุ่มตั้งโชว์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านการนำเสนอความงามของ ดอกไม้อย่างลงตัว ภายใต้คอนเซ็ปต์การจัดแสดงที่กำหนด โดยธีมที่นำเสนอจะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียน ไปเพื่อมอบความทรงจำใหม่ๆ ให้กับผู้เข้าชมอยู่เสมอ
อย่างไรก็ดี นภัทรยอมรับว่านอกจากคุณค่าในเชิงศิลป์ ดาษดา แกลอรี่ ยังมีหน้าที่เป็นเสมือนโชว์รูมนำเสนอตัวอย่างสินค้า (ดอกไม้) ของบริษัท DSD Blossom
“จุดเด่นของดอกไม้ของเรา คือเป็นดอกไม้ที่เป็นพันธุ์มาจากเนเธอร์แลนด์ มีหลายสายพันธุ์ หลายสีให้เลือก ดอกก็ใหญ่ ก้านยาวแข็ง และเรามี นโยบายไม่หยุดนิ่ง จะมีการนำเสนอวาไรตี้ใหม่สัก 2 สีหรือพันธุ์ ทุก 6 เดือน โดยปรึกษากับพาร์ตเนอร์ ทางเนเธอร์แลนด์ ให้บอกเราตลอดว่ามีวาไรตี้ใหม่ๆ อะไรบ้าง”
นภัทรยอมรับว่า จุดด้อยของ “ดาษดา” คงหนีไม่พ้นราคาที่แพงกว่าตลาดราว 15-20%
หลังจากการเปิดตัวแกลอรี่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ด้วยเทศกาลไฮเดรนเยีย หรือ “Winter Meets Summer” ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายนที่ผ่านมา นภัทรก็คาดหวังว่า ยอดขายดอกไม้ภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากนิทรรศการแรกจบลง แกลอรี่จะถูกปิดไปราว 1 เดือน ก่อนที่จะเริ่มเตรียมลงดอกไม้สำหรับนิทรรศการครั้งต่อไป ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายน โดยกำหนดการเดิมตั้งไว้ว่าจะมีการจัดแสดงดอกไม้ทุกสองเดือน ในแต่ละครั้งจะจัดต่อเนื่อง เป็นเวลาราว 10 วัน
เนื่องจากเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ทาง DSD วางแผนจะเปิดตัวหนังสือ Flower Design ที่ร่วมกับครูกอล์ฟทำหนังสือรวบรวมช่อดอกไม้รูปแบบแปลกใหม่ที่นำเอาดอกไม้จากฟาร์มของบริษัทมาจัด เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคและร้านดอกไม้ แกลอรี่ดอกไม้จากดาษดาจึงเปลี่ยนมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ แทน จากนั้นในเดือนสิงหาคมและตุลาคม ดาษดา แกลอรี่จึงจะจัดแสดงนิทรรศการตามปกติ
“เฉพาะงบค่าดอกไม้ที่ใช้จัดแสดงแต่ละครั้งอยู่ราว 3 แสนบาท แต่อีเวนต์แรกจะค่อนข้างเยอะเพราะจะมีค่าโครงสร้างไม้ หุ่น ฯลฯ แต่อีเวนต์หลังๆ เราก็สามารถเอาของเหล่านี้กลับมาใช้ได้”
ราคาบัตรเข้าชมแกลอรี่แห่งนี้อยู่ที่ 200 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และเด็ก 100 บาท โดยยอดผู้เข้าชมในนิทรรศการแรกรวม 10 วัน สูงกว่า 5 พันคน ซึ่งประสบความสำเร็จกว่าที่นภัทรคาดเอาไว้เยอะ เพราะเธอตั้งเป้าเพียงคุ้มทั้งต้นทุนและกำลังใจอยู่ที่จำนวน 200 คนต่อวันเท่านั้น
ภายในแกลอรี่ยังมีร้านไอศกรีม “La Lalla” ซึ่งได้นักออกแบบไอศกรีม (Ice-Cream Designer) อย่าง “พริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา” เจ้าของบริษัท IceDEA มาดีไซน์รสชาติและรูปลักษณ์ของไอศกรีมให้เข้ากับความเป็นแกลอรี่ดอกไม้ โดยนำเอกลักษณ์ เฉพาะตัวของเหล่าดอกไม้เด่นๆ ของแกลอรี่มาสร้าง เป็นเมนูพิเศษ
อาทิ Phalaenopsis White Choc Raspberry ไอศกรีมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกกล้วยไม้ ฟาแลนนอปซิสสีขาวจุดแดง รสชาติหวานและเปรี้ยว นิดๆ, Hydrangea Mint Bluebarry ได้ไอเดียมาจากดอกไฮเดรนเยียสีฟ้าอมชมพู ได้รสชาติเย็นสดชื่น จากมินท์ และ Flower strawberry Mango Tea สร้างสรรค์มาจากชาดอกไม้ผสมสตรอเบอรี่และมะม่วงได้รสชาติออกขมชาและรสเปรี้ยวของผลไม้แห้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีจุดขายของฝากของที่ระลึกเป็นดอกไม้ทั้งอยู่ในกระถางและเป็นช่ออยู่ในห่อชุด อุปกรณ์ดูแลดอกไม้ และสบู่หรือเทียนหอมรูปดอกไม้ สีสวยๆ ด้วย
ไม่เพียงธุรกิจแกลอรี่และธุรกิจดอกไม้ “DSD Blossom” ยังมีธุรกิจร้านอาหาร “To-Sit Bloom” ซึ่งมีเมนูพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ได้แก่ เมนูดอกไม้ ทั้งพล่าปลาแซลมอนกับดอกไม้, แกงส้มบุษบากับปลาสลิดทอด, บุปผา 3 รส, เมี่ยงดอกไม้, ดอกแคยัดไส้โรยหิมะ, ขนมปังหน้าหมูดอกโสน, ลิ้นจี่สอดไส้ ชีสกับฟาแลนด์ และดอกเข็มชุบแป้งทอด เป็นต้น
ภายในสิ้นปีนี้ DSD Blossom ยังมีแผนจะทยอยเปิดตัวธุรกิจรีสอร์ตแอนด์ สปา ภายในพื้นที่เดียวกัน เพื่อต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวของบริษัทให้ครบวงจร ถ้าธุรกิจรีสอร์ตเริ่มเปิดตัวแล้ว นภัทรเชื่อว่า เมื่อนั้นก็เป็นไปได้ที่ดาษดา แกลอรี่ จะเปิดให้บริการได้ตลอดทั้งปี เพราะคุ้มกับค่าบำรุงรักษากว่าทุกวันนี้
จากการปลูกฟาร์มดอกไม้เป็นงานอดิเรกของ ดร.ปวเรศ วันนี้เป้าหมาย ธุรกิจของ “ดาษดา” ไกลไปถึงขนาดที่จุดประกายให้ นภัทรคาดหวังว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกคนนึกถึง “ดาษดา แกลอรี่” เสมือนว่าเป็น “ดอยตุงใกล้ กรุงเทพฯ”
“เราหวังว่า ถ้าพูดถึงดอกไม้ เราอยากให้ทุกคนนึกถึงดาษดา ถ้าให้นึกถึงสวรรค์ของคนรักดอกไม้ หรือ Flower Destination ก็อยากให้ทุกคนนึกถึงดาษดา แกลอรี่ และดาษดา รีสอร์ท (ที่จะเปิดตัวในอนาคต)” นภัทรทิ้งท้ายอย่างมีความหวังกับธุรกิจใหม่ของครอบครัวที่เริ่มต้นจากความรักและงานอดิเรกของผู้เป็นลุง
|
|
|
|
|