|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลยุทธ์นำบริการทางด้านการเงินให้เข้าถึงลูกค้า และพัฒนาให้เหนือกว่าคู่แข่งเป็นเรื่องของการพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขัน ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยเปิดบริการใหม่ K-Value Chain Solution พัฒนามาจาก Supply Chain Financing ทั้งนี้ก็เพื่อจะหนีธนาคารทีเอ็มบี
บริการ Supply Chain Financing ของธนาคารกสิกรไทย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สินเชื่อเครือข่ายธนกิจกสิกรไทย เริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นบริการให้สินเชื่อธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปถึงขนาดเล็ก โดยธุรกิจ เหล่านี้จะทำการค้าและบริการเชื่อมโยงอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
ตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมาธนาคารกล่าวอ้างว่าธนาคารเป็นที่หนึ่งให้บริการสินเชื่อให้กลุ่มลูกค้า supply chain ด้วยมูลค่า 40,000 ล้านบาท และมีลูกค้าเชื่อม โยงทำธุรกิจ 62 วงจรธุรกิจ
ความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้ทำให้คู่แข่งอย่างธนาคารทีเอ็มบีปล่อยโอกาสทองเช่นนี้ไปอย่างแน่นอน แนวคิดการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบซัปพลายเชน จึงเกิดขึ้นในธนาคารทีเอ็มบีไม่นาน หลังจากบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี และสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารทหารไทย ต่างก็เป็นอดีต ผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทยมาก่อน จึงดูเหมือนว่าจะเข้าใจลึกซึ้งกับแนวคิดดังกล่าวไม่น้อย
บุญทักษ์มักจะพูดอยู่เสมอถึงแนวทางการให้บริการกลุ่มซัปพลายเชน เป็นแผนการตลาดหลักอันหนึ่งที่จะเข้าไปทำตลาด
แม้ว่ากสิกรไทยจะรั้งตำแหน่งเป็นอันดับหนึ่งก็ตามที แต่เมื่อคู่แข่งพยายามจะสร้างและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของ Supply Chain Financing ย่อมทำให้กสิกรไทยไม่นิ่งดูดาย และเริ่มวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จึงพบว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการแต่สินเชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องการบริการธุรกรรมด้านการเงินอื่นๆ เช่น เข้าไปเป็นตัวกลางในการบริการชำระ เงินให้รวดเร็ว ดูแลสภาพคล่อง และบริการ ชำระเงินด้วยเงินสด
การเข้าไปศึกษาวงจรการทำธุรกรรมด้านการเงินของกลุ่ม Supply Chain ทำให้ธนาคารหันมาปิดจุดบอดที่มีอยู่ ด้วยการเข้าไปให้บริการด้านการเงินทุกจุด ของบริษัทลูกค้าที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน
K-Value Chain Solution เป็นบริการรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุม 3 ส่วนหลัก คือ สินเชื่อ การจัดการความเสี่ยง และการ ติดต่อธุรกิจ จากเดิมที่เน้นปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว และธนาคารได้นำบริการดังกล่าวนำร่องใช้กับกลุ่ม ปตท.เป็นรายแรก
กฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัด การอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า K-Value Chain Solution เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจให้บริการลูกค้าตลอดทั้งวงจรธุรกิจ (Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วยลูกค้าขนาดใหญ่ (Sponsor) ลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (Dealer/Supplier) และลูกค้ารายย่อย (End User)
เพื่อให้เห็นภาพเชื่อมโยงระบบการทำงานระหว่างธนาคารกับองค์กรธุรกิจ ธนาคารจึงได้เปิดตัวบริการใหม่นี้พร้อมกับเชื้อเชิญผู้บริหารจาก ปตท.ในฐานะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และบริษัท เจริญศักดิ์ธานีออยล์ จำกัด ในฐานะดีลเลอร์มาเล่าประสบการณ์จริงให้ฟัง
ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกว่าบริษัทมีลูกค้าทำธุรกิจอยู่ในเครือข่ายเป็น จำนวนมาก มีเงินหมุนเวียนตลอดเวลา แม้ว่าบริษัทจะมีบทบาทเป็นผู้ค้าน้ำมัน แต่ การทำธุรกิจร่วมกับลูกค้าทำให้บริษัทต้องเล่นอีกบทบาทหนึ่งคือทำตัวเองให้เสมือนเป็นธนาคารปล่อยเครดิตให้กับลูกค้า 7 วัน 15 วัน
ในฝั่งลูกค้าเมื่อครบกำหนดชำระเงิน ก็จะหอบเงินสดจำนวนมากมาชำระเงินที่บริษัท ระบบการให้บริการรูปแบบนี้ได้เกิดขึ้นมานานหลายปี ทำให้ ปตท.มองว่าไม่ใช่บทบาทต้องไปรับภาระ
ปตท.จึงเริ่มต้นเจรจากับธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี 2551 ให้ธนาคารเปิดบริการเรียกว่า ดีลเลอร์ ไฟแนนซ์ (Dealer Finance) และ อี-เพย์เมนท์ (e-payment) และได้พัฒนาทำบัตรธุรกิจเพื่อให้คู่ค้าใช้ในการจ่ายค่าน้ำมันแทนการถือเงินสด
การดึงธนาคารกสิกรไทยเข้ามาช่วย ด้านการรับ-จ่ายเงิน ระหว่าง ปตท.กับคู่ค้า ทำให้บริษัทอ้างว่าสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายค่าน้ำมันลงได้ราวร้อยละ 24 และช่วยลดเวลาการทำธุรกรรมลงได้ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน
เลอสันต์ เจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัด การ บริษัท เจริญศักดิ์ธานีออยล์ จำกัด ผู้ค้าน้ำมันกับบริษัท ปตท.ในฐานะเจ้าของ สถานีน้ำมัน และผู้ให้บริการบรรจุแก๊สแอลพีจีได้เล่าถึงประสบการณ์ก่อนที่จะมีความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย ปตท. และบริษัท ว่า ปัญหาการชำระเงินระหว่างบริษัทกับธนาคารจะมีความยุ่งยาก และมีเอกสารจำนวนมาก
บางครั้งเมื่อประสบปัญหาทางด้านการเงินจะขอสินเชื่อค่อนข้างยากเพราะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก แต่เมื่อบริษัท ได้ตัดสินใจเป็นตัวแทนค้าน้ำมันให้กับปตท.เพียงรายเดียว ทำให้บริษัทสามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายขึ้นเพราะมีปตท.สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ส่วนการชำระเงินในอดีต บริษัทจะจ่ายเป็นเช็ค หรือเงินสด ซึ่ง ปตท.ไม่ต้องการเพราะมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่หลังจาก ปตท.ร่วมมือกับธนาคาร ทำให้ระบบการชำระเงินของบริษัทเปลี่ยนไป
แรกเริ่มบริษัทจะใช้บริการผ่านเครดิตการ์ด และโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ต และพัฒนาการชำระเงินผ่านบริการเรียกว่า electronic data capture: EDC แต่มีปัญหาบริการช้าครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง
หลังจากนั้นเมื่อปี 2553 จึงเปลี่ยนมาใช้บัตรธุรกิจแทน สามารถโอนเงินและทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ได้ในวงเงิน 3 ล้าน บาทต่อวันต่อหนึ่งบริษัท
การทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบใหม่ทำให้บริษัทลดต้นทุนการชำระเงินเครดิตเทอม 15 วัน ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 6-7
แต่สิ่งที่บริษัทเรียกร้องต้องการเพิ่มเติมจากธนาคารกสิกรไทยคือการดูแลการ ชำระเงินผู้ค้ารายย่อย ผู้รับซื้อน้ำมัน และแก๊สต่อจากบริษัท เพราะกลุ่มลูกค้ายังต้อง จ่ายเช็คและเงินสด เหมือนกับบริษัทชำระเงินผ่าน ปตท.ในอดีต
เลอสันต์กล่าวถึงรายได้ของธุรกิจใน ปัจจุบันมีประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี และดำเนินธุรกิจด้านพลังงานผ่าน 3 บริษัท 1. บริษัท เจริญศักดิ์ธานีออยล์ จำกัด ให้บริการสถานีปั๊มน้ำมัน แปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. บริษัท เจริญศักดิ์ธานีแก๊ส บริการบรรจุแก๊ส จำกัด เป็นโรงงานบรรจุแก๊ส จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 3. บริษัท แก๊สเจริญศักดิ์ 2001 มีโรงบรรจุแก๊ส 2 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี
การขยายภาพระบบการทำงานของ เครือข่ายธุรกิจทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถเข้าไปแทรกให้บริการด้านการเงิน และสามารถแยกประเภทกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ธนาคารมีเป้าหมายมุ่งไป 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีวงจรธุรกิจยาวและซับซ้อน เช่น ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ค้าปลีก-ค้าส่ง อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง กลุ่มขนส่ง กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มยานยนต์ และอะไหล่ยานยนต์ และกลุ่มธุรกิจทองคำ
ทั้ง 7 กลุ่มมีมูลค่าตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 3 ปีจะต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็นร้อยละ 30 จากปัจจุบันร้อยละ 17
นับว่าเป็นการวิ่งหนีคู่แข่งและสร้างความแตกต่างไปอีกขั้นหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย
|
|
|
|
|