|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถ้าจะต้องเริ่มต้นเรียนวิชาธรรมชาติศึกษากันใหม่ เพื่อให้เข้าใจและรู้ทันภัยพิบัติ อาจจะช้าเกินไปกว่าจะเข้าถูกเรื่องว่าอะไรคือต้นตอของวิกฤติ ดิน น้ำ และป่า ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกวันนี้ เพราะมีหลายสาเหตุเหลือเกิน แต่สิ่งที่ยังเป็นความหวังให้กับทุกคนได้ก็คือ ความโหดร้ายของธรรมชาติในระดับภัยพิบัติที่คนไทยต้องเจอกันบ่อยครั้งขึ้นนั้น ยังมีหนทางเยียวยาและรับมือได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นนำความรู้ที่มีอยู่มาปฏิบัติจริงให้ถูกทาง
ภัยพิบัติจากฝนหลงฤดูใน 6 จังหวัด ภาคใต้ก่อนสงกรานต์ปีนี้ โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ที่มีปริมาณฝนทั้งปีรวมกันมากกว่า 1,000 มิลลิเมตร มากสุด ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มากกว่า 1,500 มิลลิเมตร ปริมาณฝนต่อวันมากกว่า 100 มิลลิเมตร เมื่อฝนตกติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 4 วัน ปริมาณน้ำมหาศาลจากฝนครั้งนี้จึงเข้าข่ายภัยพิบัติ เกิดทั้งน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
ภาพสะท้อนวิกฤติป่าและวิกฤติน้ำที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้มาจากอะไร ผู้จัดการ 360 ํ นัดคุยกับ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ผู้อำนวยการส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อหาปัญหา และแนวทางป้องกัน
ดร.พงษ์ศักดิ์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักวิจัยเพียงไม่กี่คนของประเทศที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการป่าไม้ว่า เป็นผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับความเสียหายของป่าทั่วประเทศมาหลายแง่มุม และมีผลงานเผยแพร่มากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็จำกัดอยู่ในวงของผู้สนใจเรื่องของป่าไม้และทรัพยากร ธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเขาก็ได้แต่หวังว่าภัยพิบัติที่ร้ายแรงขึ้นทุกวันและประสบการณ์ตรงที่แต่ละชุมชนได้รับ จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่หันมาศึกษาหาวิธีดูแลและเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ส่วนตัวเขาเองก็จะพยายามใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีที่เหลืออยู่ก่อนเกษียณอายุราชการ เร่งมือเต็มที่เพื่อศึกษาวิจัยหามาตรการเตือนภัยและป้องกัน ปัญหาร่วมกับชุมชน
จากปริมาณป่าไม้ของไทยในปัจจุบัน ตามหลักการคำนวณของส่วนวิจัยต้นน้ำ ประเมินว่าพื้นที่ประมาณ 321 ล้านไร่ของประเทศไทย ควรจะมีพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือป่า คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 รวมกันอย่างน้อย 24.18% แต่ปัจจุบันเมื่อนำจำนวนป่าทุกประเภทที่เหลืออยู่มารวมกัน พื้นที่ป่าทั้งหมดก็ยังมีไม่ถึงจำนวนป่าต้น น้ำที่ต้องการ เพราะป่าไม้เมืองไทยเหลืออยู่ เพียง 23.08% กระจายไปตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอีสาน จากมากไปหาน้อยตามลำดับ
พื้นที่ป่าไม้ 23.01% ที่เหลืออยู่เป็นตัวเลขที่กรมอุทยานฯ ประกาศด้วยความชื่นชม เพราะเป็นตัวเลขที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อนับย้อนหลังไปไม่เกิน 20 ปีก่อนหน้านี้ จากเดิมที่ป่าไม้ไทยเคยมีสัดส่วนสูงถึง 42% ในปี 2516 และลดต่ำลงเรื่อยๆ ต่ำสุด เหลือเพียง 18% ในปี 2534 ก่อนจะค่อยๆ ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับนี้
ความน่าตกใจที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขนี้ ไม่ใช่แค่ตัวเลขจำนวนพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ แต่อยู่ตรงที่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่นับรวมพื้นที่สวนยางพาราเข้าไปด้วย ประเมิน คร่าวๆ ว่ามีสัดส่วนสูงกว่าครึ่งเลยทีเดียว อีกทั้งพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง อาจจะไม่ใช่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าที่แท้จริง แต่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีของการสำรวจและตรวจวัดที่ละเอียดขึ้น
การรวมพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สวนยางพาราเข้าด้วยกัน ถือเป็นมิติลวงทางตัวเลขที่ทำให้หลายคนเข้าไม่ถึงปัญหาวิกฤติป่า วิกฤติน้ำ ที่แท้จริง เพราะศักยภาพและบทบาทของป่าธรรมชาติกับสวนยางพาราให้ผลดีผลเสียที่ต่างกันลิบลับ เพียงแต่ทุกวันนี้ปัญหาที่แท้จริงของสวนยางที่มีผลกระทบต่อดินและน้ำ กำลังถูกปิดบังด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้สะท้อนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ
“สัดส่วนของสวนยางเพิ่มขึ้นมากและมากขึ้นอย่างน่ากลัวด้วย คนทำสวนยาง เคยบ่นกับผมมานานแล้วว่า ปลูกยางแล้วน้ำหายไป เราทำวิจัยก็เจอกรณีที่ว่าปลูกยาง แล้วน้ำหายไป ผมก็พยายามเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2528 แต่กว่าจะเผยแพร่ได้ งานที่ทำต้องครอบคลุมพอสมควรถึงจะกล้าออกมาไม่อย่างนั้นโดนตีตาย” ดร.พงษ์ศักดิ์เล่าถึงการศึกษาผลกระทบต่อน้ำของพื้นที่สวนยาง
เหตุผลที่ต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ เพราะผลที่ออกมานั้นแน่นอนว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่รัฐบาลส่งเสริมการปลูกและขยายพื้นที่สวนยางเพราะราคาดี จากความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การ ชี้แจงผลเสียจึงต้องมีข้อมูลที่แม่นยำ
ในฐานะนักวิชาการป่าไม้ ดร.พงษ์ศักดิ์รู้ดีอยู่แล้วว่า เพียงแค่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ก็ส่งผลให้พื้นที่ต้นน้ำอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยและส่งผลกระทบออกมาในรูปของภัยพิบัติต่างๆ ดังที่พบเห็นกันอยู่ เช่น การเกิดน้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินถล่ม อุทกภัย และความแห้งแล้ง แต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต้นน้ำไปเป็นสวนยางพารา คนส่วนใหญ่อาจจะมองข้าม เพราะดูภายนอกก็ยังเป็นป่าเหมือนกัน และอาจจะคิดเหมาไปว่าระบบนิเวศต้นน้ำก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก
“แต่การเปลี่ยนป่าต้นน้ำไปเป็นสวนยาง ทำให้โครงสร้างภายในเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกคลุม พื้นดินของพืช เมื่อโครงสร้างเปลี่ยน การให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย”
นั่นเป็นเพราะว่าป่าไม้มีผลต่ออุณหภูมิโลก สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยเองด้วย แล้วป่ายังมีผลกระทบต่อระบบน้ำ เพราะสภาพพื้นที่ป่า มีผลต่อการส่งเสริมความรุนแรงของน้ำท่าที่ไหลอยู่ในลำธารหรือตามผิวดินหรือส่งผลต่อวัฏจักรของน้ำนั่นเอง
วัฏจักรของน้ำในป่า ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกเป็นปัจจัยภายนอก ที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือปริมาณน้ำฝนและแสงแดด ถ้าฝนตกหนักและนิ่งอยู่กับที่ เกินกว่าที่ป่าไม้จะรองรับได้ก็จะเอ่อล้น เกิดน้ำท่วม โดยฝนทำหน้าที่เติมน้ำ แต่พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์จะทำให้ น้ำระเหยกลับขึ้นไป
ปัจจัยที่สอง ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งเป็นตัวควบคุมการไหลของน้ำผิวดิน กับความสามารถในการดูดซับน้ำของดิน ซึ่งจะมีช่องว่างหรือความพรุนในดินกับความลึกของชั้นดินเป็นตัวควบคุมการไหลของน้ำใต้ดิน
ส่วนปัจจัยที่สามเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่คนเข้าไปควบคุมได้ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่สุดคือพืชคลุมดิน ซึ่งจะเป็นตัวแบ่งน้ำไปสู่น้ำผิวดินหรือน้ำใต้ดิน
“ถ้าดินยิ่งลึกมันก็เหมือนโอ่งน้ำขนาดใหญ่เก็บน้ำได้มาก แต่ถ้าดินตื้นก็เหมือนโอ่งน้ำขนาดเล็ก ฝนตกมาได้นิดเดียวก็ล้นโอ่ง”
บทบาทสำคัญของวัฏจักรน้ำจึงอยู่ที่พืชคลุมดิน ซึ่งพืชคลุมดินในป่าธรรมชาติ จะมีเรือนยอดสูงสุด 5 ชั้น เช่น ในป่าดงดิบ หรืออย่างน้อยสุดก็ 2 ชั้น คือชั้นเรือนยอดของต้นไม้กับชั้นของหญ้า จำนวนชั้นเรือนยอดจะเป็นตัวลดแรงปะทะของเม็ดฝนกับพื้นดิน แทนที่จะตกสู่พื้นโดยตรงก็จะตกสู่เรือนยอดชั้นที่ 1 หรืออาจจะค้างอยู่บนใบไม้ ชั้นที่สอง สาม สี่และห้า ซึ่งพบว่าในป่าธรรมชาติชั้นเรือนยอดเหล่านี้สามารถรองรับเม็ดฝนได้ถึง 13 มิลลิเมตร ฝนที่ตกในปริมาณน้อย เม็ดฝนจึงอาจจะตก ไม่ถึงพื้นดินด้วยซ้ำ อีกทั้งซากพืชซากสัตว์ บนพื้นดินที่ร่วงตายทับถมกันก็ยังสามารถซับน้ำได้ถึง 20 เท่าของน้ำหนักแห้งอีกด้วย
“เมื่อน้ำซึมลงดินก็ยังมีรากพืชน้อยใหญ่ตั้งแต่ระดับตื้นถึงระดับลึกช่วยเก็บกักน้ำไว้ระหว่างรากกับผิวสัมผัสของอนุภาค ดิน เพราะฉะนั้นถ้ามีรากหยั่งลึกในดินมาก เท่าไร โอกาสที่น้ำจะซึมลงไปในชั้นล่างของผิวดินก็มีมากขึ้นเท่านั้น ในป่าธรรมชาติ จึงมีทั้งความสามารถเก็บกักน้ำในระดับพื้นดินและน้ำที่ระบายลงสู่ใต้ดิน ซึ่งหากจินตนาการต่อไป ก็จะเห็นว่าน้ำที่พาดินลงไปลึกเท่าไร ความละเอียดของดินชั้นล่าง ก็จะยิ่งแน่นการระบายน้ำ การซึม การไหล ของน้ำก็น้อยลง แต่ถ้าทั้งผิวดินและใต้ดินไม่มีความสามารถในการซึมหรือให้น้ำไหล ผ่านได้เลยหรือทำได้น้อยมาก วัฏจักรของน้ำในป่านั้นก็ต้องเปลี่ยนไป”
อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของป่าแต่ละชนิดมีความสามารถในการเก็บกักและระบายน้ำไม่เท่ากัน (ดูกราฟการเก็บกักน้ำและให้น้ำของป่าแต่ละประเภท) และ จากประเด็นที่ ดร.พงษ์ศักดิ์ทิ้งท้ายไว้เรื่องการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการเก็บกักและระบายน้ำของป่าธรรมชาติ จะเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อนำมาเทียบกับปฏิกิริยาระหว่างดินและน้ำในสวนยางพารา
สภาพในพื้นที่สวนยางพาราจากงานวิจัยที่ทำเปรียบเทียบกับป่าธรรมชาติตั้งแต่ปี 2542 ของดร.พงษ์ศักดิ์พบว่า น้ำฝนที่ตกมาในพื้นที่สวนยางจะเป็นน้ำที่ไหลบ่าอยู่บนผิวหน้าดินเกินครึ่ง (ดูตาราง เปรียบเทียบการซึมน้ำและความเร็วในการระบายน้ำระหว่างป่าธรรมชาติกับสวนยาง) และมีอัตราการไหลของน้ำใต้ผิวดินและน้ำใต้ดินต่ำกว่าการไหลของน้ำในป่าธรรมชาติครึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นภาพลวงตาว่าสวนยางเป็นป่าและให้บริการน้ำตรงที่ทำให้ น้ำที่ไม่เก็บกักลงดินนี้กลายเป็นน้ำท่าหรือน้ำไหลในลำธารจากน้ำฝนทั้งหมด และมีปริมาณมากกว่าน้ำที่ขังบนผิวดินให้เห็นในป่าธรรมชาติ ขณะที่ป่าธรรมชาติจะเก็บ น้ำไว้ได้ดีกว่า จากการไหลซึมลงดินและมีปริมาณการไหลบ่าของน้ำผิวดินต่ำหรือเป็นศูนย์สำหรับป่าที่มีพืชคลุมดินอยู่มาก
“แต่ถ้าปริมาณฝนที่ตกมามากเกินป่าธรรมชาติรับได้ก็มีโอกาสเกิดน้ำท่วมได้เหมือนกัน รอบนี้ที่เขาพนม (จ.กระบี่) ที่เขาหลวง (อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช) ฝน 4 วัน เกิน 400 ป่าต้นน้ำก็เอาไม่อยู่ เหมือนที่เกิดที่พิปูนกับที่กระทูนเมื่อปี 2531 แต่ถ้าเรารักษาป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ไว้ได้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ลงได้เช่นกัน”
หลายคนอาจจะแย้งว่าก็ในเมื่อป่ารับไม่ไหว แล้วเกี่ยวอะไรกับสวนยาง ซึ่งหากพิจารณาให้ดีก็จะรู้คำตอบว่า เป็นเพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่สวนยางเป็น การทำเกษตรชนิดหนึ่ง และเป็นรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศจาก พื้นที่ป่าทั้งหมดพบว่า พื้นที่สวนยางมีการปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจาก 10.77 ล้านไร่ในปี 2529 เป็น 12.25 ล้านไร่ในปี 2539 และเพิ่มเป็น 15.43 ล้านไร่ในปี 2552
“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยสนับสนุน การปลูกสวนยางเพื่อใช้เป็นป่ากันชน ป้อง กันปัญหาไฟป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าเพราะโดยลักษณะของต้นยางก็ตอบโจทย์ด้วยว่าเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก ซึ่งพื้นที่ป่าเสื่อม โทรมส่วนใหญ่ก็ขาดน้ำจนไม่สามารถที่จะปลูกพืชชนิดอื่นได้ดี แต่ตอนหลังพอรู้ก็อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหรืออย่างน้อยปลูกพืชอื่นเสริมเข้าไปมากขึ้น”
สวนยางกลายเป็นทางออกให้กับการแก้ปัญหาการจัดการป่าไม้ของไทยมายาวนานหลายสิบปี ยิ่งมายุคยางพาราราคา ดีการขยายตัวของสวนยางก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ยังขยายไปทั่วทุกภาคทั้งอีสาน เหนือ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ทั้งลาว กัมพูชา จีน ก็ปลูกกันเป็นล้านๆ ไร่ ภูเขา บางแห่งโดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำโขงในเขตไทย ลาว และจีน กลายสภาพเป็นภูเขายางพาราไปหมดแล้ว วงจรผลกระทบซึ่งเริ่มตั้งแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็ยิ่งรุนแรงขึ้นกลายเป็นวงจรผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นไปอีก
ประมาณ 2 ปีก่อนหน้านี้ ดร.พงษ์ศักดิ์เคยนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมิน มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากสวนยางออกเผยแพร่ โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นความเสียหายจากการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่าอย่างไม่เหมาะสม และต้องการให้ผลวิจัยเป็นตัวกีดกันกลุ่มนายทุนที่อาศัยชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อขยายพื้นที่สวนยางตระหนัก แต่เขาต้องกลายเป็นจำเลยของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาโจมตีว่าข้าราชการรังแกคนจน เพราะคนที่ถูกมองว่าได้รับผลกระทบจากการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งนั้นกลายเป็นเจ้าของสวนยางรายย่อย
การประเมินมูลค่าความเสียหาย เหตุผลแรกเป็นเรื่องผลเสียทางธรรมชาติ ได้แก่ ผลเสียที่ทำให้เกิดวิกฤติน้ำ ซึ่งถูกตีเป็นมูลค่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสูญเสียดินจากกระบวนการกัดเซาะพังทลาย การสูญเสียระบบการดูดซับและระบายน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมแล้วสวนยางสร้างความสูญเสียเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 81,649.12 บาทต่อไร่ต่อปี
ดร.พงษ์ศักดิ์อธิบายว่า ผลเสียที่วัด ได้นี้ สาเหตุเริ่มจากการที่ต้นยางพาราเป็น ไม้ไม่ทนร่ม ต้องการแสง เพราะฉะนั้นเรือน ยอดจะพุ่งขึ้นข้างบนแล้วแตกง่ามสองง่าม ใบของยางจะอยู่บริเวณปลายยอดเท่านั้น สวนยางจึงเป็นไม้ที่มีปลายยอดชั้นเดียว ส่วนพื้นล่างจะเตียนโล่งเพราะปราบวัชพืชหมด ถึงไม่ปราบวัชพืชเมื่อยางอายุ 7 ปีขึ้น ไปจะมีความหนาแน่นของเรือนยอดสูง แสงแดดส่องลงมาน้อย เพราะฉะนั้นพืชด้าน ล่างจะตายเพราะไม่มีแสง พื้นดินจะเปิดโล่ง หรือถ้ายังมีวัชพืช เจ้าของสวนก็จะกำจัดเพื่อไม่ให้ไปแย่งอาหารต้นยางทำให้ผลผลิต น้ำยางลดลงได้เงินน้อยลง
เมื่อเรือนยอดของต้นยาง ซึ่งปกติ สูงประมาณ 20 เมตร รับน้ำฝนไว้ได้แค่ 8 มิลลิเมตร แต่เกินจากนั้นน้ำฝนที่เหลือก็จะหยดลงสู่พื้นดินโดยตรง ไม่มีอะไรรองรับ แม้แต่ชั้นยอดหญ้า ความเร็วของเม็ดฝนที่ตกจากความสูงเกิน 20 เมตรที่มีพลังงานสูงจะกระแทกผิวดินโดยตรง ทำให้เกิดการ อัดแน่น การอัดแน่นซ้ำๆ ทุกปีทำให้ดินในสวนยางไม่สามารถดูดซับน้ำเพราะแน่น มาก เมื่อฝนตกก็กลายเป็นน้ำไหลบ่าหน้าดิน ประกอบกับความลาดเทของพื้นที่ทำให้ เกิดพลังงานจลน์ของน้ำกัดเซาะเอาผิวหน้า ดินออกไป ชั้นดินจะบางลง เพราะฉะนั้นหลังจากปลูกยางได้ไม่นานก็จะมีรากหรือหินโผล่ พอชั้นดินบางก็ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการเก็บกักน้ำลดลง
“กฎหมายมีข้อกำหนดไม่ให้ปลูกสวนยางในพื้นที่ลาดชันแต่ในความเป็นจริง ประชาชนอาจจะไม่รู้ เห็นปลูกแล้วรายได้ดี ก็เอาอย่างกัน แห่กันปลูก เป็นเรื่องอันตราย และน่าเป็นห่วง สิ่งที่เราทำได้คือพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ตัวนี้ออกไปให้เกิดการ รับรู้มากที่สุด”
นอกจากความสูญเสียด้านสิ่งแวด ล้อม งานวิจัยครั้งนั้นยังประเมินมูลค่าของสวนยางเปรียบเทียบกับป่าธรรมชาติในแง่ของรายได้ ซึ่งหากคิดว่าป่าธรรมชาติสามารถให้เนื้อไม้ที่แปลงมาเป็นตัวเงินก็ยัง พบว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่าธรรมชาติ มากกว่ารายได้จากสวนยางพาราถึง 14,445.16 บาทต่อไร่ต่อปี
“ในสมัยก่อนมีป่าปกคลุมเยอะ ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดน้ำท่วม แต่ที่อยากให้ตระหนักคือภัยพิบัติของบ้านเราตอนหลังนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมเป็นตัวเร่งความรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น อย่างกรณีของดินถล่ม ก็ต้องบอกว่าสวนยางเป็นหนึ่งในตัวเร่ง เพราะเมื่อน้ำไหลลงดินไม่ได้ไหลอยู่ แต่บน หน้าดินการกัดเซาะก็รุนแรงขึ้น ยิ่งบริเวณเชิงเขาฐานมันเอียงพอมีน้ำเซาะฐานมันก็ทรงตัวไม่อยู่ก็รูดลงมา”
หากลองจินตนาการความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่เขาพนม จังหวัดกระบี่ ที่น้ำพัดพา ดินภูเขาคลุกเคล้าหินก้อนใหญ่ไหลเลื่อนลง มากลบทับพื้นที่ด้านล่างจนกลายเป็นลานหินกว้างใหญ่ หากเหตุการณ์นี้เกิดบริเวณร่องน้ำโขงช่วงที่ขนาบด้วยภูเขายางพาราระหว่างเขตไทยและฝั่งลาว หากพื้นที่นั้นต้องรองรับปริมาณน้ำฝนก้อนใหญ่แบบที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะเกิด แลนด์สไลด์จากภูเขาสองฝั่งแม่น้ำมาฝังกลบ แม่น้ำโขงที่ตื้นเขินอยู่แล้วให้หายไปได้เลยทีเดียว
ดร.พงษ์ศักดิ์ยอมรับว่า จินตนาการ แบบนี้ก็พอเห็นภาพ ภัยพิบัติบางอย่างเป็น เรื่องที่มนุษย์ต้องยอมรับ แต่อย่างน้อยก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องหาทางแก้ไขเพื่อ รับมือไว้ล่วงหน้า เพราะพื้นดินที่ทำกิน เมื่อเทียบกับประชากรที่เพิ่มขึ้นนับวันยิ่งมีจำกัด ทำให้หลายคนจำเป็นต้องอยู่ในพื้นดินเดิมต่อไปไม่ว่าจะต้องเจอกับปัญหาอะไรก็ตาม
“ผมเชื่อว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต เกิดบ่อย เกิดซ้ำ จะทำให้คนร่วมกันแก้ปัญหา เปลี่ยนความคิดไปในทางที่เหมาะสม ส่วนหน้าที่ของเราก็พยายามเข้า ไปสอน สร้างเครือข่ายให้ความรู้เรื่องการจัดการลุ่มน้ำ ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมคิดว่าเขาควรจะทำอย่างไร”
ปัจจุบันทีมงานของส่วนวิจัยต้นน้ำ มีสถานีวิจัยเพื่อทดลองติดตั้งระบบเตือนภัยจากน้ำป่าไหลหลากกรณีฝนตกหนักอยู่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ที่แม่อ้อ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และที่คีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช
การทำงานทั้ง 3 พื้นที่ เป็นส่วนของ ความพยายามหาวิธีแก้และป้องกันปัญหา ซึ่งดร.พงษ์ศักดิ์เชื่อว่า จะต้องดึงชาวบ้านเข้ามาเป็นเครือข่ายหรือมาเป็นนักวิจัยร่วม เพราะโดยพื้นฐานชาวบ้านมีภูมิปัญญาพื้นบ้านอยู่แล้วและสามารถช่วยทางราชการได้มาก นอกเหนือจาก 3 พื้นที่นี้ ส่วนวิจัย ต้นน้ำจะมีด้วยกันอีก 16 หน่วยทั่วประเทศ ที่จะคอยทำวิจัยเพื่อหาข้อมูลในด้านต่างๆ แต่ก็ถือว่ากำลังคนของหน่วยราชการมีน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ต้องดูแล
“เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างเครือข่ายดึงชาวบ้านเข้ามา เชื่อว่าเขาจะเปลี่ยน ทัศนคติจากข้อมูลที่เห็นแล้วเรานำวิทยาศาสตร์เข้าไปทำงานวิจัยคู่กัน หรือเป็นข้อมูลที่เอาไปสนับสนุนความคิดของชาวบ้านเพราะหากเขาวิเคราะห์กันเองอาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง ข้อมูลจริงจะช่วยได้ว่าควรจะทำอย่างไร”
ดร.พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้น มักจะไม่เกิดในพื้นที่เดิมซ้ำบ่อยๆ ดังนั้นจากสถิติของอุทกภัยในรอบปีที่ผ่านมาเกิดมาแล้วทั้งภาคอีสาน ภาคใต้ รวมทั้งพื้นที่เกาะอย่างเกาะสมุย ซึ่งกรณีหลังนี้มาจากเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินล้วนๆ พื้นที่ต่อไปที่เขาเฝ้าระวังเป็นพิเศษและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้คือพื้นที่ภาคเหนือซึ่งอยู่ระหว่างเร่งทำงานวิจัยและหาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่นกรณีงานวิจัยที่เชียงดาว กรมอุทยานฯ ทำร่วมกับสภาวิจัย และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตซึ่งเป็นผู้จัดซื้อเครื่องมือเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากจุดติดตั้งการเก็บวัดข้อมูลน้ำฝนอัตโนมัติบนพื้นที่สูงประมาณ 5 แห่ง ข้อมูลนี้จะส่งสัญญาณไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ ในกรณีที่มีฝนตกหนักในพื้นที่สูง อีกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมคือ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดย ดร.วีรศักดิ์ ดวงโชค เป็นหัวหน้าทีม จะทำหน้าที่คิดคำนวณอุณหภูมิยอดเมฆจากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อเชื่อมโยงกับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา ซึ่งปริมาณน้ำฝนจะถูกตรวจสอบให้แน่นอน อีกครั้งจากเครื่องวัดที่ติดตั้งไว้ นอกจากส่งสัญญาณไปที่ อบต.แม่นะ ปริมาณน้ำฝน จะส่งสัญญาณไปที่กรุงเทพฯ เพื่อคำนวณว่าจะเกิดการไหลหลากของน้ำท่าหรือไม่ จากนั้นจะยิงสัญญาณกลับไปที่ อบต.แม่นะ อีกครั้งเพื่อเตือนภัยให้กับชุมชน
“ผมหวังว่าเราจะติดตั้งเครื่องมือเสร็จในปีนี้ จะเริ่มทดสอบปีหน้า และภาวนาว่าอย่าให้เกิดภัยพิบัติใดๆ ขึ้นก่อนหน้านั้น”
นี่คือรูปแบบงานวิจัยอย่างเป็นระบบที่อาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วยหลายด้าน แต่กรณีที่คีรีวงซึ่งบางส่วนทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว ก็แสดงให้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ปรับเปลี่ยนมาตั้งรับและช่วยผ่อนปัญหาหนักเป็นเบาในพื้นที่ได้
“ที่คีรีวง ผมพยายามศึกษาเพราะ เขาอยู่มาเป็น 100 ปี เจอเหตุการณ์ซ้ำๆ แล้วสมัยก่อนเขาปลูกยางอย่างเดียว พอเจอช่วงยางราคาตก บวกกับสภาพดินแย่ลงๆ ทำให้เขาเปลี่ยนแนวคิดมาปลูกพืชใน ลักษณะสวนสมรม คือเอาพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ที่เป็นไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุกมา ปลูกคละกันให้มีโครงสร้างของผิวดินคล้าย กับป่าธรรมชาติก็ช่วยเรื่องการดูดซับน้ำได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับยางพารา”
นี่คือรูปหนึ่งของการเปลี่ยนเจตคติและยอมรับในรูปแบบธรรมชาติที่แท้จริง ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำป่าไหลหลากจากพื้นที่ชุมชนซึ่งอยู่ติดเขาและแหล่งพื้นที่ต้นน้ำ แต่ยังช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นจากพืชเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่ต้องพึ่งพาพืชชนิดเดียว ความหลากหลายของพืช ยังนำมาซึ่งอาชีพ ต่างๆ อีกมากทั้งการแปรรูปพืชผลทางการ เกษตรที่มีชื่อเสียงของคีรีวง และผลิตภัณฑ์ ของวิสาหกิจชุมชนที่ได้จากการนำทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของคีรีวง การพัฒนาเหล่านี้ยังก่อให้เกิดความความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนจนเกิดเป็นชุมชน เข้มแข็ง พวกเขามีการจัดกลุ่มคนเฝ้าระวัง การตรวจวัดปริมาณน้ำฝนเมื่อฝนตกชุก หากถึงเกณฑ์ที่ต้องอพยพก็ส่งสัญญาณเตือนภัยกันในหมู่บ้านได้ทัน เป็นการพึ่งพา ตัวเองภายใต้องค์ความรู้อย่างเป็นระบบ
ผลจากการหันมาทำสวนสมรมที่คีรีวงยังทำให้น้ำท่าในพื้นที่ใสเพราะพืชคลุมดินช่วยลดตะกอนที่ติดมาจากการไหล ของน้ำหน้าดิน ซึ่งทำให้ใช้เป็นตัวเฝ้าสังเกต การเปลี่ยนแปลงและเตือนภัยได้ด้วย หากสังเกตได้ว่าน้ำขุ่นขึ้นหรือมีการเปลี่ยนสีของ น้ำในลำธาร รวมทั้งมีการพัฒนาป้องกันพื้นที่ทำกินของชุมชนอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันอีกหลากหลายวิธี
เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งล่าสุดที่ภาคใต้ คีรีวงก็มีปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ในช่วงนั้นมากกว่า 600 มิลลิเมตร ส่วนหนึ่งอาจจะโชคดีว่าเป็นเพราะฝนกระจายไม่ได้ตกนิ่งอยู่ที่เดียว แต่ส่วนสำคัญก็อดคิดไม่ได้ว่า เพราะระบบการป้องกันและการปรับเปลี่ยน รูปแบบการใช้ที่ดินของคีรีวง คือตัวตั้งรับ อย่างดี และถือเป็นแม่แบบของการแสดงศักยภาพของพื้นที่ป่าและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีศักยภาพในการรองรับน้ำได้ดีกว่าหลายพื้นที่ซึ่งประสบภัยพิบัติในครั้งนี้
ดังนั้น การกู้วิกฤติหลังภัยพิบัติครั้งนี้ เงินช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติครอบครัวละ 5,000 บาทที่แจกจ่าย ลงไป อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจจากสิ่งที่ชาวบ้านสูญเสีย แต่หากใช้เป็นกองทุนพร้อมกับการตั้งต้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดินที่ต้องฟื้นฟูกันใหม่อีกครั้ง โดยหยุดมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับเป็นสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่นำไปสู่ทางออกของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและดีกว่าเดิมได้
|
|
|
|
|