|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถ้าตลาดทุนไทยมีสถาบันการศึกษาอย่างศศินทร์ ที่เป็นศูนย์รวมทั้งด้านการสร้างและวางเครือข่ายให้กับคนที่เป็นศิษย์เก่า สปป.ลาว ซึ่งเพิ่งเปิดการซื้อขายหุ้นมาได้ไม่ถึงปี กำลังมี BCP ที่ได้วางบทบาทลักษณะเดียวกันนี้อยู่อย่างเข้มข้น
“...แล้วในการทำธุรกิจ เราจะหาแหล่งเงินทุนได้จากที่ไหน ก็มีอยู่ 3 แหล่ง แหล่งแรกก็เงินเก็บของเราเอง ก็คือนำเงิน ที่เราสะสมมาลงทุน แหล่งที่ 2 ไปพึ่งตลาดเงิน ก็คือไปกู้เงินจากธนาคาร และแหล่งที่ 3 นั่นคือการเข้าไประดมเงินทุนผ่านทางตลาดทุน...”
คำบรรยายด้วยเสียงอันชัดถ้อยชัดคำของสมภพ ศักดิ์พันธุ์พนม ดังก้องอยู่ในห้องเรียนขนาด 70 ที่นั่ง บนชั้น 4 ของวิทยาลัยบุดวิเสด นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
เบื้องหน้าของเขามีกลุ่มคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวนั่งฟังอย่างตั้งใจอยู่ประมาณ 60 คน
คนที่นั่งอยู่แถวหน้า ด้านซ้ายสุด บุรุษผู้ดูภูมิฐานและมีอายุกว่าเพื่อน เขาคือ สอนไซ สิดพะไซ ผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคาร การค้าต่างประเทศลาว (BCEL) ธนาคารของรัฐ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กิจการนำร่องที่ได้ นำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาด หลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว
ถัดไปเบื้องหลังเล็กน้อย สุภาพสตรี ที่ดูจะมีอาวุโสกว่าผู้อื่น เธอคือบุนตา ดาราวี ผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารพัฒนาลาว ธนาคารของรัฐที่คาดว่าจะได้เข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว ในโอกาสต่อไป
การบรรยายครั้งนี้เป็น 1 กิจกรรม ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การเงิน ธุรกิจกับตลาดทุน สำหรับผู้บริหารมืออาชีพ” (Business Finance in Capital Market for Professional Exective: BCP) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างวิทยาลัยบุดวิเสด บริษัทแอสเซท โปรแมเนจเม้นท์ (APM) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ของไทย และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย
สมภพในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ APM ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรของโครงการนี้ด้วย
โครงการฝึกอบรม BCP ครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 2 จัดอบรมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 22 มกราคมถึง 6 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการอบรมประมาณ 60 คน ทุกคนล้วนเป็นบุคลากรที่อยู่ในระดับ บริหารขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนของ สปป.ลาวทั้งสิ้น
ส่วนการอบรม BCP รุ่นแรกได้จัด เสร็จสิ้นไปแล้ว ระหว่างเดือนตุลาคม-กันยายน ปีก่อน (2553)
“โครงการนี้เป็นความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย คือเรากับ APM และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้รับคำแนะนำจากคุณสมภพ ที่บอกว่าลาวมีการเปิดตลาดทุน เพราะฉะนั้นจึงมีความต้อง การบุคลากรด้านนี้อีกมาก 3 ฝ่ายเห็นความสำคัญตรงนี้จึงได้มาจัดเป็นหลักสูตร ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเซ็น MOU กัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เราก็จัดครั้งแรกในเดือนตุลาคม เร็วมากเลย ครั้งแรกก็มีผู้เข้าอบรมอยู่ 40 กว่าคน ครั้งที่ 2 นี่ก็ 60 กว่า ก็ถือว่าได้รับความนิยมจากสังคมพอสมควร” จันสะหวัด ขุนวิเสด ประธานกรรมการบริหาร วิทยาลัยบุดวิเสด บอกกับผู้จัดการ 360 ํ
วิทยาลัยบุดวิเสดเป็นวิทยาลัยเอกชน ที่เน้นการเรียนการสอนเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจโดยเฉพาะ
วิทยาลัยแห่งนี้สถาปนาขึ้นเมื่อปี 2545 (2002) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาล สปป.ลาว มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้าง บุคลากรรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ของประเทศ ปัจจุบัน วิทยาลัยบุดวิเสดเปิดสอนตั้งแต่ระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง จนถึงระดับปริญญาตรี โดยมี 5 แขนงวิชา ได้แก่ สาขาการจัดการ สาขาการตลาด สาขาการเงิน สาขาการประกอบการ และสาขาภาษาอังกฤษ มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ 400 คน โดยมีคณาจารย์อยู่ประมาณ 20 กว่าคน
จันสะหวัดถือเป็นคนที่มีความเป็น ครูและมองเห็นโอกาส เขาเริ่มอาชีพเป็นครู อยู่ในโรงเรียนมัธยม หลังจากจบวิทยาลัย สงฆ์ของนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อปี 2530 (1987) เมื่อเศรษฐกิจของลาวเริ่มมีสัญญาณ ว่าจะดีขึ้น จึงลาออกมาเปิดร้านขายคอม พิวเตอร์ ในปี 2537 (1994) จนมาถึงปี 2545 เมื่อรัฐบาลลาวมีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา จึงได้ก่อตั้งวิทยาลัยบุดวิเสดขึ้น
“คือการเจริญเติบโตของ สปป.ลาว นั้นค่อนข้างเร็ว จีดีพีขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่า 8% เศรษฐกิจพัฒนาเร็ว แต่บุคลากรที่จะรองรับตรงนี้ยังขาด โดยเฉพาะคนระดับที่จะเป็นผู้จัดการนี่ขาดมาก เพราะฉะนั้นเรา จึงเห็นว่าจะต้องสร้างบุคลากรตรงนี้เพื่อรองรับในสิ่งที่สังคมต้องการ” เขาให้เหตุผล ถึงการกลับเข้ามาสู่วงการศึกษาอีกครั้ง
ปี 2547 จันสะหวัดได้มาเรียนต่อระดับปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่จังหวัดอุดรธานี อยู่ ในรุ่นอุดร 11 เมื่อเรียนจบในปี 2550 เป็น ช่วงที่ สปป.ลาวมีแผนการที่จะจัดตั้งตลาด หลักทรัพย์ขึ้นจึงนับได้ว่าเป็นโอกาสอีกครั้ง
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง 3 ฝ่าย ที่จะก่อตั้งหลักสูตร BCP ขึ้นมา ถือเป็นการเข้ามามีบทบาทในการสร้างบุคลากรให้กับตลาดเงิน-ตลาดทุนของ สปป.ลาว ที่กำลังขยายตัว โดยการเรียนรู้ประสบการณ์จากองค์กรธุรกิจ และสถาบัน การเงินของไทย เพราะ 70% ของวิทยากร ที่ไปบรรยายให้กับหลักสูตรนี้เป็นวิทยากร จากไทย ส่วนที่เหลือคือผู้บริหารในหน่วยงานหลักด้านตลาดทุนของ สปป.ลาว อาทิ วัดทะนา ดาลาลอย รักษาการ เลขาธิการ คณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) เดดพูวัง มูลรัตน์ ประธานและผู้อำนวยการใหญ่ ตลาดหลัก ทรัพย์แห่ง สปป.ลาว ฯลฯ
โครงสร้างหลักสูตรของ BCP จะอบรมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ โดยใช้เวลาอบรมรุ่นละ 7 สัปดาห์ เนื้อหาที่อบรมจะมีอยู่ 13 หัวข้อ ที่เกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุน เช่น บทบาทของนักลงทุน บทบาทของ ค.ล.ต. บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ บทบาทของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ฯลฯ เน้นส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมทราบถึงประโยชน์ ที่จะได้รับจากตลาดทุน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและนักลงทุน
อาจดูเป็นเนื้อหาพื้นฐาน ซึ่งเหมาะสมสำหรับ สปป.ลาว ที่เพิ่งเริ่มมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่ถึงปี แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปูพื้นให้กับบุคลากรในตลาดการเงินของลาว ที่กำลังก้าวเข้าสู่ระบบสากล
ตามแผนที่จันสะหวัดวางเอาไว้ การ อบรมหลักสูตร BCP จะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 4 รุ่น ในช่วงหลังจากนี้เป็นต้นไป พร้อมทั้งขยายบทบาทจากการอบรมความรู้พื้นฐาน ไปสู่องค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการวางหลักสูตรในการอบรมการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และการเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ใน อนาคตอันใกล้นี้ พร้อมๆ กับแผนการเปิดสอนในระดับปริญญาโท ที่เขาตั้งใจไว้ว่าจะเปิดในปีหน้า (2555)
ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร ของการอบรมที่กำลังพัฒนาขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว
ก่อนหน้าที่ สปป.ลาวจะเปิดตลาด หลักทรัพย์ บุคลากรที่อยู่ในตลาดการเงินของลาวค่อนข้างกระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำงานของตนไป ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม หรือมีศูนย์รวมในการพบปะสังสรรค์เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ (connection) ที่เป็นลักษณะองค์กรเฉพาะ
อาจมีบ้างในกลุ่มของนักธุรกิจรุ่นใหม่ใน สปป.ลาว ที่เริ่มมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur) แต่ก็ยังไม่ได้แสดงบทบาทในสังคมมากนัก
เมื่อวิทยาลัยจันสะหวัดร่วมมือกับ APM และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการ BCP ขึ้นมาในจังหวะที่เหมาะเจาะ เพราะอยู่ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ จึงได้รับความสนใจจากบุคลากรในแวดวง ตลาดทุนของลาวเป็นอย่างมาก
ผู้ที่เข้ารับการอบรมรุ่นแรก (BCP 1) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ประกอบด้วยผู้บริหารจากรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ที่กำลังจะถูกส่งไปเป็นผู้บริหาร บริษัทผลิต ไฟฟ้าลาว (EDL-GEN) ที่เป็นอีก 1 ในบริษัทนำร่องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์คู่กับ BCEL
ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรแล้ว ผู้เข้าการอบรมคนหนึ่งได้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการ และอีกคนได้ขึ้นไปเป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ EDL-GEN
นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารของธนาคาร พัฒนาลาว ซึ่งมีการร่วมทุนกับซาคอมแบงก์จากเวียดนาม จัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ล้านช้างได้ส่งผู้บริหารเข้ารับการอบรม BCP 1 ถึงประมาณ 10 คน หนึ่งในนั้น หลังจบการอบรมก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ ล้านช้าง ส่วน BCP 2 ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ บุคลากรระดับผู้อำนวยการใหญ่ของธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐถึง 2 แห่ง คือ BCEL และธนาคารพัฒนาลาว
บุคลากรเหล่านี้เมื่อรวมกลุ่มกันได้ จะกลายเป็นเครือข่ายของคนระดับหัวกะทิที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจของ สปป.ลาว ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
“คนที่มาฝึกอบรมมาจากหลายภาคส่วน เราก็พยายามสร้างให้เขามีการติดต่อกัน เพื่อให้คุ้นเคยกัน มีความสัมพันธ์กันในแวดวงธุรกิจ อันนี้คือเป้าหมายที่จะพัฒนาไป” จันสะหวัดยอมรับ
BCP ถือเป็นเครือข่ายนักการเงินของลาวที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|