Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2554
“พุทธเทวา” ในมโนทัศน์ของรพินทรนาถ ฐากูร             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

รพินทรนาถ ฐากูร




ในปี 2011 ถือเป็นวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาลของรพินทรนาถ ฐากูร นักคิดและกวีชาวเบงกาลี ตลอดปีจึงมีการฉลองในรูปแบบต่างๆ นับจากสัมมนาทางวิชาการเวิร์กชอป เทศกาลดนตรี ละคร ศิลปะและวรรณกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับแนว คิดและงานประพันธ์ของท่าน ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มีผลงานชิ้นเล็กๆ ที่อาจเล็ดลอดสายตาผู้คนไปบ้าง หากมีคุณูปการอย่างยิ่ง นั่นคืองานแปลชื่อ Rabindranath Tagore’s Buddhadeva โดยสุลัขณา มูเคอร์จี (Sulagna Mukherjee)

งานประพันธ์ของรพินทรนาถที่ได้รับการแปลจากภาษาเบงกาลีเป็นอังกฤษนั้นมีมากมาย นับจากคีตาญชลีซึ่งท่านเป็นผู้แปลด้วยตนเอง และได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 1913 ส่วน ที่รู้จักกันแพร่หลาย อาทิ The Home and the World, Songs of Kabir, Fruit-Gathering และ Stray Birds ที่มีการแปลเป็นภาษาไทย ได้แก่ จันทร์เสี้ยว คีตาญชลี สาธนา เป็นต้น สำหรับ ‘พุทธเทวา’ นี้เป็นรวมงานเขียนเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและหลักธรรมของพุทธองค์ ซึ่งสุลัขณาอาจารย์ประจำสถาบัน คุรุศาสตรบัณฑิต Tarasankar รัฐเบงกอลตะวันตก บรรจงถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีก่อน งานแปลเล็กๆ เล่มนี้มีความสำคัญเช่นไร

รพินทรนาถนอกจากจะเป็นกวีคนสำคัญของอินเดียแล้ว ยังเป็นนักคิดและนักการศึกษา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ขณะที่อินเดียกำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ท่านเห็นว่าอิสรภาพที่แท้จริงของชาวอินเดียควรเริ่มต้นจากการศึกษา ในปี 1901 ท่านจึงก่อตั้งโรงเรียนเชิงทดลองขึ้นที่ศานตินิเกตัน ในอาศรมที่บิดาเป็นผู้ริเริ่มไว้ โรงเรียนดังกล่าว มุ่งหมายความใกล้ชิดระหว่างครูกับศิษย์ อิสรภาพในการเรียนรู้และการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อันเป็นที่มาของชั้นเรียนใต้ร่มไม้ ต่อมาเติบใหญ่ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิศว-ภารตี ภายใต้คำขวัญที่ว่า “รวงรังที่โลกมาพบกัน”

เมื่อศึกษางานประพันธ์ของท่านรวมถึงปรัชญา การศึกษาอันเป็นรากฐานของวิศว-ภารตี จะพบว่ามีความเป็นสากลนิยมและมนุษยนิยม ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนดูบริบททางวัฒนธรรมในยุคสมัยของท่าน พุทธศาสนาได้เสื่อมคลายไปจากอินเดียและเบงกอล ไม่น้อยกว่าหกศตวรรษ กระนั้นงานนิพนธ์ของท่านหลายชิ้นกลับได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในพุทธประวัติและหลักธรรมของพุทธองค์ อาทิ บทประพันธ์นาฏการละคร (Dance Drama) เรื่องจัณฑลิกา (Chandalika) มาลิณี (Malini) และนาฏบูชา (Natir Puja) โดยเฉพาะนาฏบูชาอันเป็นเรื่องราวของนางรำในราชสำนักที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระราชา ไปร่ายรำต่อหน้าพระเจดีย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แม้รู้ว่าสุดท้ายจะต้องโดนประหารชีวิต ต่อมาได้รับการถ่ายทอดขึ้นเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามโดยนันฑลัล โบส อยู่ในอาคารภาควิชาจีนศึกษา ของมหาวิทยาลัยวิศว-ภารตี

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังถือวันพุธ ที่ชาวเบงกาลีเรียกว่าพุทธวาร เป็น วันหยุดประจำสัปดาห์ ภายในเขต มหาวิทยาลัยซึ่งทราบกันดีว่าเป็นเขตปลอดรูปสักการะและพิธีกรรมทางศาสนา หากมีพุทธปฏิมา ประดิษฐานอยู่ในลานของภาควิชาศิลปกรรมและห่างไปไม่ไกลนักก็เป็นประติมากรรมชื่อ ‘สุชาดา’ หญิงผู้ถวายข้าวปายาสแก่สมณโคดมในเวลาเช้าของวันที่จะตรัสรู้ ผลงานของประติมากร มีชื่อของอินเดียรามคินการ์ เบจ

งานแปลพุทธเทวาชิ้นนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีแก่ผู้สนใจที่ไม่ใช่ชาวเบงกาลี ได้รับรู้ถึงพระพุทธองค์ในมโนทัศน์ของกวีท่านนี้ และทราบที่มาของคติธรรมที่สื่อสะท้อน อยู่ในงานประพันธ์หลายชิ้นของท่าน

พุทธเทวารวบรวมไว้ด้วยบทกวีสักการะพระพุทธองค์ 6 บท ความเรียงและงานเขียนเชิงบันทึกอีก 4 บท ในความเรียงบทแรกเราจะพบว่ารพินทรนาถขานพระนามของพระพุทธเจ้าว่า ‘พุทธเทวา’ พร้อมทั้งกล่าวว่าทรงเป็นมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหัวใจของท่าน และเล่าถึงมโนนึกครั้งไปสักการะวิหารที่พุทธคยา ว่าเฝ้าคิดอยู่เสมอว่าเหตุใด ตนจึงไม่ได้เกิดมาในสมัยพุทธกาล

ในความตอนหนึ่งรพินทรนาถวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า คนทั่วไปมักถือกันว่าเมื่อเปรียบเทียบหินยานและมหายาน หินยานถือเป็นพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ดั้งเดิมกว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ในปัจจุบันพุทธมหายานไม่ได้หลงเหลืออยู่ในอินเดียและบัณฑิต ชาวตะวันตกที่ศึกษาพุทธศาสนาผ่านคัมภีร์บาลีเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญแก่พุทธมหายานมากนัก ซึ่งนั่นเป็นบริบท ทางวัฒนธรรมก่อนที่พุทธธิเบตและเซนจะได้รับความสนใจในอีกหลายทศวรรษต่อมา กระนั้นรพินทรนาถให้ความเห็นไว้โดยชัดเจนว่า “การจะตัดสินว่าพุทธศาสนาคืออะไร เราจำเป็นต้องตระหนักถึงพลวัตอันไม่หยุดนิ่ง หินยานหรือมหายานนิกายใดนิกายหนึ่งจึงมิใช่พุทธศาสนาที่สมบูรณ์” ทั้งวิเคราะห์ว่าหลักธรรมในพุทธศาสนาใช่แต่กล่าวถึงการตัดกิเลสละเว้นซึ่งกรรมหรือการกระทำ สุญตาหาใช่ความมุ่งหมายประการเดียว เพราะความรักหรือความกรุณาเป็นหลักธรรมที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังที่ท่านกล่าวว่า “ไม่มีศาสนาใดสอนถึงความรักที่แผ่ไพศาลเทียบได้กับพุทธศาสนา”

นอกจากนี้ รพินทรนาถได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ ไว้อีกหลายประเด็น เช่นว่า อันที่จริงหลักธรรมแห่งพุทธศาสนาไม่ได้เสื่อมหายไปจากแผ่นดินอินเดีย หากแผ้วทางและฝากรอยธรรมอยู่ในลัทธิความเชื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังพุทธกาล อย่างศาสนาฮินดูใหม่ และลัทธิ Vaisnavaism ทั้งกล่าวว่าแม้พุทธศาสนาจะสอนไม่ให้ติดยึดอยู่กับเรื่องทางโลก แต่ในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองและอีกหลายศตวรรษต่อมา ภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนาอินเดียกลับเจริญรุ่งเรืองทั้งทางศิลปะ วิทยาการ การค้า และการเมือง อย่างที่ไม่เคยปรากฏในยุคสมัยใด เหตุผลก็คือเมื่อจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นอิสระจากพันธนาการ เมื่อนั้นปัญญาญาณทั้งหลายที่มีจึงเผยสำแดงอย่างเต็มศักยภาพ และด้วยอิทธิพลของ พุทธศาสนานั้นเอง ที่ศิลปะ วิทยาการ และวัฒนธรรมของอินเดีย ได้เผยแพร่สู่ดินแดนโพ้นทะเลอย่างศรีลังกา อินโดนีเซีย สยาม จีน และญี่ปุ่น

รพินทรนาถบันทึกถึงคราวเดินทางไปเยือนจีนว่า แม้ชาวจีนและชาวอินเดียจะต่างกันลิบลับทั้งหน้าตา ภาษา การแต่งกาย แต่ท่านกลับรู้สึกใกล้ชิดดั่งพี่น้อง ความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แม้กับชาวอินเดียจำนวน มาก ซึ่งมิตรไมตรีเยี่ยงนี้ไม่ได้มาจากการเจริญสัมพันธไมตรีโดยราชสำนัก ไม่ได้มาจากบังคับยึดครองด้วยคมดาบในอดีต หากเป็นมิตรไมตรีจากการเห็นซึ่งทุกข์แห่งตนและผู้อื่น สายสัมพันธ์ที่แท้ของอินเดียและจีนยึดโยงอยู่ด้วยสัจธรรมนี้

บทกวีส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า ‘สยาม: ปฐมทัศน์’ ซึ่งรพินทรนาถเขียนขึ้นคราวเยือนบางกอก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1927 ถ่ายทอดความประทับใจต่อ สายธรรมที่ยังไหลรินอยู่ในดินแดนสยามประเทศ

การอ่านหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ นอกจากจะได้อิ่มในรจนาอันไพเราะลึกซึ้ง ยังมีเกร็ดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลายแง่มุม ที่เราอาจศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจากมโนนึกที่กวีและนักคิดท่านนี้ฝากไว้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us