|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลางฤดูใบไม้ผลิของเมืองจีน ผมนั่งเอกเขนกอยู่บนพาหนะทางบกที่กำลังเดินทางด้วยความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตัดผ่านเส้นทางในมณฑลเจียงซูจากมหานครเซี่ยงไฮ้ ไปยังนานกิง (หนานจิง) เมืองเอกของมณฑลเจียงซู
เมื่อมองผ่านกระจกนิรภัยของห้องโดยสาร ทิวทัศน์รายทางนอกหน้าต่างของรถไฟความเร็วสูงขบวน G7010 ผมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่เครื่องมือเดินทางข้ามเวลาที่มุ่งจากอดีตไปสู่โลกแห่งอนาคต
เส้นทางรถไฟระหว่างเซียงไฮ้-นานกิง หรือฮู่หนิงเถี่ยลู่ มีความยาวประมาณ 300 กิโลเมตร โดยหากเดินทางด้วยรถไฟโดยสารปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง ทว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 เป็นต้นมา เมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ ระยะเวลาดังกล่าวก็ถูกร่นลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 1 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น
รถไฟขบวน G7010 เป็นรถไฟที่ถูกจัดอยู่ในหมวด G (อักษร G ย่อมาจากคำว่า "เกาซู่" ในภาษาจีนที่มีความหมายว่าความเร็วสูง) โดยถือเป็นหนึ่งในหมวดรถไฟที่สามารถทำความเร็วได้สูงที่สุดในบรรดารถไฟจีนปัจจุบันคือ ทำความเร็วได้มากถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเส้นทางรถไฟสายแรกในจีนที่เปิดให้บริการรถไฟในหมวด G ก็คือ เส้นทางเดินรถระหว่างเมืองอู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) และเมืองกวางเจา (หรือเมืองกว่างโจวในมณฑลกวางตุ้ง) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2552
หลายปีที่ผ่านมา บริการรถไฟในจีนมีพัฒนาการและความก้าวหน้าไปมากอย่างที่ยากจะตามทัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ 6 ปีก่อน ที่ผมเขียนบทความเรื่อง "จีนกับรถไฟความเร็วสูง" ลงเผยแพร่ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548
ในเวลานั้น ผมระบุว่ารถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองในประเทศจีน สามารถแบ่งแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ 4 ประเภท (ไม่นับรวมรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว) ขณะที่ในปัจจุบันจีนเพิ่มบริการรถไฟขึ้นมาอีก 3 ประเภท รวมทั้งหมดเป็น 7 ประเภทด้วยกัน คือ
ผู่ไขว้ - รถความเร็วปกติ จะไม่มีตัวอักษรในภาษาอังกฤษนำหน้า
ไขว้ซู่ - รถความเร็วสูง จะมีอักษร "K" นำหน้าตัวเลขเที่ยวรถ
เท่าไขว้ - รถด่วน วิ่งทางไกลด้วยความเร็วสูงจะมีตัวอักษร "I" นำหน้าตัวเลข
จื๋อต๋าเท่อไขว้ - ที่เปิดให้บริการในปี 2547 ชื่อขบวนมีตัวอักษร "Z" นหน้า โดยรถไฟประเภทนี้จะเป็นรถด่วนที่วิ่งแบบไม่หยุดจอดบนเส้นทางระหว่างหัวเมืองใหญ่ๆ
สำหรับรถไฟอีกสามประเภทที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นรถไฟความเร็วสูงที่จีนตั้งชื่อว่า รถไฟรหัสปรองดอง หรือ CRH (Chins Railways High-speed) ประกอบไปด้วย
ต้งเชอจู่ - รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรหัสนำหน้าเป็นตัวอักษร "D"
เฉิงจี้ต้งเชอจู่ - รถไฟความเร็วสูงที่ใช้รหัสนำหน้าเป็นตัวอักษร "C" โดยสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่วิ่งในระยะทางที่ค่อนข้างสั้น เช่น นครปักกิ่งกับเทียนสิน (เทียนจิน) เป็นต้น
และเกาซู่ตังเชอจู่ - รถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งข้ามมณฑลเป็นระยะทางไกลตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลักพันกิโลเมตร จะใช้รหัสนำหน้าเที่ยวโดยสารด้วยอักษร "G" [1]
ท่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ก่วน มู่เคยกล่าวไว้ในงานสัมมนา "อินโดจีน: ภูมิภาคแห่งโอกาสและความท้าทาย" ที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2554 ว่า เดี๋ยวนี้ตั้งแต่จีนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง วิถีชีวิตคนเมืองจีนก็เปลี่ยนไปมากเช่น ตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงระหว่างปักกิ่ง-เทียนนสิน (เทียนจิน) เปิดให้บริการจากเวลาเดินทางที่ต้องเผื่อไว้ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง ก็ลดลงเหลือเพียง 30 นาที
"รถไฟความเร็วสูงนี่เองทำให้คนจีนที่อาศัยอยู่ในเทียนสิน เพราะ ณ ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวจีนทั่วประเทศบนเส้นทางที่ทอดยาวแล้วกว่า 8,000 กิโลเมตร และกำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาลเมื่อสร้างครบ 16,000 กิโลเมตรภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) [2]
เดี๋ยวนี้มีคนนานกิงบางส่วนตอนเช้านั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้ ตกเย็นก็นั่งกลับมาบ้านที่นานกิง เพราะรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างสองเมืองนี้มีทุก 15 นาที ตั้งแต่หกโมงเช้าไปจนถึงช่วงค่ำ ช่วงดึก" โชเฟอร์หนุ่มแซ่หยางเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของชนชั้นกลางชาวจีนให้ฟัง เมื่อผมและคณะเดินทางมาถึงสถานีรถไฟเมืองนานกิง
เมื่อเปรียบเทียบกับการโดยสารเครื่องบิน ผมพบว่า สำหรับการเดินทางภายในระยะทางไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจนถึงหนึ่งพันกิโลเมตร การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนนั้นถือว่าสะดวกรวดเร็วกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินมาก เพราะการเดินทางโดยรถไฟผู้โดยสารสามารถไปถึงสถานีรถไฟก่อนรถไฟจะออกเพียง 15 นาทีก็ได้ ขณะที่เครื่องบินนั้นจำเป็นต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับการตรวจสอบเอกสารต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดและรัดกุมสูงสุด
เมื่อได้ฟังท่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยและได้ทดลองนั่งเอง ประกอบกับคำพูดของโชเฟอร์หนุ่มแซ่หยางแห่งเมืองนานกิงแล้ว ผมจึงอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางจากปัจจุบัน 8-12 ชั่วโมง ลงเหลือ 3-4 ชั่วโมง หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองที่จะลดลงจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง
เมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีและภูมิประเทศ การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างยิ่ง หากมองจากมุมของจีนที่เคยสร้างทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก สายชิงไห่-ทิเบต (ชิงจั้งเถี่ยลู่) สำเร็จมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว และกำลังดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่สุดในโลกกว่าสามพันเมตรจากรระดับน้ำทะเล บนเส้นทาง "หลานโจว-ซินเกียง (หลานซินเถี่ยลู่)" ที่มีความยาวกว่า 1,900 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2552 มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2558
แน่นอนว่าประเด็นสำคัญในการเร่งขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงมิได้อยู่ที่ปัจจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และร่ำรวยอย่างจีน ประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องความมั่นคง ย่อมเป็นปัจจัยที่ถูกนำเข้ามาพิจารณาและเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญยิ่ง สังเกตได้จากการสร้างทางรถไฟ "สายชิงจั้ง" และการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง "สายหลานซิน" ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งจุดหมายปลายทางของทางรถไฟทั้งสองสายต่างเป็นมณฑลที่ถูกจัดให้เป็นเขตปกครองตนเอง และมีประวัติการลุกฮือของชนกลุ่มน้อยเพื่อต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของประเทศไทยโดยเฉพาะนักการเมืองไทย ประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศและต้นทุนในการก่อสร้าง (และค่าคอมมิชชัน) ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการตัดสินใจก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (โดยสำหรับจีนต้นทุนในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นอาจสูงถึงราว 100 ล้านหยวนต่อกิโลเมตร หรือราว 500 ล้านบาทต่อกิโลเมตร)
ทั้งนี้ทั้งนั้น จากเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านการเมือง เทคโนโลยี ต้นทุน เงินสนับสนุนแล้ว ผมเชื่อว่าประเทศไทยมิอาจหลีกเลี่ยงในการเชื่อมต่อทางรถไฟความเร็วสูงเข้ากับประเทศจีนได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผนการเชื่อมต่อระหว่างผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของเอเชียกับจีน กับอาเซียน ผ่านทางลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ไทย ลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ (ดูภาพ On the rails: How China is connection with the world [3] )... "ซึ่งนั่นหมายความว่า เทคโนโลยีของรถไฟและอาเซียนในอนาคตย่อมต้องยึดถือเอามาตรฐานของจีนเป็นสำคัญ สำหรับผล การวาดภาพอนาคตของจีนเป็นสำคัญ
สำหรับผม การวาดภาพอนาคตของจีน-อาเซียน และการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ในช่วงสิบปีข้างหน้าภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางมาตรฐานของการคมนาคมแบบใหม่ ซึ่งคงหนีไม่พ้น "รถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ" ถือเป็นเรื่องยากที่จะคาดคิดและจินตนาการจริงๆ
หมายเหตุ :
[1]
[2] Wang Aihua, Xu Wenting, China takes fast rail ambition to new heights, Xinhua, 9 Apr 2011.
[3] http://www.weeklytimesnow.com.au/article/2011/04/15/318961_business-news.html
อ่านเพิ่มเติม:
- “เส้นทางสายไหม” สายใหม่ นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับกันยายน-ตุลาคม 2553
- การทูตรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเมษายน 2553
- China’s High-Speed Dream นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับพฤศจิกายน 2552
- จีนกับรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2548
|
|
|
|
|