แม้ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจเครือข่ายกว้างขวางใหญ่โตภายใต้นาม "ไทยสมุทร"
แต่ก็เป็นที่รู้ ๆ กันว่า กฤษณ์ อัสสกุล เป็นคนเก็บตัวมาก ๆ
เขากำลังทำอะไรที่ไหนอย่างไรจะมีเพียงคนใกล้ชิดจริง ๆ เท่านั้นถึงรับรู้
เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ กฤษณ์ อัสสกุล ถูกกล่าวถึงบ้างในแง่ของเจ้าของกิจการใหญ่ที่มักจะเก็บตัวอยู่ในห้องทำงานเล็ก
ๆ ย่านถนนอโศก (สำนักงานใหญ่เดิมก่อนย้ายมาที่ถนนสุริวงศ์) หรือไม่เช่นนั้นก็ที่สนามกอล์ฟ...กีฬาโปรดของเขา
แต่วันนี้บางสิ่งบางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ว่ากันว่าถ้าใครตามหากฤษณ์ อัสสกุล ไม่พบ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน
หรือสนามกอลืฟ (ที่ไม่ใช่กีฬาโปรดแล้ว) มีสถานที่แห่งหนึ่งที่หากต้องการพบแล้วไม่น่าพลาดเพราะกฤษณ์มาที่นี่ประจำ
ที่นี่เรียกว่า "โอเชียน มารีนา"
สมบัติอีกชิ้นหนึ่ง กฤษณ์ อัสสกุล ต้องการเนรมิตให้เป็นสวรรค์บนดินสำหรับตัวเขากับผู้มีรสนิยมคล้าย
ๆ กันและหลายเดือนผ่านมานี้เขาหว่านเงินลงไปที่นี่แล้วนับสิบล้าน อาจจะพูดได้ว่าแม้
"โอเชียนมารีนา" จะมีที่มาจากรสนิยมยามว่างที่ต้องการพักผ่อน แต่สายเลือดผู้ประกอบการยังอดไม่ได้ที่กฤษณ์จะดีดลูกคิดรางแก้วในหัวแล้วทำที่นี่ในรูปธุรกิจที่น่าจะให้ผลตอบแทนงดงาม
เขาอาจจะหวังมากไปก็ได้ใครจะรู้
"โอเชียน มารีนา" นั้นมีสถานที่ตั้งอยู่ริมหาดทรายทองหาดที่เชื่อมต่อกับหาดจอมเทียนตามเส้นทางไปสัตหีบ
ถ้ามาจากพัทยาก็จะอยู่ด้านขวาของถนนที่ทอดสู่อำเภอสัตหีบตรงหลักกิโลเมตรที่
157 ก่อนถึงสวนนงนุชชั่วอึดใจ ที่นี่มีทั้งที่พักซึ่งสร้างเป็นหลัง ๆ ด้วยวัสดุดูจากภายนอกคล้ายกระท่อม
แต่ภายในตบแต่งอย่างวิจิตรพิสดารมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครันไม่แพ้โรงแรมหรู
มีสถานที่พักผ่อนริมหาด มีร้านอาหารและที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือมีสโมสรเรือเร็ว
กิจกรรมยามว่างที่นักธุรกิจใหญ่กำลังชื่นชอบมากๆ
และก็สโมสรเรือเร็วนี่เองที่เป็นตัวจุดประกายให้กับ "โอเชียน มารีนา"
เล่ากันว่า วันหนึ่งน่นเกือบปีมานี้ กฤษณ์ อัสสกุล ได้รับคำเชิญจากไพบูลย์
เบญจฤทธิ์เจ้าของอู่เรือ "ซีท" ที่พัทยาซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขยให้ทดลองเล่นเรือเร็วดูบ้าง
เล่นครั้งแรก กฤษณ์ ก็ติดใจมาก เขาตกลงใจซื้อเรือเร็วลำหนึ่งของชาตรี โสภณพนิช
และกลายเป็นนักเล่นเรือเร็วคนหนึ่งไปในที่สุด
ต่อมาก็น่าจะเป็นเพราะเขาพบความจริงว่ามีคนมีรสนิยมเดียวกับเขาเป็นจำนวนมาก
ที่มีเรือเร็วเป็นของตนเองแล้วก็เกือบร้อยลำ และยังจะเพิ่มอีกถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเช่นอู่จอดเรือหรือคนที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาเรือมีอยู่พร้อม
แทนที่จะมีเพียงอู่ "ซีท" ที่ต้องเข็นเรือขึ้นไปจอดบนบกในเขตเมืองพัทยาที่พลุกพล่านไม่สะดวก
กฤษณ์ก็เลยคิดจะสร้างสโมสรเรือเร็วที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทุกประการขึ้น
เขาเริ่มต้นโครงการแรกด้วยการขุดพื้นที่ริมหาดจำนวนกว่า 10 ไร่เพื่อใช้เป็นอู่เรือ
มีกำแพงกั้นน้ำเป็นทรายและทำทางเข้าออก ดู ๆ ไปแล้วก็สะดวกมาก เพราะเรือจอดในอู่ริมหาด
อยากเล่นเรือก็เอาเรือออกได้โดยใช้เวลาไม่กี่นาที แต่กฤษณ์ก็ลืมนึกไปว่ากำแพงกั้นน้ำเป็นทรายนาน
ๆ เข้าทรายก็ถมอู่เรือจนตื้นเขิน แล้วเรือหลายลำที่เอาเข้าไปจอดก็เคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้
ต้องติดแห้งอยู่เช่นนั้น
วิธีแรกหมดไปหลายเงินยังไม่สำเร็จ คราวนี้กฤษณ์ลงทุนอีกหลายล้านสร้างสะพานทอดยาวจากริมหาดออกไปในทะเลเขาตั้งใจจะให้สะพานนี้จัดเป็นซอง
ๆ เรือทุกลำก็จะเข้าฝากจอดแต่ละซองๆ ไป "ผมว่าก็หมดเงินเปล่าอีกนั่นแหละ
ใครจะกล้าเอาเรือมาจอดในน้ำแบบนี้คลื่นลมมาทีจะไปเหลืออะไร..." นักเล่นเรือเร็วระดับนายแบงก์คนหนึ่งวิจารณ์
และหาดทรายทองที่เต็มไปด้วยสาหร่ายทะเลจนสกปรกไปหมดนั้น ก็น่าพิศวงอยู่ไม่น้อยว่าจะมีใครอยากจะมาพักผ่อนเล่นน้ำหรือชมวิว
ซึ่งก็อาจจะกระทบไปถึงโครงการในส่วนที่เป็นที่พักของโอเชียนมารีนาที่เกิดควบคู่กับสโมสรเรือเร็ว
ถึงวันนี้ "โอเชียน มารีนา" ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสโมสรเรือเร็วบรรยากาศจึงยังดูเงียบวังเวงพอสมควร
และหากเสร็จสมบูรณ์จะคึกคักขึ้นหรือไม่นั้น ก็ยังพูดไม่ได้เช่นกัน
หรือ กฤษณ์ อัสสกุล จะคิดว่า ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ?