ปราชญ์จีนซุนวูเคยกล่าวไว้ว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"
ซึ่งข้อคิดดังกล่าวนี้ คงจะนำไปใช้ได้ในเกือบทุกเรื่องโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการยุทธหรือการแข่งขันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งกันไว้
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการส่งออกก็น่าจะรวมอยู่ด้วย
"รู้เรา" นั้น ก็คงดังที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายท่านทั้งจากกระทรวงพาณิชย์กระทรวงการคลังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
และอีกหลายท่านในภาคเอกชนได้กล่าวไว้ในการสัมมนาครั้งนี้แล้ว และว่าที่จริงก็มีการอภิปรายหรือสัมมนากันอยู่บ่อยครั้งพอสมควร
แต่ "รู้เขา" หรือการล่วงรู้ว่า ประเทศคู่ค้าของเรานั้นเขาเป็นเช่นไร
มีนโยบายในการนำเข้าเปิดกว้างหรือปิดแคบแค่ไหน กลับไม่ค่อยจะมีการเผยแพร่สิ่งเหล่านี้มากเท่าไหร่
จึงสมควรชมเชยอย่างยิ่งที่การสัมมนาที่ธนาคารกสิกรไทยคราวนี้ ได้พยายามทำในสิ่งที่เรากลับไม่ค่อยได้ทำนั้น
คือได้เชิญคนของหอการค้าอเมริกัน หอการค้าญี่ปุ่น (เจโทร) ตัวแทนประชาคมร่วมยุโรป
(อีอีซี) และตัวแทนหอการค้าไทย เยอรมัน มาพูดถึงนโยบายและท่าทีของเขาเกี่ยวกับสินค้าของไทย
ก็ลองพิจารณากันดูว่าท่าทีคู่ค้าสำคัญของไทยเป็นเช่นไร
สหรัฐอเมริกา MR. HAROLD L, VICKERY jr. ผู้แทนหอการค้าสหรัฐอเมริกา บอกว่านโยบายการค้าของประเทศเขานั้น
ในปี 2528-2529 ซึ่งคาดว่าค่าเงินเหรียญยูเอสยังแข็งอยู่ จะยังผลให้การแข่งขันทางการค้าของประเทศเขาต้องเสียเปรียบคู่ค้าอีกปีหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการปกป้องก็จะยังคงเป็นมาตรการสำคัญต่อไป มิฉะนั้นประเทศใหญ่ๆ
อย่างเขาก็คงจะเสียดุลการค้าไม่แพ้ "น้องไทย" เป็นแน่แท้
อย่างไรก็ดี ผู้แทนหอการค้าสหรัฐฯ โปรยยาหอมไว้นิดหน่อยว่า ตลาดสหรัฐฯ
โดยทั่วๆ ไปยังอยู่ในเกณฑ์เปิดกว้าง สามารถเป็นตัวดูดซับการส่งออกของประเทศต่างๆ
ได้อย่างดี เช่นการนำเข้าสิ่งทอจากประเทศไทยก็คาดหมายว่าน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ
47 เป็นต้น
ญี่ปุ่น ซึ่งดูจะเป็นพระเอกในการสัมมนาครั้งนี้ เพราะทุกคนอยากจะฟังท่าทีเป็นที่สุดนั้น
MR. Y. NISHIMURA ประธานของเจโทรหรือหอการค้าญี่ปุ่น กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้ว
ประเทศเขาเน้นนโยบายการค้าเสรี เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
ทั้งมีนโยบายส่งเสริมการนำเข้า ส่งเสริมความร่วมมือในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ
มีการลดภาษีศุลกากรไปแล้วหลายครั้ง หลายประเภทของสินค้าและยังได้ปรับปรุงระบบการให้
GSP ไปแล้ว
นอกจากนี้ในประการสำคัญ ญี่ปุ่นได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญและคณะผู้แทนไปต่างประเทศเพื่อให้บริการด้านที่ปรึกษาอย่างมาก
ซึ่งประเด็นใหญ่ก็คือการแนะนำกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้ส่งออกของประเทศคู่ค้าว่า
ญี่ปุ่นนั้นต้องการสินค้าอะไร คุณภาพอย่างไหน
พร้อมกันนี้ตัวแทนของเจโทรยืนยันว่า ประเทศเขาไม่พยายามใช้มาตรการกีดกันการค้าชนิดใหม่ๆ
สำหรับประเทศไทยในสายตาของประเทศญี่ปุ่น เขาถือว่าไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่
27 ปัญหาของประเทศทั้งสองนี้ก็คือ ความพยายามที่จะลดการขาดดุลการค้าของฝ่ายไทยให้อยู่ในสภาพสมดุลแต่ความพยายามนี้
ตัวเขาเห็นว่ามีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย เช่น คุณภาพของสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปญี่ปุ่น
ราคา อุปสงค์ที่มีแนวโน้มลดลงและการเปลี่ยนแปลงทางรสนิยมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
ปัจจุบันนี้สินค้าส่งออกจากไทยที่ญี่ปุ่นรับซื้อก็มีรายการหลักๆ คือ ยาง
ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล น้ำตาล เสื้อผ้า สับปะรด ดอกไม้ประดิษฐ์ ดีบุก อัญมณีและข้าว
ในเรื่องที่เกี่ยวกับลู่ทางในอนาคต ประธานของเจโทรแสดงข้อคิดว่า เป้าหมายการค้าที่กำหนดขึ้นโดยหอการค้าไทยและหอการค้าญี่ปุ่นโดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแตกต่างด้านดุลการค้าระหว่างกันนั้นเป็นสิ่งที่ดี
แต่ก็คงมิใช่ข้อผูกพันที่จะต้องมีผลบังคับให้เป็นไปตามนั้นเสมอไป
นับว่าเป็นการทิ้งท้ายไว้เป็นคำคมให้คิดโดยเฉพาะ
กลุ่มอีอีซี MR. E. WILKINSON รายงานให้ฟังว่า ปี 2528 นี้ เป็นที่คาดหมายว่ารายได้ประชาชาติของทุกประเทศโดยรวมที่สังกัดอยู่ในกลุ่มอีอีซีจะเพิ่มขึ้นประมาณ
2.25 เปอร์เซ็นต์ในด้านส่งออกในปี 2527 เคยเพิ่มขึ้น 6.25 เปอร์เซ็นต์ และปี
2528 เขาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.5 เปอร์เซ็นต์
ส่วนในด้านการนำเข้าเขาคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็รวมถึงการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย
ขณะเดียวกัน กลุ่มอีอีซีได้มีแผนงานส่งเสริมการค้ากับไทย เช่น สินค้าจำพวกเครื่องหนังและอัญมณีก็จะให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงคุณภาพ
การหีบห่อและการตลาด
นอกจากนี้สินค้าส่งออกอันดับสองของไทยที่ส่งไปกลุ่มอีอีซีอันได้แก่สิ่งทอและเสื้อผ้าก็สูงถึง
29 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกสินค้าประเภทนี้ของไทย ในปี 2528 กลุ่มอีอีซีคาดว่าจะมีการเพิ่มโควตาให้กับสินค้าสิ่งทอ
เส้นใย ผ้าฝ้าย ถุงเท้า เสื้อชั้นในสตรี ซึ่งได้รับประโยชน์จาก GSP ในปริมาณรวมกันถึง
168 ตัน
กลุ่มอีอีซีให้ GSP แก่สินค้าอื่นๆ อีก โดยในปี 2528 จะครอบคลุมถึงสินค้าประเภทถั่วเหลือง สินค้าสัตว์ทะเล
หน่อไม้ แยม ยาสูบ และจะพิจารณาโควตาสับปะรดในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของลุ่มอีอีซีติงว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ไทยไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จาก
GSP อย่างเต็มที่เท่าที่ควร
ผู้แทนหอการค้าไทย - เยอรมัน MR. RINDERMANN ได้กล่าวว่า การประกาศลดค่าเงินมีผลดีต่อการส่งออกของไทย
แต่ก็ยังใช้ประโยชน์จาก GSP ที่เยอรมันประกาศให้ไม่เต็มที่เช่นเดียวกับกรณีกลุ่มอีอีซี
เขากล่าวว่า สำหรับไทยแล้ว เยอรมันเป็นคู่ค้าในแง่ตลาดส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามรองจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งไปเยอรมัน ก็เช่นมันสำปะหลัง ดีบุก ปลา และผลไม้กระป๋อง
รวมถึงสิ่งทอ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเป็นร้อยละ 17 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
สำหรับขณะนี้มันสำปะหลังมีอัตราการเพิ่มต่ำ ส่วนยาสูบ สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
เสื้อผ้าที่ทอจากขนสัตว์รวมทั้งสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง เช่น
อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ มีแนวโน้มดีขึ้น
เขาเชื่อว่าโอกาสของไทยในตลาดเยอรมันยังมีลู่ทางแจ่มใส หากได้มีการปรับปรุงทางด้านคุณภาพของสินค้า
การบรรจุหีบห่อ
และเพื่อให้ได้ข้อมูล ข่าวสารทางด้านการค้าดีขึ้น เขามีข้อแนะนำว่า ผู้ส่งออกและผู้ผลิตของไทยควรให้ความสนใจในการเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้าไทย
- เยอรมัน
ท่าทีของคู่ค้าของไทยนั้น 4 ตลาดนี้อาจจะไม่ครอบคลุมกว้างขวางและแสดงออกมาอย่างชัดเจนแท้จริง
เพราะเงื่อนไขทางเวลาค่อนข้างจะมีอยู่จำกัด
แต่ก็คงจะมีคุณค่าในแง่ที่บัดนี้เราได้เริ่มเข้าสู่จุดที่ถูกทางมากขึ้น
คือเริ่มกระทำในสิ่งที่ปราชญ์จีนเคยกล่าวไว้นานนับศตวรรษแล้วนั่นแหละ