วันนี้ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของ ดร.ศุภชัย
พานิชภักดิ์ ดูเหมือนว่าจะต่างไปจากวันวานในรอบปี 2527 ที่ผ่านมา
เพราะอย่างน้อยเรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับบริษัทเงินทุนทั้งหลายก็ดูว่าจะซาลงไปมากแล้ว
และถ้ายกคำกล่าว "การมองย้อนหลังย่อมได้ประโยชน์มากกว่าตอนนั่งอยู่ในเหตุการณ์"
มาใช้กับเรื่องวุ่นๆ ที่เกิดขึ้น ดร.ศุภชัย ก็คิดว่าตัวเขามองเห็นบางสิ่งทะลุปรุโปร่งพอสมควร
"ผมว่าในอดีตเรามีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ อย่างน้อย 2 ประการ คือหนึ่ง เราปล่อยให้มีระบบที่โตเร็วเกินไป
และสอง เราได้คนไม่ดีมาเป็นผู้บริหารบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์จำนวนมาก"
ในประการแรกที่กล่าวว่า "มีระบบที่โตเร็วเกินไป" นั้น ดร.ศุภชัย
บอกว่าหมายถึงได้มีการระดมเงินออมเข้ามาในระบบของบริษัทเงินทุนกันมาก แต่ตัวสินทรัพย์หรือการปล่อยเงินกู้ออกไปกลับไม่มีคุณภาพอย่างยิ่ง
"เราไปเน้นเรื่องการระดมเงินเข้ามา และเราก็วัดความสำเร็จกันตรงนั้น
แบงก์ชาติเองก็ดูแต่ตัวเลขเห็นว่ามันเติบโตขึ้นก็ไม่ได้ไปดูสิ่งอื่น ทั้งๆ
ที่คุณภาพของสินเชื่อควรจะเป็นตัวที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่ก็พลาดไป บริษัทเงินทุนจะเอาเงินไปทำอะไรบ้างนั้น
เราเกือบจะไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเลย"
ส่วนประการที่สอง ดร.ศุภชัย สรุปว่า ผู้บริหารบางคนที่ประวัติก่อนเข้ามาในวงการเป็นอย่างไรก็พอจะมองออกได้ทันทีว่า
ธุรกิจของเขาจะเป็นอย่างไรในอนาคต "หลายคนหวังเพียงจะใช้บริษัทเงินทุนเป็นฐานธุรกิจอื่นๆ
ของเขา ไม่ได้เป็นมืออาชีพจริงๆ ซึ่งถ้าเราศึกษาประวัติของเขาอย่างละเอียดแล้วเราจะสามารถคาดการณ์ข้างหน้าได้ทันที"
"อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประการนี้ เป็นการมองปัญหาหลังจากที่เรื่องมันเกิดขึ้นมาแล้ว
และถ้าเรามีเครื่องมือและอำนาจเท่าปัจจุบันก็อยากจะหมุนเวลากลับเข้าไปแก้ไขเสียแต่ต้นเหมือนกัน"
แต่ก็คงไม่มีใครสามารถหมุนเวลากลับไปได้ตามความปรารถนา เพราะฉะนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ
ได้มีการถอนใบอนุญาตบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวม 15 บริษัท โอนหุ้นเข้ามาให้ทางการมาตรการ
4 เมษายน 25 แห่ง และยังต้องควบคุมไว้อีก 7 แห่ง รวมเบ็ดเสร็จแล้วก็ประมาณ
1 ใน 3 ของจำนวนบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทั้งระบบ
อีกทั้งต้องตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง 5,000 ล้านบาท
เข้าช่วยเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท
"ผู้จัดการ" ได้ถาม ดร.ศุภชัย ว่า จากสถานการณ์ทั้งหลายนี้มันมีบทเรียนอะไรกลับเข้ามาบ้าง
ซึ่งเขาก็ตอบอย่างใช้เวลาทบทวนว่า
1. เขาและทางการรู้สึกผิดหวังนิดหน่อยที่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน
อื่นๆ ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหาตอนแรกๆ กลายเป็นว่า
ทางการต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างโดดเดี่ยว ทั้งที่ปัญหาของสถาบันการเงินนั้นมีแต่สถาบันการเงินด้วยกันจึงจะเป็นผู้แก้ปัญหาได้ดีที่สุด
แต่นั่นก็คงไม่อาจจะไปโทษใครได้ เพราะไม่ได้มีการสร้างระบบการช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินเอาไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี เมื่อทางการจะต้องเข้าไปอย่างโดดเดี่ยว ก็มีผลผลิตตามมาคือ
- เกิดความล่าช้า
- ดูเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาประชาชน
- ประสิทธิภาพไม่เหมือนกับที่ถ้าสถาบันการเงินจะดูแลกันเอง แล้วทางการเข้าไปหนุนเสริม
จากบทเรียนข้อนี้ ดร.ศุภชัยมองว่า ในขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้าง
ระบบการให้ความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน เพื่อเป็นเกราะชั้นหนึ่งก่อนจะมาถึงทางการ
ส่วนรูปแบบจะเป็นเช่นไรนั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไป
2. เรื่องเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือถ้าทิ้งเวลาระหว่างการตัดสินใจให้เนิ่นนานออกไป
แม้นโยบายที่ออกมาจะถูกทางแต่ทุกอย่างก็จะเสียหายไปมากแล้ว จากบทเรียนของต่างประเทศและบทเรียนของเรานั้น
เมื่อเกิดปัญหาจะต้องเข้าแก้ไขในทันที อย่ารอช้าเด็ดขาด
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ การแก้ปัญหาก็คงจะต้องมีกำหนดระยะเวลาไว้ทุกเรื่อง
เช่นเรื่องนี้
จะต้องแก้ให้ตกภายใน 3 เดือน เรื่องนี้ 6 เดือน เป็นต้น
3. จริงอยู่มีการพูดว่าปมเงื่อนของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น
เรื่องตลาด
หุ้นทำให้หลายบริษัทขาดทุน เรื่องการฉ้อฉลของผู้บริหาร แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ
เรื่องสภาพคล่อง และทางการที่แก้ปัญหาได้ก็เพราะมองเรื่องนี้เป็นหลักและพยายามแก้โดยเน้นที่เรื่องนี้
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ปัญหาสภาพคล่องจะเป็นเรื่องที่ทุกบริษัทจะต้องระวัง
จะต้องทำให้
เงินที่เข้ามากับเงินที่จะปล่อยออกไปคงอยู่ในสภาพที่ได้ดุลเสมอ