Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์18 เมษายน 2554
7 เชนคอมมูนิตี้มอลล์ เปิดศึกยึดเมือง             
 


   
search resources

Shopping Centers and Department store




อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกชื่อดังของโลก เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” คำกล่าวนี้ อนุมานได้ว่า มนุษย์ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่อย่างเดียวดายได้ พฤติกรรมดังกล่าวจึงก่อเกิดเป็น “สังคม” หรือ “ชุมชน” ขึ้นมา

สังคมที่ว่านี้อาจมีต้นกำเนิดมาจากครอบครัวเดียวกัน...ชนชาติเดียวกัน...นับถือศาสนาเดียวกัน...รวมไปถึงการมีไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน และเมื่อนำเอาปัจจัยทางสังคมมาหล่อหลอมรวมเข้าด้วยกันกับปัจจัยทางธุรกิจ ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษทางสังคมอย่างหนึ่งที่เรียกว่าโซเชียลฮับ (Social Hub)

ความจริงโซเชียลฮับเป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานแล้ว หากแต่การเกิดของชุมชนดังกล่าวนั้นเป็นไปตามครรลองของตัวเอง การเกิดของชุมชนลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้มีขึ้นแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ หากแต่ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งชุมชนในต่างจังหวัด, อำเภอ และลงไปถึงระดับตำบลหรือหมู่บ้าน

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ที่นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง “นพพร วิฑูรชาติ” ทายาทรุ่นที่ 4 ของ “เสียน วิฑูรชาติ” เจ้าของตลาดสดเก่าแก่มีนบุรี อดีตวิศวกรในบริษัท เอสซีที คอมพิวเตอร์ ในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG) มองเห็นช่องว่างทางการตลาดดังกล่าวนี้และได้หยิบยกเอาประเด็นของโซเชียลฮับมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการตลาดสมัยใหม่ด้วยการหลอมละลายเข้าด้วยกันระหว่างโซเชียลฮับกับสมาร์ทมาร์เกตติ้ง และ “คอมมูนิตี้มอลล์” คือ คำตอบของจุดลงตัวระหว่างโซเชียลฮับกับสมาร์ทมาร์เกตติ้ง นั่นเอง

ทุกวันนี้ “นพพร” ได้กลายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ผู้บริหารศูนย์การค้าเปิด ในรูปแบบ “คอมมูนิตี้ มอลล์” จำนวน 29 สาขา ที่เติบโตเร็วที่สุดในเมืองไทย ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์คอมมูนิตี้ 3 แบรนด์คือ ดิ อเวนิว, มาร์เก็ตเพลส, นวมินทร์ ซิตี้ (ไม่นับรวมกับเมกะ บางนา เพราะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่) และในปีนี้ก็มีแผนที่จะเปิดอีก 2-3 สาขา ซึ่งกล่าวได้ว่า “SF” คือ กลุ่มเชนสโตร์แห่งแรกของคอมมูนิตี้มอลล์ของเมืองไทย

“อันที่จริงมันก็แค่การนำตลาดสดหรือร้านโชวห่วยตามตึกแถวเดิมมาจัดระบบใหม่โดยมีมืออาชีพเข้ามาบริหารพื้นที่ หมายถึงมีซูเปอร์มาร์เกตเข้ามาแทนที่ตลาดสดซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างมากในอเมริกาและยุโรปก็เท่านั้น”สมคิด พจน์เกษมสิน กรรมการผู้จัดการ บมจ.สยามฟิวเจอร์ฯ ซึ่งเป็นมือขวาของนพพร เล่า

ปัจจุบันในยุคที่ชุมชนขยายตัว เกิดเมืองใหม่ ชุมชนใหม่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ที่สามารถเข้าไปให้บริการได้ถึงชุมชน จนมีผู้ประกอบการหน้าใหม่พร้อมโดดเข้ามาร่วมสมรภูมินี้มากมาย ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดยังพยายามหาทำเลใหม่ๆ เพื่อขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

เฉพาะในปีนี้ จากการสำรวจของ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” พบว่า จะมีการเปิดสาขามากถึง 27 แห่งทั่วประเทศ และนั่นทำให้คอมมูนิตี้มอลล์เข้าสู่ยุคของการสร้างแบรนด์ และกลายเป็นเชนสโตร์อย่างสมบูรณ์แบบ (อ่านตารางคอมมูนิตี้ที่จะเปิดในปี 54) เพราะวันนี้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มสยามฟิวเจอร์ฯ เท่านั้น ที่เป็นเชนสโตร์ซึ่งมีแบรนด์ในความดูแลถึง 3 แบรนด์ แต่ยังมีกลุ่มเชนสโตร์หน้าใหม่ที่ถือกำเนิดมาอีก 6 กลุ่มด้วยกัน ที่กำลังเจริญรอยตามสยามฟิวเจอร์ฯ ด้วยการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา

กลุ่มแรกได้แก่ ยักษ์ค้าปลีกอย่างเทสโก้ โลตัส ที่ลองผิดลองถูกกับธุรกิจค้าปลีกในแนวนี้มาระยะหนึ่ง ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส มีสาขาคอมมูนิตี้มอลล์แล้วรวม 9 แห่ง แบ่งเป็น 3 แบรนด์คือ แอดปาร์ค 7 สาขา, แอดโอเอซิส 1 สาขา และแอดการ์เด้น 1 สาขา ซึ่งสาขาล่าสุดคือ แอดปาร์คที่เชิงทะเล ภูเก็ต ลงทุน 60 ล้านบาท และในปีนี้ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะเปิดเพิ่มอีกหรือไม่

“วีณา อรัญญเกษม” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารพื้นที่เช่าและสื่อโฆษณา เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า ได้ชะลอการลงทุนธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ออกไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากอยู่ระหว่างการทดลองรูปแบบนี้ ซึ่งคงต้องมีการปรับอีกมาก แต่ยืนยันว่าเป็นรูปแบบที่ดี และที่ผ่านมาก็ได้การตอบรับดีเช่นกัน เพียงแต่ต้องปรับเพื่อให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สโตร์มิกซ์หรือส่วนผสมของร้านค้า รวมทั้งปัญหาเรื่องที่จอดรถด้วย เพราะถ้าหากเล็กไปก็จะไม่สมบูรณ์

กลุ่มที่สองคือ บริษัท เพียวสัมมากร ดีเวลลอปเม้นท์ ก็นับเป็นอีกกลุ่มที่เดินหน้าลงทุนพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้ชื่อ “เพียวสัมมากร” แห่งแรกที่รังสิต คลอง 2 และเปิดโครงการแห่งที่ 2 ย่านรามคำแหง 110 หน้าหมู่บ้านสัมมากรสุขาภิบาล 3 มูลค่าโครงการ 350 ล้านบาท ตามด้วยปี 2554 ซึ่งได้เปิดอีกโครงการที่หน้าหมู่บ้านสัมมากร ราชพฤกษ์ โดยใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จในปลายปีนี้ นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะมองหาที่ดินย่านถนนพระราม 2 เพื่อเปิดศูนย์การค้าเพียว เพลส เพิ่มเติมอีก

“กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา” กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียวสัมมากร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารคอมมูนิตี้มอลล์แบรนด์เพียวเพลส เปิดเผยว่า ตามนโยบายของบริษัทฯ ที่วางเป้าหมายจะขยายศูนย์การค้าในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ให้ครบ 5 สาขา ภายใน 5 ปี หรือปี พ.ศ.2556 โดยจะพิจารณาเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่จากทำเลที่ตั้ง และศักยภาพของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ที่บริษัทถือครองที่ดินเปล่าอยู่

พร้อมกันนี้บริษัทยังคงหาทำเลใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจนำเสนอที่ดินให้จำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ ระยอง พัทยา และหาดใหญ่ ส่วนรูปแบบการพัฒนาขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งเป็นหลัก

กลุ่มที่ 3 จะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดเล็กประมาณ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งใช้ชื่อแบรนด์ว่า “บ็อกซ์ โซน” ปัจจุบันมีทั้งหมด1 สาขา และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาในคอนเซ็ปต์เดียวกัน โดย “วิรัตน์ อุดมสินวัฒนา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บ็อกซ์ แอสเซ็ท จำกัด ผู้บริหารมินิคอมมูนิตี้มอลล์ “บ็อกซ์ โซน” เปิดเผยว่า ภายหลังประสบความสำเร็จโครงการแรกที่ตั้งอยู่ข้างหลังศูนย์การค้าเอสพลานาด ทำให้บริษัทมีแผนเดินหน้าลงทุนธุรกิจศูนย์การค้าแบบใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ มินิ คอมมูนิตี้ มอลล์ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ชื่อแบรนด์ “บ็อกซ์ โซน” เป็นตัวบุกตลาด ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเปิดอีก 2 แห่ง โดยใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอเช่าที่ดินพื้นที่กลางเมืองบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน และย่านชานเมืองอีกหนึ่งแห่ง

กลุ่มที่ 4 ถือเป็นกลุ่มขาใหญ่ในธุรกิจศูนย์การค้า นั่นคือ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม สนามกอล์ฟ และข้าวสารบรรจุถุง โดยใช้งบ 1,200 ล้านบาท ลงทุนโครงการ “เดอะไนน์” ในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ พื้นที่ 14 ไร่ บนถนนพระราม9 ขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดว่าเปิดให้บริการได้ภายในกลางปีนี้

“สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า มีแผนที่จะเปิดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ในสาขาที่สองและสามต่อไป เนื่องจากสอดรับกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ดังนั้นจะกันพื้นที่บางส่วนไว้เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน ซึ่งจะช่วยเติมเต็มโครงการอสังหาริมทรัพย์ของเอ็ม บี เค ให้มีความสมบูรณ์

“แนวโน้มต่อไปจะเป็นที่อยู่อาศัยผสมกับคอมมูนิตี้มอลล์ เพราะเกื้อหนุนกันอยู่ อย่างคอนโดใหญ่ๆ มีแนวโน้มไหมที่จะไปดูดแบรนด์คอมมูนิตี้มอลล์ดังๆ เข้ามาฝังอยู่ข้างใน ตอนนี้เรามีที่ดินอยู่รัชดาฯ ใกล้แยกห้วยขวาง หลังตึกออฟฟิศธนชาต ซึ่งมีแผนจะทำคอนโดและใส่รีเทลเข้าไปข้างใน ถ้าเราทำสาขาที่ 2 สาขาที่ 3 ก็เป็นไปได้ที่จะใช้ชื่อ เดอะไนน์”

ก่อนหน้านี้ เคยมีกระแสข่าวว่า ในปี 2554 ทาง เอ็ม บี เค จะเตรียมใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ในธุรกิจค้าปลีก ประเภทศูนย์การค้าชุมชน หรือคอมมูนิตี้มอลล์ จำนวน 2 แห่ง โดยโครงการแรกอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษกซอย 17 ซึ่งบริษัทได้ซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 6 ไร่ เพื่อเตรียมไว้พัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร และพัฒนาคอนโดมิเนียมที่มีความสูงของตัวอาคารไม่เกิน 23 เมตร คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบลงทุนกว่า1,000 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์แห่งที่ 2 ที่ถนนศรีนครินทร์ พื้นที่ 6 ไร่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ภายใต้บริษัท พาราไดซ์ พาร์ค จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 50% เท่ากัน โดยได้สิทธิ์เช่าพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการเป็นระยะเวลา 28 ปี โครงการดังกล่าวจะพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับซีและซีบวกขึ้นไป ซึ่งจะไม่กระทบกับศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับบีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบของคอมมูนิตี้มอลล์ทั้ง 2 แห่ง ที่เหมาะสม รวมถึงชื่อโครงการด้วย

สำหรับกลุ่มที่ 5 กล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มศูนย์เฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้านชั้นนำของประเทศ นั่นคือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ จำกัด ด้วยการเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้ ชื่อ “The Walk” (เดอะวอล์ค) ได้ทุ่มงบกว่า 2,500 ล้านบาท ผุด 2 สาขาในปีนี้ โดยสาขาแรกทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดที่ ถ.ราชพฤกษ์ บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 3 โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ขายรวม 22,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ของอินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ 11,000 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นร้านค้าเช่า 11,000 ตารางเมตร และสาขา 2 ทุ่มงบกว่า 1,500 ล้านบาท เปิดให้บริการช่วงไตรมาส 4 ในพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ และปี 55 มีแผนเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา

“ที่ขยายธุรกิจใหม่ เพราะเห็นโอกาสในการทำตลาดค้าปลีกที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจได้ นอกจากนี้เพื่อรองรับการแข่งขันจากการรุกตลาดของอีเกีย ร้านขายเครื่องเรือนและของใช้ภายในบ้านขนาดใหญ่จากประเทศสวีเดน ที่มีชื่อเสียงในด้านราคาย่อมเยา ที่ลุยเปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่บางนา ซึ่งเราเชื่อว่าบริษัทมีศักยภาพในการทำธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จ หลังประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ มาแล้ว โดยมีสาขาเปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศ 17 สาขา ซึ่งการลงทุนขยายสาขาจากนี้ไป บริษัทคงเน้นเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ “The Walk” เป็นหลัก” กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ ให้เหตุผล

กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั่นคือ กลุ่มบริษัทบูทีค โดยมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่จำนวน 8 แห่ง เป็นโครงการที่แล้วเสร็จ 2 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 แห่ง ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 6 แห่ง มีจำนวน 715 ห้อง และหันมารุกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ในคอนเซ็ปต์มิกซ์ยูส

“ปรับ ทักราล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทบูทีค เปิดเผยถึงแผนการลงทุนของกลุ่มบูทีคว่า บริษัทได้วางแผนลงทุนต่อเนื่องในระยะ 3-5 ปี เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว ทั้งที่อยู่อาศัยประเภทให้เช่าและธุรกิจค้าปลีก ล่าสุด บริษัทได้ใช้เงินลงทุน 300-400 ล้านบาท บนเนื้อที่ 2 ไร่ ริมถนนสุขุมวิท 47 พัฒนาภายใต้ชื่อ “เรนฮิลล์” เป็นอาคารสูง 5 ชั้น พื้นที่อาคารทั้งหมด 1 หมื่น ตร.ม. โดยตัวอาคารสี่ชั้นล่างเป็นพื้นที่ให้เช่าขนาดประมาณ 4,000 ตร.ม. และชั้นบนสุดเป็นบูติกอพาร์ตเมนต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จและมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี 2554

นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะเปิดให้ครบภายใน 5 สาขาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจะเปิดปีละสาขา ภายใต้ฟอร์แมตเดียวกันและแบรนด์เดียวกับโครงการเรนฮิลล์

“การมีเครือข่ายคอมมูนิตี้มอลล์จะช่วยเราในด้านของการลงทุน การสร้างเครือข่าย และการสร้างแบรนด์ที่จะทำให้ชุมชนในพื้นที่และร้านค้าทั่วไปยอมรับ ที่สำคัญจะทำให้การพัฒนาโครงการใหม่ๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้น” สาทิต สืบสุข ผู้อำนวยการ บริหารโครงการและเทคนิค กลุ่มบูทีค กล่าวเสริม

ตราบใดที่ชุมชนยังคงมีการขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ก็ยังจะมีแนวโน้มสดใสต่อไป เหตุผลสำคัญมาจากการที่คอมมูนิตี้มอลล์เป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใช้เงินลงทุนน้อย คืนทุนเร็ว หาทำเลง่ายกว่าค้าปลีกขนาดใหญ่ และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการชอปปิ้งใกล้บ้าน หากมีสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการ

“ชานเมือง”
ทำเลทองคอมมูนิตี้มอลล์

ปัจจุบันความเจริญจากกรุงเทพฯ กำลังขยายตัวเข้าไปสู่เขตปริมณฑลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่และโครงการหมู่บ้านนับจำนวนไม่ถ้วนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดท่ามกลางการคมนาคมที่โยงใยเครือข่ายถึงกันเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น ทั้งถนนวงแหวน ระบบสาธารณูปโภค รถไฟฟ้า และนี่คือ ทำเลทองแห่งใหม่ของธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หอมหวนที่สุดในขณะนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะได้รับความนิยมต่อไปในอนาคตว่า จะต้องเป็นการลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกที่เน้นรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น อาทิ รูปแบบร้านค้าขนาดเล็กและคอมมูนิตี้มอลล์ โดยเฉพาะคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งมีกระแสค่อนข้างแรง ที่มักจะขยายตัวไปตามแหล่งชุมชนในย่านปริมณฑลที่มีหมู่บ้านและชุมชนหนาแน่น

จากการสำรวจของ “ผู้จัดราย 360 องศา รายสัปดาห์” พบว่า ทำเลชานเมืองที่มีคอมมูนิตี้มอลล์นิยมขยายสาขาไป อาทิ ย่านราชพฤกษ์ ล่าสุดได้มีการเปิดโครงการใหม่ถึง 3 โครงการด้วยกัน อาทิ โครงการเดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์ ของบริษัท สุวรรณ ราชพฤกษ์ ปาร์ค จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวไปในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 21 ไร่

โครงการเดอะวอล์คของกลุ่มเฟอร์นิเจอร์อินเด็กซ์ ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 54 โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ขายรวม 22,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ของอินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ 11,000 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นร้านค้าเช่า 11,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการเพียวเพลส ของ บริษัท เพียวสัมมากร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าเพียวเพลส สำหรับโครงการศูนย์การค้าเพียวเพลส ราชพฤกษ์ ที่จะเปิดเป็นแห่งที่ 3 ต่อจากโครงการศูนย์การค้าเพียวเพลส รังสิต คลอง 2 และศูนย์การค้าเพียวเพลส รามคำแหง 110 นั้น ตั้งอยู่บนทำเลทองบนพื้นที่ 10 ไร่ ติดริมถนนใหญ่ราชพฤกษ์ หน้าหมู่บ้านสัมมากร ราชพฤกษ์ คาดว่าจะเปิดได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้

ถัดมาได้แก่ทำเลศรีนครินทร์ ได้แก่ โครงการ “ธัญญะ ช็อปปิ้ง พาร์ค” ของกลุ่มธนิยะ ที่ใช้งบถึง 2,500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 16 ไร่ของถนนศรีนครินทร์พัฒนาการ มีพื้นที่ใช้สอย 70,000 ตร.ม. โดยเป็นพื้นที่ค้าปลีก 20,000 ตร.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.55 นอกจากนี้ก็ยังมีของกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล และยังมีกระแสข่าวอีกว่ากลุ่มเอ็มบีเคให้ความสนใจ รวมทั้งกลุ่มโรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น ศรีนครินทร์ ก็ให้ความสนใจที่จะลงทุนทำคอมมูนิตี้มอลล์ที่นี่เช่นกัน

นอกจากนี้ก็ยังมีในทำเลพระราม 2 อาทิ ของกลุ่มเพียวเพลส ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเปิดเป็นสาขาที่ 4 และโครงการนครธนพลาซ่า ของกลุ่ม “ทองสิมา” เจ้าของโรงพยาบาลนครธนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกหลายแห่ง โครงการนี้จะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์และเซอร์วิส

อพาร์ตเมนต์รวมกัน โดยใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท บนที่ดิน 4 ไร่ ติดกับโรงพยาบาลนครธน พระราม2 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีพื้นที่ทั้งหมด 19,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และอพาร์ตเมนต์ให้เช่าประมาณ 14,000 ตารางเมตร และเป็นรีเทลอีก 5,000 เมตร โดยเปิดบริการแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

โครงการ โมโนโพลี พาร์ค พระราม 3 ของกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ไร่ เชิงสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท เป็นพื้นที่ให้เช่า ขนาด 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 6,734 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่เช่า 3,210 ตร.ม. พื้นที่ส่วนกลาง 3,524 ตร.ม. ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว

นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีคอมมูนิตี้มอลล์ในย่านรามอินทรา ได้แก่ โครงการ “อมอรินี่ (Amorini)” ของกลุ่มเครืออมรพันธ์ กรุ๊ป ใช้งบลงทุน 350 ล้านบาท ซึ่งนำเสน่ห์และเอกลักษณ์สไตล์เกาะซานตอรินี (Santorini ) ประเทศกรีซ มาประยุกต์ในการออกแบบบนพื้นที่ 6 ไร่ สามารถจอดรถได้ถึง 210 คัน และมีพื้นที่ใช้สอยราว 5,000 ตร.ม. จับกลุ่มลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไป ซึ่งโครงการนี้จะมีคู่แข่งที่ตั้งอยู่เดิมอย่างโครงการ “ปัญญาวิลเลจ” ที่รองรับกลุ่มลูกค้าในบริเวณหมู่บ้านปัญญาวิลเลจและพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น

ครั้งหนึ่ง “สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มของคอมมูนิตี้มอลล์ในเมืองไทยว่า

“สมัยก่อนหมู่บ้านก็จะมีสโมสร หรือมีตึกแถวข้างหน้าไว้ค้าขาย อันที่จริงรูปแบบก็เหมือนกับคอมมูนิตี้มอลล์สมัยนี้เพียงแต่ทำรูปแบบให้ดีขึ้น จัดเป็นสวน มีที่จอดรถให้เรียบร้อย เทียบกับสมัยก่อนคือตึกแถวนั่นเอง แต่ตอนนี้คนทำธุรกิจตึกแถวตาย เพราะไม่มีที่จอดรถ ค้าขายไม่ได้ เลยต้องมาทำคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งคือ ตึกแถวสมัยใหม่ที่มีที่จอดรถนั่นเองผมคิดว่า คอมมูนิตี้มอลล์อาจจะเป็นเซเว่น อีเลฟเว่น แต่คงไม่เยอะขนาดนั้น อาจจะมีอยู่ใกล้กันมากขึ้น”

จนถึงวันนี้ คอมมูนิตี้มอลล์ยังเป็นตลาดที่ไม่อิ่มตัว และยังมีช่องว่างตราบที่เมืองยังคงขยายออกไป และเกิดชุมชนใหม่ต่อเนื่อง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us