จาก 96 ล้านเพิ่มเป็น 1120 ล้านในช่วงเวลา 8 ปี ( ตั้งแต่ปี 2546 -2554 ) พร้อมอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ตอกย้ำให้เห็นศักยภาพ และการยอมรับของลูกค้าที่มีต่อสื่อโฆษณาในอาคารหรืออินสโตร์ มีเดีย ( Instore Media)
จากรายงานข้อมูลของ Nielsen Media Research ระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายในสื่อโฆษณารวมสื่อทุกประเภทในปี 2553 เท่ากับ 101,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 เท่ากับ 90,341 ล้านบาท จำนวน 10,691 ล้านบาท โดยสัดส่วนในการใช้เงินโฆษณาสูงที่สุดยังคงเป็นการโฆษณาผ่านโทรทัศน์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 60,766 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 60.15 สื่อที่ได้รับความนิยมรองลงมา ได้แก่ หนังสือพิมพ์ซึ่งมีจำนวนเงินโฆษณา 15,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 14.85
ขณะที่ อัตราการเติบโตของสื่อโฆษณาประเภทต่างๆในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีอัตราชะลอตัว ยกเว้นสื่อในโรงภาพยนต์ สื่อเคลื่อนที่ และสื่อในอาคาร โดยมีอัตราการเติบโตเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 เท่ากับร้อยละ 23.27 ร้อยละ 27.78 และร้อยละ 36.75 ตามลำดับ ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการชะลอตัวของการใช้งบโฆษณาส่วนใหญ่มาจากการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และสภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้บริษัทต่างๆ ลดการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาลง จะเห็นได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ใช้จ่ายในสื่อโฆษณาที่เฉพาะเจาะจง อาทิ สื่อโฆษณาภายในอาคารและสื่อโรงภาพยนต์
สำหรับสื่อโฆษณาในอาคาร กลับเติบโตสวนกระแสอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 25549 ซึ่งเป็นปีที่สื่ออินสโตร์มีเดีย เริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีมูลค่างบโฆษณาจำนวน 307 ล้านบาท ต่อมาในปี 2550 เพิ่มเป็น 570 ล้านบาท และปรับตัวสูงขึ้นเป็นจำนวน 826 ล้านบาทในปี 2551 และเป็นจำนวน 820 ล้านบาท ในปี 2552 และล่าสุดในปี 2553 มูลค่าคิดจำนวน 1,120 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 และ 2551 อัตราเติบโตของค่าใช้จ่ายในการโฆษณาในอาคารคิดเป็นร้อยละ 86 และ 45 ตามลำดับ หรือถ้าคิดอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate) ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2550 จะมีค่าเท่ากับร้อยละ 55.90 โดยการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของค่าโฆษณาผ่านสื่อในอาคารเป็นผลมาจาก สื่อโฆษณาในอาคารสามารถเข้าตรงถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสื่อโฆษณาประเภทอื่นๆ
ในด้านคู่แข่งขันของสื่อโฆษณาในอาคารนี้ ต้องยอมรับว่ามีอยู่ในทุกสื่อโฆษณา ไม่ว่า สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต และสื่ออื่นๆ แต่จุดได้เปรียบของ สื่อโฆษณาภายในอาคาร มีข้อได้เปรียบสื่อโฆษณาประเภท คือ ความสามารถเน้นเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้ดีกว่า สามารถกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ณ จุดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีอัตราค่าโฆษณาไม่สูงมากอีกด้วย
ขณะที่ผู้ประกอบการสื่ออินสโตร์มีเดียที่โดดเด่นในปัจจุบัน มีราว 11 ราย (อ่านตารางประกอบ ) โดยกลุ่มคู่แข่งขันที่มีการประกอบธุรกิจ และสถานที่ให้บริการสื่อ ใกล้เคียงกับค่าย แอปโซลูท ฯ ได้แก่ Wrap Inc. บริษัท อาร์เอส อินสโตร์ มีเดีย จำกัด Point of View Group, Cheeze Media และ DDD ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทแล้ว บริษัทมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีจอภาพ 3 มิติ การใช้สื่อโฆษณาอื่นที่ไม่ใช่ดิจิตอล และ ณ ปัจจุบัน บริษัทยังได้มีการขยายพื้นที่จุดให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อในมหาวิทยาลัยผ่านโครงการ uNetwork ที่มีจำนวนมหาวิทยาลัยในโครงการเพิ่มขึ้น จึงทำให้สื่อของบริษัทสามารถเข้าถึงผู้บริโภคระดับอุดมศึกษาได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2552 ค่ายแอปโซลูท ได้รับสิทธิบริษัทสื่อภายในอาคารจตุรัส จามจุรีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสื่อทั้งหมดของบริษัทที่กล่าวมาแล้วจะทำให้บริษัทสามารถให้บริการสื่อโฆษณาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายประเภท ในปี 2553 บริษัทได้ขยายธุรกิจลงทุนในกิจการด้านสื่อออนไลน์และให้บริการปรึกษาด้านกิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยก่อตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอนโม จำกัด และบริษัท อรูมายไลท์ จำกัด เพื่อให้บริการดังกล่าวตามลำดับ
|